xs
xsm
sm
md
lg

มาตรา 7 ไม่ใช่นายกฯ พระราชทาน

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ถ้า – ขอย้ำว่าถ้า – ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) เพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 ย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 ในช่วงปลายเดือนเมษายนไปจนถึงต้นพฤษภาคม 2557 แล้วการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่แน่ๆ คือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรสิ้นสภาพแน่นอน

ที่ยังไม่แน่คือคณะรัฐมนตรีคนอื่นจะสิ้นสภาพตามไปด้วยตามมาตรา 180 (1) หรือไม่ เพราะยังมีข้อกฎหมายที่เป็นคุณให้ต้องวินิจฉัยอยู่อีก ทั้งมาตรา 181 และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 10 วรรคสี่

แต่ต่อให้คณะรัฐมนตรียังคงอยู่การณ์ก็จะเป็นไปตามมาตรา 180 วรรคสองที่ระบุว่า “ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 (1) (2) (3) (4) (5) (7) หรือ (8) ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม” ซึ่งก็คือ...

ให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร!

โดยมีกฎเกณฑ์และเงื่อนเวลากำหนดไว้ในมาตรา 172 และ 173 เป็นต้นว่าผู้ที่ได้การเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ถ้าได้เสียงไม่ถึงให้ประชุมใหม่ภายใน 30 วัน ถ้ายังไม่ได้อีกให้ถือเสียงข้างมาก ฯลฯ ที่โดยปกติเป็นการกระทำภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

แต่สถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และก็ไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไร

เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากว่า ณ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยก็จะยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่แทนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่เป็นโมฆะไป


บ้านเมืองจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรี

เพราะต่อให้มีคณะรัฐมนตรียังอยู่ตามมาตรา 181 และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 10 วรรคสี่ ก็จะมีอำนาจจำกัดยิ่ง นอกจากจะจำกัดตามมาตรา 181 แล้วยังจำกัดมากไปกว่านั้นตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 10 วรรคสุดท้ายอีกต่างหาก

ก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญมาตราที่พูดกันมากและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกันมาก

มาตรา 7 !

ซึ่งไม่ใช่การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของประเทศที่ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่มีทางที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรจะบัญญัติครอบคลุมเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้ทั้งหมด จึงจะมีบทบัญญัติอุดช่องว่างไว้

“มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ในกรณีนี้ก็ต้องดูแนวทางการอุดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทย

ก็จะไปลงที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 134 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง

“ไม่ว่ากรณีใดๆ ห้ามมิให้ศาลที่รับฟ้องคดีไว้ปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดี โดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดี หรือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นเคลือบคลุมหรือไม่บริบูรณ์” (มาตรา 134 ป.วิ.แพ่ง)

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป” (มาตรา 4 วรรคสอง ปพพ.)

ในกรณีนี้ก็ต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

ให้วุฒิสภาทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรเฉพาะกรณีตามมาตรา 172 และ 173

เพราะตามมาตรา 122 สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไร จะปล่อยปละละเลยให้บ้านเมืองไร้ทางออกเดินหน้าไม่ได้ถอยหลังไม่ได้ก็จะเป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 122 นี้เสียเองที่กำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

เมื่อได้ผู้ที่เหมาะสมแล้ว ประธานวุฒิสภาก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไป

ก็เท่านั้นละครับในมุมทางกฎหมาย

ไม่ใช่เรื่องขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ

และก็ไม่ได้ขัดกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ประการใดทั้งสิ้น ทุกท่านกรุณาศึกษาพระราชดำรัสวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดให้ดี ผมไม่ประสงค์จะคัดมาเฉพาะตอนใดตอนหนึ่ง

แต่ในกรณีนี้จะเดินไปได้ยากกว่าหาก ณ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่แทนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว เพราะถือว่ายังมีทางออกที่พอมองเห็นได้ข้างหน้า

นี่เป็นการมองในด้านกฎหมายล้วนๆ ในขณะที่มุมมองทางด้านมวลชนที่ละเลยไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

มุมมองของ นปช.คัดค้านแน่นอน

แต่จะคัดค้านถึงที่สุดแค่ไหน อย่างไร สุดท้ายคงต้องอยู่ที่การตัดสินใจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรด้วย เพราะเอาเข้าจริงแนวทางนี้ที่จะทำให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกขึ้นมาชั่วคราวหาได้มีผลเสียหายต่อเครือข่ายของเขาทั้งหมดโดยสิ้นเชิงไม่ ยังไม่ตัวแปรอีกมาก

มุมมองของ กปปส.ยังไม่แน่ใจว่าที่สุดแล้วจะตัดสินใจอย่างไร

กปปส.มี 2 แนวทางที่ประกาศมาในรอบ 4 – 5 เดือนนี้ ระยะแรกชัดเจนว่ายอมรับบทบาทของวุฒิสภาที่อาจจะก้าวเข้ามาทำหน้าที่ตามมาตรา 172, 173 ระยะต่อมาท่านออกไปในแนวทางปฏิวัติโดยประชาชนเสมือนหนึ่งว่าให้ กปปส.มีความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่จะดำเนินกระบวนการตั้งรัฐบาลประชาชนและสภาประชาชนได้เองโดยไม่พูดถึงวุฒิสภาอีกต่อไป ในระยะนี้ท่านถึงกับออกแถลงการณ์และประกาศบางฉบับที่มีนัยบ่งบอกความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ได้สานต่อ จวบจนระยะหลังๆ ท่านกลับมาพูดถึงบทบาทของวุฒิสภาในกรณีนี้อีกครั้งหนึ่ง

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 ท่านกลับมาประกาศถึงแนวทางความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ กปปส.อีกครั้งหนึ่ง

สถานการณ์ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกไปในทางใด

ณ นาทีนี้เพียงแต่อยากจะบอกว่าหากมีการหาทางออกให้บ้านเมืองโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปพูดว่าเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีพระราชทานแต่ประการใด
กำลังโหลดความคิดเห็น