xs
xsm
sm
md
lg

“สรรพากร” ยอมรับสภาพปีงบฯ 57 รายได้หลุดเป้า 7% “บ้านแพง-รถหรู” เจอตรวจหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สรรพากร” ยอมรับสภาพปีงบฯ 57 รายได้หลุดเป้า 7% เผยยอด 6 เดือนแรกวืดเป้าถึง 2.3 หมื่นล้าน เร่งพัฒนาระบบตรวจจับ-สกัดการหลีกเลี่ยงเสียภาษี เล็งเชื่อมข้อมูล “มหาดไทย-การไฟฟ้า” เช็กข้อมูลผู้เสียภาษีละเอียดยิบ ทั้งการใช้ไฟ รายได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตุ ขรก. ที่มีบ้านหรู รถแพง อาจมีธุรกิจนอกเสริม

นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ยอดการจัดเก็บรายได้ภาษีปีงบประมาณ 2557 จะอยู่ที่ 1.76 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณที่ตั้งไว้ 1.89 ล้านล้านบาท หรือลดลง 7% เนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่มาจากการนำเข้าลดลง 1.8 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 11% ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากปัญหาการเมืองทำให้ประชาชนชะลอการใช้จ่าย เอกชนลดการลงทุนใหม่ ทำให้ภาษีอากรแสตมป์ลดลง 200 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวเริ่มสะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตการจ้างงานจะลดลง

ล่าสุด ยอดการจัดเก็บรายได้ 6 เดือน กรมสรรพากร เก็บภาษีได้ 7.05 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 7.29 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 2.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ลดลงคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่มาจากการนำเข้า เแม้การส่งออกจะเริ่มขยายตัว แต่คาดว่าผู้ประกอบการยังคงใช้สต๊อกสินค้าเก่าก่อน

หลังจากนี้ คงต้องดูว่าการส่งออกจะดีขึ้นหรือไม่หลังมีออเดอร์สั่งผลิตเสื้อผ้า สินค้าบอลโลก เสื้อกีฬาประเทศต่างเข้ามาเยอะ จะเป็นผลดีต่อธุรกิจการ์เมนต์ (สิ่งทอ) แต่ที่ผลิตลดลงคือ พวกชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้การนำเข้าเครื่องจักรน้อยลงไปด้วย

นอกจากนี้ กรมสรรพากร เตรียมนำระบบจีไอเอส ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบข้อมูลผู้เสียภาษีที่จะนำมาสำรวจข้อมูลของผู้ที่เสียภาษีในแต่ละพื้นที่ว่าในแต่ละครอบครัวมีผู้อยู่อาศัยกี่คน คนที่อยู่ในบ้านมีรายได้เท่าไร แยกเป็นคนวัยทำงาน วัยเรียน ผู้สูงอายุเท่าไร เพื่อดูว่าคนที่อยู่ในบ้านนั้นมีรายได้อย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำเอามาประกอบกับข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เพื่อดูเรื่องการย้ายเข้า-ออก และข้อมูลการไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่เป็นกรรมการว่ามีการใช้ไฟระหว่างสถานประกอบการกับที่บ้านมีความแตกต่างกันอย่างไร

โดยเบื้องต้นเริ่มทำโครงการนำร่องในเขตที่มีประชากรหนาแน่น เช่น พัทยา ส่วนในกรุงเทพฯ ก็เริ่มจากพื้นที่ซอยอารีย์ ซึ่งอยู่ใกล้ที่ตั้งของกรมสรรพากรก่อน คาดว่าการทำระบบที่สมบรูณ์กว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จคงช่วงปลายปีนี้ ระหว่างนี้เตรียมคัดเลือกบริษัทที่วางระบบ และร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภายในเร็วๆ นี้

“สรรพากรจะเอาข้อมูลมาลิงก์ทั้งของมหาดไทย การไฟฟ้า เพื่อดูว่าในบ้านนี้มีคนที่ต้องเสียภาษีกี่คน ขณะเดียวกัน ต้องไปซื้อข้อมูลของการไฟฟ้า เช่น จะไปดูว่านิติบุคคลมีค่าไฟ 2,000 บาทต่อเดือน แต่กรรมการที่มีบ้านที่อยู่อาศัยในละแวกเดียวกันกลับใช้ไฟเป็นหมื่นบ้านต่อเดือน ซึ่งสามารถนำมาตั้งสมมติฐานได้ต่อว่ารายได้กับค่าไฟที่เกิดขึ้นสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือกรณีมีคนมาขอจด VAT ก็จะดูว่าที่ตั้งกิจการอยู่ที่ไหนในเมือง หรืออพาร์ตเมนต์ได้ทันที”

นายสุทธิชัย กล่าวว่า การพัฒนาระบบจีไอเอส จะทำให้รู้ข้อมูลของผู้เสียภาษีทั้งหมด ทำให้รู้ได้ว่าประชากร 70 ล้านคน ใครมีหน้าที่อะไรบ้าง และถ้าทำระบบสำเร็จแ ละใช้ทั้งประเทศ เชื่อว่าจะช่วยขยายฐานผู้เสียภาษี และสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเป็นธรรม หารายได้มาชดเชยกับการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลได้ นอกจากนี้ยั งเตรียมนำระบบแคช รีซีฟ ซิสเต็มส์ มาตรวจสอบเรื่องการออกใบกำกับภาษีปลอมอีกด้วย

สำหรับนิติบุคคลส่วนใหญ่จดทะเบียนขั้นต่ำทรัพย์สินไม่ค่อยมี แต่รายได้สูง จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้บ้านหลังละ 40-200 ล้านบาท ทำไมขายได้ และมีอยู่แทบทุกถนนที่มีความเจริญ ข้าราชการ ทำไมมีรถแพงๆ มีบ้านราคาแพงๆ ได้ แสดงว่าต้องมีรายได้จากการทำธุรกิจอื่นด้วย ซึ่งเรื่องการเสียภาษีให้ถูกต้องเป็นนโยบายของผมตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งอธิบดี ไม่ใช่เพิ่งมารีดรายได้หลังยอดภาษีตก

อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลของผู้เสียภาษีรายใหญ่ หรือแอลทีโอ ยืนยันว่ามีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะยอดเสียภาษีของแอลทีโอ คิดเป็น 70% ของรายได้ทั้งหมดของกรมสรรพากร โดยให้แต่ละพื้นที่ไปวิเคราะห์ผู้เสียภาษีรายใหญ่ในพื้นที่ของตัวเอง 100 รายแรก และมีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ภาษีเพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงานอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น