xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไปก่อนสงกรานต์ ? ปมกระทำการต้องห้ามตามมาตรา 268 !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

แม้จะมีโอกาสสูงมากที่ปปช.จะชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรีคดีจำนำข้าวก่อนสงกรานต์นี้ เพราะครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 31 มีนาคม 2557 นี้แล้วและปปช.มีมติไม่ให้ขยายเวลาอีกต่อไป แต่ก็ยังคงไม่ทำให้สถานการณ์จบบทสำคัญไปได้ง่าย ๆ เพราะหนึ่งนายกรัฐมนตรีแค่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และสองยังมีรัฐมนตรีคนอื่นอยู่รักษาการแทน

เป็นหมัดหนัก แต่ยังไม่ใช่หมัดน็อค

ประเด็นมาตรา 268 ย้ายคุณถวิล เปลี่ยนสีต่างหากที่จะเป็นหมัดน็อค

เพราะจะทำให้ไปกันทั้งคณะรัฐมนตรี

หนึ่ง - ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

สอง – จะเป็นผลให้ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง


ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของ 27 ส.ว.ที่ยื่นผ่านประธานวุฒิสภาตามมาตรา 182 วรรคสาม ประกอบมาตรา 91 ในการประชุมคณะตุลาการประจำสัปดาห์วันพุธที่ 2 เมษายน 2557 คืออีก 2 วันถัดจากนี้ไป

ก็ต้องติดตามว่าถ้ามีมติรับคำร้องไว้พิจารณา จะมีกำหนดนัดพิจารณาและลงมติในอีก 1 สัปดาห์ถัดไปหรือไม่

ถ้านัดในอีก 1 สัปดาห์ถัดไปก็จบบทสำคัญก่อนสงกรานต์แน่

ประเด็นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายล้วน ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นได้เอง

โดยมีคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดรองรับไว้ก่อน


ทบทวนข้อกฎหมายนะ

มาตรา 182 (7) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ... กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269

มาตรา 180 (1) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ... ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182

มาตรา 268 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ

(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (3) (4) (5) (6) (7) (8) (10) หรือ (11) หรือมาตรา 119 (3) (4) (5) (7) หรือ (8) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

มาตรา 182 วรรคสาม ให้นำบทบัญญัติมาตรา 91 และมาตรา 92 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (3) (5) หรือ (7)....

กรณีนี้คือมาตรา 268, 266, 182 (7), 180 (1)

โดยใช้ช่องทางไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 182 วรรคสามประกอบมาตรา 91 วรรคหนึ่ง


ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องความผิดทางอาญาที่จะนำไปสู่การถอดถอนหรือการดำเนินคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่ประการใด

เป็นแค่เรื่องของการขาดคุณสมบัติเท่านั้น

คุณสมัคร สุนทรเวชก็เคยโดนมาแล้ว แม้ไม่ใช่มาตรา 268 แต่ก็เป็นมาตรา 269 ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันที่พอผิดปุ๊บก็จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) ทันที และช่องทางที่เคยใช้เมื่อปี 2551 ก็คือช่องทางตามมาตรา 182 วรรคสามประกอบมาตรา 91 วรรคหนึ่งเหมือนกัน เริ่มต้นยื่นคำร้องโดยคณะส.ว.เหมือนกัน

ที่บอกว่าแค่ขาดคุณสมบัติ ก็เพราะผลของการกระทำเพียงทำให้พ้นจากตำแหน่งในขณะนั้น แต่ถ้าได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ตามกระบวนการที่ถูกต้องก็สามารถทำได้ทันที

กลุ่มข้อห้ามตามมาตรา 265 – 269 อยู่ในรัฐธรรมนูญส่วนที่ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

เป็นของใหม่จากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกทำให้เข้มข้นขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ 2550

ข้อห้ามกลุ่มนี้ที่ยากคือการพิสูจน์

แต่ในกรณีนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรคนนี้กลับง่าย เพราะข้อเท็จจริงว่าท่านกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องสืบ

เพราะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ระบุไว้ชัดเจนแล้ว


ท่านใดสนใจรายละเอียดของคดีกรุณาเข้าไปอ่านในเว็บไซด์ของศาลปกครองได้ คดีแดงที่ อ. 33/2557

เป็นคดีที่จะเป็นกรณีศึกษาสำคัญแน่นอน

เพราะในบางประเด็นต้องถึงขั้นประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดทีเดียว

ถ้านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะเพราะคดีนี้ก็ถือว่าเหมาะสม เพราะเป็นการโยกย้ายที่น่าเกลียด เพียงต้องการนำเครือญาติขึ้นมาดำรงตำแหน่งผบ.ตร. ก็ต้องย้ายผบ.ตร.คนเก่าที่ไม่มีความผิด ก็เลยต้องหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ ก็เลยมาลงที่ตำแหน่งของคุณถวิล เปลี่ยนสีที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ใด ๆ ทั้งสิ้น

ใครจะนึกว่าบูมเมอแรงที่เหวี่ยงไปเมื่อ 2 ปีก่อนจะย้อนกลับมาพิฆาตตัวเองในวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น