สศค. เสนอแผนจัดเก็บรายได้ปีงบ 57 ส่งให้ “กิตติรัตน์” รับทราบ หวังบี้รายได้เพิ่มจากรัฐวิสาหกิจนอกตลาดหุ้น หลังภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลทำให้การจัดเก็บรายได้หลายตัวส่อเค้าเสี่ยงอาจหลุดเป้าที่ตั้งไว้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้เสนอแผนการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2557 ของ 3 กรมจัดเก็บภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร ให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง รับทราบ เพื่อช่วยให้การจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2557 เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 2.25 ล้านล้านบาท
ก่อนหน้านี้ถึงแม้ว่าการเก็บรายได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา ยังเกินเป้าอยู่เล็กน้อย แต่สัญญาณการเก็บรายได้ก็มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าเป้าเพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) พลาดเป้าจากปี 2556 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ต่อปี แต่ขณะนี้คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับ 3% ต่อปีเท่านั้น และปี 2557 ก็อาจจะไม่ถึงเป้า 4.5% ต่อปี
ขณะที่การเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ก็พลาดเป้าเช่นกัน โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้าจำนวนมาก รวมถึงการเก็บภาษีของกรมศุลกากรเองก็เช่นกันเพราะช่วงจัดทำประมาณการการเก็บรายได้ปี 2557 อยู่บนประมาณการว่าการนำเข้าจะขยายตัว 10% แต่ขณะนี้การนำเข้าต่ำกว่า 10% มาก
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเบื้องต้นจะทำการเรียกเก็บเงินจากรัฐวิสาหกิจที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีรายได้ และกำไรมาก ให้ส่งเงินรายได้เข้ากระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น โดยมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเข้าข่ายแต่ยังไม่สามารถบอกได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีเงินพิเศษจากการปิดบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) จำนวนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เข้ามาเป็นรายได้ของปี 2557 เพิ่มขึ้นอีกด้วย
“คลังพยายามเก็บรายได้ให้ใกล้เคียงกับเป้าที่ตั้งไว้มากที่สุด แม้ว่าสุดท้ายการเก็บรายได้จะพลาดเป้าไปบ้าง ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงจนทำให้ฐานะการคลังของประเทศอ่อนแอหรือมีปัญหา และประเทศก็ยังมีเงินคงคลังอยู่มาก”
นายสมชัย กล่าวว่า การเพิ่มรายได้ของปีงบประมาณ 2557 จะไม่มีการเพิ่มอัตราภาษี เพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถออกนโยบายใหม่ได้ และคาดว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศก็ไม่กล้าที่จะขึ้นอัตราภาษีเช่นกัน เพราะคงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปทางการเมือง และเร่งผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพื่อเรียกความเชื่อมั่นก่อนเป็นอันดับแรก
อย่างไรก็ตาม คลังได้ให้กรมภาษีต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีมากขึ้น ในส่วนของกรมสรรพากร ได้งบประมาณติดตั้งระบบไอทีเพิ่ม ในส่วนของกรมศุลกากร ก็ให้เข้มงวดการสำแดงราคาสินค้านำเข้า เช่น การนำเข้ารถยนต์หรูของบริษัทผู้นำเข้าอิสระ หรือเกรย์มาร์เกต รวมถึงดำเนินการเอาผิดต่อผู้ประกอบการที่ไม่ส่งสินค้าออกจริง และมีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะทำให้เก็บภาษีมากขึ้น
“แผนการปรับโครงสร้างภาษีของปี’57 ยังไม่มีความชัดเจน ต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ ทั้งการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% การเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มทั้งระบบ รวมถึงการเพิ่มอัตราการหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบเหมา40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น 1.2 แสนบาท”
โดยก่อนหน้านี้ นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นเดือนที่ 2 ของปีงบประมาณ 2557 จัดเก็บภาษีได้ 1.18 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 4,687 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.82% จากที่ประมาณการไว้ 1.22 แสนล้านบาท เนื่องจากการจัดเก็บภาษีในเดือนนี้ต่ำกว่าประมาณการอยู่หลายประเภท เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรายได้นิติบุคคล
กรณีดังกล่าว โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทำได้ 5.7 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 5.92 หมื่นล้านบาท ลดลง 2,193 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7% เนื่องจากเป็นช่วงชุมนุมทางการเมือง ทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยไม่มาก ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้ 3.38 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าอยู่ 4,891 ล้านบาท หรือ 12.62% จากที่ตั้งเป้าไว้ 3.87 หมื่นล้านบาท และภาษีอากรแสตมป์ที่จัดเก็บได้เพียง 991 ล้านบาท จากเป้า 1,152 ล้านบาท ทำให้ต่ำกว่าประมาณการอยู่ 160 ล้านบาท หรือ 13.96% ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ 2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้า 1,695 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.02%
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวม 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวมทั้งสิ้น 2.3 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้า 2,563 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.12% จากที่ได้ประมาณการไว้ที่ 2.27 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมสูงกว่าเป้าหมาย ทำให้ภาพรวมของการจัดเก็บภาษียังเป็นบวก