xs
xsm
sm
md
lg

สุดซอย!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ในบรรดาความเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะนี้ที่สุมไฟรุมเร้าเข้ามาเห็นจะไม่มีความเคลื่อนไหวใดตรงไปตรงมาและตรงเป้าเข้าประเด็นเท่าร่างพระราชบัญญัติที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงเตรียมการจะยื่นเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้แล้ว

ตามข่าวที่ปรากฏออกมาร่างพระราชบัญญัติที่ว่านี้จะมี 2 มาตราสำคัญบรรจุอยู่

มาตราหนึ่งบัญญัติทำนองว่า...

“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวในระหว่าง พ.ศ. 2549 จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากมีการกระทำใดเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

“ในกรณีที่ผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนนั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้อง ให้พนักงานอัยการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุด

“ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลใดๆ อันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับ หรือปราบปราม ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงความเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม

“เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ การชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หมายความว่า การกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการใดๆ ตามข้อเรียกร้อง และให้หมายความรวมถึงการยึดหรือปิดสถานที่เพื่อประท้วง การต่อสู้ขัดขืนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง”


แค่นี้ก็เป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายมิติพอสมควรแล้ว เพราะเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งทุกคนทุกฝ่ายทุกระดับทุกพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมถึงประเด็นที่ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

แต่ก็เสมือนยังไม่ใช่เป้าหมายสำคัญที่สุดของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

เพราะยังมีอีกมาตราหนึ่ง

มาดูกันนะ...

“บรรดาการกล่าวหาการกระทำความผิดบุคคลใดๆ ที่เกิดจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หรือจากคณะบุคคล ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกล่าวหาจากหน่วยงานอื่นใด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าเป็นการกล่าวหาในข้อหาใด ให้ถือว่าเป็นการกล่าวหาในความผิดทางการเมืองและให้การกล่าวหาการกระทำความผิดนั้นเป็นอันระงับไป โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และให้นำความในมาตรา 3 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

เป็นการเขียนกฎหมายที่ชัดเจนที่สุด ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องตีความแต่ประการใด

มาตราแรกที่ผมยกมาอาจจะพอกล้อมแกล้มกล่าวได้ว่าเพื่อความปรองดองในบ้านเมือง ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกฝ่ายทุกขั้ว และฝ่ายเจ้าหน้าที่ แม้จะก่อให้เกิดข้อถกเถียงและความขัดแย้งตามมาว่าการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งไม่แยกแยะพฤติกรรมจะก่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ทำร้ายหลักนิติรัฐอันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังพอมีฐานของเหตุและผลให้อภิปรายกัน

แต่มาตราหลังนี่คนที่ได้ประโยชน์ก็คือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและอดีตรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลในยุคนั้นโดยตรง

หากกฎหมายผ่านสภาออกมาอย่างนี้ก็กลับบ้านได้อย่างเท่ๆ สง่าผ่าเผย

ได้เงินที่ถูกยึดไปคืน

และยังสามารถลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 เพื่อรอรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหนึ่ง


ไม่ต่างกับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญล้างผลการรัฐประหารฉบับคณะนิติราษฎรเมื่อปีสองปีก่อน แต่นี่ตรงไปตรงมากว่า ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องอ้างเหตุผลความชอบธรรมทางทฤษฎีใดให้มากความ

แต่ก็ยังไม่ใช่วันสองวันนี้หรอกที่จะเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นไปได้หรือไม่

ต้องรอดูท่าทีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและวงศ์วานว่านเครือรวมทั้งบริษัทบริวารอีกสองสามเดือนเป็นอย่างน้อย

วันที่ 23 พฤษภาคมนี้ก็แค่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงกับคณะ ส.ส.ยื่นเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร จากนี้ไปก็อยู่ที่ประธานสภาจะวินิจฉัยว่าจะบรรจุเข้าระเบียบวาระเมื่อใด และก่อนจะบรรจุเข้าระเบียบวาระ ก็ต้องวินิจฉัยก่อนว่านี่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ เพราะนี่เป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้เสนอโดยคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญมาตรา 142 วรรคสองบังคับไว้ชัดเจน

ถ้าเป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินก็ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองก่อน

นายกรัฐมนตรีคนนี้เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรถูกวางยุทธศาสตร์ให้ลอยตัวอยู่เหนือปัญหามาโดยตลอด ให้ยิ้มอย่างเดียว แม้จะยังลอยตัวได้ต่อไปโดยไม่ลงนามรับรองโดยตัวเอง แต่ให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาการขณะที่ตัวเองเดินทางไปต่างประเทศลงนามรับรองแทนตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่เรื่องใหญ่ขนาดนี้คงหลบเลี่ยงไม่ได้ง่ายๆ เพียงเพราะไม่ได้ลงนามเอง

ไม่ต้องนายกรัฐมนตรีหรอก เชื่อว่าแค่รักษาการนายกรัฐมนตรีลงนามก็เป็นเรื่องใหญ่แน่นอนที่สุดแล้ว

ชนวนการชุมนุมขับไล่รัฐบาลจะมีน้ำหนักขึ้นทันตาเห็น!


แม้ฝ่ายต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะแยกเป็นหลายกลุ่ม ไม่ได้ผนึกแนบเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนเมื่อหกเจ็ดปีก่อน แต่อย่าลืมว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเนื้อหาที่เข้าเงื่อนไข 3 ข้อที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยลั่นวาจาไว้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดยอมรับไม่ได้ แม้จะรู้ด้วยปัญญาว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน เคลื่อนไหวอย่างไรก็ไม่แน่ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยสารัตถะได้ แต่ก็ต้องเคลื่อนไหวแน่นอน

อยู่ที่ว่าจะถึงขั้นเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่อย่างไร หรือไม่ และเมื่อใด

เพราะเส้นทางของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยังอยู่อีกยาว ทั้งในชั้นสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ ในชั้นวุฒิสภาอีก 3 วาระ และร่างพระราชบัญญัติที่มีปัญหาขัดแย้งอย่างนี้ก็แน่นอนที่สุดว่าต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ อยู่แล้ว

วันสองวันนี้ที่จะยื่นร่างพระราชบัญญัติก็แค่ประกาศว่าจะเดินให้สุดซอย

แค่ก้าวแรก

ยังมีระยะทางอีกยาวไกลที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะต้องตัดสินใจเดินลุยเข้าไปในซอยโดยไม่สนใจว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามอะไรรออยู่

หรือว่าจะหยุดยั้งไว้ ถอยออกมาเดินเลียบๆ เคียงๆ บนถนนใหญ่หรือเข้าซอยอื่นที่ไม่ใช่ทางสายตรงต่อไปตามถนัด

ทางเลือกหลังนี่ภาษาการเมืองปัจจุบันเรียกว่า “ยุบสภา” ครับพี่น้อง!
กำลังโหลดความคิดเห็น