xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” ดิ้นสูบรายได้อุดภาษีต่ำกว่าเป้าหลายหมื่นล้าน “สรรพสามิต” เล็งน้ำผลไม้ “สรรพากร” เตรียมลุยนิติบุคคล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” ดิ้นสูบรายได้ครึ่งปีงบฯ ต่ำกว่าเป้าหลายหมื่นล้าน “เบญจา” เรียกหารือด่วน 3 กรมจัดเก็บภาษี ยอมรับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ภาษีทุกประเภทลดลง ลุ้นทั้งปีไม่น่าต่ำเป้าถึงแสนล้านบาท “สรรพสามิต” เผยกำลังเร่งควานหาสินค้าตัวใหม่เข้าระบบ เล็งเป้ารีดน้ำผลไม้ ขณะที่ “สรรพากร” เตรียมไล้บิ้ภาษีนิติบุคคล แย้มตรวจเข้มทุกราย หลังพบข้อมูลเจ้าของธุรกิจหลบเลี่ยง

นางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตนเองได้เรียกผู้บริหาร 3 กรมภาษี ทั้งกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร มาหารือเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี เนื่องจากการเก็บภาษี 6 เดือนแรกที่ผ่านมา เก็บได้ต่ำกว่าเป้ามาก และเชิงนโยบายก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงทำได้เพียงให้เพิ่มประสิทธิภาพโดยให้ไปดูในธุรกิจที่มีการขยายตัวดี ให้มีการเก็บภาษีให้ครบวงจรกับธุรกิจมีความเกี่ยวเนื่องทั้งหมด

“การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลทั้งปีไม่น่าจะต่ำกว่าเป้าถึง 1 แสนล้านบาท แต่ก็น่าเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท เพราะส่วนหนึ่งคิดว่าจะเก็บได้ แต่มีการยกเว้น เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่กรมสรรพสามิตคาดว่าจะขึ้นภาษีแต่ไม่ได้ขึ้น ทำให้ภาษีหายไปทั้งปี 2.8 หมื่นล้านบาท”

นางเบญจา ยอมรับว่า การเก็บภาษีในตอนนี้ถือว่าต่ำกว่าเป้าจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ในเชิงนโยบายไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ได้สั่งการให้ไปเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บแทน โดยให้ไปดูในธุรกิจที่มีการขยายตัวดี ให้มีการเก็บภาษีให้ครบวงจรกับธุรกิจมีความเกี่ยวเนื่องทั้งหมด

นางเบญจา กล่าวว่า ตอนนี้ไทยยังมีปัญหาในด้านการลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมาคาดว่าจะมีการเก็บภาษีจากการลงทุนน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้ไม่มีการลงทุน ไม่มีเกิดขึ้นตามที่วางแผนเอาไว้

ทั้งนี้ การนำเข้าทำให้ภาษีของกรมศุลกากรต่ำกว่าเป้าจำนวนมาก รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ของกรมสรรพากร ก็หายไปด้วย อีกทั้งการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ทำไม่ได้ ทำให้การลงทุนหลายแสนล้านบาทเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งหากมีการตั้งคณะกรรมการบีโอไอ และมีการอนุมัติโครงการลงทุนเชื่อว่าจะทำให้การเก็บภาษีเป็นไปได้ดีกว่านี้

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในที่ประชุมฯ รักษาการ รมช.คลัง ได้มอบหมายให้ทั้ง 3 กรมจัดเก็บภาษีไปเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของกรมสรรพสามิตเอง ได้ตั้งคณะการทำงานมาเพื่อทบทวนการจัดเก็บภาษีเป็นรายสินค้า เช่น น้ำพืชผัก น้ำผลไม้ ที่ในขณะนี้ได้รับการยกเว้นภาษีตามบัญชีแนบท้ายเรื่องของส่งเสริมสุขภาพและส่งเสริมการช่วยเหลือเกษตรกร

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต จะต้องกลับไปทบทวนดูว่า สินค้าประเภทนี้มีการบรรจุสัดส่วนตามหลักเกณฑ์จริงหรือไม่ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในสัดส่วนที่กำหนดไว้ ทางกรมก็จะมีการพิจารณาให้มีการเรียกเก็บภาษีในสินค้าดังกล่าว ตามอัตราภาษีน้ำผลไม้ทั่วไป นอกจากนี้ การทบทวนเป็นรายสินค้าดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลของอนามัยโลกอีกด้วย

“กรมสรรพสามิตได้มีการพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา หรือ อย.อยู่ตลอด และได้นำผลวิจัยความหวานของสินค้านั้นๆ จาก อย. มาประกอบการประเมินว่าการเก็บภาษีประเภทน้ำพืชผักผลไม้นี้ โดยจะต้องไปทบทวนดูว่าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นประเภทไหนมีความเสี่ยงผิดหลักบ้างก็จะทำการจัดเก็บภาษีได้ทันที เพื่อเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้ามากอยู่ในขณะนี้”

นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า การเก็บภาษีของกรมศุลกากรในรอบ 6 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2557 กรมเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าหายไปถึง 2.74 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะได้รับผลกระทบจากการเมือง และปัญหาค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้นำเข้าชะลอนำเข้า

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรได้เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี โดยนำเทคโนโลยีเครื่องเอกซเรย์ ตรวจการนำเข้าสินค้าให้มีการสำแดงราคาให้ตรงกับความเป็นจริง และจะมีการเร่งดำเนินคดีทางภาษีที่มีอยู่จำนวนมากให้ได้ข้อยุติ เพื่อที่จะได้เงินภาษีเข้ามา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ถึง 5,000 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปีงบประมาณ 2557 กรมศุลกากร จะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 1 หมื่นล้านบาท

นายสิทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่า ผลการจัดเก็บรายได้ภาษีในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 จัดเก็บได้ 705,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 729,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 23,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3% สาเหตุหลักมาจากรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์ลดลงถึง 18,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผลการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีประจำปี 56 โดยกรมสรรพากรยืดเวลาให้จนครบกำหนดในวันที่ 8 เม.ย.57 โดยมีประชาชนยื่นแบบเสียภาษีทั้งหมด 10 ล้านฉบับ สูงกว่าปีที่ผ่านมา จำนวน 4 แสนราย มีประชาชนต้องจ่ายภาษีเพิ่มจากยอดยื่นแบบวงเงิน 14,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ต้องเสียเพิ่มวงเงิน 18,000 ล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า อธิบดีกรมสรรพากร ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรเตรียมพร้อมจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยการจัดเก็บภาษีต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด ตรวจสอบให้จริงจัง โดยเฉพาะต้องตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทว่า สอดคล้องกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของบรรดาเจ้าของบริษัท ผู้บริหาร หรือกรรมการบริษัทหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่าเจ้าของ ผู้บริหาร และกรรมการบริษัทมีการหลบเลี่ยงเสียภาษีเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการตรวจสอบสามารถย้อนกลับไปถึงการซื้อบ้าน และการถือครองสินทรัพย์อื่นๆ อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น