xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.กลางถอนคำสั่ง สตช.ปลด “มานิต” คดีปล่อยยำพวกด่า “แม้ว” ปี 49 ระบุยังไม่พบเลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลาง พิจารณาถอนคำสั่ง สตช.ปลด “มานิต วงศ์สมบูรณ์” หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลผิดเหตุปล่อยพวกยำกลุ่มด่า “ทักษิณ” ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ระบุยังฟังไม่ได้มีพฤติการณ์เลือกปฏิบัติในการเข้าจับกุมเฉพาะผู้ที่ต่อต้าน และใช้กำลังผลักจนเป็นเหตุถูกทำร้าย

วันนี้ (18 ก.พ.) ศาลปกครองกลาง ยังคงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 647/50 ลงวันที่ 16 ต.ค. 50 ที่สั่งลดโทษปลด พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ในขณะนั้นออกจากราชการ กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติชี้มูลว่า พล.ต.ต.มานิตกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการ ผิดวินัยอย่างร้ายแรง จากการที่ใช้ตำแหน่งช่วยเหลือให้ผู้ที่กระทำผิดในกรณีเข้าควบคุมจับกุมนายวิชัย เอื้อสิยาพันธุ์ ซึ่งเป็นประชาชนที่ตะโกนต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 49 จนเป็นเหตุทำให้มีการทำร้ายร่างกายนายวิชัย และให้เพิกถอนมีมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ที่ยกคำอุทธรณ์ของ พล.ต.ต.มานิต โดยให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของ พล.ต.ต.มานิต เสมือนว่า พล.ต.ต.มานิตไม่เคยถูกคำสั่งลงโทษปลดออกราชการมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า พล.ต.ต.มานิตได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด คำสั่งปลดออกราชการจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว เป็นคำพิพากษาครั้งที่ 2 ในคดีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 52 ไปแล้วครั้งหนึ่งให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้ปลด พล.ต.ต.มานิตออกจากราชการ เพราะเห็นว่ากระทำของ พล.ต.ต.มานิต มิได้เป็นการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือมีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องปลดออกจากราชการ

ต่อมา ป.ป.ช.ในฐานะผู้ที่ชี้มูลได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ โดยป.ป.ช.อ้างว่าคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 52 มีการระบุว่าการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่นำไปสู่การมีมติว่า พล.ต.ต.มานิตกระทำผิดวินิยอย่างร้ายแรง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว คู่กรณีจะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามสิทธิ แต่ ป.ป.ช.ก็ถือว่าตัวเองเสียหายจากการมีคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองกลางในขณะนั้นยกคำอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.โดยเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ได้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกระทบจากผลแห่งคดีนี้ทำให้ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของศาลปกครองกลางไปยังศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงมายังศาลปกครองกลางให้รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของ ป.ป.ช.ไว้พิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาตามรูปคดีโดยให้เปลี่ยนองค์คณะในการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งปรากฏว่าในวันนี้องค์คณะใหม่ก็ยังคงมีคำพิพากษาในทำนองเดียวกับองค์คณะศาลปกครองกลางชุดเดิม

สำหรับเหตุที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งปลด พล.ต.ต.มานิตย์ออกจากราชการในครั้งนี้ระบุว่า ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ป.ป.ช.มีคำสั่งวันที่ 10 พ.ย. 49 ตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหา พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา ผกก.สส.น.6 กับพวกที่มี พล.ต.ต.มานิตด้วย ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากกรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบทางราชการจับกุมผู้ทำร้ายร่างกาย ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ โดยการไต่สวนข้อเท็จจริงของอนุ กก.ไต่สวนของ ป.ป.ช.รวบรวมหลักฐานจากพยานบุคล 30 ปาก ภาพเคลื่อนไหว และภาพนิ่งบันทึกในแผ่นวีซีดีจากสื่อมวลชน และการไต่สวนข้อเท็จจริงจากผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาแล้วจัดทำสำนวนที่มีความเห็นว่า พล.ต.ต.มานิตมีมูลความผิดทางวินัย ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (2), (5), (6) เสนอ ป.ป.ช.

ต่อมาวันที่ 28 ส.ค. 50 ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์เห็นว่า พล.ต.ต.มานิต มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีหนังสือถึง ผบ.ตร. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 พิจารณาโทษวินัยตามขั้นตอน คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่ ผบ.ตร.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีคำสั่งปลด พล.ต.ต.มานิตออกจากราชการ ใช้ดุลพินิจโดยชอบหรือไม่ เห็นว่าจากภาพเคลื่อนไหวในวีซีดีที่อยู่ในสำนวนไต่สวนคดีนั้น เห็นแต่เพียงว่า พล.ต.ต.มานิตเข้าไปในที่เกิดเหตุ โดยมือซ้ายแตะที่หลังของกลุ่มผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนมือขวาถือวิทยุสื่อสาร และเมื่อกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ช่วยกันดึงตัวผู้ที่ต่อต้านออกมา พล.ต.ต.มานิต ก็ได้เข้าไปแทรกโดยใช้มือซ้ายจับที่ไหล่ของผู้ต่อต้าน ส่วนอีกมือแตะไปที่แขนของกลุ่มผู้สนับสนุน พร้อมพูดว่า “อย่า อย่า” อันมีลักษณะการเข้าไปช่วยแยกตัว และเมื่อผู้ต่อต้านถูกกลุ่มผู้สนับสนุนเข้าล้อมและด่าทอตลอดทางที่เดินหนีออกมา พล.ต.ต.มานิตก็ยังเดินมาพูดกับกลุ่มผู้สนับสนุนว่าให้หยุดแล้วพาตัวผู้ที่ต่อต้านออกมาแล้วขึ้นรถไปยัง สน.ปทุมวัน ขณะที่ผู้ต่อต้าน เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า วันเกิดเหตุระหว่างถูกรุมล้อมมีพล.ต.ต.มานิตเข้าช่วยเหลือและนำตัวส่ง สน.ปทุมวันโดยผู้ฟ้องเข้าระงับพร้อมพูดให้หยุด

ส่วนที่มีพยานให้การว่า เห็น พล.ต.ต.มานิตผลักผู้ต่อต้านไปให้กลุ่มผู้สนับสนุนกับพวกทำร้ายนั้น ก็เป็นผู้ถ่ายภาพเหตุการณ์จากกล้องโทรศัพท์ของตน เป็นการเห็นเหตุการณ์ผ่านกล้องไม่ได้เห็นด้วยตาของตนเองจึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่า พล.ต.ต.มานิตมีเจตนาใช้กำลังผลัก หาก พล.ต.ต.มานิตมีเจตนาให้มีการทำร้ายกัน พล.ต.ต.มานิตก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะกลุ่มผู้สนับสนุนใช้กำลังเข้าไปฉุดกระชากดึงผู้ต่อต้านออกมาแล้ว และที่ พล.ต.ต.มานิตไม่ได้จับกุมกลุ่มผู้สนับสนุนในทันที เนื่องจากช่วงนั้นเกิดเหตุชุลมุนระหว่าง 2 กลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน โดยกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ มีจำนวนมากและตามภาพที่ปรากฏในวีซีดี เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบขณะนั้นมีพล.ต.ต.มานิต เพียงคนเดียวที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นการเข้าจับกุมทั้ง 2 ฝ่ายที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนมากในทันทีย่อมจะทำไม่ได้ พล.ต.ต.มานิต จึงตัดสินใจเข้าระงับเหตุโดยพยายามกันตัวผู้ต่อต้านที่ตะโกนไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นการยั่วยุอีกฝ่ายออกมาก่อน

ดังนั้นจึงยังฟังไม่ได้ว่า พล.ต.ต.มานิตมีพฤติการณ์เลือกปฏิบัติในการเข้าจับกุมเฉพาะผู้ที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ และใช้กำลังผลักจนเป็นเหตุให้ผู้ที่ต่อต้านถูกฝ่ายสนับสนุนนั้นทำร้าย นอกจากนี้ยังปรากฏภายหลัง พล.ต.ต.มานิตอได้แจ้งความดำเนินคดีกับฝ่ายต่อต้านแล้ว ก็ยังดำเนินคดีกับฝ่ายสนับสุนน พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยในข้อหาเดียวกัน ฐานทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุสมควรในที่สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 และ 397 ด้วย จึงยังไม่ถือว่า พล.ต.ต.มานิตเลือกปฏิบัติไม่ยึดหลักความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย ดังนั้นเมื่อยังรับฟังไม่ได้ว่า พล.ต.ต.มานิต กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา การที่ ผบ.ตร.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีคำสั่งลงโทษให้ออกจากราชการ และ มติ ก.ตร.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ที่ยกอุทธรณ์ ก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง สตช. ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี คำพิพากษาดังกล่าว ยังคงเป็นเพียงคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งคู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีได้ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วันตามกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น