xs
xsm
sm
md
lg

อสมทล็อกสเปกตามใบสั่ง เมินข้อท้วงติงสตง.ปมทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากระบวนการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริษัทผู้ประกอบการ ที่สนใจเข้ารับแบบ หรือเอกสารที่กำหนดขอบเขต และรายละเอียดโครงการ (ทีโออาร์) โดยมีผู้เข้ารับแบบทั้งสิ้น 8 ราย ด้วยกัน ได้แก่ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน), บริษัท กิจการค้าร่วม เทคทีวี จำกัด (TEQTV and Rohde&Schwarz),บริษัท Nora จำกัด, บริษัท Zen Technology จำกัด, บริษัท UCI จำกัด, บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด และบริษัท IRCP จำกัด ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ที่แสดงความประสงค์ร่วมทดลองการออกอากาศกับ อสมท มาก่อนหน้านี้
รายงานข่าวจาก อสมท แจ้งว่า เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) คณะกรรมการของทาง อสมท ได้นัดทั้ง 8 บริษัท เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงแบบ หรือทีโออาร์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่อาคารอำนวยการ อสมท. ซึ่งทั้ง 8 บริษัท ได้เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง โดยบรรยากาศการชี้แจงแบบครั้งนี้ ตัวแทนจากทุกบริษัท ได้สอบถามรายละเอียดข้อสงสัย จากกรรมการแบบละเอียดยิบ เรียกได้ว่า ในส่วนเนื้อหาทีโออาร์ ที่สำคัญนั้น มีการสอบถามแทบทุกบรรทัด โดยเฉพาะในส่วนของกระบวนการคัดเลือก และให้คะแนนแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งหลายรายติดใจในข้อกำหนดที่ระบุไว้ในทีโออาร์ เนื่องจากยังมีการระบุว่า เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการให้คะแนน และผู้ที่มีคะแนนมากกว่า ร้อยละ 75 เท่านั้น จึงจะได้รับการพิจารณาในส่วนของราคา จุดนี้เองที่หลายรายมีความกังวลว่า อาจจะเกิดการล็อกตัวผู้ประกอบการ ตามใบสั่งของฝ่ายการเมือง ที่มีความพยายามมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งในส่วนของรายละเอียดด้านเทคนิก ที่มองกันว่า มีการปรับเปลี่ยนเอื้อ ประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการบางราย
“ในห้องประชุมผู้แทนทุกบริษัทผลัดกันสอบถามกันค่อนข้างละเอียด ใช้เวลาชี้แจงในส่วนของขั้นตอน และระเบียบการคัดเลือกค่อนข้างมาก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทที่ถูกจับตามองว่า ฝ่ายการเมืองส่งมานั้น แม้จะมีตัวแทนเข้าร่วมรับฟัง แต่ไม่ได้สอบถามข้อสงสัยใดๆ เลย ต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่ถามกันแทบทุกบรรทัด ของทีโออาร์ ” แหล่งข่าว ระบุ
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า การเปิดให้ผู้ประกอบการรับแบบ หรือ ทีโออาร์ ของ อสมท ครั้งนี้ ถือว่าล่าช้าเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมา มีความพยายามในการดึงเวลา เริ่มกระบวนการจัดหา ทั้งที่ได้มีการขออนุมัติดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษฯ มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 56 แต่ก็ได้ล่วงเลยมาเกือบ 4 เดือน จึงได้เริ่มต้นกระบวนการได้ ตรงนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เสมือนดึงเวลาให้บริษัท ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อน เตรียมอุปกรณ์ไว้ล่วงหน้า เพื่อได้ติดตั้ง และออกอากาศทัน ตามกำหนด แต่กีดกันบริษัทอื่นๆ เพื่อให้ไม่สามารถทำตามกำหนดการส่งของได้ เพราะตามขั้นจริงๆ แล้ว อุปกรณ์ต่างๆ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และใช้ระยะเวลาการผลิตประมาณไม่น้อยกว่า 2 เดือน อีกทั้งยังมีงานก่อสร้าง และตกแต่งสถานที่ด้วย
“ทาง อสมท. กลับพยายามกำหนดให้บริษัทส่งของ และติดตั้งให้ทันภายในเวลา 1 เดือน เห็นได้ชัดว่า เอื้อประโยชน์ให้มีเพียงบริษัทที่เตรียมการผลิตไว้ล่วงหน้าก่อน หรือที่ได้นำเข้าอุปกรณ์มารอไว้แล้ว จึงสามารถดำเนินงานได้ทันตามกำหนด ที่สำคัญเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขรายละเอียดของทีโออาร์ ได้” แหล่งข่าว ระบุ
นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตความไม่ชอบมาพากลด้วยว่า การที่ อสมท กำหนดว่า จะเปิดซองราคาของผู้เสนอราคาที่ได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 แต่จะพิจารณาผู้ที่มีคะแนนสูงที่สุดก่อน ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจเกิดความไม่เป็นธรรมได้ เพราะการพิจารณาได้คะแนน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการ หากถึงขั้นตอนนั้นจริง ก็คงเลือกผู้ประกอบการได้ตามใบสั่งมาก
โดยในส่วนของขั้นตอนสุดท้ายของการให้คะแนนนั้น ระบุว่า “สามารถชี้ได้ด้วยกรรมการพิจารณาผล”รวมถึงปิดกั้นการให้ข้อมูล โดยระบุไว้ในทีโออาร์ ข้อ 3.4.4 ว่า “จะพิจารณาเป็นการภายใน จะไม่มีประกาศรายละเอียดอื่นใด ให้แก่ผู้เสนอราคาทราบ...” และ ในข้อ 3.4.6 ว่า “การตัดสินของ บมจ.อสมท ให้ถือว่าเป็นเด็ดขาด และถึงที่สุด บมจ. อสมท ไม่ต้องชี้แจง หรือแสดงเหตุผลในการพิจารณาให้ผู้เสนอราคาไม่ว่ารายใดทราบแต่อย่างใด...” นั้น ยิ่งทำให้กรรมการ สามารถเลือกให้คะแนนตามใบสั่งได้โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูล หรือชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในประเด็นนี้ น่าจะเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ด้วย
“มีข่าวว่า บริษัทหนึ่งได้ตั๋วจากฝ่ายการเมือง ทำการวิ่งเต้นประธานกรรมการ และกรรมการบางท่าน เพื่อกำหนดแนวทางการกำหนดทีโออาร์ ที่เอื้อประโยชน์ให้ได้เปรียบมากที่สุด โดยมีความพยายามลัดขั้นตอนในการพิจารณาข้อกำหนด โดยไม่ผ่านกระบวนกลั่นกรอง พิจารณาข้อกำหนดตามปกติ และยังมีความพยายามดันงบประมาณให้สูงที่สุด เพื่อให้การจัดหาครั้งนี้ สามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการออกข้อกำหนดและ
คณะกรรมการพิจารณาผลที่เป็นพวกเดียวกัน เพื่อควบคุมการคะแนน และการตัดสินให้กับบริษัทที่ได้ตกลงไว้ เพื่อสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างที่ต้องการ” แหล่งข่าว กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เรื่อง การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในการดำเนินโครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียง และโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลและให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ โดยมีใจความระบุให้ อสมท พิจารณาทบทวนการดำเนินการจัดหาดังกล่าว เนื่องจากมีการตั้ง งบประมาณไว้สูงถึง 793 ล้านบาท เกรงว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส
อย่างไรก็ตาม เพียงไม่ถึงสัปดาห์ อสมท กลับจัดให้มีการรับทีโออาร์ ดำเนินการโครงการดังกล่าวทันที โดยไม่ได้สนใจข้อท้วงติงของ สตง. แต่อย่างใด
สำหรับความคืบหน้าในส่วนของการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลของ กรมประชาสัมพันธ์ นั้น หลังจากที่กรรมาธิการเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา และ สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบ พร้อมทั้งมีหนังสือท้วงติงไปยัง นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีสัญญาณความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ ส่งผลให้ กรมประชาสัมพันธ์ ได้ยกเลิกการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษฯ และแจ้งว่า จะเปลี่ยนเป็นการประมูลแบบเปิดกว้างนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 2 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่า กรมประชาสัมพันธ์ จะสามารถจัดการประมูลได้ ทั้งๆ ที่จะต้องมีการทดลองออกอากาศจริงภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า ได้มีสัญญาณให้ทางกรมประชาสัมพันธ์ เร่งดำเนินการจัดหาอีกครั้งในช่วงต้นเดือน เม.ย. เป็นต้นไป
แหล่งข่าวในวงการทีวีดิจิตอล เปิดเผยว่า โครงการของกรมประชาสัมพันธ์ ยังถูกเก็บดองไว้ เนื่องจากระดับปฏิบัติการยังคงได้รับคำสั่งจากการเมืองเบื้องบน ให้ทำสเปก โดยล็อกงานให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้วเหมือนเดิม พร้อมกับมีการยัดไส้อุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นเข้าไปรวมในการจัดซื้อ จนทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมาก โดยจะสังเกตได้ว่า ผู้ประกอบการรายอื่น เช่น ททบ. 5 และ TPBS ซึ่งต้องเปลี่ยนอุปกรณ์จากระบบอนาล็อก เป็นดิจิตอลใหม่ทั้งหมดเหมือนกับในกรณีของกรมประชาสัมพันธ์ แต่ก็ยังสามารถซื้ออุปกรณ์ได้ในราคาเพียงครึ่งหนึ่งของงบประมาณกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งๆ ที่เป็นการจัดซื้อในจำนวนสถานี ที่มากกว่าเกือบเท่าตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น