xs
xsm
sm
md
lg

ฝังกู้2ล้านล้าน ศาลตอกฝาโลงชี้ขัดรัฐธรรมนูญ ดาบสองฟันเลือกตั้ง2ก.พ.โมฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ตีตกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุการกู้เงินต้องเป็นไปตามวิธีการงบประมาณ ไม่ใช่ซิกแซกกู้ แถมไร้ระบบตรวจสอบ ส่วนการตรากฎหมายก็ผิดชัด หลังปล่อยให้มีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน พร้อมรับคำร้องขอให้สั่งเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ นัดชี้แจง 19 มี.ค.นี้ "ปู"บีบน้ำตา อ้างทำให้ประเทศเสียโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปชป.ขย่มต้องลาออก พร้อมยื่นถอดถอน ครม. พ่วงสภาขี้ข้า

วานนี้ (12มี.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... มีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ รวมทั้งมีมติเสียงข้างมากเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าว มาจากกรณีที่ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ ส.ส. รวม 2 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลได้ตั้งประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น

โดยในประเด็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นว่าจากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังข้อเท็จจริง เป็นที่ยุติว่านายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตน และออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แทน ส.ส.รายอื่นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 20 ก.ย.2556 ที่มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 บัญญัติว่า ส.ส. และ ส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และ มาตรา 126 วรรคสาม บัญญัติว่า สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก จึงเห็นได้ว่า การลงคะแนนเสียงแทนกันในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราดังกล่าว

ส่วนในประเด็นเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนวินิจฉัย ศาลได้พิจารณาว่า เงินกู้ตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเห็นว่า คำว่า “เงินแผ่นดิน” ไม่ได้มีการกำหนดความหมายไว้โดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด แต่เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบความเห็นของพยานบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ตลอดจนบรรดากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าเงินกู้ตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ

และเมื่อพิจารณาแล้ว่าเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินแผ่นดิน การใช้จ่ายก็ต้องอยู่ในบังคับรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยการเงิน การคลัง เว้นแต่ในกรณี "จำเป็นเร่งด่วน" รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติและต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังใน พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามที่ ร่าง พ.ร.บ.นี้ มุ่งประสงค์ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม

ดังนั้น การที่ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... บัญญัติให้เงินกู้ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และบัญญัติให้คณะรัฐมนตรี รายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ร่างพ.ร.บ.ในส่วนดังกล่าว จึงขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเอกฉันท์ ว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมีข้อความขัด หรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เป็นอันตกไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม ที่ระบุว่า ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรี ระงับการดำเนินงานเพื่อประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ถ้าศาลวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราโดยไม่ถูกต้อง ให้ร่าง พ.ร.บ.นั้นเป็นการตกไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่า มติเอกฉันท์ที่เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้ เนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญนั้น เป็น มติ 9 ต่อ 0 ส่วนที่มีมติว่า กระบวนการตราขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 นั้น เป็นมติ 6 ต่อ 2 เสียง โดย 2 เสียงเห็นว่า กระบวนการตราไม่ขัด คือ นายชัช ชลวร และนายเฉลิมพล เอกอุรุ และอีก 1 เสียง คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่ในชั้นการแถลงคำวินิจฉัยส่วนตน ได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาพระราชบัญญัติเลยว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้เมื่อมีการลงมติในประเด็นกระบวนการตรา ซึ่งเป็นประเด็นแรกของการวินิจฉัยนั้น นายอุดมศักดิ์ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ เพราะไม่ได้ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป

***รับคำร้องขอให้สั่งเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ

วันเดียวกันนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องพร้อมความเห็นกรณีนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) ว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาคำร้องของนายกิตติพงศ์ แล้วว่าเห็นว่า กรณีการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของกกต. ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักความเสมอภาค การลงคะแนนขัดต่อหลักการต้องลงคะแนนโดยลับ ทำให้การเลือกตั้งที่จะกำหนดขึ้นในภายหลังเป็นอันไร้ผล กระทบต่อสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลืออกตั้งจำนวนมาก มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 236 (1) มาตรา 93 มาตรา 30 และ (4) กกต.ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง จากกรณีปล่อยให้น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องแล้ว ก็มีคำสั่งกำหนดให้มีการรับฟังคำชี้แจงของ ประธาน กกต. หรือผู้แทน นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน และประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้แทน ในวันพุธที่ 19 มี.ค. ตั้งแต่เวลา 09.30 น.

***รับวินิจฉัย 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครด้วย

นอกจากนี้ ยังมีมติเสียงข้างมากรับคำร้องที่ กกต.ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการดำเนินการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ ใน 28 เขต เลือกตั้งภาคใต้ ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ที่กกต.เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้อำนาจ กกต. ในการประกาศกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งขึ้นใหม่ หรือ กำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติม จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบมาตรา 93 แต่นายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือแจ้งมายังประธาน กกต. ว่า ครม. ได้รับทราบและมีมติตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เห็นว่า กกต.มีอำนาจในการดำเนินการออกประกาศดังกล่าว กรณีดังกล่าวถึงถือเป็นกรณีที่เกิดความขัดแย้ง เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง กกต. กับ ครม.

มีรายงานว่า ที่คณะตุลาการมติรับคำร้องของกกต.ไว้วินิจฉัย โดยไม่ได้คำสั่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อนั้น เพราะจะรอดูผลกรณีที่รับคำร้องการเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะหากเห็นว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ ก็ไม่ต้องพิจารณาคำร้องของ กกต. แต่ถ้าไม่เป็นโมฆะ ก็ต้องพิจารณาคำร้องของ กกต. ต่อไป ซึ่งหากเห็นว่าการเลือกตั้ง 28 เขตต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ก็ต้องทำให้ถูกต้อง แต่ถ้าเห็นว่าสามารถออกประกาศ กกต. ได้เลย ก็ขึ้นอยู่กับ กกต. ที่จะดำเนินการเลือกตั้ง

*** "ปู"ตัดพ้อเสียดายโอกาสประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ขณะนั้น กำลังปฏิบัติภารกิจตรวจภัยแล้งที่ อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ได้รับข่าว เป็นเรื่องของการแถลงผล ยังไม่ได้รับฟังเนื้อหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ คงต้องรอผลในรายละเอียดก่อนแล้วจะแถลงอีกครั้ง

"เสียดาย รัฐบาลทำอย่างเต็มที่แล้ว ที่เราอยากเห็นประเทศของเราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะตั้งแต่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็จะเห็นว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นรอง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เสียดายกับการที่เราควรได้พัฒนาให้เราสามารถที่จะก้าวนำในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน และการที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการลงทุนในประเทศภูมิภาค ก็ถือว่าเราทำอย่างเต็มที่แล้ว" นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่าโครงการนี้จะมีการเดินหน้าต่อไป โดยทำให้ถูกต้องตามระเบียบการหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า คงต้องดูผลศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะมีทางออกให้ทำต่ออย่างไรบ้าง ซึ่งก็คงต้องให้รัฐบาลใหม่รับไป หวังว่ารัฐบาลใหม่จะนำความต้องการ และปัญหาในเรื่องของโครงสร้างประเทศไปสานต่อ เพราะที่จริงแล้ว เป็นโครงการของทุกคน ไม่ได้เป็นโครงการของรัฐบาล แต่เป็นโอกาสของประเทศ

*** บีบน้ำตา ไม่ได้รับความยุติธรรม

เมื่อถามว่า มีการถามถึงความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะโครงสร้างไม่สามารถเดินหน้าไปได้ จากกรณี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นายกฯ ตอบว่า ในส่วนของพ.ร.บ.นี้ เราได้เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งก็มีการพิจารณาในชั้นรัฐสภา และก็ทำตามขั้นตอนต่างๆ อย่างไรก็ตาม ต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการก่อน และจะหารือกับกฤษฎีกา ในการที่จะดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นถอดถอนนายกฯ ในเรื่องนี้ รูัสึกกังวลหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและมีน้ำตาคลอ ว่า ตนเจอมาทุกรูปแบบแล้ว ไม่ว่ากลไกต่างๆ อยากขอว่า อย่างน้อยให้เรามีความยุติธรรมอยู่ในสังคม เรามีหลักเมตตาธรรมที่ให้ทุกคนที่คิดว่าเราทำเพื่อประเทศ อยากให้มองที่เจตนา อย่ามองการใช้ข้อกฎหมายเป็นข้อเพื่อที่จะริดรอน หรือเป็นข้อที่จะไปตัดสิทธิของทุกคนเลย แล้วอย่างนี้เราจะไปกันลำบาก พัฒนาประเทศต่างๆ ก็ลำบาก เพราะถ้าเรามุ่งแต่ทำทุกอย่างใช้ข้อกฎหมายในการที่จะตัดสิทธิ โดยไม่มองถึงเจตนารมณ์เบื้องต้น เราหวังว่าจะได้รับความเข้าใจว่า เราจะได้รับความยุติธรรม และความเห็นใจ

เมื่อถามว่า แสดงว่าวันนี้นายกฯ ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ใช่หรือไม่ นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

***"ชัชชาติ"ยันเดินหน้าหาเงินทำโครงการต่อ

ที่เทศบาลขอนแก่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ จะมองไปที่อนาคต และ 53 โครงการที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก็ต้องดำเนินการต่อ จะไม่หยุด เพราะถือว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นแค่การหาแหล่งเงิน จึงได้เตรียมที่จะหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เรื่องแหล่งเงิน ซึ่งจะมีการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการเผื่อรัฐบาลใหม่จะได้นำไปใช้ และเชื่อว่าประชาชนยังรอโครงการนี้อยู่ เพราะทุกจังหวัดที่ได้เดินทางไป เขาก็เห็นด้วยและคิดว่าเป็นประโยชน์

เมื่อถามว่า จะเปลี่ยนแผนยังไง จะสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือไม่ นายชัชชาติ หัวเราะ พร้อมกับกล่าวว่า รอดูอนาคต แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครทาบทาม

***เดินหน้าฟันครม.ปู-สภาขี้ข้า

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวขอบคุณตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งกระบวนการตรากฎหมาย และเนื้อหา ซึ่งแสดงว่าศาลได้เห็นถึงพิษภัยของระบอบทักษิณที่อ้างเสียงข้างมากมาคดโกง ปู้ยี่ปู้ยำประเทศไทยอย่างไรก็ได้ ซึ่งพรรคจะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ดำเนินการยื่นถอดถอนไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบเอาผิดกับครม.ยิ่งลักษณ์ทั้งคณะ ในฐานะผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ. และสมาชิกทุกคนที่ร่วมลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ และหากพบว่า มีกรณีการทุจริตผิดกฎหมาย ก็จะฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเดียวกับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของส.ว. ที่ ป.ป.ช. จะชี้มูลในเดือนนี้ และยังสามารถยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการไต่สวนอิสระของศาลฎีกาได้ด้วย แต่ต้องรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มมาพิจารณาก่อน

"กฎหมายฉบับนี้เสนอโดย ครม. เห็นว่ารัฐบาลต้องลาออก เนื่องจากเป็นมาตรฐานของโลก แต่รัฐบาลนี้คงดื้อต่อ ทั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องลาออกทันที แต่กลับไปแถว่า เสียดายที่กฎหมายนี้ ไม่ผ่าน ทำให้ประเทศเสียโอกาส ทั้งที่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้ประเทศไทยรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกา ลูกหลานคนไทยโชคดีที่ไม่ต้องเป็นหนี้ 50 ปี หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น"นายวิรัตน์ กล่าว

***จี้"ปู"รับผิดชอบงบพีอาร์รถไฟฯ 240 ล้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งคำถามไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลว่า จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะได้เสนอกฎหมายโดยมติครม. และโดยนายกรัฐมนตรี ที่มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น และน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะรับผิดชอบต่อเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นงบกลาง ภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของ นส..ยิ่งลักษณ์ ที่นำไปใช้ด้วยวิธีพิเศษ ผิดกฎหมายป.ป.ช. มาตรา103/7 จำนวน 240 ล้านบาท ในการเดินสายโฆษณาชวนเชื่อในโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งที่กฎหมายยังไม่ได้ผ่านและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และจะรับผิดชอบต่อการกดบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.รัฐบาล ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญอย่างไร

ส่วนกรณีที่บุคคลในรัฐบาลออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ นั้น เป็นแค่การปัดสวะให้พ้นตัว เพราะการจงใจกระทำผิดกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เป็นทั้งความผิดอาญา และอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ โดยสามารถยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และครม.ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 แม้จะเป็นครม.รักษาการ ก็ถอดถอนได้ เพราะถือว่ายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่เนื่องจากไม่มี ส.ส.ที่จะเข้าชื่อยื่นถอดถอนได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงการยุบสภาและการเลือกตั้ง แต่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ก็ยังสามารถเข้าชื่อกันยื่นถอดถอนได้ โดยยื่นต่อประธานวุฒิสภา ให้ส่งคำร้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนต่อไป และหากป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดจริง ผู้ถูกชี้มูล ก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

***ยกคำพูด"พงศ์เทพ" มัด "ปู"ต้องลาออก

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยแล้ว ก็จะเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการด้านงบประมาณและการกู้เงิน แต่รัฐบาลยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม โดยทั้งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พยายามปฏิเสธความรับผิดชอบ กรณีมีการชี้มูลว่าผิด สะท้อนถึงการขาดจิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อประเทศของฝ่ายบริหาร เพราะการออกกฎหมายดังกล่าว มีจุดบกพร่องมากมาย ทั้งขัดหลักการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ขาดความโปร่งใส เปิดช่องทุจริต ไม่มีการศึกษารายละเอียดความคุ้มค่าของแต่ละโครงการ เป็นการบริหารประเทศแบบมักง่าย ไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าและการป้องกันการทุจริต นำประเทศไปสู่ความเสี่ยง

"เมื่อศาลตัดสินว่า ขัดรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะอยู่ในสถานะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่นายกฯ ตัวจริงก็ตาม เพราะนายพงศ์เทพ ก็เคยพูดว่า ถ้าขัดรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบในทางใดทางหนึ่ง จะอ้างว่าตอนนี้ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วไม่ได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น