xs
xsm
sm
md
lg

แก้ที่มาส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ฟัน"นิคม"พ้นปธ.วุฒิฯ ลุ้นเลือกตั้ง"โมฆะ"วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิด "นิคม" ทำหน้าที่ขัดรธน. กรณีแก้รธน.ที่มาส.ว. ชงวุฒิสภาถอดถอน ส่วน "สมศักดิ์" พิจารณาวันหลัง ระบุต้องหยุดทำงานทันที ด้าน"นิคม"ยอมรับคำตัดสิน แต่ยังเถียง สั่งปิดประชุมตามหน้าที่ ดักคอ“สุรชัย”ไม่มีอำนาจตั้งนายกฯคนกลาง- รองปธ.รัฐสภา "เหลิม"คุยอยากให้ศาลรธน.ตัดสินเลือกตั้งโมฆะ โวเลือกเมื่อไร พท.ก็ชนะ ด้าน ปชป.พร้อมลงเลือกตั้งแบบมีเงื่อนไข ขณะที่"สมชัย"ชี้ ไม่ว่าเลือกตั้งจะโมฆะหรือไม่ ปัญหาไม่จบ

วานนี้ (20 มี.ค.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีรายงานว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ และอันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอน ตามมาตรา 270 และ 274 ในกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบด้วยกฏหมาย โดยจะส่งวุฒิสภาพิจารณาถอดถอนต่อไป ส่วนนายสมศักดิ์ จะมีการพิจารณาในวันหลัง สำหรับนายนิคม ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภาในทันที

ทั้งนี้นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า กรณีมีการยื่นถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง โดยมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามา 4 ประเด็น คือ

1. การร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่เสนอโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง และ นายประสิทธิ์ โพธสุธน

2. กรณีรวบรัดให้มีการลงมติการทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้จัดให้มีการลงมติเพื่อวินิจฉัยตัดสิทธิ์สมาชิก ผู้แปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัติ และผู้สงวนความเห็น 57 คน โดยอ้างว่า คำแปรญัตติของสมาชิกขัดต่อหลักการ

3. กรณีการรวบรัดให้มีการลงมติปิดอภิปราย ทั้งที่มีผู้แปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นที่ยังไม่ใช้สิทธิ์อภิปรายจำนวนมากในมาตรา 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 11/1 และ 12 โดยไม่ฟังเสียงสมาชิก

4. กรณีที่นายนิคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ในเรื่องที่มาของส.ว. โดยมีความเห็นในเชิงลบต่อกระบวนการสรรหา ส.ว. ว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ว่า การกระทำของนายนิคม ในฐานะรองประธานรัฐสภา ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 4 , 6 , 8 , 9 , 10 , 11 และ 12 กันยายน 2556 เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม นายนิคมได้รับญัตติให้ปิดอภิปราย ทั้งที่มีผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นรออภิปรายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นการตัดสิทธิ์ของผู้แปรญัตติ โดยใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมปิดอภิปราย

การกระทำของนายนิคม จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เห็นควรให้ประธานป.ป.ช. ส่งรายงานเอกสารพร้อมความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตาม มาตรา 273 และ 274 ต่อไป ส่วนข้อกล่าวหาอื่นๆไม่มีมูลความผิด ให้ข้อกล่าวหาอื่นๆ ตกไป โดยนายนิคม จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นับตั้งแต่ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด

นายประสาท กล่าวอีกว่า ในส่วนของคดีอาญา ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งมีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่า เพราะจะต้องดูรายละเอียดว่ามีเจตนากระทำผิดหรือไม่

สำหรับคดีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. เพราะมีหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับนายนิคม เนื่องจากหลายประเด็นเชื่อมโยงกับกระบวนการรับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านขั้นตอนสลับซับซ้อน จึงมีประเด็นและพยานหลักฐานมากกว่า เช่นเดียวกับคดีร้องถอดถอนส.ส. และส.ว.อีกกว่า 300 คน ซึ่งจะทยอยเรียกไต่สวนไปตามพยานหลักฐาน

ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีขอให้ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย กรณีโครงการรับจำนำข้าวว่า ป.ป.ช. มีมติให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจเข้ามาตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวนเพิ่มเติมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมาป.ป.ช. เคยให้ตรวจ และมอบสำเนาเอกสารไปแล้ว 49 แผ่น ยกเว้นเอกสารบางรายการที่ทราบกันโดยทั่วไป และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ย่อมมีเอกสารอยู่แล้ว เช่น เอกสารเกี่ยวกับการวิจัยของป.ป.ช. โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต เอกสารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ คำแถลงนโยบายของรัฐบาล คำอภิปราย และกระทู้ถามต่างๆ เป็นต้น

นายประสาท ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงข่าวว่า ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นไต่สวนกรณีขอให้มีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในอีกหลายประเด็น ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องของการกลั่นแกล้งรักษาการนายกฯ แต่เมื่อมีผู้ร้องเข้ามาป.ป.ช. ก็ต้องตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาไต่สวน หากไม่ดำเนินการ ก็จะถูกดำเนินคดี ในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

**"สุรชัย"รักษาการปธ.วุฒิแทน

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในฐานะอดีตรองประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังจากที่ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากชี้มูลความผิด กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า ตนยอมรับคำวินิจฉัยของป.ป.ช. และคงไม่มีการดำเนินการต่อสู้ทางกฎหมายใดๆ

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเหตุผลที่ป.ป.ช. นำมาตัดสินความผิดว่า ตนสั่งปิดการอภิปราย ทั้งที่มีผู้อภิปรายค้างอยู่ ถือเป็นการไม่สมเหตุสมผล เพราะการสั่งปิดประชุม เป็นการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุม ต้องดำเนินการตามที่มีผู้เสนอให้ปิดการอภิปราย แต่เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ก็ถือว่ามีผล และต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ และหลังจากนี้ ก็จะเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในการพิจารณาถอดถอนตนให้ออกจากตำแหน่ง ซึ่งจากนี้ไปนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 จะทำหน้าที่รักษาการ ประธานวุฒิสภาแทนตนได้ทุกอย่าง ยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นรองประธานรัฐสภา

"ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว จะส่งเรื่องมายังวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณาถอดถอนภายใน 20 วัน และต้องขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (3) เพื่อประชุมพิจารณาถอดถอน และเชื่อว่าถึงตอนนั้นส.ว.ชุดใหม่ น่าจะได้เข้ามาทำหน้าที่แล้ว แต่อาจจะฉุกละหุกบ้าง" นายนิคม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างนี้หากมีการเสนอตั้งนายกฯ คนกลางจะสามารถทำได้หรือไม่ นายนิคม กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ

ด้านนายสุรชัย กล่าวว่าเมื่อนายนิคม ถูกชี้มูลความผิดแล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และตนจะทำหน้าที่รักษาการ ประธานวุฒิสภาแทน แต่จะมีอำนาจทำได้แค่ไหน อย่างไร ช่วงที่ยังอยู่ระหว่างการยุบสภา ขอไปศึกษาอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ที่มีหลายคนมองว่า เมื่อนายนิคม หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว จะเป็นจังหวะที่จะมีการเสนอชื่อนายกฯคนกลาง เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่นั้น ประเด็นนี้ตนไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่ ขอไปศึกษาในข้อกฎหมายอีกครั้งหนึ่งก่อน

" เฉลิม"อยากให้เลือกตั้งโมฆะ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. กล่าวว่า ตนอยากบอกกับประชาชน และผู้ที่รักประชาธิปไตยว่า จำได้หรือไม่ เมื่อปี 2535 ประชาชนเสียชีวิตจากการคัดค้านนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่เรียกว่าพฤษภาทมิฬ จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำไปหาเสียงโดยระบุว่ายึดมั่นในระบอบรัฐสภา เหตุการณ์ได้ผ่านมา 22 ปี แล้วเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มีการเรียกร้องนายกฯ คนกลาง ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนนักวิชาการที่เคลื่อนไหวอยากให้มีนายกฯคนกลาง ต้องตอบมาว่า เพราะเหตุใด

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า สิ่งที่ตนคิดแม้จะไม่ถูกใจพรรคพวก คือภาวนาอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ แล้วเลือกตั้งใหม่ ตนจะดูว่า พรรคประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งหรือไม่ และ กปปส.จะเลิกชุมนุมหรือไม่ รวมทั้งมีความมั่นใจการเลือกตั้งครั้งใหม่พรรคเพื่อไทยก็จะได้รับชัยชนะ

** อ้างบ้านถูกยิงเอ็ม79 แต่ไม่เคยบอก

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวถึงเหตุกราดยิงบริเวณใกล้เคียงบ้านพักนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายนิสิต สินธุไพร แกนนำ นปช. ว่า ตนยังไม่ได้คุยกับ นายจตุพร และนายนิสิต แต่ได้คุยกับ ผบช.น. ซึ่งต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริง พบคนผิดก็จับกุม

เมื่อถามว่ากลัวจะเกิดเหตุที่บ้านริมคลองหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า บ้านตนโดนมาแล้ว แต่ไม่ได้บอกใคร บ้านตนเป็นเหมือนสนามซ้อมยิงเอ็ม79 ซึ่งอยู่ห่างจากถนนหลายก.ม. และพื้นที่ยิงกว้าง

** "โภคิน"คาดศาลฯตัดสินโมฆะแน่

นายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่จริงน่าจะคาดเดาได้กันเเล้วว่า น่าจะโมฆะ เพราะเรื่องนี้ไม่ควรถึงศาลรธน. เเละศาลฯไม่ควรรับ เพราะที่ผ่านมาหลายครั้งศาลฯ ไม่รับวินิจฉัยกรณีที่เกี่ยวกับ วันที่ 2 ก.พ. กรณีนี้เหมือนกรณีการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 ตามกรณีที่ผู้ตรวจการเเผ่นดินร้องไป กรณีนี้ชัดเจนว่า ผู้ตรวจการฯ ร้องว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ เเต่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งกระบวนการเเละเนื้อหา รวมทั้งการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกกต. เเต่คล้ายว่า กกต.ไม่เต็มใจทำหน้าที่นี้ เห็นได้จากการเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง เเละออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่เท่านั้น รวมทั้งการเสนอตัวเป็นคนกลางหาทางออกของประเทศ เเต่ กกต.ไม่จัดการดำเนินคดีกับคนที่ขัดขวางการเลือกตั้งเลย รวมทั้งจะดำเนินการกับผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย ในการออกรายการทีวีช่วงเลือกตั้งด้วย

** ปชป.พร้อมลงเลือกตั้งแบบมีเงื่อนไข

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาในวันนี้ และขอให้รัฐบาลอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับคนไทยคนอื่นเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาแสดงจุดยืนว่า พร้อมน้อมรับเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหาทางออกให้กับประเทศ

นายชวนนท์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือแต่การเลือกตั้งใหม่ต้องมีหลักประกันว่า จะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง หรือไม่ใช่การเลือกตั้งโจ๊ก อย่างที่ผ่านมา

** โมฆะหรือไม่โมฆะก็ไม่จบ

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า ไม่ว่าในวันที่ 21 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติอย่างไร ระหว่างการเลือกตั้งโมฆะ หรือเดินหน้าต่อ 28 เขตที่เหลือ คือ จุดจบของการเริ่มต้นปัญหารอบใหม่ทั้งสิ้น หากชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต. และรัฐบาลต้องไปตกลงกันว่า จะออกพ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน ก็จะเป็นประมาณอาทิตย์ที่ 18 พ.ค. แต่กระแสมวลชนทั้งฝ่ายนปช. ที่อาจไม่ยอมรับคำตัดสิน หรือฝั่งกปปส. ที่ยังอาจยืนยันว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะนำสถานการณ์ของประเทศไปสู่มุมอับยิ่งขึ้นอย่างไร ไม่ทราบได้

ทั้งนี้หากหากชี้ว่า 28 เขต เดินหน้าต่อได้ ไม่รัฐบาลหรือกกต.สักฝ่าย คงต้องรับไปดำเนินการต่อ การเลือกตั้งในส่วนนี้ น่าจะจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ในวันที่ 20 เม.ย. และเลือกตั้งจริง ในวันที่ 27 เม.ย. พร้อมกับจังหวัดอื่นที่ยังไม่เสร็จ และอาจต้องเก็บตก 22 เขต ที่มีผู้สมัครรายเดียว และอาจต้องเลือกอีกรอบ หรือสองรอบ ซึ่งน่าจะจัดการได้เสร็จประมาณปลายเดือนพ.ค. ก็พอๆกัน แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีการคัดค้าน ขัดขวาง ให้ไม่สำเร็จอีกหรือไม่ ไปซ้ายก็ไม่จบง่าย ไปขวาก็ใช่ว่าจะปลอดโปร่ง ทำใจได้เลยว่า ภาวะแบบ 7 เดือนที่ผ่านมา ยังซ้ำซากในรูปแบบเดิม ขึ้นอยู่กับใครจะอดทน หรือทนทานได้กว่ากัน ตราบใดที่ต่างฝ่ายมุ่งสะสมกำลัง มุ่งแต่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ต่างคิดว่าอีกนิดก็จะชนะ แล้วอีกนิดมานานแค่ไหนแล้ว

"ท้ายสุดก็ต้องจบด้วยการเจรจา แต่กว่าจะสำเหนียกว่า ต้องหันหน้ามาเจรจา ประเทศจะยับเยินไปถึงเพียงไร ถึงวันนั้นจะโหยหาหาคนกลาง ก็คงมีคนที่มีใจช่วยรับหน้าที่ คนกลางหรอก !! " นายสมชัย ระบุทิ้งท้าย

** คาดศาลรธน.ตัดสินโมฆะ

ทั้งนี้มีรายงานว่า ในช่วงบ่ายวานนี้ คณะตุลาการศาลธรรมนูญ ได้ให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน มารับเอกสารเพิ่มเติม เป็นแผนการปฏิบัติงานจัดการเลือกตั้งที่กกต.ได้กำหนดในวัน เวลา ที่ต้องปฏิบัติในการจัดการเลืออกตั้งนับแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 -วันเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจาณณาด้วย

ขณะที่ ในส่วนของกกต. มีวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาในวันนี้ โดยค่อนข้างเห็นไปทางเดียวกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ โดยเนื้อหาของคำวินิจฉัยทั้ง กกต.และรัฐบาล ไม่น่าจะต้องรับผิดทางแพ่ง หรือ ทางอาญา เนื่องจากในการดำเนินการเลือกตั้ง ทั้งสองฝ่ายทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ทำ อีกในการเข้าไต่สวนทั้งกกต. และรัฐบาลให้ถ้อยคำในฐานะพยาน ไม่ใช่ ผู้ถูกร้อง ขณะที่ถ้อยคำวินิจฉัยก็น่าจะเป็นชี้ว่า กรณีที่เกิดเหตุชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้ง ทำให้การดำเนินกระบวนจัดการเลือกตั้ง ทั้งในเรื่องของการไม่สามารถเปิดรับสมัครส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อในสถานที่รับสมัครที่ประกาศกำหนดไว้ได้อย่างปกติ การไม่สามารถเปิดรับสมัครส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ได้ครบทั้ง 375 เขต การไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.ได้ครบทุกเขตเลือกตั้ง ทำให้ไม่อาจเกิดความเท่าเทียมกันในการสมัคร ในการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงถือว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลการเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรมขัดต่อหลักการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามมติของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา ก็เชื่อว่าจะไม่เป็นมติเอกฉันท์ และเมื่อมีคำวินิจฉัยในคำร้องนี้แล้ว คำร้องของกกต. ที่ขอให้ศาลฯวินิจฉัยว่ากรณี 28 เขตเลือกตั้ง หากจะมีการจัดเลือกตั้งใหม่ กกต.สามารถออกประกาศ หรือรัฐบาลต้องตราเป็นพ.ร.ฎ.ใหม่ ซึ่งศาลได้นัดอภิปรายและลงมติในลำดับถัดไป ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ในส่วนที่ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ การเสนอออก พ.ร.ฎ.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น ก็จะทำให้เหมือนเมื่อครั้งปี 49 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. เป็นโมฆะ โดยจะต้องเป็นการออก พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ซึ่งนายกรัฐมนตรี และประธานกกต. ในฐานผู้ร่วมรักษาการตามพ.ร.ฎ.ดังกล่าว ก็ต้องมีการปรึกษาหารือกัน โดยอาจจะต้องมีการหารือกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดวันที่เหมาะสม ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
กำลังโหลดความคิดเห็น