ชี้ธุรกิจครอบครัวกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เผยปัจจัยสร้างจุดแกร่งและความได้เปรียบในการแข่งขัน กูรูระดับโลกจากสถาบัน IMD แนะวิธีเผชิญความท้าทายเตรียมความพร้อมรับมือการเติบโตของธุรกิจ แบงก์กสิกรไทยปลื้มธุรกิจครอบครัวที่เป็นลูกค้าเติบโตเฉลี่ย18% มากกว่าบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวซึ่งเติบโตเฉลี่ยที่ 8-10%
ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยมีมูลค่าธุรกิจรวมประมาณ 28 ล้านล้านบาท จากมูลค่าธุรกิจรวมของประเทศทั้งหมด 39 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของระบบเศรษฐกิจ และหากนับเฉพาะจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นธุรกิจครอบครัว หรือควบคุมกิจการโดยบุคคลในครอบครัว มีมากถึง 50.4%
ดังนั้น ความแข็งแกร่งของธุรกิจครอบครัว (Family Business) จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวมีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่ได้ดำเนินกิจการโดยคนในครอบครัว เช่น การตัดสินใจที่รวดเร็วและมีเอกภาพ ที่ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากกว่าบริษัทที่มีระบบการตัดสินใจเป็นขั้นตอน รวมทั้ง การที่บุคลากรในธุรกิจครอบครัวมีความเป็นเจ้าของ (Entrepreneurship) ทำให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และกล้าคิดกล้าทำนอกกรอบหรือกฎระเบียบมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจครอบครัวก็ยังมีความท้าทายที่เจ้าของกิจการและทายาทต้องตระหนักถึง และเรียนรู้แนวทางในการก้าวข้ามความท้าทายนั้นให้ได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายของการแข่งขันทางธุรกิจภายใต้ปัจจัยรอบด้าน เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน (AEC) การเติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) ที่ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมและการช่วยเติมเต็มศักยภาพทางธุรกิจของลูกค้าด้วยองค์ความรู้ที่เหมาะสม เพื่อช่วยพัฒนาให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
การเรียนรู้ศาสตร์ของธุรกิจครอบครัวจะช่วยเติมเต็มให้การสื่อสารภายในครอบครัวเป็นไปได้ราบรื่นมากขึ้น รวมถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันของเจ้าของธุรกิจและทายาทจะสามารถปรับเข้าหากันได้อย่างลงตัว และสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินของตระกูลให้งอกเงยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้ง ยังสามารถก้าวผ่านความท้าทายทางธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่เพียงในระดับประเทศแต่ในระดับเวทีโลก ที่ผ่านมา ธุรกิจครอบครัวที่เป็นลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย18% มากกว่าบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ยตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 8-10%
ธนาคารกสิกรไทยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การริเริ่ม KFAM Club ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 250 ครอบครัว หรือกว่า 550 คน ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเชิงวิชาการเพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนสืบทอดกิจการ และการสร้างเครือข่ายธุรกิจ
ด้วยการเห็นความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทยและการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ล่าสุดธนาคารฯ จึงได้ร่วมมือกับศูนย์ธุรกิจครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน IMD (IMD Global Family Business Center) พันธมิตรระดับโลก ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและที่ปรึกษาด้านธุรกิจครอบครัวมายาวนานกว่า 25 ปีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผู้จัดสอนหลักสูตรธุรกิจครอบครัวที่สอนต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก
อีกทั้ง ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจครอบครัวที่เป็นแบรนด์ระดับโลกมากมาย และสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจครอบครัวมาแล้วกว่า 2,000 ครอบครัว จากความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการจุดประกายให้ลูกค้านำเทคนิคเรื่องการบริหารธุรกิจครอบครัวระดับสากลไปปรับใช้ให้ธุรกิจครอบครัวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์โยอาคิม ชวาส ผู้อำนวยการ ศูนย์ธุรกิจครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน IMD (IMD Global Family Business Center) เปิดเผยว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทางศูนย์ฯ ได้จัดหลักสูตร Leading the Family Business สำหรับลูกค้าของธนาคารที่เป็นเจ้าของและทายาทธุรกิจครอบครัวที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองเทคนิคการบริหารงานจากธุรกิจครอบครัวชั้นนำระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมาก่อน โดยศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ซึ่งอ้างอิงจากผลงานวิจัยที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ Interactive workshop หรือการสัมมนาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากที่ปรึกษาระดับโลกพร้อมกรณีศึกษาซึ่งลูกค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้อย่างใกล้ชิด และยังจัดกิจกรรมพาลูกค้าธุรกิจครอบครัวของธนาคารฯ ไปสัมผัสประสบการณ์ธุรกิจครอบครัวระดับโลก เยี่ยมชมธุรกิจจริงในต่างประเทศและพบปะพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจและทายาทธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในต่างแดน
ศาสตราจารย์โยอาคิมทิ้งท้ายว่า ธุรกิจครอบครัวไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ดังนั้น ควรเข้าใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่และคาดการณ์ถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งจัดการปัญหาด้วยหลักและวิธีการที่ดี ก็จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีประสิทธิภาพและสามารถสืบทอดธุรกิจต่อไปได้