xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่ผู้ไกล่เกลี่ยควรรู้ : ธรรม 8 ประการ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เมื่อคนสองคนหรือสองกลุ่มขัดแย้งกัน และหาข้อยุติไม่ได้ มีคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแสดงตนจะเป็นผู้ประสานให้คู่กรณีเจรจากันเพื่อยุติความขัดแย้ง คนนั้นหรือกลุ่มนั้นเรียกว่า ผู้ไกล่เกลี่ย

การมีเพียงความต้องการจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ไม่ทำให้ภารกิจไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จได้ ถ้าคู่กรณีไม่ยอมรับนับถือและยินยอมให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย

ยิ่งกว่านี้ นอกเหนือจากการได้รับการยอมรับจากคู่กรณีแล้ว ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีธรรม 8 ประการ อันเป็นคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ย ตามนัยแห่งคำสอนในพุทธศาสนาด้วย

ธรรม 8 ประการที่ว่านี้ มีที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 7 สังฆเภทขันธกะดังนี้

1. ฟังคนอื่น 2. ทำให้คนอื่นฟังตน 3. คงแก่เรียน 4. ทรงจำดี 5. รู้คำพูดของคนอื่น 6. ทำให้คนอื่นรู้คำพูดของตน 7. ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ 8. ไม่ชวนทะเลาะ

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระแล้ว จะเห็นได้ว่าทุกข้อมีความสำคัญภารกิจไกล่เกลี่ย เริ่มตั้งแต่ข้อ 1-ข้อ 8 ดังจะได้ขยายความพอเป็นสังเขปดังนี้

ข้อที่ 1 ฟังคนอื่น : ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องไม่ยึดติดความคิดเห็นของตนเป็นที่ตั้ง แต่จะต้องฟังคนอื่นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องฟังคู่กรณีแห่งความขัดแย้ง

ข้อที่ 2 ทำให้คนอื่นฟังตน : ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีศักยภาพในการทำให้คู่กรณี รวมทั้งผู้สนับสนุนคู่กรณีแต่ละฝ่ายฟังตน

ข้อที่ 3 ทรงจำดี : ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเกี่ยวพันกับประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง รวมไปถึงสิ่งที่คู่กรณีพูดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และกฎกติกาต่างๆ ที่จะต้องนำมาอ้างอิงเพื่อให้มีน้ำหนักในการหักล้างสิ่งไม่ถูกต้อง และสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้องและได้ข้อยุติที่ถูกต้องเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

ข้อที่ 4 คงแก่เรียน : ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นพหูสูตคือสดับตรับฟังมากในศาสตร์ต่างๆ ซึ่งจะต้องนำมาเป็นข้ออ้างอิง และเกื้อกูลต่อการเจรจาผู้ไกล่เกลี่ย

ข้อที่ 5 รู้คำพูดของคนอื่น : ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีความรู้มีความเข้าใจในภาษา และเนื้อหาที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายพูดเป็นอย่างดีว่าหมายถึงอะไร

ข้อที่ 6 ทำให้คนอื่นรู้คำพูดของตน : ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีศิลปะในการพูดให้คนอื่นฟังโดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่กรณีเข้าใจคำพูดของตนว่า สิ่งที่ตนพูดหมายถึงอะไร

ข้อที่ 7 ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ : ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีความฉลาดพอที่จะแยกแยะว่าอะไรมีประโยชน์ และอะไรไม่มีประโยชน์ แล้วพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการไกล่เกลี่ย

ข้อที่ 8 ไม่ชวนทะเลาะ : ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องไม่พูดในสิ่งที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งโกรธเคือง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาไกล่เกลี่ย

วันนี้ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึง นปช.ผู้สนับสนุนรัฐบาลกับ กปปส.ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 8 คน โดยมีประเด็นและความเป็นมาแห่งความขัดแย้งดังต่อไปนี้

1. กปปส.ได้ชุมนุมเรียกร้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อเปิดทางให้ประชาชนแต่งตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาทำการปฏิรูปประเทศ โดยใช้เวลาระยะหนึ่งแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลชุดนี้หมดความชอบธรรม ทั้งในด้านกฎหมายและการเมืองแล้ว อันเนื่องมาจากการทุจริตคอร์รัปชัน และการไม่ยอมรับอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

2. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลชุดนี้ ได้แสดงความคิดเห็นในทิศทางตรงกันข้ามกับข้อเรียกร้องของ กปปส.ด้วยให้เหตุผลว่า รัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจึงต้องอยู่ในตำแหน่งรักษาการต่อไปจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ ทั้งนี้เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยโดยไม่สนใจข้อเรียกร้อง และข้อกล่าวหาใดๆ

ด้วยเหตุที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นในสิ่งเดียวกันต่างกัน จึงไม่มีทางหาข้อยุติได้ด้วยการเจรจากัน

ถึงกระนั้น ก็ยังมีบุคคลและกลุ่มบุคคลซึ่งจัดอยู่ในประเภทมองโลกในแง่ดีหรือมองโลกสวย โดยไม่ลงลึกถึงเหตุแห่งความขัดแย้ง และความเสียหายอันเกิดจากการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ และไม่เข้าใจว่าถ้าปล่อยให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ในตำแหน่งต่อไป จะเสียหายเพิ่มขึ้นขนาดไหน และที่สำคัญลืมเหตุที่จะทำให้เกิดการปรองดอง 4 ประการ ตามนัยคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ

1. ทิฏฐิสามัญญตา มีความคิดเห็นเสมอกันคือเห็นสิ่งเดียวกันตรงกัน เช่นเห็นว่าความดีเป็นความดี ความชั่วเป็นความชั่ว เห็นว่าประชาธิปไตยคือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มิใช่คนส่วนใหญ่ เป็นต้น

2. สีลสามัญญตา มีศีลหรือข้อวัตรปฏิบัติเสมอกัน เช่น เป็นภิกษุต้องมีศีล 227 ข้อเป็นภิกษุณีต้องมีศีล 311 ข้อ และเป็นนักการเมืองจะต้องเคารพกติกาตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

3. ปรโตโฆสะ ต้องฟังคนอื่น คือไม่ยึดติดความคิดเห็นของตนเองแต่ฝ่ายเดียว แต่จะต้องฟังคนอื่น และพร้อมที่จะทิ้งความคิดของตนเมื่อพบว่าผิด และถือเอาความคิดของคนอื่นมาถือแทน เมื่อพบว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง

4. กัลยาณมิตตตา มีคนดีเป็นมิตร หรือมีเพื่อนเป็นคนดี ซึ่งเปรียบเสมือนอยู่ในบ้านที่แวดล้อมด้วยเพื่อนบ้านที่ดี มีปัญหาเกิดขึ้นขอคำปรึกษาได้ และเป็นคำปรึกษาที่ดีด้วย

โดยสรุปผู้ไกล่เกลี่ยนอกจากจะต้องได้รับการยอมรับจากคู่กรณีแห่งความขัดแย้งแล้ว ตนเองจะต้องมีธรรม 8 ประการ และจะต้องรู้ว่าคู่กรณีมีธรรม 4 ประการอยู่หรือไม่ด้วย

ถ้ามีองค์ประกอบครบถ้วนดังกล่าวแล้วข้างต้น ผู้ไกล่เกลี่ยจึงจะหวังผลสำเร็จในการไกล่เกลี่ยได้ มิใช่ใครก็เป็นได้เพราะเพียงแค่ต้องการจะเป็นเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนหวังว่าใครก็ตามที่มองโลกในแง่ดี ขอให้รู้จักโลกทั้งในแง่บวกและแง่ลบด้วย จะได้ไม่โทษตนเองเมื่อล้มเหลว
กำลังโหลดความคิดเห็น