xs
xsm
sm
md
lg

แผนชั่วสกัดเปิดวุฒิสภา ปิดตายช่องทางใช้“ม.7”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**หลายคนอาจรู้สึกคับข้องใจที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”เมตตาเปิดโอกาสขยายเวลาชี้แจงคดีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาฯสมช.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลให้พ้นสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี
โดยจะมีการไต่สวนคดีนี้ในวันที่ 6 พ.ค. 57 จากเดิมที่คอการเมืองคาดว่า น่าจะมีคำวินิจฉัยได้ภายในเดือนเมษายน เพราะเป็นคดีที่ถือว่าได้ข้อยุติในการกระทำผิด ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้คืนตำแหน่งเลขาฯสมช. ให้กับ ถวิล พร้อมกับชี้ว่าการโยกย้ายครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่คนที่ต่อต้านรัฐบาลไม่ได้มีสันดานอันธพาลเหมือนพวกก่อการร้ายแดง เลยไม่มีใครออกมาราวี หรือวิพากษ์วิจารณ์การใช้ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะวิญญูชนที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตระหนักดีว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกระบวนการพิจารณาคดีโดยอิสระ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่ควรไปก้าวล่วงจนส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีนั้นๆ
มองต่างมุมจากคนที่เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องขยายเวลาให้ยิ่งลักษณ์ หรือเปิดโอกาสให้มีการไต่สวนพยานใดๆ เพิ่มเติมอีก การให้โอกาสแก่ผู้ถูกร้องให้ได้ใช้สิทธิตามช่องทางของกฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการเปิดไต่สวนโดยมีการระบุตัวผู้เข้าให้ถ้อยคำที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงในการโยกย้าย ถวิล คือ ยิ่งลักษณ์ คนออกคำสั่งย้าย ถวิล ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี คนที่เข้าไปเสียบแทนตำแหน่งเลขาฯสมช. เพื่อให้ตำแหน่ง ผบ.ตร. ว่างลง เปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา นักโทษหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยเป็นพี่สะใภ้ของยิ่งลักษณ์ ได้ถึงฝั่งฝันเป็น ผบ.ตร. ก่อนเกษียณอายุราชการ และไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ที่เป็นผู้ยื่นคำร้อง เป็นเรื่องดีที่จะทำให้สังคมไทยได้ทบทวนพฤติกรรมไร้ธรรมาภิบาลของ ยิ่งลักษณ์ กันอีกครั้ง
ในภาวะที่บ้านเมืองของเราอยู่ในความระส่ำระสาย คนชั่วสร้างชุดความเท็จปั่นกระแสลบล้างความผิดจนเกิดความสับสน ทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่การพิจารณาคดีสำคัญๆ จะต้องเปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจต่อกระบวนการพิจารณาคดี
ว่าศาลได้ใช้ดุลพินิจอย่างถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งจะเป็นเกราะชั้นเลิศปกป้องการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกบิดเบือนเพื่อทำลายกลไกตุลาการอันเป็นหนึ่งในเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย
**ผลแห่งคดีนี้กระทบต่อสถานภาพของ ยิ่งลักษณ์ และการรักษาอำนาจของระบอบทักษิณโดยตรง เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งว่า จากคำวินิจฉัยนี้อาจทำให้ระบอบทักษิณล้มครืนไม่ต่างจากโดมิโน่ เพราะเมื่อพิจารณาจากคำร้องของ ไพบูลย์ มี 3 ประเด็น ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือ
1. ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง ( 7 ) จากการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 หรือไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักกรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 268 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
"การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลือนเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ การให้ ข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง”
**2. เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง ( 1 ) หรือไม่
3. จะต้องดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และ มาตรา 173 โดยอนุโลม หรือไม่
จากคำร้องที่ไม่เพียงมีผลต่อสถานภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ แต่กระทบชิ่งไปถึงครม.ทั้งคณะด้วย จึงทำให้บรรดาขี้ข้าออกอาการดิ้นพราดยิ่งกว่าปลาไหลต้มเปรต ไม่ใช่เพราะรักยิ่งลักษณ์ จนต้องโดดออกมาปกป้อง แต่เป็นเพราะกลัวตัวเองจะต้องหลุดจากอำนาจ จึงออกมาทำตัวเป็นตีนตุ๊กแกเกาะเก้าอี้ไว้แน่น ทำทุกวิถีทางที่จะคงอำนาจของตัวเองไว้ แม้กระทั่งการบังอาจดึงฟ้าต่ำด้วยการขู่ว่า จะขอพระบรมราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อล้มคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากมีการวินิจฉัยให้ครม.ต้องพ้นสภาพจากการรักษาการตามยิ่งลักษณ์
สิ่งที่คนไทยต้องทันเกมรัฐบาลเจ้าเล่ห์คือ หัวใจของคดีนี้ไม่ได้อยู่ที่ ครม.จะรักษาการต่อไปได้หรือไม่ อย่างที่ฝ่ายกฎหมายทนายโจรออกมาตีปี๊บเบี่ยงเบนความสนใจของคนในสังคม เนื่องจากตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า แม้ครม.ต้องพ้นสภาพตามนายกรัฐมนตรี แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่ ซึ่งหากนำประวัติศาสตร์ที่เคยมีการปฏิบัติกันมาในกรณีที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง พบว่า
**มีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่า การรักษาการของครม.นั้นจะเป็นไปในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่ใช่รักษาการได้ชั่วกัลปาวสาน ตามที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกมาแถจนสีข้างหาย โดยดูได้จากการพ้นตำแหน่งของ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่มีกระบวนการคัดเลือกนายกฯใหม่ ดังนี้
9 ก.ย.51 สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติกรรมต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จากการเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนในการจัดรายการ“ชิมไป บ่นไป”และ รายการ “ยกโขยง หกโมงเช้า”
12 ก.ย.51 สภาประชุมเลือกนายกฯ แทนสมัคร แต่องค์ประชุมล่ม ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไป เนื่องจากมีความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชาชน เกี่ยวกับคนที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯระหว่าง สมัคร กับสมชาย วงศ์สวัสดิ์
18 ก.ย.51 สภาประชุมเลือกนายกฯอีกครั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
**รวมใช้เวลาในการเลือกนายกฯคนใหม่ หลังสมัครพ้นตำแหน่งเพียง 9 วัน
2 ธ.ค.51 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือก ตั้งพิพากษาว่า ยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ทุจริตเลือกตั้ง และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ผู้บริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมืองคณะผู้บริหารพรรค 5 ปี
15 ธ.ค.51 สภาประชุมเลือกนายกฯคนใหม่แทน สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นนายกรัฐมนตรี แต่แพ้คะแนนเสียงในสภา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
รวมใช้เวลาในการเลือกนายกฯใหม่ 13 วัน สะท้อนว่า เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง การเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นมีความชัดเจนว่า ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน จึงจะมีสภาผู้แทนราษฎร หากคิดตามสูตรของ กกต. ที่ระบุว่า การเลือกตั้งเร็วที่สุดอาจเกิดขึ้นได้ในวันที่ 20 ก.ค. 57 ในขณะที่ กกต.ไม่กล้ารับประกันว่า การเลือกตั้งดังกล่าวจะได้ผลสัมฤทธิ์ ทำให้เปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ หลังจากที่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะไปแล้ว
**ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในภาวะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้าได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ครม.ขี้ข้า ที่ชูคอรักษาการอยู่ก็จะพ้นสภาพไปโดยปริยาย
**จากการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเป็นผู้คัดเลือกครม.ชุดใหม่ตามมา ซึ่งหน้าที่การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ ครม. จะสะเออะเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
เพียงแต่กรณีนี้มีความแตกต่างจากสถานการณ์ปกติ เนื่องจากอยู่ในห้วงเวลาที่มีการยุบสภา ทำให้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ การจะใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และ 173 โดยอนุโลม เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะดำเนินการอย่างไร เพราะระบุให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกผู้ที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ทูลเกล้าฯเสนอชื่อนายกฯ เพื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
**จากเงื่อนไขของสถานการณ์ที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงเข้าสู่รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ที่บัญญัติเป็นแนวทางแก้ปัญหาไว้ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
อย่างไรก็ตาม มีสถานการณ์ในอดีตที่เคยปฏิบัติ คือ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการประท้วง มีการปราบปรามนักศึกษา จอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯในขณะนั้น หนีออกต่างประเทศ ทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ออกมาขู่ว่าจะขอพระบรมราชวินิจฉัย เพื่อให้ครม.อยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งเท่ากับยอมรับว่า เงื่อนไขที่เกิดขึ้นเข้า มาตรา 7 จึงเล่นเกมตีปลาหน้าไซ เตรียมที่จะใช้มาตรา 7 เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง
แต่คงเป็นได้แค่ฝันลมๆ แล้งๆ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่หน้าที่ของครม.ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะมาเสนอตัวเองให้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารต่อไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่า เป็นหน้าที่ของสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และแม้ว่าขณะนี้จะไม่มีสภา แต่ยังมีวุฒิสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอยู่
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลทำทุกวิถีทาง เพื่อสกัดไม่ให้มีการประชุมวุฒิสภา หรือถ้าจะประชุม ก็ต้องอยู่ในกรอบที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการถอดถอน หรือเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
**ยิ่งลักษณ์ พร้อมกับระบอบทักษิณ จะตายคาที่ในสนามประชาธิปไตยอย่างไร จึงต้องวัดกันที่วุฒิสภา เป็นด่านแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น