xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปัญหายาเสพติด “รัฐบาลปู” “ปราบจริง” หรือ “สร้างภาพ”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
สน.พระอาทิตย์ / สามยอด

เหมือนเป็นการตบหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ที่ประกาศมาตลอดว่าให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติดเป็นนโยบายหลัก และมีผลงานการจับกุมยาเสพติดจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง แต่ภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดกลับไม่เป็นไปอย่างภาพที่สร้างออกมา

เมื่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) เปิดเผยข้อมูลการติดตามความเคลื่อนไหวของสังคมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงไตรมาส 4 และภาพรวมตลอดปี 2555 กลับพบว่า ขณะนี้สังคมไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ในหลายประเด็น

โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านสังคมพบปัญหาอาชญากรรมยังคงเป็นประเด็นสังคม ที่จะต้องวางมาตรการและเฝ้าระวังปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะคดีอาญารวมในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นทุกประเภท ซึ่งคดีที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ

คดียาเสพติด ร้อยละ 83 มีการรับแจ้งคดีมากถึง 100,401 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2554 ร้อยละ 17 และไตรมาส 3 ปี 2555 ร้อยละ 12 รวมทั้งตลาดทั้งปี 2555 คดีความเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5

ที่สำคัญกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ เด็กและเยาวชน เพราะพบว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนักค้ายาเสพติด โดยใช้วิธีการกระจายยาเสพติดลงไปในชุมชน ซึ่ง สคช.ระบุข้อมูลระบบติดตามและการเฝ้าระวัง ระบุว่าในปี 2555 เยาวชนช่วงอายุที่เข้ารับการบำบัดมากที่สุด คือ 18-24 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มอายุ 12-17 ปี ก็มีแนวโน้มเข้าบำบัดเพิ่มขึ้นจากปี 2554 กว่าร้อยละ 68

สถานการณ์ยาเสพติดที่น่าเป็นห่วงตอกย้ำความชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยสถิติคดีอาญา 5 กลุ่ม ประจำเดือนมกราคม 2556 ที่กองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลเอาไว้ โดยเฉพาะกลุ่มคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย มีตัวเลขการเกิดคดีเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่ผ่านมา

กลุ่มคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เดือนมกราคม รับแจ้ง 4,046 คดี ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดิม คดีที่รับแจ้งมากที่สุดคือ คดีลักทรัพย์ รองลงมาเป็นคดีทำให้เสียทรัพย์ พื้นที่รับแจ้งคดีลักทรัพย์มากที่สุด ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ภาคกลาง)

ส่วนคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย จับกุม 43,019 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น จับกุมอาวุธปืนได้ 3,031 ราย คดีการพนัน 3,822 ราย คดียาเสพติด 34,365 ราย คดีค้าประเวณี 1,767 ราย และคดีมีและเผยแพร่วัตถุลามก 34 ราย

“สาเหตุของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ มาจากการติดยาเสพติด” โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงไว้เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา

จากข้อมูลทั้ง 2 หน่วยงานที่ปรากฏออกมาแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ยาเสพติดที่ยังน่าเป็นห่วง และถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยผ่านไป เพราะคดีต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนสะท้อนภาพสภาวะการที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน และบ่งชี้ประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

แท้จริงแล้วในอีกมุมหนึ่งกลับมีขยะถูกซุกใต้พรหม ปัญหายาเสพติดในระดับรายเล็กรายน้อยกลับมีเพิ่มมากขึ้น และสะท้อนออกมาสู่การเกิดคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ การลัก วิ่ง ชิง ปล้น ในขณะนี้

การที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีตำรวจเป็นตัวจักรขับเคลื่อนนโยบายการปราบปรามยาเสพ มีภาพการจับยาเสพติดรายใหญ่ออกมาโชว์สื่อย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นเพียงความพยายามสร้างภาพ เพื่อให้สังคมเห็นผลงานฉาบฉวย อันนำไปสู่เป้าหมายอื่นๆ

เหมือนเช่นที่ผ่านมา ที่ใช้ผลงานการปราบปรามยาเสพติดในการผลักดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็น ผบ.ตร.

การปูทางให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดูแลการปราบปรามยาเสพติด เพื่อใช้เป็นผลงานปูทางข้ามอาวุโส พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร.อาวุโสลำดับ 1 ขึ้นเป็น ผบ.ตร.

เช่นเดียวกับการมอบหมายให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ กางขานั่งเก้าอี้รักษาการเลขาฯ ป.ป.ส.ควบคู่กับ รอง ผบ.ตร.เพื่อสร้างเนื้องานการปราบยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้ขจัดออกไปให้พ้นจากสังคม ปูทางก่อนจะส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร

สถิติข้อมูลปัญหายาเสพติดที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ยาเสพติดไม่ได้ดีขึ้นเหมือนอย่างที่รัฐบาลพยายามสร้างภาพนั้น น่าจะเป็นชนวนบ่งชี้ให้รัฐกลับมาทบทวนการทำงานใหม่ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การสร้างภาพ สร้างผลงาน เพื่อหวังผลประโยชน์ด้านอื่นๆ

การเริ่มต้นกิจกรรม “รวมพลังคน D.A.R.E สู้ภัยยาเสพติด” ที่นายกรัฐมนตรี, ร.ต.อ.เฉลิม และ พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดกิจกรรมเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียนกลุ่มเสี่ยงระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อร่วมการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาระหว่างตำรวจ โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนใกล้ชิด ให้เด็กรู้จักทักษะการปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติดและหลีกเลี่ยงความรุนแรง เป็นโครงการที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด

แต่รัฐบาลก็ต้องจริงจัง จริงใจ ในการดำเนินงาน ไม่ใช่สร้างภาพ หวังผลเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหายาเสพติดที่แท้จริงเหมือนที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นแล้วขยะใต้พรมที่ถูกซุกไว้ก็จะโชยกลิ่นเหม็นเน่าขึ้นมาเช่นนี้อีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น