xs
xsm
sm
md
lg

เหลิมพร้อมแตกหักกปปส. เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้พ.ร.บ.มั่นคงลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ผอ.ศรส.) กล่าวถึงกรณีด่านตรวจความมั่นคงจับทหารจากสังกัด กรมทหารราบที่ 31 กองพันทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือ ร. 31 พัน 2 รอ. หรือหน่วยรบพิเศษ จ.ลพบุรี ที่พกพาอาวุธปืนเอ็ม 16 พร้อมกระสุนว่า เป็นนโยบายของ ศรส.ตั้งแต่ต้น ในการตั้งด่านความมั่นคงใกล้กับเวทีชุมนุมของ กปปส. โดยได้รับรายงานว่า จับอาวุธปืนเอ็ม16 ได้ 1 กระบอก ปืนสั้น 11 ม.ม. 1 กระบอก และกระสุนกว่า 2,000 นัด ตรงนี้น่ากลัว เพราะผู้ต้องหารับสารภาพแต่เพียงว่า เป็นเจ้าของของกลาง แต่ไม่บอกว่าจะนำไปไหน โดยการที่มีอาวุธกับกระสุนอยู่ด้วยกัน แสดงว่าต้องนำไปใช้ยิง แต่การจะไปใช้ที่ไหนนั้น พูดไปจะเป็นการใส่ร้าย ไม่เหมาะสม ตนเคยบอกมาตลอดว่า ตนค่อนข้างมีความเห็นแตกต่างจากฝ่ายความมั่นคงในบางเรื่อง ถึงแม้ว่า กปปส. จะไปรวมเวทีที่สวนลุมพินี และบอกจะไม่เคลื่อนไหว แต่จะเอาไรมาบอกว่า จะไม่ก่อเหตุ
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนไปประเทศสิงคโปร์ เยี่ยมพ่อเพื่อนสนิทที่ป่วย ซึ่งได้รับรายงานข่าวว่า มีคาราวานจาก จ.กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชุมพร เข้ามาที่ กทม. เห็นได้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ยืนยันว่า จะล้มรัฐบาลให้ได้ และไล่นายกฯ ตระกูลชินวัตร ปฏิรูปการเมือง แล้วนำไปสู่การเลือกตั้ง แต่พรรคเพื่อไทยและตนยึดมั่นว่า ต้องจัดการเลือกตั้งให้เสร็จ มีรัฐบาลใหม่ แล้วค่อยจัดการปฏิรูปก่อนยุบสภา สู่การเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ฝ่าย กปปส.ไม่ยอม นายสุเทพ ไม่ได้มาคนเดียว มีพวกอีกเยอะ ตนไม่อยากเห็นการเผชิญหน้า จึงบอกไปว่าอยากพบกับนายสุเทพ เมื่อนายสุเทพไม่พบ แสดงว่าอยากแตกหัก แต่พรรคเพื่อไทยเองไม่ยอม เพราะมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ อยู่ๆ มีคนมาล้มล้าง ถือว่าไม่ชอบธรรม และถ้าองค์กรอิสระตัดสินน่ากลัวเหมือนกัน หากปรากฏออกมาไม่เป็นธรรม ก็ปัญหาเกิด ต้องดูว่าเนื้อหาคำตัดสินที่ออกมา รับไม่หรือไม่
" นายสุเทพ ประกาศชัดว่า รอ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วง ผมเชื่อว่านายสุเทพไม่ได้มาคนเดียว มาเป็นหมู่คณะ และสงครามเพิ่งเริ่มต้น เหตุการณ์ทรงนี้ ไม่มีสงบ ต้องแตกหักกันไปข้าง และผมขอฟันธงว่า น่ากลัว อย่าไปใช้คำว่าสงครามกลางเมือง แต่ทะเลาะกันแน่ ผมอยู่การเมืองมานานก็พูดมาตลอด อย่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมมะ อดีต ส.ส.สมุมรปราการ พรรคเพื่อไทย ผมก็ห้าม เขาก็ไม่เชื่อ แล้วเป็นอย่างไร ผมห้ามอะไรแล้วผิดไหม ในเมื่อไม่ฟัง ก็บังคับอะไรไม่ได้" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ผอ.ศรส. ยังกล่าวถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าวันนี้ มีก็เหมือนไม่มี เพราะศาลแพ่งออกข้อห้ามมา 9 ข้อ ทำให้เหมือนมีแต่ชื่อ ถ้าต่ออายุไปโดยมีข้อห้าม ก็ไม่มีประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้ มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เหมือนมีเศษกระดาษ รัฐบาลอยู่ในภาวะลำบาก อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในการหามาตรการดูแลความสงบ หากไม่มี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่ใช่หน้าที่ตน เพราะตนอยู่กระทรวงแรงงาน ศรส. เป็นงานเฉพาะ ซึ่งเรื่องข้อกฎหมาย ต้องเป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรม
ส่วนจะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อปรับไปใช้ พ.ร.บ.มั่นคง หรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่นายกฯ และตนคิดว่า เหตุการณ์จะไม่ซ้ำรอยปี 53 เนื่องจากครั้งนั้นรัฐบาลมีอำนาจเต็ม แต่ครั้งนี้รัฐบาลไม่มีอำนาจเต็ม ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ใช้ไม่ได้
ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะหมดอายุในวันที่ 22 มี.ค. ดังนั้น ยังมีเวลาพิจารณาว่า จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ จนถึงการประชุมครม.วันที่ 18 มี.ค.

** "ปึ้ง"ชี้ไม่ควรเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส. กล่าวถึงการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า ได้มีการมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สรุปข้อมูลต่างๆในเบื้องต้นก่อนว่า ถึงเวลาที่จะยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยัง ซึ่งหากเหตุการณ์ยังรุนแรง มีการใช้อาวุธสงคราม ก็ไม่ควรจะยกเลิก อย่างกรณีการยิงใส่รถแท็กซี่ บริเวณสวนลุมพินี ที่คนขับแท็กซี่ระบุชัดเจนว่า เป็นการ์ด กปปส. และโดยเฉพาะการจับทหารจากสังกัด กรมทหารราบที่ 31 กองพันทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือ ร.31 พัน 2 รอ. หรือหน่วยรบพิเศษ จ.ลพบุรี ที่มีอาวุธปืนเอ็ม 16 พร้อมกระสุนใกล้กับพื้นที่ชุมนุมกปปส. ถือว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น จึงขอให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงานได้ตรวจสอบกำลังพลของตนเอง อย่านำอาวุธสงครามเข้ามาในพื้นที่ เพราะปกติการเบิกจ่ายอาวุธ จะต้องมีความรัดกุม รอบคอบ เรื่องนี้อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้
ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผอ.ศรส. ให้นายกฯ เป็นผู้ตัดสินใจยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า เรื่องนี้ต้องมาจากขั้นตอนของผู้ปฏิบัติงานก่อน และในฝ่ายความมั่นคง เพราะมีคณะกรรมการอยู่ คงต้องฟังจากคณะกรรมการอีกครั้งว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และเมื่อมีความคิดเห็นที่ชัดเจนแล้ว ก็จะร่วมกันพิจารณาได้
เมื่อถามว่า ในส่วนนักธุรกิจมองว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้การลงทุนชะงัก นายกฯกล่าวว่า รัฐบาลคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศ และในแง่ของภาคเอกชน เศรษฐกิจ ที่จะขับเคลื่อนไปได้ แต่อย่างไรก็ต้องถามเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะหากเราคำนึงถึงภาพนั้น แต่ขณะเดียวกัน เกิดปัญหาความวุ่นวาย ความรุนแรงในประเทศ ก็จะเป็นผลร้ายมากกว่า ก็ขอให้มีการชั่งน้ำหนักดูให้รอบคอบ

** เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หันใช้พ.ร.บ.มั่นคง

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. กล่าวถึงการจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ดูแลสถานการณ์การชุมนุมว่า มีแนวโน้มว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนวันที่ 23 มี.ค.นี้ ที่พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะครบกำหนด อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายก็ต้องมาประเมินร่วมกัน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายการใช้กฎหมายก็ลดระดับตามสถานการณ์
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติในการทำงาน เรื่องการจับกุม ควบคุมตัว เชื่อว่าการลดไปใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ในสถานการณ์ขณะนี้ประเมินว่า ไม่มีปัญหาในการทำงานของตำรวจ เพราะสถานการณ์อยู่ในขั้นที่ดูแลได้ และตำรวจก็มีแผนการปฏิบัติงานอยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงแนวคิดการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ประเมินสถานการณ์แล้วว่า รัฐบาลควรจะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วหันไปใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทนน่าจะเป็นผลดีกับรัฐบาลมากว่า เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลถูกข้อห้ามของศาลแพ่งทั้ง 9 ข้อบีบจนทำอะไรได้ไม่ถนัด เจ้าหน้าที่เองก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่สะดวก เพราะมีข้อจำกัดบังคับอยู่
ดังนั้น หากหันกลับไปใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง รัฐบาลก็จะหลุดจากข้อจำกัดดังกล่าวทันที ทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการสร้างสถานการณ์รุงแรงรายวันที่ยังมีให้เห็นอยู่นั้น รัฐบาลประเมินแล้วว่าสามารถควบคุมให้อยู่ในวงที่จำกัด ไม่ขยายพื้นที่กว้างออกไปได้ นอกจากนี้ การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังเป็นการช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับสู่ภาวะปกติอีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาการท่องเที่ยวและการส่งออกของประเทศถือว่าบอบช้ำมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หากเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ รัฐบาลก็ยังสามารถประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีก

**ปชป.ให้ยืมพิมพ์เขียวนำร่องปฏิรูป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปว่า ตนสนับสนุนให้ทุกกลุ่มเร่งทำการปฏิรูปประเทศ ไม่เฉพาะ กปปส. ที่ผ่านมามีหลายองค์กรทำ สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ที่พรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปร่วมทำงานด้วย ดำเนินการทำไปมากแล้ว แม้แต่รัฐบาล ถ้าสนใจข้อเสนอเรื่องต่างๆ แล้วจะนำไปปฏิบัติ ก็ไม่ขัดข้อง
เมื่อถามว่า ประชาชนหวาดระแวงว่า หากการปฏิรูป ทำโดยพรรคการเมือง จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการตัดผลประโยชน์ของตนเอง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนว่าต้องดูพรรคการเมือง นักการเมือง แต่ละคนไม่เหมือนกัน และข้อเสนอของทางพรรคเอง ก็ระมัดระวัง เรื่องไหนที่มองว่าจะเป็นผลประโยชน์ขัดกัน เราก็จะหลีกเลี่ยงในการเข้าไปแตะ เช่น ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เรื่อง ส.ส. เราก็พยายามไม่เข้าไปจับตรงนั้นก่อน แต่เรื่องอื่นๆ ตนคิดว่าขณะนี้เราชัดเจน หลายเรื่องเป็นนโยบายที่ประกาศมานานแล้ว เช่น เรื่องกระจายอำนาจ การศึกษา หรือการปฏิรูปอื่นๆ ที่ค้างมาจากสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์
“ยืนยันว่า ไม่มีการปฏิรูปไหนที่ยั่งยืนได้ ถ้าในที่สุดพรรคการเมืองและนักการเมือง ไม่เข้ามาเดินหน้าสนับสนุน และประชาธิปัตย์ ก็พร้อมจะเป็นพรรคการเมืองที่สนุบสนุน ส่วนเนื้อหาสาระการปฏิรูป ใครเตรียมความพร้อม หรืออยากผลักดัน ก็ทำไป แต่ขณะนี้ที่เริ่มไม่ได้ เพราะติดขัดที่รัฐบาลที่ยังยืนขวางอยู่ ตรงนี้เป็นปมที่ต้องแก้ ส่วนจะแก้โดยวิธีใด ก็บอกไปแล้ว ถ้าต่างฝ่ายต่างมาลุ้นกันว่า จะสู้กันไปจนกระทั่งไปไม่ไหว ผมว่าจะเป็นการทำให้เสียโอกาสเดินหน้าประเทศ"
ส่วนการปฏิรูป จะเดินหน้าพร้อมการเลือกตั้งได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนว่าในที่สุดก็หนีไม่พ้น เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการปฏิรูปในทุกเรื่องที่พูดกัน และบอกว่าจะรอให้เสร็จสิ้นก่อนถึงจะไปเลือกตั้ง เพราะงานปฏิรูป ต้องใช้เวลาด้วย และจะมีปัญหาเรื่องว่า ใครจะมีอำนาจทางนิติบัญญัติ ที่จะผลักดันเรื่องนี้ด้วย
เมื่อถามอีกว่า ควรจะมีคนกลางที่จะเข้ามาในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มองว่าคนกลางที่จะเข้ามา ที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือตรงนี้ คงยากที่จะเป็นคนที่มีฝ่าย หรือพรรค แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ และคนที่เข้ามา ต้องสร้างความมั่นใจว่า การปฏิรูปต้องเดินหน้าได้แน่ ไม่มีใครเบี้ยว และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป จะต้องเป็นธรรม ตนเชื่อว่าประเทศไทยยังสามาถหาคนเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ คนกลางได้

** เจรจาสะดุดเพราะต่างฝ่ายคิดว่าตัวเองชนะ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงความคืบหน้าการเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่ายว่า ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีตอบรับการเจรจารอบที่ 2 จากทั้ง 2 ฝ่าย อาจเป็นเพราะสถานการณ์การเมืองได้เปลี่ยนไป การให้ กกต.เป็นตัวกลางเจรจาอาจยาก และไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่หากมีคนกลางอื่นที่สามารถเป็นตัวกลางได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งถ้าทั้ง 2 ฝ่ายคิดว่า การเจรจาจะเป็นทางออกให้กับบ้านเมือง กกต.ก็พร้อมสนับสนุน เพราะตนเชื่อว่า การเดินหน้าสู่การเจรจายังเป็นทางออกของความขัดแย้ง และนำประเทศออกจากวิกฤต ทั้งนี้เชื่อว่าตัวแปรที่ทำให้การเจรจาครั้งนี้สะดุด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายคิดว่าฝ่ายตัวเองได้เปรียบ และนำไปสู่ชัยชนะได้ จึงไม่ปรารถนาที่จะเข้าสู่การเจรจา
" จากการประเมิน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ รัฐบาลยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป เชื่อว่าจะมีปัญหาอีกมาก ที่รัฐบาลรักษาการ อาจไม่สามารถแก้ได้ ส่วนการชุมนุมแม้จะลดระดับลงบ้าง เป็นการชุมนุมทางวิชาการมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถสำเร็จโดยเร็ววัน ดังนั้นรัฐบาลควรเป็นผู้เริ่มต้นเจรจา และควรจะจริงใจในการเจรจา ไม่ใช่ดีแต่พูด แล้วสุดท้ายไม่มีการประสานเพื่อขอเจรจาแต่อย่างใด ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุม ขอให้เปิดโอกาสส่งตัวแทนเข้าเจรจา เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ และกกต.จะเดินหน้าการประสานทุกฝ่ายต่อไป" นายสมชัย กล่าว
ด้านนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประเมินสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า ยังอยู่ในจุดที่พูดคุยกันได้ ตนเชื่อว่าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ไม่อยากเห็นการปะทะกัน เพราะความรุนแรงไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ วันนี้บรรยากาศทางด้านเศรษฐกิจตกต่ำพอสมควร ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีกมาก โดยจะกระทบทั้งเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องของประชาชน
ดังนั้นจึงเชื่อว่าการเจรจาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งและประชาธิปไตยถือเป็นหนทางที่ดีที่สุด ขณะนี้รัฐบาลยังเปิดช่องให้มีการเจรจาอยู่ กปปส. ควรจะหันกลับมาพูดจากันในเวทีปฏิรูป ซึ่งเวทีปฏิรูปของกปปส. และรัฐบาลไม่ได้ต่างกัน เพราะฉะนั้นน่าจะรวมกันได้ หรือถ้าไม่ไว้ใจรัฐบาล จะใช้เวทีกลางก็ได้เพื่อให้มีพื้นที่หารือกัน เพราะถ้าต่างคนต่างเปิดเวที อีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับอยู่ดี
ส่วนเรื่องของกระบวนการเลือกตั้งที่ยังค้างอยู่ ควรจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้น จะได้มีสภาและมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม จะได้ทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้
เมื่อถามว่ากังวลเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยการเลือกตั้ง วันที่ 2ก.พ.จะเป็นโมฆะหรือไม่ นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาในทิศทางใด ขอให้อยู่ในวิถีทางประชาธิปไตย และนักการเมืองทุกคนในรัฐบาลพร้อมที่จะปฏิบัติตาม เรารับได้
กำลังโหลดความคิดเห็น