xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

KBANK บนหลักชัย “ผู้นำ Digital Banking” “เราจะนำพรุ่งนี้มาให้คุณก่อนใคร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นี่ไม่ใช่เพียงธีมงานแถลงวิสัยทัศน์ปี 2557 ของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แต่ “ธีรนันท์ ศรีหงส์” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ย้ำว่า นี่ยังถือเป็น “พันธสัญญา (commitment)” ของธนาคารที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ KBANK เป็น “ผู้นำ” อยู่เสมอบนถนนสาย Digital Banking ซึ่งเป็นหนทางที่ธุรกิจธนาคารไม่อาจหลีกเลี่ยง

หลังการแถลงทิศทางเพียงไม่นาน KBANK ก็เปิดตัวบริการใหม่บนสมาร์ทโฟนที่มีชื่อว่า “K-Expert MyPort” ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่น (Application) ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ออนไลน์ รวมสินทรัพย์ทั้งหมดที่ลูกค้ามีอยู่กับธนาคารกสิกรไทย และสินทรัพย์จากสถาบันการเงินทุกประเภทจากทุกแห่ง เข้ามาแสดงในหน้าจอเดียว อาทิ เงินฝาก กองทุน หุ้น ทองคำ ที่ดิน ฯลฯ ทั้งยังปรับมูลค่าของกองทุนและมูลค่าหุ้นได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ลูกค้าสามารถทราบมูลค่าและประเภททรัพย์สินของตนเองทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการสินทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในแอพฯ ยังมีเครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายการออม รวมทั้งยังสามารถส่งอีเมลขอคำแนะนำทางการเงินจาก K-Expert ซึ่งเป็นบริการที่ปรึกษาทางการเงินกับ KBANK ผ่านทางแอพฯ ได้โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง

บริการ K-Expert MyPort เกิดขึ้นจากการรวบข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการ K-Expert ราว 1.5 แสนรายต่อปี ซึ่งพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่มีสินทรัพย์หลากหลายประเภท และใช้บริการกับหลายสถาบันการเงิน แต่การจะรวมสินทรัพย์ทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อมองภาพรวมนั้นทำได้ยาก จึงทำให้ไม่สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้ว KBANK เพิ่งแนะนำ K-Mobile Banking PLUS ซึ่งเป็นแอพฯ บริการธนาคารบนสมาร์ทโฟนสำหรับลูกค้ารายย่อยเวอร์ชั่นใหม่ โดยในเวอร์ชั่นนี้ ได้พัฒนาการใช้งาน (feature) ให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และรวดเร็วขึ้น เช่น สามารถโอนเงินโดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีธนาคาร แต่ใช้เบอร์มือถือหรือรายชื่อในมือถือได้เลย หรือการจ่ายบิลต่างๆ ด้วยการสแกนบาร์โค้ดจากบิลแล้วกดจ่ายเท่านี้ โดยหลักฐานธุรกรรมจะอยู่ในรูปแบบ e-Slip ซึ่งเป็นรูปภาพที่จะถูกจัดเก็บลงเครื่องโดยอัตโนมัติ เป็นต้น

นอกจากนี้ กลางปีที่แล้ว KBANK เปิดตัว “ดิจิตอล โฮมโลน” (Digital Home Loan) ซึ่งเป็นแนวคิดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ประกอบด้วย K-Home Loan Online และ K-Home Loan on Mobile ซึ่งช่วยให้ลูกค้ารู้ผลการอนุมัติสินเชื่อบ้าน KBANK ได้ด้วยตัวเอง

สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี (SMEs) เมื่อต้นปีที่แล้ว KBANK ก็ได้ออกนวัตกรรมที่มีชื่อว่า “K-Merchant on Mobile” ซึ่งเป็นแอพฯ ที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตให้กลายเป็นจุดรับชำระเงินหรือเครื่องรูดบัตรเครดิตได้ทุกที่ที่มีสัญญาณโทรศัพท์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและพันธมิตรหรือร้านค้าสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของแอพฯ ที่ KBANK ทยอยนำเสนอออกมาในช่วงนี้ ซึ่งธีรนันท์ย้ำว่า KBANK ตั้งใจจะพัฒนาสู่บริการแบบ “Full Digital Banking” และรักษาความเป็น “ผู้นำ” บนถนนสายนี้ โดยในช่วง 2-3 ปีนี้ ธนาคารจะโฟกัสเรื่อง “Mobile Banking” มากเป็นพิเศษ

“เรากำหนดแนวทางการพัฒนาดิจิตอลแบงกิ้งเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจใน 3 ปีข้างหน้า โดยมุ่งตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับบริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ ให้ง่ายและเบ็ดเสร็จในเครื่องเดียว ซึ่งมือถือจะเป็นช่องทางการใช้บริการที่ได้รับความนิยมในอนาคตอย่างแน่นอน”

ธีรนันท์ระบุว่า ปัจจุบัน KBANK มีฐานลูกค้าที่เปิดบัญชีราว 12 ล้านราย ในจำนวนนี้มีลูกค้าที่ใช้บริการดิจิตอลแบงกิ้งราว 6 ล้านราย โดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีฐานลูกค้าดิจิตอลแบงกิ้งเพิ่มเป็น 8 ล้านราย ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ธนาคารมีจำนวนธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิตอลแบงกิ้งสูงถึง 420 ล้านรายการ/ปี เป็นเงินหมุนเวียนกว่า 2 ล้านล้านบาท

“ความแตกต่างในการให้บริการดิจิตอลแบงกิ้งระหว่าง KBANK กับคู่แข่ง คือการส่งมอบบริการได้จริง และการที่กรรมการผู้จัดการลงมาดูเอง นี่เท่ากับตอกย้ำด้วยว่าดิจิตอลแบงกิ้งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด”

ทั้งนี้ ก่อนที่ “บัณฑูร ล่ำซำ” จะแต่งตั้งธีรนันท์ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการ คู่กับ “ปรีดี ดาวฉาย” เขาเคยเป็น 1 ใน 4 ผู้บริหารที่อยู่ในการปรับโครงสร้างการบริหารของเครือกสิกรที่แบ่งเป็น 4 ภูมิ (Domain) ทำหน้าที่ดูแลเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การปฏิบัติการ (ภูมิด้านโครงสร้างพื้นฐาน)
อีกทั้งยังเป็นผู้ดูแล “โครงการ K-Transformation” ซึ่งเป็นการยกเครื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ KBANK ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงภาพการทำงานและการให้บริการของ KBANK เพื่อนำไปสู่บริการด้านการเงินที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น โดยเฉพาะในบริการดิจิตอลแบงกิ้ง

แม้การมีเอ็มดีเป็นผู้ชำนาญในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จะถือเป็น “จุดแข็ง” ที่ทำให้ KBANK เป็น “ผู้นำ” บนแพลตฟอร์มดิจิตอลแบงกิ้งอยู่ในเวลานี้ แต่การรักษาความเป็นผู้นำคงไม่ง่ายนัก เพราะเชื่อว่า ไม่มี “คู่แข่ง” รายใดที่จะยอมเสียโอกาสบนถนนสายนี้แน่นอน!


กำลังโหลดความคิดเห็น