ตัวอย่างนักธุรกิจไทยอีกหนึ่งคนที่สามารถตีเมืองจีนแตก บุกเข้าไปปักธงธุรกิจได้สำเร็จมานำเสนอ นักธุรกิจไทยที่ว่านี้ก็คือ “วิโรจน์ สุนทรนนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย-ไท อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด ผู้จำหน่ายเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานภายใต้แบรนด์ “Niji” และ “Highfly”
ปัจจุบันวิโรจน์ได้เข้าไปตั้งบริษัท Yunnankan-Thai Guangda Trading และเปิดร้าน “กินนรี” (KINNAREE) ขายปลีกและขายส่งสินค้าอาหารไทยอยู่ที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน
“ย้อนไปประมาณปี 2550 มีการทำเส้นทาง R3a ระหว่างคุนหมิง ผ่านลาวมากรุงเทพฯ ก็เลยคิดว่าเราจะไปลงทุนที่จีนที่ไหนดี ก็เลยไปที่คุนหมิง เพราะคุนหมิงเป็นประตูทางทิศใต้ของจีนที่เชื่อมมายังเซาท์อีสต์เอเชีย แล้วตอนนั้นทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) มีนโยบายจะทำศูนย์กระจายสินค้าไทยที่คุนหมิง เป็นจำพวกผลิตภัณฑ์อาหาร งานหัตถกรรมจากภาคเหนือ งานศิลป์ เราก็เลยไปร่วมแจมกับกรมฯ
ครั้งแรกไปออกบูทก่อน เอาสินค้าโอทอป พวกของกินไปขาย เช่น มะพร้าวอบกรอบ ทุเรียนอบกรอบ ทอฟฟี่ทุเรียน ทอฟฟี่ถั่ว ถั่วอบกรอบ และสินค้าพวกผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ก็พอขายได้” วิโรจน์ย้อนเล่าถึงที่มาในการเข้าไปทำธุรกิจที่คุนหมิง
จากการนำสินค้าประเภทอาหารไทยไปทดลองขายที่คุนหมิงในครั้งนั้นของวิโรจน์ก็ทำให้มองเห็นโอกาสที่จะเติบโตในตลาดนี้ เขาเลยไม่รอช้า เริ่มมองหาช่องทางที่จะเจาะตลาดอย่างจริงจัง
“หลังจากนั้นเราก็ไปเอง โดยครั้งแรกที่ไปยังไม่ได้เปิดร้าน เราไปเช่าออฟฟิศก่อน เอาสินค้าไปขายส่ง ไปฝากขายตามห้างสรรพสินค้า ลองขายดู ซึ่งไปช่วงแรกๆ ก็ไปขายกันลำบากเหมือนกัน แรกๆ ก็ขาดทุนนะเพราะคนจีนคิดว่าของไทยแพง เนื่องจากราคาที่เราขายมันค่อนข้างสูง เพราะค่าขนส่ง ค่าอะไรต่อมิอะไรมันสูง ก็ขายลำบากนิดหนึ่ง
เราก็ต้องอาศัยไปออกบูทไปออกงานบ่อยๆ จากที่เขาไม่เคยรับประทาน พอได้ลองรับประทานเขาก็รู้สึกว่าคุณภาพมันสมกับราคา ก็ขายได้ ตลาดก็เริ่มขยายขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2551 ก็เลยไปจดทะเบียนตั้งบริษัทอยู่ที่โน่นเลย”
จริงๆ แล้วการไปลงทุนทำธุรกิจอยู่ในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะต้องมีพาร์ตเนอร์เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นเพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งว่ากันว่าเป็นตลาดปราบเซียน เพราะมีกฎระเบียบข้อบังคับที่ยุ่งยาก ทำให้นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในตลาดนี้เจ็บตัวกลับมานักต่อนักแล้ว
แต่การเข้าไปทำธุรกิจในตลาดจีนของวิโรจน์นั้น เรียกได้ว่าไปแบบมวยวัดก็คงไม่ผิดนัก เพราะเขาเข้าไปทั้งๆ ที่ไม่มีพาร์ตเนอร์เป็นคนท้องถิ่น ไม่มีเส้นไม่มีสายคอยช่วยเหลือ แต่เขาก็เป็นคนไทยที่สามารถเข้าไปตั้งบริษัท โดยถือหุ้น 100% ในประเทศจีนได้สำเร็จ
“อย่างที่บอกว่าตอนนั้นกรมส่งเสริมการส่งออกมีนโยบายจะไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยที่คุนหมิง จะเป็นคลัง CD อยู่ที่โน่น เราก็คิดว่าเป็นโอกาสดี ไปลงทุนก่อนน่าจะดี ก็เลยไป แต่กลายเป็นว่าการตั้งศูนย์กระจายสินค้ามันไม่สำเร็จ เพราะรัฐบาลมันเปลี่ยนบ่อย
แต่เราเตรียมคนไว้แล้ว เราต้องไป หลายคนถอยกลับนะ ขาดทุนเยอะแยะ ก็มีถอยกลับ เราไม่ถอย เราบอกว่า 5 ปีต้องสำเร็จ ไม่สำเร็จไม่ได้ ก็เลยลุยต่อ เราไปศึกษาว่า ถ้าเราจะมาลงทุนจดทะเบียนตั้งบริษัทที่โน่นต้องทำยังไง ก็ไปหาข้อมูลมา ก็ใช้เวลา 6 เดือนในการขอจดทะเบียนตั้งบริษัท ซึ่งนานมาก แต่ก็ต้องทน”
หลังจากสามารถตั้งบริษัท Yunnan Kan-Thai Guangda Trading ในประเทศจีนได้แล้ว ต่อมาในปี 2553 วิโรจน์ก็ได้เปิดร้านกินรีที่ห้าง YUNFANG ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจของคุนหมิง
“ในห้าง YUNFANG มีคนไทยเปิดร้านขายสินค้าไทยอยู่ประมาณ 7-8 ราย มีทั้งร้านขายจิวเวลรี งานไม้แกะสลัก ผลิตภัณฑ์สปา และสินค้าอาหาร ซึ่งมีมากถึง 3-4 ร้าน แต่ร้านกินนรีเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ 120 ตารางเมตร 4 คูหา
สำหรับค่าเช่าพื้นที่ที่โน่นถือว่าค่อนข้างแพง โดยตารางเมตรหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 180-200 หยวน ขึ้นอยู่กับทำเล อย่างร้านกินรีค่าเช่าตารางเมตรละ 180 หยวน ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 900 บาทต่อตารางเมตร (คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวนประมาณ 5 บาท) เดือนหนึ่งก็แสนกว่าบาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เดือนหนึ่งก็ตกประมาณร่วม 2 แสนนะ”
สินค้าภายในร้านกินรีเป็นสินค้าอาหารทั้งหมด มีทั้งสินค้าที่วิโรจน์ผลิตเองภายใต้แบรนด์ “KINNAREE” ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดนครปฐม และสินค้าของผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ แบ่งสัดส่วนอย่างละครึ่ง โดยปัจจุบันมีสัดส่วนขายปลีกหน้าร้านอยู่ที่ 30% และขายส่ง 70%
สินค้าแบรนด์ KINNAREE เช่น มะพร้าวอบแห้ง กล้วยอบกรอบ สับปะรดอบแห้ง มะม่วงแช่อิ่ม มะขามจี๊ดจ๊าด ฯลฯ ส่วนสินค้าแบรนด์อื่นๆ เช่น ถั่วเขาช่อง ข้าวเกรียบมโนราห์ พันท้ายนรสิงห์ ผลไม้กระป๋องยูเอฟซี ข้าวแต๋น ไวตามิลค์ เครื่องแกงโลโบ เป็นต้น
“สินค้าที่นำไปขาย ถ้าเมื่อเทียบกับราคาที่ขายในบ้านเราจะแพงขึ้น 50% เช่น ที่เมืองไทยขาย 100 บาท ไปที่โน่นขาย 150 บาท
ที่จริงคนจีนเขามองว่าสินค้าไทยดี อร่อย แต่แพง เพราะว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้วรายได้เขาน้อย แต่ตอนนี้เขายอมรับแล้ว อย่างมะพร้าวอบแห้ง ถ้าขายในเมืองไทย 15 บาทก็ขายได้ ออกจากโรงงานก็ประมาณ 12-13 บาท แต่พอไปถึงที่โน่นต้องขาย 5 เหรียญอย่างน้อย เพราะต้นทุนเราไปก็ 3 เหรียญกว่าแล้ว เราไปขายส่งก็ 3 เหรียญกว่า”
วิโรจน์ส่งสินค้าไปขายที่ร้านกินรีทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้ 2 เส้นทาง คือ ไปทางเชียงแสนแล้วไปทางเรือ และอีกทางหนึ่งใช้เส้นทาง R3a เข้าลาวไปทางห้วยทรายเข้าหลวงพระบาง ไปทางสิบสองปันนา เข้าคุนหมิง โดยว่าจ้างบริษัทขนส่งเป็นผู้รับผิดชอบ
“จริงๆ เส้นทางการขนส่งยังเป็นอุปสรรค ไม่สะดวก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งแพงมาก ยกตัวอย่าง ส่งตู้คอนเทนเนอร์จากกรุงเทพฯ ไปถึงกวางเจา ถ้าไปทางเรือที่ถูกต้องหรือไปทางฮ่องกง ตู้หนึ่งค่าใช้จ่ายถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่นี่ไปเราต้องจ่ายประมาณ 150,000 บาท แพงกว่า 3 เท่าตัวเพราะมันผ่านด่านเยอะ
อย่างที่เราใช้บริการอยู่ บริษัทขนส่งผู้รับเหมาเขาไปจัดการเอง เขามาเหมากับเรา โอเค...ตันหนึ่งจะเก็บคุณเท่านี้นะ ไปส่งถึงคุนหมิงเลย ซึ่งกิโลกรัมหนึ่งตกประมาณ 10 กว่าบาท อย่างมะพร้าวอบแห้งตกกิโลกรัมละ 18 บาท ถ้าคิดเป็นเงินไทยมันก็แพงมาก”
นี่เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการไทยที่ทำให้การส่งสินค้าไปขายที่คุณหมิงยังทำได้ไม่มากนัก ซึ่งวิโรจน์บอกว่า หากเส้นทางการขนส่งได้รับการพัฒนาให้สะดวกมากขึ้น สินค้าผลไม้ไทยจะมีโอกาสสูงในการเจาะตลาดจีน
“คนจีนนิยมผลไม้ไทยมากๆ เลย ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง ทุเรียน แค่ 5 ตัวนี้ก็พอแล้ว ถ้ารัฐบาลส่งเสริมดีๆ นะ คุยกับเขาดีๆ และการขนส่งมันสะดวกนะ ได้ไกลมาก จะได้ไม่ต้องเจอปัญหาลองกองล้นตลาด ผลไม้สดไปส่วนใหญ่ตอนนี้คนไทยส่งเองไม่ได้นะ ต้องผ่านตัวแทนคนจีนที่มาตั้งออฟฟิศในเมืองไทย แล้วมักถูกกดราคา
คือไม่มีคนไทยที่ไปตั้งออฟฟิศที่โน่นแล้วเอาของไทยไปจริงๆ เคยได้ข่าวนะว่าเคยมีคนไทยไปตั้งออฟฟิศอยู่เหมือนกัน แต่พอไม่มีเส้นสายก็ถูกพวกเจ้าถิ่นกลั่นแกล้ง รอตรวจบ้าง รอไปรอมาจนทุเรียนเน่า ลำไยเหี่ยว เงาะขึ้นขนดำอย่างนี้ก็ขายไม่ได้”
อย่างไรก็ดี นอกจากในเรื่องของเส้นทางการขนส่งที่เป็นอุปสรรคแล้ว วิโรจน์บอกว่า อีกเรื่องที่เป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจในตลาดจีน ก็คือ การเดินเอกสารจะลำบากนิดหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของการขอ อย. (สำนักงานอาหารและยา) เพราะสินค้าทุกชนิดที่ขายในตลาดจีนมันต้องมี อย.ใบอนุญาตของจีน
คือแม้เราจะได้ อย.ของไทยแล้ว แต่เมื่อไปขายที่จีนก็ต้องไปขอ อย.เขาอีก ซึ่งขั้นตอนในการขออนุญาตมันไม่มีกำหนดว่าเมื่อไหร่จะได้ บางรายการใช้เวลา 2 เดือน บางรายการ 3 เดือน บางรายการ 4 เดือนก็มี เขาจะบอกว่างานยุ่งมาก เราก็ต้องรอเรื่อยๆ นี่คือตัวหนึ่งที่เราไม่สามารถไปเร่งรัดเขาได้
แต่บางตัวเราก็ไปขายได้โดยไม่ต้องขอ อย.ของเขา เพราะที่คุนหมิงจะมีการอะลุ่มอล่วยระหว่างสินค้าชายแดนว่า โอเค เอาสินค้าไปทดลองขายระหว่างชายแดนไม่ต้องขอ อย. แต่การไม่ได้ขอ อย. คุณจะส่งสินค้าไปขายที่ห้างปักกิ่ง ห้างเซี่ยงไฮ้ไม่ได้ ขายได้เฉพาะขายปลีกหน้าร้านเท่านั้น มันเปิดบิลมี VAT ไม่ได้ไง มันเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถขยายตลาดได้
ถ้าอยากจะขายส่งก็ต้องไปขอให้ถูกต้อง ซึ่งถ้าเป็นสินค้าที่เราผลิตเองเนี่ย เราขอ อย.ถูกต้องและขายส่งได้”
ถึงวันนี้ร้านกินรีของวิโรจน์ได้เปิดขายสินค้าไทยในคุนหมิงเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว โดยที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 30% มียอดขายเฉลี่ยเดือนละเกือบ 1 ล้านหยวน
ขณะที่ภายในปีนี้วิโรจน์เตรียมที่จะเปิดร้านกินรีสาขาที่ 2 ในคุนหมิง โดยตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการหาสถานที่
“สินค้าที่เราได้เปรียบจริงๆ เป็นพวกทุเรียน มะพร้าว กล้วย มะม่วง มะขาม ลำไย ถามว่าเขามีลำไยไหม มี แต่คุณภาพสู้เราไม่ได้ ส่วนโอกาสของสินค้าไทย คือ อาหารที่เกี่ยวกับพวกเครื่องปรุงอาหารกับอาหารแช่แข็ง พวกอาหารทะเลแช่แข็งจะมีโอกาสไปได้ไกล เพราะทางคุนหมิงเขาไม่มีทะเล”
นี่เป็นอีกเรื่องราวของนักธุรกิจไทยที่วันนี้สามารถไปปักธงธุรกิจอยู่ในตลาดจีนได้สำเร็จ
@@@ ข้อมูลโดยนิตยสาร SMEs Plus @@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *