xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไทม์ไลน์ชี้ชะตา “มะม่วงยิ่งลักษณ์หล่น” รอ รอและจงรอต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อพลังของมวลมหาประชาชนไม่อาจทำให้รักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสภาพ เช่นเดียวกับคราวที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่อาจทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี พ้นจากเก้าอี้ ทางออกจึงมีแต่ต้องหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเวลานี้มีหลายคดีที่กำลังรอการตัดสิน ทั้งคดีที่จะทำให้รักษาการรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย มีอันสิ้นสภาพ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่จะทำให้รักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย กลายสภาพเป็นเป็ดง่อยเดินหน้าไม่ได้ ไปไม่เป็น โดยคดีที่สำคัญๆ มีดังนี้

หนึ่ง โครงการทุจริตรับจำนำข้าว ที่อยู่ในมือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากมีการชี้มูลความผิดเมื่อไหร่ รักษาการนายกรัฐมนตรี ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

สอง การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รักษาการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สิ้นสภาพ เพราะไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ภายใน 30 วัน หลังจากมีการเลือกตั้ง ส.ส.

สาม การยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 68 รวมทั้งกล่าวโทษรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ยุยงให้ประชาชนก่อกบฏแบ่งแยกดินแดน

สี่ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยว่าต้องออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ทุกเขตเลือกตั้งหรือไม่

ห้า คดีร้องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะลงมติในวันที่ 12 มี.ค. 2557

หก คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลปกครองในกรณีโครงการจำนำข้าว

เจ็ด คดีประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ที่อยู่ในมือป.ป.ช. และศาลปกครองสูงสุด

และ แปด คดีนายถวิล เปลี่ยนศรี ฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ใช้ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้รอฟังคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด

ขณะที่บรรดาลิ่วล้อขี้ข้าสภาทาสก็ติดบ่วงคดีที่ ป.ป.ช.กำลังชี้มูลความผิดกรณีแก้รัฐธรรมนูญปมที่มาของส.ว.เกือบยกสภา

เห็นได้ชัดว่า ยังมีอีกหลายดาบที่เตรียมฟันรักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ขณะที่การส่งสัญญาณให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกแรงมาช่วยหนุน กลับกลายเป็นการช่วยซ้ำเติมจากการประกาศแบ่งแยกดินแดนตั้ง สปป.อีสานล้านนา คราวนี้จะแก้ไขดิ้นรนให้พ้นความผิดโทษฐานกบฏเห็นทีจะยาก

อย่างไรก็ดี คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ มวลมหาประชาชนสงสัยว่า แล้วแต่ละคดีความจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ใช้เวลารอคอยที่ยาวนานอีกกี่สักมากน้อย หรือสุดท้ายแล้วจะต้องรอ รอและรอต่อไปอย่างไม่มีความหวัง

กลับมาติดตามไทม์ไลน์ของแต่ละเรื่องแต่ละคดี ว่าเมื่อไหร่ “มะม่วงยิ่งลักษณ์” จะสุกงอมและร่วงหล่น แถมมีหนอนชอนไช หรือจะเป็นประเภทขั้วเหนียว แห้งคาต้น ไม่หล่นแต่หมดสภาพไปโดยปริยาย

หนึ่ง โครงการทุจริตรับจำนำข้าว ที่อยู่ในมือของ ป.ป.ช.

หลังจาก ป.ป.ช. แจ้งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ มารับทราบข้อกล่าวหากรณีเพิกเฉยปล่อยให้มีการทุจริตจำนำข้าว เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2557 ซึ่งเมื่อถึงวันนัดหมาย นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ส่งทีมทนายมารับทราบข้อกล่าวหาแทน หลังจากนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ มีเวลาชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ในการชี้แจงจะมาด้วยตัวเองซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแถลงชี้แจงเพิ่มเติม หรือจะส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ เมื่อยื่นพยานหลักฐานมาเรียบร้อยแล้ว ป.ป.ช.จะพิจารณาว่าจะไต่สวนพยานเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ เพื่อลงมติชี้มูลต่อไป

ตามหลักการแล้ว เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์ชี้แจงแก้ต่างไม่เกิน 15 วัน แต่ป.ป.ช.อาจจะขยายเวลาชี้แจงออกไปได้หากเห็นว่ามีเหตุผลสมควร อย่างไรก็ตาม หากผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ ป.ป.ช.ก็สามารถพิจารณาชี้มูลได้เลย ซึ่งข้อหาที่ ป.ป.ช.กล่าวหาต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ คือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เปิดช่องให้มีการทุจริต มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ที่สำคัญ คือ หากถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิด นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ทันที จากนั้น ป.ป.ช. จะส่งเรื่องต่อให้วุฒิสภาถอดถอนรักษาการนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการทั้งคณะ ส่วนความผิดทางอาญานั้น เมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินคดีต่อไป

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ป.ป.ช. ถูกข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบ ทั้งการดิสเครดิตนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการไต่สวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว การชุมนุมปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ของกลุ่ม นปช.เรียกร้องให้ ป.ป.ช. ลาออกทั้งคณะและยุติการสอบสวนคดีนี้ กระทั่งถึงขั้นขว้างระเบิดใส่สำนักงานป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา

เจอการโต้ตอบเช่นนี้ ทาง ป.ป.ช. จึงออกมาปรามกำลังพิจารณาว่าการปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นการทำตามคำสั่งของรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจในรัฐบาลหรือไม่ เพราะมีหลักฐานเป็นคลิปการปราศรัยที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2557 ที่มีรัฐมนตรีและคนในรัฐบาลสั่งการในลักษณะให้มีการเคลื่อนไหวกดดันองค์กรอิสระและศาล ซึ่ง ป.ป.ช.จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้สั่งการข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1

ถึงแม้ว่า คดีการทุจริตจำนำข้าว ป.ป.ช. ยังไม่ได้ระบุแน่ชัดเจนว่าจะชี้มูลความผิดได้เมื่อไหร่ แต่ทำเหิมเกริมกันขนาดนี้ เชื่อแน่ว่าอีกไม่นานก็คงรู้ผล

สอง การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รักษาการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สิ้นสภาพ เพราะไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ภายใน 30 วัน หลังจากมีการเลือกตั้ง ส.ส.

เรื่องนี้ กลุ่มนักวิชาการในนามสยามประชาภิวัฒน์ นำโดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกมาฟันธงแล้วว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดการรักษาการตามรัฐธรรมนูญ ปราศจากฐานที่จะอ้างความชอบธรรมใดๆ ตามรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 ไม่อาจนำไปสู่การเปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ตามมาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะขัดกับมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ และปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ

“การเลือกตั้งมีเรื่องการกำหนดระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 127 ในการจัดประชุมรัฐสภาภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง มาตรา 172 ในการประชุมสภาสภาครั้งแรก ต้องให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน และมาตรา 93 ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเปิดสภาได้ แต่ต้องเลือกให้ครบภายใน 180 วัน ซึ่งในมาตรา 172 และ 93 ไม่ต้องพิจารณา เพราะมาตรา 127 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ....

“และเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เปรียบเสมือนขอมดำดิน ที่ไม่รู้ว่าการบริหารราชการจะไปโผล่ที่ใด แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ โดยเฉพาะชะตากรรมของชาวนาไม่ควรไปผูกอยู่กับรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจ และเรื่องการแบ่งแยกประเทศ ซึ่งคนส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่กระทำการปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 1 และผิดกฎหมายอาญามาตรา 113 , 114 และ 116 ทำให้รัฐบาลไม่สามารถอ้างรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยได้อีกต่อไป เพราะถือว่ารัฐบาลเป็นผู้ทำลายรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย” นายบรรเจิด ให้คำอธิบาย

ประเด็นการเปิดสภาหลังเลือกตั้งไม่ได้นี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้นำจดหมายของอดีตประธานศาลฎีกาคนหนึ่งขึ้นมาอ่านในเวทีชุมนุม ซึ่งแสดงความเห็นว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์พ้นสภาพไปแล้วโดยผลของกฎหมายเนื่องจาก กกต.ไม่สามารถประกาศรายชื่อ ส.ส.ได้ จึงไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

“หากเป็นความเห็นของระดับอดีตประธานศาลฎีกาจริงๆ ก็ต้องให้น้ำหนัก และต้องถือเป็นเรื่องใหญ่มาก จำเป็นต้องมีการชี้ขาดด่วนที่สุด เพราะเหตุถ้าหากว่าศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่พ้นสภาพก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากว่าศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์พ้นสภาพไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (4 มี.ค.) หรือตั้งแต่วันนี้ รัฐบาลจะไม่มีอำนาจที่จะสั่งการใดๆ

“ตราบใดที่ศาลยังไม่ชี้ขาด จะทำให้ข้าราชการมีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะหากไม่ดำเนินการตามคำสั่งของรัฐมนตรี ก็จะเป็นการขัดคำสั่ง แต่หากดำเนินการตามคำสั่ง ก็ไม่แน่ใจ ว่ารัฐมนตรี ยังมีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ รวมถึงการจ่ายเงิน การเบิกงบประมาณ การสั่งการ จะมีความเสี่ยงทั้งสิ้น และยิ่งหากเป็นเรื่องที่จะผูกพันบุคคลที่สาม ยิ่งจะมีปัญหาทวีคูณ ดังนั้นจึงควรมีการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด”

ข้างฝ่ายรัฐบาล ก็ออกมาตอบโต้กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ทันที โดยนายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการ รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แย้งว่า โดยหลักการกฎหมายบอกว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าที่จะมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้ามา จะต้องแปรความให้ยึดโยงหลักนี้ ส่วนกรอบระยะเวลา 30 วัน ที่จะต้องเปิดประชุมสภาให้ได้นั้นอยู่ในหมวดว่าด้วยสภา ไม่ได้อยู่ในหมวดของการเลือกตั้ง หรือเรื่องครม.พ้นหน้าที่ ถือเป็นคนละหมวดกัน

ถึงนายชัยเกษม จะยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีการไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าสิ้นสภาพ ก็ต้องฟัง “แม้สิ่งที่ผ่านๆ มาหลายครั้งตนก็ไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ บางเรื่องข้อความชัดๆ ยังตีความไปอีกแบบหนึ่ง แต่กฎหมายบอกให้ฟังศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ยกตัวอย่างบ้านตนเลี้ยงสุนัข ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าบ้านเขาไม่ได้เรียกสุนัข แต่เรียกสุกร ตนก็เลยต้องเรียกสุกรตามศาลรัฐธรรมนูญ ช่วยไม่ได้ กฎหมายเป็นอย่างนั้น” นายชัยเกษม แดกดันศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในที

เมื่อเป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน เชื่อแน่ว่า เร็วๆ นี้ คงมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเรื่องนี้ให้สิ้นสงสัยว่ารัฐบาลรักษาการจะสิ้นสภาพไปแล้วหรือไม่

สาม การยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 68 รวมทั้งกล่าวโทษรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ยุยงให้ประชาชนก่อกบฏแบ่งแยกดินแดน

เรื่องนี้ ถือเป็นความอุกอาจเหิมเกริมของพลพรรคเพื่อไทยและบรรดาทาสแม้วยิ่งนัก ทางมณฑลทหารบกที่ 33 กองทัพภาคที่ 3 จึงส่งนายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่ ในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน ตามรัฐธรมนูญ มาตรา113 ฐานกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ในราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ผบ.ทบ.

นอกจากนั้น ยังกลุ่มประชาชนต่างๆ เข้าแจ้งความในคดีนี้ในอีกหลายพื้นที่ ขณะที่นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ออกมาอ้อมแอ้มว่าไม่มีเจตนาแบ่งแยกดินแดน เพียงแค่อยากปฏิรูปการเมืองใหม่เท่านั้น

การกระทำของพรรคเพื่อไทยและนปช.ที่ประกาศแบ่งแยกดินแดนนั้น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา และหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดฐานเป็นกบฏ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ที่บัญญัติว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ รวมทั้งจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ เพราะ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รักษาการรมว.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นเวทีกลุ่ม นปช. พร้อมระบุว่า จะทำตามที่คนเสื้อแดงเสนอทุกอย่าง

นอกจากนี้ จะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการเรื่องนี้ด้วย เพราะนายจารุพงศ์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่ระบุว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นยุบพรรคเพื่อไทย จากการที่นายจารุพงศ์สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน “เป็ดเหลิม เจ้าเก่า” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ออกมาประชดประชันว่า "อย่าไปใส่ใจ ยุบเมื่อไหร่ ก็ตั้งอีก ไม่มีปัญหา อยากยุบกันมากก็ตั้งพรรคใหม่ ทีนี้ผมจะใช้ชื่อพรรคทักษิณเลย ผมเป็นคนตั้ง ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ผมจะตั้ง แล้วอาจจะเป็นหัวหน้าเอง โดยมีนายอดิศร เพียงเกษ เป็นเลขาธิการพรรค และนายอนันต์ ศรีพันธุ์ อดีตส.ส.อุดรธานี เป็นโฆษกพรรค จบไปเลยทีนี้ อยากยุ่งกันนัก"

ลางสังหรณ์ของเป็ดเหลิม อาจจะเป็นจริง จึงเตรียมตั้งพรรคทักษิณไว้รอล่วงหน้า เชื่อว่าคดีที่มีฐานความผิดใหญ่หลวง หลักฐานชัดแจ้งเช่นนี้ พรรคเพื่อไทย คงรอดยาก

สี่ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยว่าต้องออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ทุกเขตเลือกตั้งหรือไม่

การเลือกตั้งที่มีปัญหาวุ่นวายไม่จบสิ้น เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา กกต. จึงยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหากไม่สามารถกำหนดให้มีการเปิดรับสมัครส.ส.หรือกำหนดให้มีการเลือกตั้งเฉพาะ 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ได้ จำเป็นต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในทุกเขตเลือกตั้งหรือไม่ เพราะกกต.เชื่อว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้งแล้วจะต้องมีผู้ร้องว่า มีวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ฉะนั้นเพื่อให้มีความชัดเจน กกต. จึงยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญ บอกไม่ขัดก็จบ การเลือกตั้ง 28 เขต ก็จะเป็นทางออกของประเทศ แต่ถ้าบอกว่าไม่ได้ ก็ต้องเลือกตั้งใหม่ทุกเขตเลือกตั้ง

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญ คงวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ซึ่งถ้าผลออกมาว่าต้องเลือกตั้งใหม่หมดทุกเขต ก็จะเป็นการถือโอกาสล้างไพ่ใหม่ และไม่แน่ว่าคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ อาจตัดสินใจลงเลือกตั้ง สู้กันให้รู้กันไปว่าใครจะหมู่หรือจ่า

ห้า คดีร้องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะลงมติในวันที่ 12 มี.ค. 2557

คดีนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2557 พิจารณาคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นคำแถลงปิดคดีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตั้งประเด็นพิจารณาใน 2 ประเด็นคือกระบวนตรากฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต้องรอลุ้นกันในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ว่าผลจะออกมาเช่นใด

หก คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลปกครองในกรณีโครงการจำนำข้าว

คดีนี้ ทางอัยการสูงสุด ได้ทำตามสัญญากับชาวนายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เรียกค่าเสียหายกว่า 2.7 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 โดยยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กรือ กขช. ในข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ผิดสัญญาทางปกครอง ในการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามกำหนด ทั้งนี้ เชื่อว่าศาลปกครองจะเร่งรัดดำเนินการพิจารณาคำฟ้องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เนื่องจากชาวนาได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก

นอกจากนั้น ยังมีคดีประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว และเตรียมที่จะแจ้งข้อหาในเดือนเม.ย. 2557 นี้ โครงการเดียวกันนี้ยังมีการยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและจัดทำประชามติ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

รวมไปถึงคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี ฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปแล้ว ทางนางสาวยิ่งลักษณ์ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในวันที่ 7 มี.ค. 2557 ศาลปกครองกลางมีกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถึงเวลานี้ คงรู้ผลกันแล้วว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางหรือตัดสินเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ คดีหมายเลขดำที่ 635/2555 กรณีที่นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และคณะกรรมการการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.)เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ว่า ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ย้ายจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรม ทำให้ได้รับความเสียหาย

คดีนี้ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ก.ย. 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งและประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับกับเพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2554 ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเกิดจากกระบวนการโอนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการโอนข้าราชการและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สมเหตุสมผล ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีผลให้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ก.ย. 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสมช.สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

ส่วนปัญหาว่าคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลได้พิจารณาในประเด็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเกิดจากกระบวนการโอนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการโอนข้าราชการและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สมเหตุสมผลซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีย่อมมีผลให้คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

คดีดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสูด และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2557 ที่ผ่านมา

ดูจากไทม์ไลน์รอมะม่วงหล่นแล้ว มีลุ้นระทึกอีกหลายยก ถึงจะรอดจากคดีนี้ยังเหลืออีกหลายคดีที่จ่อคิวเชือด ถึงไม่ตายแต่ก็คงเลี้ยงไม่โต จะดันทุรังอยู่ไปก็เหมือนสิ้นสภาพไม่สามารถทำอะไรได้

แต่ปัญหามีอยู่ว่า ทุกคดียังไม่มีความแน่ชัดว่าจะจบสิ้นลงเมื่อไหร่ ดังนั้น มวลมหาประชาชนจึงยังคงต้องรอ รอและรอกันต่อไป

ซ้ำที่ดูจะหนักหนาสาหัสไปกว่านั้นก็คือ แม้ว่าการรอคอยจะสิ้นสุด บรรดาองค์กรอิสระและศาลมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็ยังมี ความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยังตะแบงอยู่ในอำนาจต่อไปด้วยการประกาศไม่ยอมรับอำนาจของหน่วยงานเหล่านั้น

คำถามจึงมาหยุดอยู่ตรงที่ว่า แล้วมวลมหาประชาชนจะยังคงรอต่อไปหรือไม่ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วผู้นำของมวลมหาประชาชนคือนายสุเทพ เทือกสุบรรณเลือกที่จะ “รอ” ให้มะม่วงหล่นลงมาเองมากกว่าที่จะเปิดเกมรุกเข้าใส่


กลุ่มคนเสื้อแดงที่บุกไปกดดัน ป.ป.ช.ในการดำเนินคดีกับนางสาวยิ่งลักษณ์
วิชา มหาคุณ
กำลังโหลดความคิดเห็น