xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตการคลังกดดัน ศก. หวั่นลากยาว! จัดเก็บทรุด-งบปี 58 ล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง
โฆษกกระทรวงการคลังเผยช่วง 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 57 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 8 แสนกว่าล้านบาท ใกล้เคียงเป้าหมาย แต่ 3 กรมภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57 ใหม่หลังพบหลายปัจจัยเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ เหลือขยายตัวเพียง 2.6% จากที่คาดการณ์ไว้ 4% โดยต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 (ต.ค.56-ก.พ.57) สามารถจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิทั้งสิ้น 802,873 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังใกล้เคียงกับเป้าหมาย ได้แก่ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการ 16,536 และ 11,695 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษีสังกัดกระทรวงการคลัง จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 38,943 ล้านบาท โดยการจัดเก็บภาษีจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ นอกจากนี้ ภาษีจากฐานการอุปโภคบริโภคที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน เนื่องจากการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อย่างไรก็ดี ภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศและภาษีธุรกิจเฉพาะยังจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย

โดยกระทรวงการคลังยอมรับว่า แม้ว่าเสถียรภาพของการเมืองในปัจจุบันอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต่อเนื่องถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล แต่เมื่อสถานการณ์ ดังกล่าวคลี่คลายลง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 57

สุดอั้นปรับจีดีพีทั้งปีเหลือ 2.6%

แต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นดังที่คาดหมาย เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 ใหม่หลังจากทบทวนสมมุติฐานทางเศรษฐกิจและเห็นว่าหลายปัจจัยเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งคำนึงถึงปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาจากช่วงปลายปีก่อน จึงคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2.6% โดยมีช่วงการขยายตัวอยู่ที่ 2.1-3.1% ซึ่งปรับลดลงจากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 4% โดยอยู่บนสมมติฐานว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

หากการเมืองยังยืดเยื้อยาวนานและไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อนนโนบายทางเศรษฐกิจได้ ก็อาจต้องมีการปรับลดการขายตัวของจีดีพีอีกครั้ง เพราะการเมืองถือเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสุดในเวลานี้ หากไม่มีรัฐบาลนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ก็จะสะดุดลงเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถอนุมัติให้เดินหน้าได้ ทั้งการจัดทำงบประมาณปี 2558 ที่คาดว่าจะล่าช้าไปอย่างน้อย 6 เดือน มาตรการต่างๆ ที่จะต้องขยายออกไปทั้งการปรับลดภาษีนิติบุคคลที่ต้องเหลือ 20% ในปีนี้หากกฎหมายไม่ได้รับการอนุมัติก็จะกลับไปอยู่ที่ 30% รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่อาจกลับไปที่ 10% ในเดือนกันยายนนี้

"วิกฤตการเมืองไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแต่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจเองทั้งจากเศรษฐกิจโลกมีปัญหา รวมถึงภัยธรรมชาติภัยแล้งที่เกิดขึ้น แต่หากการเมืองยืดเยื้อนานเกินกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจได้ โดยนอกจากการเมืองจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาแล้ว ยังมีเรื่องการลดขนาดคิวอีของสหรัฐฯ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ดัชนีราคาสินค้าเกษตรและอาจรวมไปถึงการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่น่าจะเกิดขึ้นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการระดมเงินของทั้งภาครัฐและเอกชน" นายสมชัยกล่าว

รับปัญหาการเมืองฉุดจัดเก็บรายได้

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองได้ส่งผล กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทาง สศค.ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของปี 2557 จาก 4% ลดลงเหลือ 2.6% ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการบริโภคและลงทุนของประเทศถดถอยลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อการ จัดเก็บรายได้ของรัฐบาลของ 3 กรมภาษีทั้ง กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร มีอัตราการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะกรมศุลกากรที่อัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้าที่ลดลง อากรนำเข้าก็ลดลงตามไปด้วย ซึ่งสะท้อนถึงการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และการบริโภคที่ชะลอตัวจากปัญหาทางการเมือง ส่วนภาษีสรรพสามิตที่ลดลงก็เป็นผลจากบรรยากาศทางการเมืองที่ทำให้การบริโภคสินค้าลดลงเช่นกัน

"ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากการเมืองได้เกิดขึ้นจริงและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยมีตัวเลขชี้วัดหลายอย่างแสดงออกมา ซึ่งรัฐบาลรักษาการในขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ทั้งสิ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซา นโยบายใหม่ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนออกมาได้ สิ่งที่คาดหวังได้ในขณะนี้คือการเร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐตามงบประมาณปี 57 ที่มีงบประมาณ 2.525 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 20% ของจีดีพี หากสามารถทำได้ตามเป้าประมาณ 90-95% ของงบประมารณก็อาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้นบ้าง" นายเอกนิติกล่าวและว่า รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นกัน

ห่วงงบปี 58 ล่าช้ากระทบลงทุนภาครัฐ

นายเอกนิติกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2558 ของรัฐบาลที่ตามกรอบเวลาการทำงานเดินต้องสามารถกำหนดกรอบรายรับรายจ่ายและอยู่ระหว่างขั้นตอนของกรรมาธิการแล้ว แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากปัญหาทางการเมืองในครั้งนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน

"ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในอดีตแต่ก็ล่าช้าไปประมาณ 4-5 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ก็คงจะดำเนินการได้ทัน แต่หากยังไม่มีรัฐบาลขึ้นมาดำเนินการภายในไตรมาส 3 ก็น่ากังวลต่อผลกระทบที่ จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอย่างมาก" นายเอกนิติกล่าว

ปลัดคลังดิ้นหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง และอธิบดี 3 กรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต ประชุมด่วนหลังจากในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 รัฐบาลมีรายได้ภาษีต่ำกว่าเป้าหมายถึง 38,000 ล้านบาท จากเป้าหมายตั้งไว้ 2.275 ล้านล้านบาท หรือลดลงถึง 20% โดยยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจาก ปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ขณะที่กรมสรรพสามิตลดลงเนื่องจากไม่สามารถขยับขึ้นภาษีดีเซล จึงมอบหมายให้ทั้ง 3 กรมจัดเก็บภาษีเร่งหาสาเหตุในพื้นที่ การจัดเก็บ และหาทางปิดช่องโหว่การจัดเก็บภาษีที่เป็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีแผนจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ มาศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีและหาทางอุดช่องโหว่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เบื้องต้นประสานกับบริษัทที่ปรึกษาหลายราย เช่น ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ (PWC) บริษัทแม็คแคนซี่ และบริษัท KPMG เพื่อเข้ามามองปัญหาร่วมกันทั้งกรมจัดเก็บภาษี และหน่วยงานจากภายนอก เพื่อหาแนวทางทั้งหมดเสนอรัฐบาลชุดใหม่

สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ยอมรับว่าความล่าช้าดังกล่าวจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวเพียง 2.6% จากเดิมคาดการณ์ 4% จึงสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( สศค.) ศึกษาแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงงบปี 58 ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เพราะจ่ายได้แต่เพียงเงินเดือนราชการ ส่วนงบด้านลงทุนต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา เพื่อเตรียมให้รัฐบาลใหม่พิจารณา

ส่วนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงชะลอตัว เน้นทางด้านการกระตุ้นบริโภคมากกว่ามาตรการทางภาษี เพราะมีข้อจำกัดมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มจะครบกำหนดในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ได้ให้ สศค.เร่งเสนอแผนมาให้พิจารณา แต่ยืนยันว่าจะไม่กลับไปจัดเก็บในอัตราเดิม 10% โดยต้องเร่งหาแนวทางกระตุ้นการบริโภคในช่วงมีปัญหาทางการเมือง.
กำลังโหลดความคิดเห็น