xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ยื่นศาลรธน.ตีความวันนี้ พ.ร.ฎ.28เขต-เลือกตั้ง2วันหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3มี.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวก่อนเข้าประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต. จะมีการประชุมร่วมกับทีมที่ปรึกษากฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหากรณี 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผู้สมัครส.ส. หลังจากที่รัฐบาลได้ส่งหนังสือตอบกลับ และอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกกต. ที่ให้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) วันรับสมัครเพิ่มเติม และวันลงคะแนนใหม่ โดยการ ประชุมครั้งนี้ เชื่อว่าจะมีความชัดเจนว่า จะส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ เนื่องจาก กกต. ต้องเร่งดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันการได้ ซึ่งเนื้อหาหลักในคำร้องที่จะสอบถามศาลรัฐธรรมนูญคือ การเลือกตั้งส.ส. 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผู้สมัครส.ส.นั้น ควรให้นายกรัฐมนตรีออกเป็นพ.ร.ฎ. หรือให้กกต.ประกาศกกต.
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ให้ออกเป็นแนวทางใด กกต.ก็พร้อมที่จะดำเนินการ เพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงทันที ขณะเดียวกันก็จะมีการสอบถามประเด็นปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ต้องรอผลการประชุม
สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งทดแทน 5 จังหวัด ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา ภาพรวมถือว่าน่าพอใจ แม้ว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าไม่เป็นไร เพราะกกต.รู้ว่าพื้นที่ซึ่งจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดังนั้น คนที่สนับสนุนพรรคปชป. จึงไม่มาลงคะแนนเสียงกัน แต่เมื่อไม่มีการขัดขวาง ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ต่อการจัดการเลือกตั้งในจังหวัดที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งหลังจากนี้ กกต.ก็จะมีการประเมินว่า จะมีจังหวัดใดสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในลำดับถัดไป
ส่วนกรณีว่าที่ ส.ส. นัดรวมตัวเดินทางไปแสดงสัญลักษณ์ที่อาคารรัฐสภา ในวันนี้( 4 มี.ค.) ซึ่งครบระยะเวลา 30 วัน ที่กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งนั้น ขอไม่แสดงความคิดเห็น เนื่องจากขณะนี้ กกต. ยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งให้กับผู้สมัครรายใดเลย เมื่อไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ก็เท่ากับว่ายังไม่มีใครได้เป็น ส.ส. ส่วนการกระทำดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ ต้องขอดูอีกครั้งหนึ่ง
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวแสดงความพอใจกับความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ในการจัดลงคะแนนการเลือกตั้งทดแทนในพื้นที่ 5 จังหวัด แต่ยังไม่พอใจยอดตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ที่มีเพียงร้อยละ 10.2 ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำ และประเมินถึงสาเหตุว่ามาจากหลายประเด็น ทั้งระยะเวลาที่กระชั้น ทำให้การประชาสัมพันธ์ได้ไม่เต็มที่ รวมถึงพื้นที่ในการจัดลงคะแนนเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในวันที่ 7 มี.ค.นี้ จะมีการประเมินถึงการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะนำความร่วมมือในการจัดการเลือกตั้ง 5 จังหวัดไปเป็นแบบอย่างในการจัดลงคะแนนการเลือกตั้ง
ทั้งนี้นายสมชัย คาดการณ์ว่าในวันนี้ กกต. น่าจะส่งคำร้องที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การจะเปิดรับสมัครเลือกตั้งและลงคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่ 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ ที่ไม่มีผู้สมัคร จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือไม่ หลังมีการหารือหลายครั้งก่อนหน้านี้ และอาจสอบถามในประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2-4 ประเด็น เพื่อเป็นทางออกของปัญหาบ้านเมือง โดยนายสมชัย ย้ำด้วยว่ากกต.ไม่มีเจตนาประวิงเวลาจัดเลือกตั้งให้เลยกรอบเวลา 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเปิดประชุมรัฐสภานัดแรก ซึ่งจะครบกำหนดเวลาในวันที่ 4 มี.ค.นี้ แต่การพิจารณาของกกต. ต้องเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงให้ความสำคัญในเรื่องเนื้อหา กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส. มากกว่าประเด็นกรอบเวลา อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า ประเด็นกรอบเวลาจะไม่เป็นเหตุให้การเลือกตั้ง มีผลเป็นโมฆะ

** คาดตัวแทน 4 พรรคไม่ยอมลงใต้

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุมกกต.ว่าที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดลงคะแนนเลือกตั้งใน 5 จังหวัดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องมาจาก กกต.ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ในการเข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้ง ดังนั้นจะนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดลงคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะให้มีการลงคะแนนเมื่อใด
อย่างไรก็ตามในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง 28 เขต เลือกตั้ง ภาคใต้ ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ในวันที่ 17 มี.ค. ทางกกต.จะให้ประธานกกต.ทั้ง 15 จังหวัดไปร่วมประชุมเท่านั้น เพราะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะต้องทำหน้าที่ผุ้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งในการรับสมัคร ส.ว.ดังนั้น จะมีประธาน กกต.จังหวัด ซึ่งจะร่วมประชุมกับผู้แทนพรรคการเมือง โดยขณะนี้ทราบเบื้องต้นว่า ยังไม่มีผู้แทนพรรคการเมืองใดตอบรับไปเข้าร่วมประชุม และมีแนวโน้มว่า 4 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล จะไม่เข้าร่วม อย่างไรก็ตามจะมีความชัดเจนอีกครั้งในวันนี้ ถึงผู้ที่จะเข้าร่วมประชุม แต่ในส่วนของ กกต.นอกจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.แล้ว จะมีนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ไปร่วมประชุมด้วย
นายภุชงค์ ยังกล่าวถึงกรณีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีความขัดแย้งระหว่าง กกต.กับรัฐบาล ในการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 28 เขตภาคใต้ ว่า ที่ประชุม กกต.ได้เห็นชอบกับคำร้องที่จะยื่นต่อสาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เนื่องจากมี กกต.บางคน ติดภารกิจ จึงยังไม่ได้มีการลงนามครบทั้ง 5 คน แต่มีการนัดที่จะลงนามในเช้าวันนี้ (4มี.ค.) และคาดว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน โดยประเด็นที่จะมีการยื่นจต่อศาลมี 2-3 ประเด็น เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ที่จะครอบคลุมเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรไม่สามารถเปิดเผยได้
นอกจากนี้ในวันนี้ ( 4 มี.ค.) ที่ประชุม กกต. จะได้พิจารณาคำนร้องที่รัฐบาลขอให้ กกต. อนุมัติให้รัฐบาลให้งบกลาง 2 หมื่นบ้านบาท เพื่อชำระหนี้ให้กับชาวนา ในโครงการรับจำนำข้าว โดยจะมีผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์ สำนักงบฯ กระทรวงการคลัง เข้าชี้แจง

** เริ่มรับสมัครส.ว.วันนี้

นายภุชงค์ ยังกล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ว.ว่า กกต.ได้มีการกำหนดให้มีการรับสมัครส.ว.ทั่วประเทศ 77 จังหวัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 4-8 มี.ค. ถึงวันที่ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ในและนอกเขตเลือกตั้ง วันที่ 23 มี.ค. เลือกตั้งนอกราชการอาณาจักร 16 - 23 มี.ค. ส่วนวันเลือกตั้ง คือวันที่ 30 มี.ค. โดยกรุงเทพฯ จะใช้อาคารวุฒิสภา เป็นที่รับสมัคร ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้สมัครในการหาเสียงในแต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากัน สูงสุดคือ 5 ล้านบาท ต่ำสุด 1 ล้านบาท ซึ่งผู้สมัครสามารถหาเสียงได้ แต่ต้องเป็นการหาเสียงในเรื่องของบทบาทหน้าที่ในการเป็น ส.ว. เช่น หาเสียงว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร จะตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ รัฐบาล อย่างไร แต่จะไม่สามรรถหาเสียงเหมือนกับ ส.ส.ได้ เช่น จะจัดสรรงบประมาณไปลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จากการประเมินของ กกต.จังหวัด เชื่อว่จากบทบาทหน้าที่ของ ส.ว. ที่ไม่เกี่ยวข้องการเมือง จะทำให้การเลือกตั้ง ส.ว.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุความรุนแรงใดๆ

** ออกพ.ร.ฎ.-เลือกตั้ง2วันหรือไม่

แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า เดิมที่หนังสือของ กกต. ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น นอกจากมีประเด็นขอให้วินิจฉัยการเปิดรับสมัคร และการลงคะแนนเลืออกตั้งในพื้นที่ 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือไม่แล้ว ยังจะยื่นให้วินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมายอีก 3 ประเด็น แต่ปรากฏว่า ล่าสุดได้มีการตัดประเด็นข้อกฎหมายที่จะยื่นให้วินิจฉัย ทั้งในเรื่องบัตรลงเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลืออกตั้งที่ยังไม่ได้นำมานับรวมในวันเลือกตั้งที่ 2
ก.พ. ที่มีการนับคะแนนที่หน่วยเลืออกตั้งไปแล้ว จะถือว่าเป็นบัตรเสียตามความหมาย มาตรา 102 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาส.ว.หรือไม่ และ กกต. สามารถออกประกาศคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากคะแนนเท่าที่มีก่อนการเลือกตั้งในทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศแล้วเสร็จได้หรือไม่ เพื่อให้มี ส.ส. ครบ 95 % ได้หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นดังกล่าว ศาลอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ กกต.สงสัยในอำนาจของตนเอง และขอคำปรึกษาจากศาล รวมทั้งอาจส่อให้เกิดการตีความว่า กกต.ยื่นประเด็นเหล่านี้โดยมีเจตนาที่จะล้มการเลือกตั้งเสียเอง
ดังนั้นประเด็นที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงเหลือเพียงประเด็นการรับสมัคร และการลงคะแนนเลือกตั้งใน 28 เขต ต้องดำเนินการโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น หรือสามารถออกเป็นประกาศกกต.ได้ กับประเด็นว่า หากมีการเลือกตั้งใน 28 เขต จะถือว่าทำให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 หรือไม่

**คนใช้สิทธิแค่ 10% ไม่ถือเป็นทางออก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกตั้งทดแทนใน 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพียง 10เปอร์เซนต์ ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่คิดว่ากระบวนการในการเลือกตั้งทดแทนเป็นทางออกให้กับประเทศ และยังเป็นการเพิ่มข้อเท็จจริงสะสม ดังนั้นการที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ นั้นไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในเรื่องของการเปิดสภา หรือมีสภาได้ แต่วันนี้มีข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น ดังนั้นพรรคจะมีการยื่นอีกครั้ง เป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้เห็นว่า ในที่สุดไม่สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในเรื่องของการเปิดสภา หรือมีสภาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น