xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะ 4 ประการ : องค์ประกอบของการปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

การปรองดองคือการที่คู่กรณี ซึ่งมีความขัดแย้งกัน หันหน้าเข้าหากัน เจรจาทำความตกลงกันเพื่อลดความขัดแย้งและหาข้อยุติอย่างถาวร

แต่การจะทำให้เกิดการปรองดอง และยุติความขัดแย้งได้นั้น ถ้ายึดถือตามแนวทางพระพุทธศาสนาแล้ว คู่กรณีจะต้องมีธรรม 4 ประการคือ

1. ทิฏฐิสามัญญตา คือการมีความคิดเห็นในสิ่งเดียวกันตรงกัน เช่น เห็นความดีเป็นความดี เห็นความชั่วเป็นความชั่ว เห็นถูกเป็นถูก เห็นผิดเป็นผิด เป็นต้น

2. สีลสามัญญตา คือการมีศีลหรือข้อวัตรปฏิบัติเสมอกัน เช่นไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดีเสมอกัน มิใช่อีกฝ่ายหนึ่งทำดี อีกฝ่ายหนึ่งทำชั่ว เป็นต้น

3. ประโตโฆสะ คือการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ยึดติดความคิดเห็นของตนแต่ฝ่ายเดียว พร้อมที่จะเปลี่ยนหรือละทิ้งความคิดเห็นของตนเมื่อพบว่าผิด และถือเอาความคิดเห็นของคนอื่น ซึ่งเห็นว่าถูก

4. กัลยาณมิตตตา คือการที่คบคนดีเป็นมิตร หรือการแวดล้อมด้วยคนดี หรือการมีคนดีเป็นบริวาร เพราะผู้ที่แวดล้อมด้วยคนชั่ว คนเลว จะต้องเป็นเลวหรือมีส่วนเป็นคนเลว และคนเช่นนี้จะถูกคนเลวชี้นำหรือชักจูงได้ง่าย ทั้งยังเป็นอุปสรรคในการเจรจาปรองดองกับคนดีด้วย

วันนี้ผู้คนในสังคมไทยขัดแย้งกัน และแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายโดยมีการเมืองในระบอบทักษิณเป็นมูลเหตุคือ

1. รัฐบาลในระบอบทักษิณ ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้สนับสนุนภายใต้การนำของกลุ่ม นปช.โดยใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์

2. กปปส.ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 8 คน

อนึ่ง การออกมาคัดค้านระบอบทักษิณ มิใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แท้จริงแล้วการคัดค้านรัฐบาลในระบอบนี้ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ใน 2 ยุคหรือ 2 ช่วงแห่งกาลเวลาดังนี้

1. ในปลายปี พ.ศ. 2548-ก.ย. 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นต้น ได้ออกมาชุมนุมคัดค้านรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในข้อหาแทรกแซงสื่อ รังแกข้าราชการประจำ และมีพฤติกรรมจาบจ้วงเบื้องสูง และผลของการต่อต้านรัฐบาลในครั้งนั้นจบลงด้วยกองทัพ ทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลมีผลให้ทักษิณถูกสอบสวน และทำการยึดทรัพย์ ทั้งถูกดำเนินคดีมีโทษจำคุก 2 ปี และหนีออกนอกประเทศกลายเป็นสัมภเวสีการเมืองอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

2. ในช่วงปี พ.ศ. 2551-2552 กลุ่ม พธม.ภายใต้การนำของคนหน้าเดิมกับปี 2548 ได้ออกมาชุมนุมคัดค้านรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลนอมินีหรือเป็นรัฐบาลเงาของทักษิณในข้อหาเดิมๆ และเพิ่มข้อหาใหม่คือพยายามจะออกกฎหมายล้างผิดให้ทักษิณ และผลของการต่อต้านในครั้งนั้นจบลงด้วยกระบวนการยุติธรรม ทั้งนายสมัคร และนายสมชายต้องคดีมีอันให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ทั้งสองคน

นอกจากการที่ประชาชนคัดค้านรัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ และรัฐบาลต่อมาซึ่งเป็นรัฐบาลเงาถูกครอบงำ และชี้นำโดยอดีตนายกฯ ทักษิณล้วนแล้วแต่มุ่งประเด็นไปที่ระบอบทักษิณที่ก่อความเสียหายให้แก่ประเทศในหลายๆ กรณี แต่ที่ร้ายแรงที่สุดเห็นจะได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชัน การจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง และการไม่ยอมรับอำนาจศาล รวมไปถึงความพยายามที่จะแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองมีโอกาสกลับมามีอำนาจทางการเมือง โดยอาศัยการเลือกตั้ง

จากวันที่ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านระบอบทักษิณในนามของ พธม.จนถึงในนาม กปปส. จะเห็นได้ว่า ทุกรัฐบาลในระบอบทักษิณถูกบงการโดยอดีตนายกฯ ทักษิณคนเดียว และอ้างความเป็นประชาธิปไตยอยู่ประการเดียวคือมาจากการเลือกตั้ง และต้องรักษาระบอบนี้ไว้ ในขณะเดียวกัน ประชาชนผู้ออกมาชุมนุมต่อต้านก็ไม่ยอมรับการเลือกตั้งในระบอบทักษิณ เนื่องจากไม่โปร่งใส มีการซื้อสิทธิขายเสียง และใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงเลือกตั้ง โดยผ่านทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้าราชการฝ่ายปกครอง จึงต้องการให้ระบอบทักษิณหมดไปจากการเมืองไทย ด้วยการปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน รวมทั้งด้านการเมืองด้วย

ดังนั้น ถ้าจะให้สองฝ่ายที่เห็นต่างกับในประเด็นเดียวกับเจรจากัน ตามนัยที่บรรดาผู้มองโลกสวย หรือมองโลกในแง่ประนีประนอม โดยดูเพียงผลคือความขัดแย้ง และไม่ดูว่าอะไรคือเหตุแห่งความขัดแย้ง และใครคือผู้ก่อเหตุแห่งความขัดแย้ง แล้วเสนอวิธีการแก้ปัญหาให้ตรงประเด็นคือ ขจัดเหตุแห่งความขัดแย้ง ตามหลักพุทธศาสนาคือให้แก้ที่เหตุ ข้อเสนอในทำนองนี้จึงไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายต่อต้านแน่นอน

อีกประการหนึ่ง ผู้ต่อต้านมิได้ทำการต่อต้านเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อประเทศโดยมีประชาชนเป็นแนวร่วม

แต่รัฐบาลในระบอบทักษิณทำเพื่อคนคนเดียวคือทักษิณ หรือจะมีคนอื่นบ้างก็จำกัดอยู่ในกลุ่มของทักษิณ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลกับผู้ต่อต้านจะเจรจากัน ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายที่มองสิ่งเดียวกันแต่คิดต่างกัน รวมทั้งวัตถุประสงค์ก็ต่างกันด้วย

แต่ที่สำคัญที่สุด ทั้งสองฝ่ายมีคนแวดล้อมต่างกัน ส่วนฝ่ายแวดล้อมด้วยคนดี และฝ่ายไหนแวดล้อมด้วยคนเลวไม่ต้องบอกก็คิดได้เอง

ดังนั้น ใครก็ตามที่คิดจะให้รัฐบาลในระบอบทักษิณเจรจากันประชาชนผู้ต่อต้าน จะต้องกดดันหรือชี้นำให้ผู้นำรัฐบาลปรับความคิดเห็นให้ตรงกับประชาชน อย่างน้อยในประเด็นต่างๆ ที่เป็นเหตุให้ประชาชนนำไปอ้างเพื่อขับไล่ดังต่อไปนี้

1. การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวมิได้เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพของความเป็นประชาธิปไตย ตามนัยที่ประเทศอันเป็นต้นแบบของระบบนี้ยึดถือ

2. จะต้องยอมรับว่าการทุจริต คอร์รัปชันมีอยู่จริง และคนในรัฐบาลนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง และจะต้องทำการปราบปรามเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้

3. การจาบจ้วงเบื้องสูง จะต้องได้รับการแก้ไข และป้องกันมิให้เกิดอีก ทั้งจะต้องดำเนินการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยอมรับ และปรับโลกทัศน์ให้ตรงกับความเป็นจริงที่ประชาชนได้รับรู้ และเรียกร้องให้แก้ไขก็จะทำให้ความคิดเห็นเข้าใกล้กับของประชาชนผู้ต่อต้าน โอกาสที่จะเจรจาเพื่อการปรองดองก็เกิดขึ้นได้

แต่ถ้ารัฐบาลยังคงเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เชื่อได้ว่าการเจรจาเกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น