xs
xsm
sm
md
lg

โต้งกลับลำคงแวต7% สรรพากรรอครม.เคาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โต้ง" กลืนนำลาย ปัดขึ้นแวต อ้างถ้าหากบอกว่าคงไว้ที่ 7% จะเข้าข่ายพูดหาเสียง ด้านสรรพากรยันไม่ปรับขึ้นระบุเสนอคลังคงอัตราเดิม 7% อีก 1 ปีไปแล้ว คาดเสนอ ครม.ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ หวั่นปรับขึ้นฉุดกำลังซื้อลดฮวบกระทบเศรษฐกิจชะลอ พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเพิ่ม ส่วน "

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแก้ตัวหลังให้ข่าวขึ้นแวตว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นแวตเป็น 10% จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ ในอัตรา 7% ตามที่มีกระแสข่าวออกมาแต่อย่างใด เพราะไม่ต้องการผลักภาระให้ประชาชน
นายกิตติรัตน์ยอมรับว่า รัฐบาลยังมีเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ แต่ก็ยังยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดขึ้นภาษี อีกทั้งสิ่งสำคัญคือ การดำเนินการอะไรในช่วงนี้ จะต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ จึงต้องขออนุมัติ และผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน จึงจะดำเนินการได้ เหมือนกับกรณี ที่รัฐบาลขออนุมัติปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งต้องถามความเห็นจาก กกต. เป็น รายเดือน หากจะดำเนินการต่อไป
“การจะไปพูดชัดว่า รัฐบาลอยากจะคงไว้ ก็อาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า รัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถอนุมัตินโยบายใดๆ ที่จะผูกพันไปยังรัฐบาลใหม่ หรือพูดถึงนโยบายที่เป็นเรื่องหาเสียง หรือประชานิยม ตรงนี้รัฐบาลจึงมีความระมัดระวัง และคิดว่าเรื่องนี้ หากจะมีการดำเนินการใดๆ ก็ต้องสอบถามไปยัง กกต.ก่อน”
สรรพากรย้ำแวต7%รอครม.เคาะ
นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวยืนยันว่า ในการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมาไม่ได้มีการหารือเรื่องการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 10% แต่อย่างใด โดยกรมสรรพากรยืนยันยังคงใช้อัตราภาษีในอัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปีและ ได้เสนอกระทรวงการคลังไปแล้วเพื่อให้เร่งเสนอเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนแม้ว่ามีกำหนดถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ก็ตาม
“ยืนยันว่ากรมสรรพากรและกระทรวงการคลังเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่จะให้คงอัตราภาษี VAT ไว้ที่ 7% ตามเดิม แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการจึงเสนอขอให้คงไว้ที่ 1 ปีก่อน คาดว่าน่าจะเข้าครม.ได้ภายในเดือนพ.ค.นี้และเสนอไปยังกกต.ต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนและช่วยให้ภาคเอกชนวางแผนธุรกิจได้ และเพื่อให้ผู้บริโภคมีความสบายใจ ส่วนที่เห็นว่าควรคงภาษีระดับเดิมไว้ก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว จึงไม่ต้องการให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น”นายสิทธิชัย กล่าวและว่าที่ผ่านมาภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศปรับลดลงจากความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง แต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเริ่มมีรายได้กลับเข้รามามากขึ้นจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ยังเหลือเพียง VAT จากการนำเข้าเท่านั้นที่หายไปมากกว่าหมื่นล้านบาท จากการนำเข้าชะลอตัวลง
นายสุทธิชัย กล่าวว่าหลังจากมีรัฐบาลใหม่เข้าบริหารก็คงจะพิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร หลังเดือนก.ย. 58 เพราะการปรับเพิ่มภาษีเพียง 1% แม้จะทำให้รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่ม แต่จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าอย่างมาก หากเศรษฐกิจดี ผู้บริโภคยอมรับได้จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสม ส่วนการปล่อยข่าวในช่วงนี้อาจเป็นการสร้างผลทางจิตวิทยาทำให้มีการซื้อสินค้าก่อนที่จะมีการปรับเพิ่มภาษีก็ได้
สำหรับการกระตุ้นการใช้จ่ายนั้นนายกฯได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการ โดยให้เน้นไปยังภาคธุรกิจที่ยังไปได้ดี เช่น การท่องเที่ยว และอาจไปเน้นในรายจังหวัดที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนกรมฯก็จะเร่งหาแนวทางสนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป
ส่วนการพิจารณาภาพรวมรายได้รัฐบาลที่หายไปจากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนั้นเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีโดยตรวจสอบทั้งส่วนของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินและหลีกเลี่ยงภาษีให้เข้มงวดมากขึ้น โดยกรมจะใช้ระบบจีไอเอสที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆมาตรวจสอบเพื่อดึงเข้ามาอยู่ในฐานภาษีต่อไป
นายสุทธิชัยกล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีระหว่าง 3 กรมจัดเก็บภาษี เพื่อให้หาแนวทางจัดเก็บภาษีและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะทำให้รายได้โดยรวมต่ำกว่าเป้าหมาย 2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีรายได้รวมใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.56-มี.ค.57) จำนวน 705,613 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,597 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลงกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะการส่งออกยังชะลอตัว ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศยังอยู่ในระดับสูงเกินเป้าหมาย ดังนั้นหากกรมสรรพากร เร่งดำเนินแนวทางจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย 1.89 ล้านล้านบาท จากเดิมคาดว่าภาษีจะลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย 10% โดยที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพากรเดินหน้ามาตรการจัดเก็บภาษีอย่างเข้มงวด ประกอบด้วย
1.การเข้าไปตรวจสอบระบบบัญชีของภาคธุรกิจที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่มีการแต่งบัญชีเพื่อปกปิดรายได้ ด้วยการผ่องถ่ายสินทรัพย์ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เงินชีเงินฝากไปอยู่ในบัญชีเจ้าของที่เป็นกรรมการบริษัท ทำให้มีบริษัทจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพาไม่ตรงกับความจริง จึงต้องตรวจสอบรายได้ของกลุ่มบุคคลเจ้าของบริษัทควบคูกับบัญชีขององค์กร
2.การใช้ระบบแผนที่ภาษีทางดาวเทียม (GIS) มาใช้ประเมินการเสียภาษี เพราะระบบดังกล่าวได้ลิงค์ข้อมูลกับทางระเบียนราษฎร์และการเสียค่าไฟฟ้า โดยดูถึงรายได้ของสมาชิกในครอบครัว ว่ามีรายได้จากแหล่งใด ทำงานที่ไหน จึงมีความสามารถในการเสียค่าไฟฟ้าแพงได้ รวมถึงข้อมูลทางการเงินของสมาชิกในการผ่อนชำระค่าสินค้ากับบริษัทต่างๆ รวมถึงที่มาของรายได้ในบริษัทที่อยู่ในพื้นที่สรรพากรดูแล
โดยกรมสรรพากรมีแผนนำระบบ GIS มาทำลองใช้ในพื้นที่เขตพญาไทย อ.หัวหิน และพัทยา คาดว่าในช่วงไตรมาส 3 จะสามารถวางระบบได้ จากนั้นจะขยายไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ค้าขายสินค้าสำคัญ เช่น สำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านการขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ย่านวรจักร ขายอะไหล่ยานต์ ย่านวัดตึก ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และคลองถม เพราะเป็นแหล่งจำหน่ายสำคัญ เนื่องจากการค้าสินค้าในร้านค้าจดทะเบียนภาษีต้องออกใบเสร็จให้ลูกค้าทุกครั้งจึงต้องทำการตรวจ หากระบบดังกล่าวประสบความสำเร็จจะขยายการตรวจพื้นที่ภาษีด้วยระบบ GIS ไปยังพื้นที่สรรพากรภาค 117 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะดึงเงินภาษีที่รั่วไหลกลับมาได้ 100%
3. การให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายเป็นรายพื้นที่สำคัญ เช่น แหล่งท่องเที่ยวหลัก พัทยา ภูเก็ต สมุย จึงเตรียมหารือกับ สศค.ในการออกมาตรการทางภาษีส่งเสริมการใช้จ่ายในส่วนของกรมสรรพากรและจะสรุปแผนในเร็วๆนี้ เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น จะได้เงินภาษีกลับเข้ามาสู่ภาครัฐในทางอ้อม
4.การบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างเข้มงวด ด้วยการลงโทษทางอาญา ตามประมวลรัษฎากร เพราะที่ผ่านมามักจะลงโทษในทางแพ่ง เสียค่าปรับอย่างเดียวพ้นผิดได้ แต่หากเข้มงวดการทำผิดกฎหมายอาญาต้องลงโทษถึงขั้นติดคุก เพื่อป้องกันให้ประชาชนกลับการกระทำผิดหลีกเลี่ยงภาษี โดยจะมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่ระหว่างการประชุมประจำปีของสรรพากรทั่วประเทศในต้นเดือนมิถุนายน เพื่อให้เจ้าหน้าสรรพากรเข้มงวดต่อการหลีกเลี่ยงภาษี

*
กำลังโหลดความคิดเห็น