xs
xsm
sm
md
lg

ตอบคำถามยอดฮิตติดสงสัยในน้ำมันมะพร้าว (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คำถามที่ 11: ทำไมน้ำมันมะพร้าวกับกะทิต่างกันตรงไหน? กินกะทิได้หรือไม่อย่างไร?
คำตอบที่ 11:
แท้ที่จริงแล้วน้ำมันมะพร้าวก็ผลิตและสกัดมาจากกะทิ โดยกะทิ 4 ส่วนจะได้น้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน เพียงแต่เราไม่ได้บริโภคน้ำมันอย่างเดียวแต่บริโภคส่วนอื่นที่ได้จากกะทิไปด้วย ทำให้ต้องดื่มในปริมาณที่ต้องมากกว่า อย่างไรก็ตามการดื่มกะทิสดมักไม่ค่อยนิยมกัน และมักจะทานกับอาหารอย่างอื่นเช่นอาหารคาวหรือหวาน ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังไม่ให้รับประทานหวานมากเกินไปด้วย

คำถามที่ 12 : ทำไมดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วรู้สึกท้องอืด และจะทำอย่างไรดี?
คำตอบที่ 12 :
ความจริงแล้วคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวจะมีความรู้สึก "อิ่ม" มากกว่า"ท้องอืด" เพียงแต่อาจไม่คุ้นชินกับความรู้สึกได้รับพลังงานที่เพียงพอจากน้ำมันมะพร้าว เพราะน้ำมันมะพร้าวจะเป็นกรดไขมันสายปานกลาง ดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ตกค้าง ต่างจากน้ำมันชนิดอื่นที่ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันสายยาว ดังนั้นคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วรู้สึกท้องอืดนั้น อาจเป็นเพราะดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วไม่ทิ้งช่วงให้นานพอแล้วไปบริโภคอาหารในปริมาณตามที่เคยคุ้นชิน ผลก็คือเราได้รับปริมาณอาหารที่ให้พลังงานมากเกินความต้องการที่แท้จริงจึงอาจทำให้รู้สึกท้องอืดขึ้นมาได้ ดังนั้นการดื่มน้ำมันมะพร้าวควรมีเวลาให้เพียงพอระหว่างอย่างน้อย 30 นาที หรือจะให้ดีคือ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวเราได้พิจารณาว่าเราควรบริโภคอาหารเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่ ดังนั้นหากปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวยังมีความรู้สึกท้องอืดอยู่ ก็ให้ลดปริมาณน้ำมันมะพร้าวให้น้อยลง

คำถามที่ 13 : น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น) กับ น้ำมันมะพร้าวแบบปรุงอาหาร (สีเหลืองนั้น) แตกต่างกันตรงไหน แล้วใช้ทดแทนกันได้หรือไม่?
คำตอบที่ 13 :
น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น ไม่มีสี) คือน้ำมันมะพร้าวที่ได้มาจากเนื้อมะพร้าวแล้วนำมาสกัดน้ำมันโดยไม่ผ่านความร้อน จึงได้กรดไขมันที่มีคุณภาพทั้งแร่ธาตุ สารอาหาร ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และสามารถนำมาผ่านความร้อนได้ด้วย เพียงแต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับกลิ่นของน้ำมันมะพร้าวในทุกเมนูอาจไม่ชอบนำน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ไปประกอบอาหาร ดังนั้นจึงมีน้ำมันมะพร้าวแบบปรุงอาหารคือนำเนื้อมะพร้าวที่เหลือจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนำมาอบไล่ควันและไล่กลิ่นจึ จากนั้นจึงผ่านกระบวนการสกัดน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง น้ำมันชนิดนี้จึงมีสีเหลืองทองสามารถทำมาประกอบอาหาร เช่น ผัด ทอด ได้โดยไม่มีกลิ่นเหมือนน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ และไม่ก่อให้เกิดผลร้ายใดๆต่อสุขภาพเมื่อเทียบกับน้ำมันปรุงอาหารที่ไม่อิ่มตัวชนิดอื่นๆ แต่ไม่สามารถมีคุณภาพที่ดีต่อสุขภาพทัดเทียมกับน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น) ได้

คำถามที่ 14 : ทำไมบางคนดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วมีอาการเหมือนร้อนภายใน เจ็บคอ?
คำตอบที่ 14 :
เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันและให้พลังงาน จึงจัดเป็นอาหารที่เป็นกรดและมีฤทธิ์ร้อน ดังนั้นคนที่มีภาวะร้อนเกินจาการบริโภคเนื้อสัตว์มาก รับประทานหวานมาก นอนน้อย โดยเฉพาะในหน้าร้อน อาจทำให้มีภาวะร้อนเกินไป จึงต้องดับความร้อนด้วยการบริโภคน้ำที่ออกฤทธิ์เป็นด่างและมีฤทธิ์เย็นตามไปด้วย เช่น น้ำใบบัวบก น้ำย่านาง น้ำใบเตย น้ำมะนาว น้ำแอบเปิ้ลเขียว รวมถึงน้ำด่าง และรับประทานผักสดให้มาก ลดบริโภคเนื้อสัตว์ แป้ง น้ำตาลให้น้อยลง รับประทานถ้าดื่มได้เช่นนี้จะสามารถสร้างสมดุลให้สอดคล้องกับร่างกายเราได้

เพราะภาวะเย็นเกินก็ไม่ดีเพราะไม่มีพลังงานในการเผาผลาญหรือกำลังในการขับพิษ และทำให้อัตราการเผาผลาญต่ำ ถ้าร้อนเกินก็ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะภายใน ดังนั้นความสมดุลกรด-ด่าง และสมดุลร้อนเย็นด้วย จะทำให้การดื่มน้ำมันมะพร้าวมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

และถ้าเราจะรู้ว่าเรามีภาวะเย็นเกินหรือร้อนเกินแล้ว ก็อย่าได้เชื่อใครเท่ากับการเชื่อตัวเอง ด้วยการหมั่นตรวจวัดอุณหภูมิใต้ลิ้นตอนตื่นนอนอยู่เสมอ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ย 5 วัน อยู่ระหว่าง 36.3 - 36.5 ให้ถือว่าอยู่ในช่วงปกติ ถ้าต่ำกว่า 36.3 แสดงว่าเย็นเกิน (ให้ดื่มน้ำมันมะพร้าวให้มากขึ้น) แต่ถ้าสูงกว่า 36.5 ขึ้นไปให้ถือว่าเข้าข่ายอาจมีภาวะค่อนข้างร้อนให้ดื่มน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นให้มากขึ้น

คำถามที่ 15 : เป็นโรคหัวใจตีบ หลอดเลือดอุดตัน ดื่มน้ำมันมะพร้าวได้หรือไม่?
คำตอบที่ 15 :
ดื่มได้ และควรดื่มด้วย เพราะมีงานวิจัยของ Felton และคณะตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet ในปี 2537 และ รายงานของดร. Enig เมื่อปี พ.ศ. 2542 ค้นพบแล้วว่าสารตั้งต้นที่มีการอุดตันในหลอดเลือดนั้น เป็นพวก "ไขมันไม่อิ่มตัว"หลายตำแหน่ง (พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว) และแผ่นไขมันที่เกาะเส้นเลือดในอนุพันคอเลสเตอรอล 74% เป็น "ไขมันไม่อิ่มตัว" และเป็นไขมันอิ่มตัวเพียง 26% เท่านั้น และในบรรดาไขมันอิ่มตัว 26% นี้ ไม่ใช่กรดลอริก หรือกรดไขมันไมริสตริกจากน้ำมันมะพร้าวเลย ในทางตรงกันข้ามกรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวจะดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้เร็วจึงเพิ่มอัตราการเผาผลาญ ทำให้ตับสังเคราะห์ไขมันชนิดดีที่เรียกว่า HDL ไปกวาดเอาคอเลสเตอรอล และ LDL ตามผนังหลอดเลือดไปส่งที่ตับเพื่อนำไปผลิตเป็นฮอร์โมน น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ ฉนวนหุ้มประสาทได้มากขึ้น ดังนั้นทางที่ถูกต้องคือต้องหยุดไขมันชนิดอื่นที่ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งให้หมด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ฯลฯ แล้วหันมาใช้น้ำมันมะพร้าวแทน

คำถามที่ 16 : เป็นโรคเบาหวานดื่มน้ำมันมะพร้าวได้หรือไม่?
คำตอบที่ 16 :
ดื่มได้และควรดื่มด้วย เพราะเบาหวานมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกการคือตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลินทำให้ไม่มีอินซูลินที่จะนำน้ำตาลไปเลี้ยงเข้าไปในเซลล์ได้ หรือลักษณะที่สองคือเกิดการต้านอินซูลิน แท้ที่จริงแล้วเกิดจาการที่เราบริโภคน้ำตาลและแป้งมาเกินไปจนร่างกายไม่สามารถเก็บอยู่ในรูปไขมันตามเนื้อเยื่อได้แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในคนอ้วนจนไม่มีที่จะเก็บไขมันแล้ว และเกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่มีโครงสร้างเล็กที่มี่ข้อจำกัดในการสะสมเนื้อเยื่อและไขมัน ผลก็คือร่างกายพยายามหยุดยั้งไม่ให้น้ำตาลไปเก็บตามเนื้อเยื่ออีก ทำให้ค้างอยู่ในหลอดเลือดในคนเป็นโรคเบาหวานทั้งสองลักษณะ เมื่อน้ำตาลค้างอยู่ในหลอดเลือดก็ทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบก่อให้เกิดอีกหลายโรคตามมา แม้กระทั่งการปัสสาวะก็จะขับถ่ายเอาน้ำตาลออกมาด้วย จึงเรียกโรคนี้ว่า "เบาหวาน" หรือ ปัสสาวะหวานนั่นเอง

ดังนั้นสำหรับคนที่เป็นเบาหวาน ทางที่ถูกต้องที่สุดก็คือการงดการบริโภคแป้งและน้ำตาล แต่แน่นอนว่าหลายคนจะโหยแป้งและน้ำตาล เพราะแม้แต่สมองเองก็ต้องการน้ำตาลไปเลี้ยงด้วย ด้วยเหตุผลนี้จึงควรดื่มน้ำมันมะพร้าวด้วย เพราะน้ำมันมะพร้างมีกรดไขมันสายปานกลางที่ดูดซึมเร็ว โดยเฉพาะในขณะที่เรางดการบริโภคแป้งและน้ำตาลแล้ว น้ำมันมะพร้าวเมื่อถูกย่อยสลายจะกลายเป็น "สารคีโตน" ซึ่งจะไปเป็นอาหารให้เซลล์ได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ทำให้ลดการโหยแป้งและน้ำตาลลง รวมถึงมีความรู้สึกหิวน้อยลงโดยทันที การบริโภคน้ำมันมะพร้าวให้ได้มีประสิทธิภาพสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน จึงควรงดแป้งและน้ำตาลด้วย

คำถามที่ 17 : ใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันมะกอกในการล้างพิษตับได้หรือไม่?
คำตอบที่ 17 :
เป็นคนละวัตถุประสงค์กัน เพราะน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันสายปานกลางที่ดูดซึมเร็วจึงเหมาะแก่การเพิ่มพลังงานให้แก่ตับ ในขณะที่ไขมันชนิดอื่นนั้นส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันสายยาว (รวมถึงน้ำมันมะกอก) จึงเหมาะแก่การ "ล่อน้ำดี" ให้ออกมาจากตับและถุงน้ำดีได้มากกว่า ซึ่งน้ำดีมีองค์ประกอบของไขมัน เกลือน้ำดี และอนุพันของคอเลสเตอรอล ฯลฯ และจากงานวิจัยของภาควิชาพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งซินซินเนติ มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2544 พบว่าสารพิษในรูปของยาฆ่าแมลงหลายชนิดสะสมอยู่ในร่างกายในรูปของไขมัน และเส้นทางหลักในการขับออกนั้นคือการขับออกมาทาง "น้ำดี"

ดังนั้นในบรรดา "กรดไขมันสายยาว" ที่ล่อน้ำดีนั้น ถือว่าน้ำมันมะกอกมีสัดส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวเพียงตำแหน่งเดียวเป็นส่วนใหญ่ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในสัดส่วนที่น้อยจึงไม่เป็นโทษเหมือนกรดไขมันจากเมล็ดพืชอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ตามที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกพบว่าในสมัยพุทธกาล หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เคยรักษาโรคตับ (ผอมเหลือง) โดยใช้กรดไขมันสายยาว โดยการใช้ "เนยใส" ซึ่งก็เป็นกรดไขมันสายยาวและมีไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในปริมาณที่น้อยมากเช่นกัน

คำถามที่ 18 : น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น) ชนิดดื่มนั้นเอามาทาผิวหรือหมักผมได้หรือไม่ และแบบปรุงอาหารเอามาทาผิวได้หรือไม่?
คำตอบที่ 18 :
สำหรับน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น) ชนิดดื่มนั้นสามารถเอามาทาผิวหน้า ผิวตัว หมักผมได้เลย เพราะความโดดเด่นของกรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวที่ดูดซึมเร็วนั้น เมื่อทาผิวแล้วก็จะสามารถนำพาวิตามินอีและสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปในผิวได้เร็วกว่าน้ำมันชนิดอื่น จึงทำการฟื้นฟูผิวได้เร็ว และลดอาการคันให้น้อยลง และสามารถทำมาใช้กับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินได้ด้วย(ทั้งดื่มและทาผิว) และด้วยน้ำมันมะพร้าวมีโมเลกุลขนาดเล็กจึงสามารถนำมาชุบสำลีไว้ทำความสะอาดเช็ดเครื่องสำอางออกจากใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ล้างหน้าด้วยน้ำเย็นหลังจากนั้น นอกจากนั้นจากงานวิจัยก็ยังพบว่าน้ำมันมะพร้าวสามารถนำมาหมักผมสัปดาห์ละ 1 ครั้งทำให้เส้นผมมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ส่วนน้ำมันมะพร้าวแบบปรุงอาหารเนื่องจากผ่านกระบวนการอบไล่กลิ่นและไล่ควันซึ่งผ่านความร้อนมาบ้างแล้ว จึงทำให้คณสมบัติในเรื่องการบำรุงผิวไม่สามารถเทียบคุณภาพได้กับน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น)

คำถามที่ 19 : กลัวเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น เพราะเคยเป็นโรคมะเร็งที่เต้านม จะรับประทานน้ำมันมะพร้าวแล้วจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมกลับมาหรือไม่?
คำตอบที่ 19 :
จากงานวิจัยพบดร.ออตโต้ วอร์เบิร์ก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ค้นพบว่ามะเร็งชอบโต้ในภาวะที่เป็นกรด ต่อมาความรู้นี้จึงทำให้เรารู้อีกว่าอาหารของมะเร็งคือกระบวนการย่อยสลายกลูโคสที่ได้จากแป้งและน้ำตาล และกระบวนการย่อยสลายกลูตามีนซึ่งได้จากกรดอะมิโนของโปรตีน

ส่วนไขมันนั้นได้มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ก้อนมะเร็งจะโตขึ้นเมื่อได้รับไขมันที่ไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย) ส่วนก้อนมะเร็งจะโตน้อยในน้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งน้อยๆเช่น น้ำมันมะกอก ส่วนก้อนมะเร็งจะไม่มีการเจริญเติบโตหากได้ไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันมะพร้าว

สำหรับเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจน ด็อกเตอร์ลีโอนาร์ด โคเฮน (Leonard A. Cohen) ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ในการเขียนในวารสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติฉบับเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2543 ว่าได้เคยทำการทดลองร่วมกับนักวิจัยอีกท่านหนึ่งในปี พ.ศ. 2524 พบว่าแม้กระทั่งทำการทดลองหนูที่ถูกกระตุ้นทำให้เป็นมะเร็งมดลูกจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนให้ไหลเวียนได้แล้ว แต่หากเลี้ยงด้วย "ไขมันที่ไม่อิ่มตัวในปริมาณที่สูง" (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย ฯลฯ) ก็ยังทำให้มะเร็งมีการเจริญเติบโตขึ้นได้อยู่ดี ดังนั้นไขมันจึงน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน

ส่วนสำหรับผู้หญิงที่ห่วงเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น ต้องเรียนให้ทราบว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ใช่ได้มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เพียงแต่น้ำมันมะพร้าวช่วยกระตุ้นการเผาผลาญที่ทำให้ร่างกายนำคอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศได้มากขึ้นโดยองค์รวม ไม่ได้จำเพาะว่าเป็นฮอร์โมนชนิดใด ดังนั้นถ้าห่วงเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจนเกินจะต้องปรับลดระดับแหล่งอาหารที่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ ยาแก้สิว ยาคุม ยาฮอร์โมนวัยทอง ถั่วเหลือง ฯลฯ) และเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสตาโรนเพิ่มขึ้นจากแหล่งอาหารอาหารน่าจะถูกต้องมากกว่า (เช่น ลด/งดแป้งและน้ำตาล (หวานทุกชนิด) และเพิ่มการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เมล็ดฟักทอง ฟักทอง ผักโขม งาดำ กล้วย มั่นฝรั่ง ฯลฯ) เพียงควบคุมอาหารเท่านี้แม้แต่คนที่มีซิสต์หรือปวดประจำเดือนมากก็จะมีอาการลดลง

คำถามที่ 20 : น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ที่สกัดด้วยกระบวนการผลิตแบบเหวี่ยงจากศูยน์กลาง (Centrifuge Process) ดีอย่างไร ?
คำตอบที่ 20 :
วิธีการผลิตดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่ใช้การเหวี่ยงจากศูนย์กลางทำให้แยกน้ำมันมะพร้าวที่มีความหนาแน่นออกจากสารแขวนลอยอื่นๆ ทำให้ได้คุณภาพน้ำมันมะพร้าวที่บริสุทธิ์คุณภาพสูง น้ำหนักเบา มีความละเอียดสูง ดื่มและบริโภคง่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น