ศอ.รส. กร่างคับเมือง ขู่"ป.ป.ช.-ศาลรธน." อย่าตัดสิน"ยิ่งลักษณ์-ครม."พ้นสภาพ อ้างปลดชนวนก่อน นปช.ปะทะ กปปส. พร้อมงัดข้อศาลฯ ชงแผนครม.ทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ขจัดปัญหาสุญญากาศที่จะเกิดขึ้น ด้านปชป.ลั่นเอาผิด ศอ.รส. ยกชุด ฐานปฏิเสธอำนาจศาลฯ กระทำการมิบังควร แสดงตนเป็น“รัฏฐาธิปัตย์”หวังปฏิวัติตัวเองเพื่อรักษาอำนาจ เข้าข่ายกบฏ ขณะที่ปลัด สธ. เมินร่วมประชุม รับคำสั่งห้ามต้อนรับกปปส. "ปู"ขอขยายเวลาชี้แจงศาลรธน. กรณีย้าย"ถวิล"มิชอบ รอลุ้น 23เม.ย.ศาลฯอนุญาตหรือไม่ "สุเทพ"ใช้ฤกษ์ "เสาร์ 5" ปลุกเสกพระปางพิชิตมาร
เมื่อเวลา13.00 น. วานนี้ ( 17เม.ย.) ที่ บช.ปส. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) แถลงว่า ตลอด เวลา 30 วัน ที่ได้มีการจัดตั้ง ศอ.รส. ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการทั้งปวง ให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมาในระดับหนึ่งนั้น ขณะนี้มีข้อมูลอย่างเพียงพอที่ได้บ่งชี้ว่า จะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้น ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศอ.รส. โดยเฉพาะการระดมจัดมวลชนให้มีการชุมนุมใหญ่ ทั้งของ กปปส. และ นปช. และกลุ่มอื่นๆในลักษณะท้าทายและแข่งขันกัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ การวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2 องค์กร คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และ ศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับสถานภาพของนายกรัฐมนตรี
ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้น กำลังจะมีคำวินิจฉัยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทำการก้าวก่ายหรือ แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ตามมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกฯ กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 266 รัฐมนตรีทั้งคณะก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 180 ซึ่งแม้มาตรา 181 จะบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ แต่ก็มีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะ วินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญ คือ วินิจฉัยว่า ครม.ทั้งคณะ ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 181 อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดสุญญากาศ ตามที่กลุ่ม กปปส.ต้องการ เพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่ ขณะที่กลุ่ม นปช. ก็จะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการวินิจฉัยของคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งขณะนี้ ก็ได้ปรากฏเป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงของการเผชิญหน้า และการ ท้าทาย ที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และจะนำไปสู่การปะทะกัน และก่อเหตุร้ายต่อกันและกันแล้ว
พร้อมกันนี้ ศอ.รส. ขอให้แต่ละฝ่ายดำเนินการดังต่อไปนี้
1 . ศอ.รส. ขอเรียกร้องให้ป.ป.ช. พิจารณาคดี และมีคำวินิจฉัยต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในกรณีโครงการรับจำนำข้าว อย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยไม่ เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน ที่แตกต่างกันระหว่างคนของพรรคฝ่ายค้าน และกับพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยคณะกรรมการป.ป.ช. จะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
2. ศาลรัฐธรรมนูญ ศอ.รส. มีความกังวลในตัวตุลาการบางคน ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาและมีคำวินิจฉัยต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในกรณีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อย่างตรงไปตรงมา เพราะเมื่อเป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ของนายกฯ แล้ว ก็ไม่อาจเป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงได้ และประการสำคัญอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่วินิจฉัยเกินเลยไปถึงขนาดว่า หากความเป็นนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงแล้ว ครม.ทั้งคณะ จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปตาม มาตรา 180 โดยจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อ ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรา 181 อีกไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องปฏิบัติตามจริยธรรม และคำถวายสัตย์ อันเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
3. ศอ.รส. ขอเรียกร้อง ครม.ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญ ครม.จะต้องแก้ไขปัญหา มิให้เกิดสุญญากาศ เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง ครม. ก็ชอบที่จะทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยว่า ครม.ต้องพ้นจากการอยู่ในตำแหน่งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะ ครม.ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง การจะพ้นไป ก็สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นไป มิใช่ศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้ชี้ขาดเสียเอง โดยฝ่าฝืนมาตรา 181 ดังกล่าว โดยในระหว่างทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้น ให้กราบบังคมทูลด้วยว่า ครม. จะคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 การทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนี้ ก็เพื่อให้เกิดข้อยุติ อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของบ้านเมือง โดยมิต้องเกิดการใช้กำลังของกลุ่มคน 2 กลุ่ม เข้าก่อเหตุร้ายต่อกัน และป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรี กระทำผิดตามมาตรา 181 ด้วย
นายธาริต กล่าวต่อว่า ศอ.รส. เห็นว่า มาตรา 181 เป็นหลักการอันสำคัญของการบริหารประเทศ ที่ป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศ หรือช่องว่าง โดยจะไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้เป็นอันขาด ในทุกๆ กรณีซึ่งในอดีตรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ก็บัญญัติไว้ทำนองเดียวกับ มาตรา 181
อนึ่ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นนั้น รวมถึงกรณีคณะกรรมการป.ป.ช. จะได้วินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาต่อนายกรัฐมนตรี มีมูล และนายกรัฐมนตรีต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 272 ด้วย
**ศาลรธน. ไม่สนคำขู่ ศอ.รส.
แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี ศอ.รส. ออกแถลงการณ์เตือนองค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคดีสถานภาพนายกฯ อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกินเลยไปถึงการวินิจฉัยว่า ถ้าสถานะนายกฯสิ้นสุดลง แล้วครม.ต้องพ้นทั้งคณะ โดยหากเป็นเช่นนั้น ก็เตรียมที่จะทูลเกล้าขอพระบรมราชวินิจฉัยว่า ครม.ต้องพ้นไปอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ยืนยันว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตลอด โดยช่วงที่ผ่านมา ตุลาการก็ถูกโจมตี และโดนกดดันในการวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง แต่ก็ไม่หวั่นไหว เพราะได้วินิจฉัยยึดตามรัฐธรรมนูญ ตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตาม กรณีนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีแต่อย่างใด
** ปชป.ลั่นเอาผิดศอ.รส.ยกชุด
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทีมกฎหมายของพรรค เตรียมตรวจสอบแถลงการณ์ของ ศอ.รส. ที่มีการให้ร้ายองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีคำแนะนำ ไม่ให้ ครม.ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเสนอให้ขอพระบรมราชวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับสถานะรัฐบาลรักษาการว่า เป็นมติของ ศอ.รส. จริงหรือไม่ ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นการทำลายประเทศไทยในภาพรวม อย่างยับเยินเพราะมีการพาดพิงการทำงานของ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ และกระด้างกระเดื่อง สั่งการให้ ครม.ปฏิเสธคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแนะนำให้มีการขอพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตนเห็นว่า เป็นการกระทำที่ขัดกฎหมาย หรือเข้าข่ายกบฏ หากกรรมการ ศอ.รส. คนใดเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแถลงการณ์ครั้งนี้ ก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย โดยพรรคจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินคดีกับผู้คิดเป็นกบฏกับประเทศ รวมทั้งขอให้กำลังใจองค์กรตรวจสอบ และศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาความถูกต้องให้กับบ้านเมือง
นายชวนนท์ กล่าวว่า แถลงการณ์ดังกล่าว มีปัญหา 8 ประการ ประกอบด้วย 1. เป็นการทำงานเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ศอ.รส. 2. บิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ร้ายองค์กรอื่นอย่างไม่เป็นธรรม 3 . ยังเป็นการข่มขู่การถ่วงดุลของระบบตรวจสอบ และข่มขู่กระบวนการยุติธรรม 4. ตั้งตนเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการยุติธรรมวินิจฉัยเองว่าอะไรเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการก้าวล่วงอำนาจตุลาการอย่างร้ายแรงของฝ่ายบริหาร
5. ปฏิเสธกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของประเทศ 6. แถลงการณ์โจมตีโครงสร้างอำนาจอย่างร้ายแรง จึงอาจเข้าข้อหากบฏ ผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกแถลงการณ์ จึงมีความผิดด้วย ส่วนข้าราชการยังเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงด้วย นอกจากนี้ฝ่ายการเมืองจะมีความผิดตาม มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งทีมกฎหมายพรรค จะดำเนินคดีต่อไป 7. มีการกดดันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำปัญหารัฐบาลไปเป็นภาระของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง และ 8 . น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ต้องดำเนินคดีกับ กรรมการ ศอ.รส. ที่ปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขต ทั้งทางวินัย และอาญา หากไม่ดำเนินการกับบุคคลเหล่านี้ เท่ากับรู้เห็นเป็นใจกับแถลงการณ์นี้ ซึ่งสอดคล้องกับการขอขยายเวลาในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีการสิ้นสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี จากการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขา สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายออกไปอีก 15 วัน
"ขอให้ ศอ.รส. ออกมาขอโทษประชาชน ต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ด้วยการแสดงความกระด้างกระเดื่อง ต่อระบบปกครองของประเทศ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังทำการปฏิวัติตัวเอง ด้วยการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ขอพระบรมราชวินิจฉัย เพื่อเลือกนายกฯเอง เป็นความคิดปฏิวัติเงียบเพื่อคงสถานะในการอยู่ในอำนาจต่อไป โดยมีการแสดงบทบาทความเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างชัดเจน ทั้งที่ เป็นรัฐบาลรักษาการ ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ที่มีออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งหาก นายสุรพงษ์ (โตวิจักษณ์ชัยกุล) มีส่วนร่วมในการออกแถลงการณ์นี้ ก็ต้องร่วมรับผิดในทางกฎหมายด้วย" นายชวนนท์ กล่าว
**ศอ.รส. ถกปลัดฯไร้เงา สธ.ตามคาด
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (17 เม.ย. ) ที่ บช.ปส. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้เรียกประชุมปลัดกระทรวง เพื่อหารือ และทำความเข้าใจถึงสถานการณ์การเมือง โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีปลัดกระทรวงและตัวแทนปลัดกระทรวงทั้ง 20 กระทรวง เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง โดยมีกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่มีปลัดกระทรวง และตัวแทนเข้าร่วม ส่วนกระทรวงที่มีการส่งตัวแทนเข้าร่วมคือ กระทรวงคมนาคม ต่างประเทศ พลังงาน และ แรงงาน
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวเปิดการประชุมว่า ศอ.รส. ไม่ได้ใช้อำนาจบาทใหญ่ แต่เมื่อศอ.รส.ได้รับอำนาจให้ดูลความสงบ จึงได้เรียนเชิญปลัดกระทรวงมาพูดคุย โดยการที่จะได้มาเป็นปลัดได้ เป็นเรื่องยาก ต้องมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ไม่อย่างนั้นจะขึ้นมาตำแหน่งไม่ได้ และในวันที่ทาง ศอ.รส.ได้มีกาออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เพราะ ถ้าไม่ตัดสินใจออกแถลงการณ์ หากมีการฆ่ากันตาย พวกตนจะถูกประนาม ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการประชุมผ่านไปกว่า 2ชั่วโมง เมื่อ เวลา16.00 น. นายกิตติพงษ์ กิติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมไม่มีข้อสรุปอะไร และการพูดคุยครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กลุ่ม กปปส. ไปเยี่ยมกระทรวงต่างๆ โดยเป็นความกังวลในมุมมองสถานการณ์ของ ศอ.รส. ซึ่งตนคิดว่า เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่จำเป็นต้องรับฟังความรู้สึกคู่ขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ตนไม่แน่ใจว่าความรู้สึกของข้าราชการคนอื่นจะเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้น ตนรู้สึกกังวล เพราะมุมมองของแต่ละฝ่าย มีความแตกต่างค่อนข้างมาก ฝ่ายรัฐบาลเน้นในเรื่องการกระทำที่ไม่ชอบตามกฏหมาย และระบอบประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่ม กปปส. มองว่าประเทศจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่วิถีทางยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ซึ่งศอ.รส. ได้สะท้อนถึงเหตุการณ์ปี 49 และมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จากองค์กรอิสระ และกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ตนคิดว่า ประเทศอยู่ในจุดที่เราต้องพูดคุยกันมากขึ้น และรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และร่วมหาทางออกที่เป็นประโยชน์สูงสุด
**"ปึ้ง"สั่งห้ามขรก.ตอนรับกปปส.
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะ ประธานที่ปรึกษา ศอ.รส.เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ได้สั่งห้ามทุกกระทรวง มิให้ให้การต้อนรับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะถูกตั้งกรรมการสอบผิดระเบียบวินัยข้าราชการ มาตรา 81 ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนฯ เพราะ กปปส.ได้ประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถือว่าเป็นกบฏรอบสอง ดังนั้นในเวลาราชการหากข้าราชการเข้าไปสนับสนุนเปิดประตูต้อนรับ นั่งร่วมรับประทานอาหาร หรือ แม้แต่ออกมาจากอาคารสถานที่ราชการ ต้อนรับขบวน กปปส. ก็ไม่ควรทำโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถือมีความผิด
** ปลัดสธ.แจง งานสำคัญรัดตัว
ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีไม่เข้าร่วมประชุมกับ ศอ.รส. ว่า เนื่องจากตนมีภารกิจที่กระทรวงฯ ตอลดทั้งวัน เพื่อติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ และการระบาดของเชื้อโคโรนา ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงต่อ ศอ.รส. แต่อย่างใด โดยยืนยันว่า ตนปฏิบัติตามหน้าที่ของข้าราชการประจำอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การชุมนุม ก็มีศูนย์ส่วนหน้า รพ.สงฆ์ ซึ่งประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น กทม. และหน่วยงานส่วนจังหวัด ซึ่งถือเป็นการทำงานอย่างเต็มกำลังของข้าราชการประจำอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงแถลงการณ์ของ ศอ.รส. ซึ่งออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง และห้ามแสดงความคิดเห็นหรือยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ถูกดำเนินการทางกฎหมายอยู่นั้น นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองนั้น มีรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ข้าราชการมีสิทธิเท่าเทียมประชาชน อีกทั้งยังมีพ.ร.บ.ระเบียบช้าราชการพลเรือน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องมารยาท และการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองให้แก่ข้าราชการอยู่
**"ปู"ขอขยายเวลาชี้แจงอีก 15 วัน
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงศ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยว่า การแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7 ) หรือไม่ ได้มอบหมายให้ทนายความเข้ายื่นคำร้อง ขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงในคดีดังกล่าวออกไปอีก 15 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด 15 วัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ยื่นคำชี้แจงครั้งแรก คือ วันที่ 18 เม.ย. โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากติดวันหยุดเทศกาลสงกรานต์หลายวัน ทำให้ไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทัน ซึ่งทางสำนักงานก็ได้แจ้งหนังสือดังกล่าวให้กับประธานศาลรัฐธรรมนูญได้รับทราบแล้ว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประธานศาลรัฐธรรมนูญว่า เรียกประชุมคณะตุลาการ เป็นกรณีพิเศษเพื่อพิจารณาคำร้อง หรือว่าจะมอบหมายให้กับตุลาการคนใดรับผิดชอบพิจารณา
**ตุลาการเตรียมพิจารณา 23 เม.ย.
นายเชาวนะ ไตรมาส เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทางสำนักงานฯได้รับเรื่องในทางสารบัญเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะเสนอที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาตามคำขอ ในวันที่ 23 เม.ย. เวลา 09.30 น.ว่า จะขยายเวลาตามที่ขอหรือไม่ และจะขยายให้กี่วัน
** "วสันต์"สอนมวยทีมกม.เพื่อไทย
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(7) จากกรณีการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯสมช. เนื่องจากสถานะของนายกรัฐมนตรี ได้สิ้นสุดลงนับแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภาแล้ว ว่า ต้องถามว่าแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไปจนมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ใช่หรือไม่ และยังรับเงินเดือน ใช้รถประจำตำแหน่งอยู่ อีกทั้งยังคงทูลเกล้าฯ การออกพระราชกฤษฎีกา ต่างๆได้อยู่ รวมทั้งยังมีอำนาจสั่งการข้าราชการได้อยู่ เพียงแต่อำนาจถูกจำกัดลง โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เท่านั้นเอง ดังนั้นจึงถือว่า เหตุแห่งการวินิจฉัยยังมีอยู่ และอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะวินิจฉัย
ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าชื่อเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคำสั่งรับวินิจฉัย แต่เมื่อมีการยุบสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องสั่งจำหน่ายคดี เพราะเหตุแห่งการวินิจฉัยคดีหมดไปแล้ว ไม่ได้เป็นส.ส. ไม่ได้รักษาการ ส.ส. ที่ยังรับเงินเดือน หรือได้รับสิทธิพิเศษของการเป็นส.ส.อยู่
ดังนั้น ที่มีการกล่าวหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน รับวินิจฉัยเรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่พิจารณาเรื่องของนายอภิสิทธิ์ จึงไม่ถูกต้อง เพราะถ้าจะบอกว่า สองมาตรฐาน รายละเอียดของเรื่องทั้งสองเรื่อง ต้องเหมือนกันทุกกรณี แต่ตัดสินต่างกัน ซึ่งกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนายอภิสิทธิ์ นั้นต่างกัน
** ย้าย"ถวิล"มิชอบ ถือความผิดสำเร็จ
นายวสันต์ ยังกล่าวด้วยว่า แม้กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำพิพากษาว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย เป็นเรื่องที่ผู้ร้อง ร้องว่านายกรัฐมนตรี ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปแทรกแซง ก้าวก่าย เพื่อเอื้อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะผิด ไม่ผิด ยังไม่รู้ ไม่เหมือนกับกรณียุบพรรคพลังประชาชน ที่เมื่อศาลฎีกาตัดสินว่า ผู้สมัครซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค กระทำผิดฐานทุจริตเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 กำหนดไว้ให้ต้องยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไม่ได้
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่าได้คืนตำแหน่งเลขาฯสมช. ให้แก่นายถวิล แล้ว นายวสันต์ ถามกลับว่า กรณีมีคนขโมยของในห้างสรรพสินค้า แล้วต่อมาเอาของไปคืน โดยวางไว้ในที่เดิม ถือว่าความผิดที่ได้ทำหมดไปหรือไม่ ในทางกฎหมายถือว่า ความผิดสำเร็จไปแล้ว แต่การนำของมาคืน ถือเป็นเหตุให้บรรเทาโทษเท่านั้น และส่วนตัวเห็นว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำขัดรัฐธรรมนูญจริง ความเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องสิ้นสุดลงทันที เพราะตามรัฐธรรมนูญถือว่า เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว จะอยู่รักษาการก็ไม่ได้ และแม้โดยปกติ เมื่อนายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ก็จะมีผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นไปทั้งคณะด้วย แต่กรณีนี้ เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว คณะรัฐมนตรีจะพ้นไปทั้งคณะด้วยหรือไม่ ก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่บัญญัติให้ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ รวมถึงก่อนหน้านี้ ที่มีการยุบ 3 พรรคการเมือง ซึ่งมีผลให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องพ้นจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ทำหน้าที่รักษาการแทน ส่วนจะเทียบเคียงหรือไม่ ก็ขอให้ลองคิดดู ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า บ้านเมืองไม่ควรเกิดสุญญากาศไม่มีฝ่ายบริหาร แต่ก็อาจจะไม่ถูกใจใครหลายๆ คน
**"สุเทพ"บุกอภ.ขอเปิดแนวรบนอกสวนลุมฯ
เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เขาธิการ กปปส. นำผู้ชุมนุม กปปส. สวนลุมพินี ไปยัง องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และเมื่อเดินทางไปถึง ก็มีพนักงาน อภ. ออกมาต้อนรับ เป่านกหวีด โบกธงชาติกันอย่างคึกคัก พร้อมเตรียมน้ำดื่ม ดอกไม้ และเงินบริจาคไว้ให้ผู้ชุมนุมด้วย
จากนั้น นายสุเทพ พร้อมแกนนำ กปปส. และแนวร่วม อาทิ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม และนายคมสัน ทองศิริ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เข้าชี้แจงต่อผู้บริหาร อภ. นำโดยนายสมชาย ศรีชัยนาค รองผู้อำนวยการ ภก. พร้อมกับตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. ติดภารกิจประชุมที่กรมควบคุมโรค แต่อนุญาตให้พนักงานใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ได้ตามปกติ ซึ่งนายสมชาย กล่าวให้การต้อนรับว่า หากมีอะไรที่ อภ. สนับสนุนได้ ก็มีความยินดี โดยเฉพาะเรื่องยารักษาโรค
นายสุเทพ ชี้แจงว่า การที่เดินทางมายังองค์การเภสัชกรรม ถือเป็นการเดินสายพบรัฐวิสาหกิจแห่งแรก เพื่อพูดคุยให้ทราบขั้นตอนการต่อสู้ของประชาชน ซึ่งหลายครั้งที่เราพยายามระดมพลังประชาชน เพื่อแสดงพลังขัดขืนต่อต้านรัฐบาลทรราช แต่ฝ่ายกุมอำนาจยังดื้อ ไม่ฟังเสียงประชาชน ทั้งที่ประชาชนเห็นตรงกันแล้วว่าต้องปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง และสิ่งจำเป็นขณะนี้คือ การจัดการให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวหลุดพ้นไป และจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน สภาประชาชน ยืนยันว่าการต่อสู้ของเราไม่ได้ทำเพราะกระะหายอำนาจ สู้มากว่า 5 เดือน ไม่มีนายทุนหนุนหลัง และไม่เคยขอเงินใคร ที่อยู่กันได้เนื่องจากเงินส่วนตัวพวกเรา และเงินหหุ้นส่วนจากประชาชน
ทั้งนี้ จะมีการนัดรวมพลังประชาชนทั้งประเทศอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งตั้งใจว่าจะสู้ให้รู้แพ้รู้ชนะ ถ้าแพ้ก็ค่อยไปสู้ชาติหน้า แต่ครั้งนี้จะสู้เต็มที่ ส่วนวันเวลาที่จะนัดหมายนั้น ไม่สามารถแจ้งได้ล่วงหน้า เพราะต้องการให้อีกฝ่ายยอมจำนนจริงๆ โดยการรอให้ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษษณ์ ชินวัตร กรณีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว หรือการนัดวินิจฉัยกรณีการรแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ขัดรัฐธรรรมนูญหรือไม่
** ปลุกเสกพระเสาร์ 5 ปางพิชิตมาร
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสวนลุมพินีว่า บรรยากาศการชุมนุมกลุ่ม กปปส. หลังจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เดินทางออกไปที่องค์การเภสัชกรรม กับแกนนำกปปส. ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนที่ปักหลักอยู่ภายในพื้นที่การชุมนุมก็พากันพักผ่อนอยู่ภายในเต็นท์ที่พักและใต้ร่มไม้ กระทั่งช่วงบ่าย ที่ผู้ชุมนุมเดินทางกลับจากองค์การเภสัชกรรม ทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 5 หรือที่เรียกว่า วันเสาร์ 5 ถือเป็นวันพิเศษ วันแรง วันแข็ง ตามคติโบราณ ที่ให้คุณทางด้านความสำเร็จสมประสงค์ ถือเป็นฤกษ์มงคล เป็นวันโชคชัย หรือเรียกว่า วันแข็ง หรือ วันขลัง ทางแกนนำ กปปส. จะทำพิธีพุทธาพิเษก "พระพุทธรูปปางพิชิตมาร" ภายในสวนลุมพินี โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่เวลา 12.00 น. และดับเทียนชัยมงคล เวลา 18.00 น. เพื่อความเป็นศิริมงคลของผู้ชุมนุม โดยพระพุทธรูปดังกล่าว จะประดิษฐานไว้ภายในสวนลุมพินี