xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เปิดห้องถก64พรรค ปชป.ร่วมวงแต่ยังแทงกั๊ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**“พวกเราไม่เอาการเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูปประเทศไทยเสร็จ เราประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดไม่ได้อีกต่อไป จนกว่าจะปฏิรูปเสร็จ เลือกตั้ง 2 ก.พ. ก็โมฆะไปแล้ว โดยมือของพวกเรา พูดกันไว้เลยตรงนี้ ถ้าไม่ปฏิรูปกันเสียก่อน ก็อย่าหวังเลยจะเลือกตั้งสำเร็จ”
คำประกาศล่าสุดอย่างเป็นทางการของ สุเทพ เทือกสุบรรณณ เลขาธิการ กปปส. ที่เวทีกปปส. เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 19 เม.ย. กระทบไปถึงการเตรียมเดินหน้าจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเริ่มคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังอีกครั้ง ในการประชุมร่วมระหว่างกกต.กับตัวแทนพรรคการเมืองรวม 64 พรรคในวันนี้ (22 เม.ย.)
เมื่อ กปปส. ยังคงย้ำแนวทางปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งแบบนี้ นั่นย่อมหมายถึงการจัดการเลือกตั้งของกกต.ที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีปัญหาวุ่นวายอีกไม่รู้จบแน่นอน แม้ต่อให้รอบนี้ กกต.อาจมีการเตรียมการรับมือมาเป็นอย่างดีก็ตาม
ทั้งนี้ การนัดหารือของกกต.กับ ตัวแทน 64 พรรคการเมือง ประเด็นสำคัญคงไม่พ้นการรับฟังความคิดเห็นของทุกพรรคการเมือง ต่อกรอบเวลาในการกำหนดวันเลือกตั้ง ว่าควรอยู่ในช่วงเวลาใด รวมถึงต้องการรับทราบความเห็นของพรรคการเมืองในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาอีก
ประชุมเสร็จ กกต.ก็จะมีการนำข้อสรุปไปหารืออีกครั้งกับฝ่ายความมั่นคง หลังเคยคุยกันมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่สุดท้าย กกต.มีนัดจะคุยครั้งสำคัญกับฝ่ายรัฐบาลที่น่าจะเป็นรอบสุดท้ายในช่วงปลายเดือนนี้
ไฮไลต์สำคัญที่คนจับตามองก็คือ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ หลังตอบรับเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ด้วย โดยจะมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นตัวแทนพรรคเข้าร่วมพูดคุย
นัยว่า ประชาธิปัตย์ที่ตอบรับก็เพื่อทำให้เห็นว่า พรรคพร้อมให้ความร่วมมือในการร่วมกันแสวงหาทางออกต่อปัญหาการเมืองขณะนี้ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าคราวนี้เป็นไฟต์บังคับของประชาธิปัตย์ที่ต้องเข้าร่วม เนื่องจากการเป็นพรรคใหญ่-พรรคเก่าแก่อยู่มา 69 ปี แต่การปฏิเสธการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. 57 และอาจเป็นไปได้ที่จะไม่ส่งคนลงเลือกตั้งเป็นครั้งที่สอง หากการต่อสู้ของ กปปส.ยังไม่สำเร็จ
**จุดนี้จึงเป็นงานที่ยากสำหรับอภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์ไม่น้อย ในการตอบคำถามของสังคมจำนวนมากที่ไม่ได้เอาด้วยกับกปปส. ว่าทำไมพรรค ประชาธิปัตย์ ถึงไม่ลงเลือกตั้ง แล้วถ้าไม่ลง จะทำพรรคการเมืองไปเพื่ออะไร
ทำให้ประชาธิปัตย์ก็ต้องใช้ทุกเวทีในการชี้แจง-แสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ เพื่อปูพื้นให้สังคมเข้าใจเสียก่อนว่าพรรคมีความเห็นต่อการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร เพื่อลดกระแสโจมตีหากสุดท้ายพรรคจะไม่ส่งคนลงเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ แต่ในส่วนของแฟนคลับประชาธิปัตย์และกลุ่มสนับสนุน กปปส.นั้น ส่วนนี้ประชาธิปัตย์ลอยตัวอยู่แล้ว เพราะยังไงก็คือกลุ่มที่เห็นว่าพรรคต้องเดินไปพร้อมกับกปปส. คือปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง พรรคไม่ควรลงเลือกตั้ง หากเป้าหมายของ กปปส.ยังไม่สำเร็จ
ท่าทีล่าสุดของประชาธิปัตย์ต่อการลงเลือกตั้ง พอจับสัญญาณบางอย่างได้จากคำแถลงของ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่า การที่พรรคไปร่วมหารือดังกล่าว ในวันที่ 22 เม.ย. ก็เพื่อเป็นการยืนยันว่า พรรคเคารพประชาธิปไตย และพร้อมเข้าร่วมแก้วิกฤติของประเทศ แต่ไม่ใช่เป็นการยอมรับให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเห็นว่าขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะภาพรวมความขัดแย้งทางการเมืองยังคงมีสูงอยู่ ที่อาจนำมา ซึ่งการใช้ความรุนแรง
แล้วมีการอ้างกรณีล่าสุดขึ้นมาสำทับ คือเรื่องที่กลุ่มเสื้อแดงจังหวัดลำพูน ใช้อาวุธข่มขู่ 4 อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คือ แทนคุณ จิตต์อิสระ ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู นราพัฒน์ แก้วทอง และ อภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ระหว่างที่ทั้งหมดร่วมคณะไปดูงานที่ จ.ลำพูน ในฐานะที่เป็นนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของกกต. หลังจากเสื้อแดงหาตัว สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ที่มีข่าวจะร่วมคณะไปด้วยไม่เจอจึงหันมาพุ่งเป้าที่ 4 อดีต ส.ส.ดังกล่าว จนตำรวจต้องพาบุคคลทั้ง 4 ออกจากพื้นที่
ความพยายามของประชาธิปัตย์ ในการออกตัวไว้ก่อนเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อใครจะทำอะไร ก็ต้องหาเหตุผลอะไรต่างๆ มาทำให้การกระทำของตัวเองมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ผู้คนคล้อยตาม ก็คงพอเห็นอะไรได้บางอย่างว่า ประชาธิปัตย์จะตัดสินใจต่อไปอย่างไร ในการลงเลือกตั้ง
เช่นเดียวกับฝ่ายพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็พยายามยกสารพัดเหตุผลมาบอกว่า ปัญหาทุกอย่างของประเทศเวลานี้จะจบลงได้ทันทีเมื่อประเทศไทยมีการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง คือชูว่า ประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งเท่านั้น วิกฤตทั้งหลาย จะมีทางเลือกได้ ขอให้มีการเลือกตั้ง ปัญหาจบ ก็เข้าใจได้ว่า ทำให้เพื่อไทยได้กลับไปเป็นรัฐบาลเต็มตัวอีกครั้งโดยเร็วนั่นเอง
ยิ่งตอนนี้ เพื่อไทย และยิ่งลักษณ์ อยู่ในสภาพใกล้จนตรอก ก็ต้องพยายามให้ กกต.รีบประกาศวันเลือกตั้ง มีการออกพระราชกฤษฏีกาการเลือกตั้งออกมาโดยเร็ว โดยเฉพาะหากทำได้ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดีสถานภาพยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และก่อนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ
ทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะชี้มูลคดีรับจำนำข้าวในช่วงต้นเดือนพ.ค.ได้ ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง
**เพราะหากมีการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งออกมาก่อน โดยเฉพาะหากเกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้นมาจริง ก็จะทำให้ฝ่าย สุเทพ-กปปส. อาจทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ทำให้ช่วงนี้ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย และฝ่ายเสื้อแดง จึงกดดันกกต.อย่างหนักให้รีบจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว
ฟากพรรคร่วมรัฐบาล ให้ความสำคัญไม่น้อยกับการนัดหารือครั้งนี้ เพราะคาดหวังว่าหลังหารือแล้ว กกต.จะได้รีบนำข้อเสนอต่างๆ ไปกำหนดวันเลือกตั้งออกมาโดยเร็ว อย่างพรรคเพื่อไทย ทางคณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย ที่มี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธาน ได้นัดประชุมกันในวันจันทร์ที่ 21 เม.ย.ไปแล้ว เพื่อกำหนดกรอบการหารือ และข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ที่จะไปนำเสนอต่อกกต.โดยเบื้องต้น พรรคจะเสนอต่อที่ประชุมในวันนี้ว่า ต้องการให้ กกต.ต้อง เร่งจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด คืออยู่ในช่วง 45-60 วัน หลังจากที่มี พ.ร.ฎ.วันเลือกตั้งใหม่ มีผลบังคับ
การประชุมกกต.กับพรรคการเมืองครั้งนี้ เพื่อไทยจะส่ง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค และ โภคิน พลกุล เป็นตัวแทนไปร่วมพูดคุย ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ อย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา ก็จะส่ง ธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค นิกร จำนง และ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ไปร่วมหารือ
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ส่ง ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค กับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ไปร่วมหารือ แนวทางของพรรคภูมิใจไทย บอกว่า การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้าให้บรรลุผล เพราะบ้านเมืองไม่สามารถเดินต่อไปได้หากขาด 2 หลัก คือ บริหาร กับนิติบัญญัติ แต่หากจัดเลือกตั้งเร็วแล้วไม่มีเลือกตั้ง ดูแล้ว จัดช้าแล้วสงบ น่าจะดีกว่า
**หลังการหารือวันนี้แล้ว กกต.จะเอายังไงกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ทุกฝ่ายคงกำลังรอข้อสรุปอยู่ แต่เชื่อว่า วงหารือดังกล่าว มีแนวโน้มจะร้อนแรงไม่น้อย หลายพรรคการเมืองน่าจะไล่บี้ อภิสิทธิ์-ชำนิ ซึ่งๆหน้า เพื่อขอคำตอบว่า ตกลงประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น