xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน ก็ไม่สามารถปฏิรูปประเทศไทยได้

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

(11 มีนาคม 57)

ระยะหลังๆ เมื่อฟังคำปราศัยของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณจบแล้ว ผู้เขียนมักจะรู้สึก “มึนๆ” ถามตัวเองว่าเพราะเหตุใด ? ก็พอจะได้คำตอบกว้างๆว่า เพราะคุณสุเทพขาดความชัดเจนในเรื่องของอำนาจประชาชน ที่สะท้อนว่าคุณสุเทพยังไม่สามารถเสริมสร้างจิตใจที่ซื่อสัตย์ต่อประชาขนได้อย่างแท้จริง

ที่เด่นชัดที่สุดก็คือการเน้นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิรูประบบการเมือง ให้เป็นประชาธิปไตยของนักการเมืองมากกว่าที่จะเป็นประชาธิปไตยของประชาชน

ทำให้ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของ “กปปส.” จึงเป็นได้เพียง “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของนักการเมือง” เท่านั้น

เพราะอะไร ? ก็เพราะการกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่า การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ก็เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม อันหมายถึงว่า ต้องการเพียงการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่านั้น

ผู้เขียนอยากจะถามว่า อะไรคือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ? ในเมื่อการหาเสียงเลือกตั้งตามระบบการเลือกตั้งที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ล้วนแต่หนีไม่พ้นการใช้เงินซื้อเสียง ทั้งด้วยการหาเสียงผ่านสื่อต่างๆ และการหาเสียงโดยตรง ซึ่งอยู่นอกเหนือการกำหนดของประชาชนอย่างสิ้นเชิง

ในที่สุด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลุ่มการเมืองเก่าออกไป กลุ่มการเมืองใหม่เข้ามา สถานภาพของประชาชนก็จะยังคงเป็นเพียง “ผู้ปูทาง” ให้นักการเมืองก้าวขึ้นสู่อำนาจอยู่ดี

ไม่เกิดการปฏิรูปโดยนัยแห่งประชาชนแต่ประการใด !

มีแต่เพียงการปฏิรูปโดยนัยแห่งนักการเมืองเท่านั้น !

การสัญญาว่าจะไม่เข้าสู่วงการเมืองอีกเลยของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงเป็นเพียงเรื่องของการแสดงความบริสุทธิ์ใจส่วนตัว ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆต่อประเทศไทย และไม่ทำให้เกิดการปฏิรูปใดๆทั้งสิ้น

เพราะมันเป็นคนละเรื่องกับการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริง ที่จะต้องดำเนินไปได้ด้วยการสร้างอำนาจประชาชน ให้เป็น “อำนาจกำหนด” การเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้ผลของการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปตกสู่ประชาชนโดยตรงในทันที

คุณสุเทพไม่ต้องสัญญาอะไรกับประชาชนหรอก ว่าจะทำการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันจะกลายเป็นคำสัญญาลมๆแล้งๆของนักการเมือง ที่หลอกลวงประชาชนไปวันๆ เพราะในทางปฏิบัติ คุณสุเทพและพรรคพวก ไม่ได้ดำเนินไปสู่การสร้างอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง ตรงกันข้าม กลับยังวนเวียนอยู่กับการสร้างอำนาจนักการเมือง ยังหนีไม่พ้นกรอบคิดของความเป็นนักการเมือง ที่ถือเอาการเลือกตั้งเป็นสิ่งวิเศษสุดของระบอบประชาธิปไตย

คุณสุเทพจะเอาอะไรเป็นหลักประกันให้แก่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ? และที่ว่าบริสุทธิ์นั้น มันบริสุทธิ์สำหรับใคร ? ประชาชนที่ถูกกันออกจากระบบอำนาจอย่างสิ้นเชิงด้วยระบบหาเสียงเลือกตั้ง จะมีอำนาจอย่างแท้จริงได้อย่างไร ?

ถึงที่สุดแล้ว อำนาจที่แท้จริงก็จะตกอยู่ในมือของนักการเมือง !

นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของนักการเมือง” !

ฉันใดฉันนั้น หากคุณสุเทพต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็น “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของประชาชน” ก็จะต้องสร้างระบบการเมืองที่เอื้อต่อการพัฒนาเติบใหญ่ของอำนาจประชาชน โดยเป็นผู้นำของประชาชน ที่มีจิตใจซื่อสัตย์ต่อประชาชน ยืนอยู่บนจุดยืนของประชาชน ทำทุกอย่างเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง

เช่น การสร้างสภาประชาชนให้เป็นองค์กรอำนาจถาวรของมวลมหาประชาชน โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาประชาชนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะมีแต่สภาประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นเวทีสะท้อนความต้องการของประชาชนโดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยนักการเมือง อันเป็นเนื้อหาสาระสำคัญของประชาธิปไตยทางตรง ที่สามารถให้ประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนยิ่งกว่าประชาธิปไตยตัวแทนเพียงอย่างเดียว

นั่นหมายถึงว่า การปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยจะต้องมุ่งสู่การสร้างสภาประชาชนเป็นสำคัญ ประสานไปกับการปรับระบบเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุดเท่าที่จะทำได้

อำนาจสูงสุดจะต้องมาจากสภาประชาชน โดยผู้แทนที่ประชาชนคัดกรองมากับมือ มีความซื่อสัตย์ต่อประชาชนสูงสุด ปฏิบัติภารกิจเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนตั้งแต่ต้นจนปลาย

รัฐบาลของประชาชนจะต้องมาจากการ “อนุมัติ”ของสภาประชาชนเท่านั้น และเมื่อใดที่รัฐบาลทำงานขาดตกบกพร่อง ก็จะต้องรับการพิจารณาปรับเปลี่ยนโดยสภาประชาชนอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น

ทั้งนี้ สภาประชาชนจะต้องมีขึ้นในทุกหนทุกแห่ง ทุกระดับการบริหารจัดการสาธารณะ อยู่ในฐานะเป็น “เสาหลัก” หรือ “แกนหลัก” ค้ำจุนอำนาจของประชาชน เพื่อสนองตอบความเรียกร้องต้องการของประชาชนทุกระดับได้อย่างแท้จริง

อีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความกังขาให้แก่ผู้เขียน ก็คือการจัดเสวนาระคมสมองทำ “พิมพ์เขียว”ปฏิรูปประเทศไทย เริ่มวันแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่ามมา

ผู้เขียนให้ความสนใจในเรื่องนี้ และเข้าร่วมตั้งแต่ช่วงเช้าในฐานะ “ประชาชน”ธรรมดาๆ คนหนึ่ง

ภายหลังการเสวนาผ่านไปทั้งภาคเช้าและบ่าย ผู้เขียนรู้สึก “อึดอัด” ด้วยเห็นว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ ดำเนินไปไม่ต่างจากการจัดเสวนาโดยนักวิชาการทั่วๆไป ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ แม้จะกำหนดหัวข้อที่ดี คือ “แก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็ง” แต่กระบวนการที่เป็นไป กลับไม่ได้เจาะไปยังการแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยตรง กลับ “วน” อยู่กับข้อสรุปจากการวิจัยโดยนักวิชาการ

คุณสุเทพและคณะให้ความสำคัญมาก เข้าร่วมอยู่ในการเสวนาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก็ออกตัวว่าตัวเองไม่ถนัดจึงมอบหมายให้คณะอำนวยการจัดการ

ผู้เขียนไม่เรียกร้องให้คุณสุเทพมาจับเรื่องการเสวนานี้เอง แต่ก็คาดหวังว่า เขาสามารถนำเสนอ “แนวคิดชี้นำ” ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปที่จะยังประโยชน์แก่ประชาชนได้โดยตรง แต่ก็ต้องผิดหวัง

ก็ไม่แปลก เพราะเมื่อคุณสุเทพไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการสร้างสภาประชาชนให้เป็นองค์กรอำนาจสูงสุดถาวรของประเทศไทย ก็ย่อมไม่มีแนวคิดชัดเจนต่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน

ดังนั้น การจัดเสวนาระดมสมองสร้าง “พิมพ์เขียว”การปฏิรูปประเทศไทย ตามกรอบวิธีเดิมๆ แบบใช้ผลงานวิจัยทางวิชาการเป็นตัวนำ แค่เริ่มก็ “วน” เสียแล้ว นั่นคือ เริ่มด้วยการนำเสนอของนักวิชาการในภาคเช้า และเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นหรือเสนอเพิ่มเติมพูดคนละ “3 นาที” ในตอนบ่าย

สำหรับผู้เขียนแล้ว การเสวนาเช่นนี้มีแต่ความ “น่าเบื่อ” เพราะ “วน”อยู่ในอ่าง ไม่มีคำตอบที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจริง !

ในการเสวนา ผู้เขียนจึงไม่พบว่า มีช่องทางอะไรที่นำไปสู่การปฏิรูปได้จริง

ทำไม ? ก็เพราะผู้นำเสนอแนวการปฏิรูป ไม่ได้เป็นผู้ที่จะลงมือทำ ไม่ได้เป็น “เจ้าของ ปัญหา”

ผู้เขียนขอยืนยันว่า ผลงานวิจัยของนักวิชาการไม่อาจให้คำตอบต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนได้จริง เพราะปัญหาที่ประชาชนเผชิญหน้าอยู่นั้น แม้แต่ประชาชนเองก็ยังไม่พบคำตอบหรือวิธีการแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องลงมือปฏิบัติ มีแต่เขาลงมือปฏิบัติแล้วเท่านั้น จึงจะ “คลำ” ถึงปมปัญหาที่เป็นจริงได้ แล้วไฉนเลยนักวิชาการที่ถนัดแต่การเก็บรวบรวมข้อมูลจะสามารถ “เข้าถึง” คำตอบที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องร่วมลงมือปฏิบัติกับประชาชน !

ในความคิดของผู้เขียน (ได้นำเสนอต่อคณะอำนวยการเสวนาเรียบร้อยแล้ว) การเสวนาจะต้องเป็นเวทีของ “ผู้แก้ปัญหา” โดยระดมเอาประชาชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาของตนเองมาเข้าร่วมเสวนาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยมีคณะนักวิชาการหรือนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาที่ประชาชนเผชิญหน้าอยู่มาเข้าร่วมในฐานะ “คู่คิด”

อีกนัยหนึ่ง การเสวนาต้องดำเนินไปโดยมี “ผู้แก้ไขปัญหา” เป็นศูนย์กลาง !

อีกนัยหนึ่ง การปฏิรูปจักต้องเริ่มต้นที่ “การปฏิบัติ” ของ “เจ้าของปัญหา” !

ก่อนจบบทความนี้ ผู้เขียนขอยืนยันว่า มวลมหาชนภายใต้การนำของคุณสุเทพและคณะ จักสามารถต่อสู้เอาชนะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ ขจัดระบอบทักษิณได้อย่างแน่นอน แต่หากไม่ยกระดับการนำขึ้นสู่ความเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง การปฏิรูปประเทศไทยก็จะล้มเหลว

ถึงเวลานั้น กระบวนการ “ธรรมจัดสรร” ก็จักแสดงตน จะต้องมีผู้นำอีกรุ่นหนึ่งที่มีความพร้อมยิ่งกว่า มานำมวลมหาประชาชน ดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น