รมช.เกษตรฯ ย้อน “สุเทพ” นายกฯ ม.7 ไม่เป็นตาม รธน. ติงตีความเอื้อประโยชน์ ไม่ควรเสนอช่วงงานมหามงคล ชี้นายกฯ ต้องมาจากเลือกตั้ง เป็น ส.ส. ตอกตั้งสภา ปชช.ถามสาวกเพื่อแม้วหรือยัง เชื่อส่วนใหญ่หนุนแบบเดิม แจงไม่ปิดกั้นประชามติ หวังเริ่มเวทีปาหี่เลย หาเจ้าภาพที่ยอมรับ ชัดเจนหลังพระราชพิธี อ้างยังไม่ชัดประชุมอธิการบดี จี้นายกฯ ไขก๊อก รอศาลตีความกู้ 2 ล้านล้าน รับกระทบแผนงาน
วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงพิมพ์เขียวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.เสนอนายกมาตรา 7 ว่า ในอดีตหากยังจำกันได้ นายกฯ มาตรา 7 เคยถูกเสนอโดยหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งที่ต่างไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และต้องเป็น ส.ส. รัฐบาลยังยืนยันว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่เลือก ส.ส.เข้ามา และ ส.ส.ทั้งสภาก็มาลงมติเลือกนายกฯ การเสนอของนายสุเทพไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในลักษณะที่คลุมเครือ ยืนยันว่ายังไม่มีทางตันใดๆ ที่จะไปถึงการใช้นายกฯ มาตรา 7 แต่อย่างใด เพราะกระบวนการได้มาของนายกฯ โดยนายกฯคนปัจจจุบันก็มาโดยกระบวนการที่ถูกต้อง ที่สำคัญข้ออ้างที่นายสุเทพบอกว่าประชาชนอยากให้จัดตั้งสภาประชาชน มีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน ก็ต้องถามกลับไปว่าคำว่าความต้องการของประชาชนนั้น หมายถึงประชาชนที่เลือกตั้งมาครั้งล่าสุด จนเป็นที่มาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจำนวนอีก 10 กว่าล้านคน นายสุเทพได้รวมประชาชนส่วนนั้นแล้วหรือยัง ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นประเด็นปัญหาในอนาคตอยู่ดี
นายวราเทพกล่าวว่า มาวันหนึ่งบอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่เอานายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนแล้ว อ้างประชาชนส่วนหนึ่งต้องการนายกฯ ด้วยวิธีการใหม่ก็จะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายของบ้านเมือง กรอบรัฐธรรมนูญก็จะไม่มี เพราะฉะนั้น ต้องย้อนกลับไปที่อ้างว่าประชาชนทั้งหมดไปถามประชาชนส่วนที่เหลือแล้วหรือยังซึ่งเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่ทีเหลือก็ยังอยากให้เป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า นายสุเทพอ้างว่าสามารถตั้งนายกฯ มาตรา 7 ได้ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ นายวราเทพกล่าวว่า การอ่านรัฐธรรมนูญถ้าจะตีความไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับตนเองก็พูดได้หมด เพราะรัฐธรรมนูญบางมาตราต้องมีการตีความ เราจึงมีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญไว้ตีความรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ยังยืนยันกระบวนการได้มาของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วยความชอบธรรม ดังนั้นการหมดไปของรัฐบาล ของสภาผู้แทนราษฎรจะต้องหมดไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่หมดไปตามคำเรียกร้องของนายสุเทพ
เมื่อถามว่า การขอนายกฯ มาตรา 7 เป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ไม่อยากพูดให้เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทในช่วงที่มีการเฉลิมฉลองงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา การนำเสนออย่างนี้ไม่ควรพูดถึงด้วยซ้ำไป ควรเป็นเวลาที่คนไทยทุกคนได้เทิดพระเกียรติพระองค์ท่านมากกว่า
ส่วนแนวทางของการทำประชามตินั้น นายวราเทพกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนว่าอยากให้ทุกภาคส่วน สถาบันการศึกษา กลุ่มเครือข่ายต่างๆ แม้กระทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความคิดเห็นออกมา เพื่อให้สังคมได้เห็นทางออกประเทศไทยจะไปในทิศทางใด รัฐบาลก็พร้อมมาพิจารณา แต่การเสนอนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปตามกรอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าแนวทางเริ่มต้นเปิดเวทีวิชาการจะเริ่มต้นได้เมื่อไร นายวราเทพกล่าวว่า จริงตอนนี้รัฐบาลอยากให้เริ่มต้นได้เลย นายกฯ อยากเห็นทางออกของปัญหารวดเร็ว จะมีการรวมตัวของคนที่มาจากหลากหลาย เครือข่ายต่างๆ ถ้าไม่มีเจ้าภาพก็จะเกิดอุปสรรคในการนัดหมาย ในการที่จะเตรียมการ ที่จะตั้งโครงการว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นการที่รัฐบาลเสนอตัวเป็นเจ้าภาพก็จะติดปัญหาว่า รัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะนี้กำลังพิจารณากันอยู่ว่าหาเจ้าภาพหน่วยงานหนึ่ง เมื่อได้เจ้าภาพที่เป็นที่ยอมรับสนับสนุน ทั้งสถานที่ งบประมาณ รัฐบาลก็พร้อม รัฐบาลไม่อยากเสนอตัวเองเป็นเจ้าภาพ จะมองว่ารัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ กำลังจะพิจารณาหลังงานพระราชพิธีแล้ว เราคงได้เห็นความชัดเจนขึ้น กลุ่มไหนเป็นเจ้าภาพก็ได้ถ้าเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า ที่ประชุมอธิการบดีเรียกร้องนายกฯ ลาออก ยุบสภา แล้วเสนอคนกลางเข้ามา นายวราเทพกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่าข้อเสนอที่ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และหากลาออกก็ต้องมีการลงมติในสภาฯเลือกนายกฯ กันใหม่ ยังไม่มีมาตราใดที่เมื่อนายกฯ ลาออกแล้ว ไปเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ โดยไม่ผ่านกระบวนการสรรหาในสภา และไม่ได้หมายความว่าการมีสภาประชาชนแล้วปัญหาจะจบลงไปได้ ปัญหาที่เรียกร้องอยากปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปหน่วยงานราชการ ส่วนที่สำคัญคือถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญได้บ้าง
นายวราเทพกล่าวถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ พ.ศ....ว่า ต้องรอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ถ้าร่างพระราชบัญญัติใดมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยตีความว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ต้องรอจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา เป็นที่เด็ดขาดก่อน เพื่อพิจารณาจะนำขึ้นกราบบังคมทูลหรือไม่ หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาด้วยความเหมาะสม และแน่นอนย่อมมีผลกระทบการวางแผนการจัดการโครงการ 2 ล้านล้านบาท แต่จะกระทบมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระยะเวลา