xs
xsm
sm
md
lg

“วีรพัฒน์” จี้ “เสื้อแดง” ขอโทษสังคม บังอาจพูดพล่อยๆ แบ่งแยกดินแดน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ 2 สาย ชี้ “แกนนำแดงเชียงใหม่” เสนอแนวคิดแยกประเทศ สปป.ล้านนา เป็นประเด็นร้ายแรง ด้าน คณบดีนิติศาสตร์นิด้า เชื่อความผิดโยงตามกฎหมายไปได้ 3 ระดับตั้งแต่ รธน.มาตรา 1 ประมวล กม.อาญามาตรา 113-114 จนถึง รธน.มาตรา 68 นำไปสู่การยุบพรรคได้ หวั่นรัฐตำรวจทำหลักฐานอ่อน ส่วน “วีรพัฒน์” นักวิชาการเสื้อแดง ระบุชัดเป็นการสร้างความขัดแย้งทางสังคม คนพูดต้องรีบออกมาขอโทษที่พูดพล่อยๆ ติงเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ แนะคนฟ้องระวังหน้าแตก เหตุยังไม่มีการใช้กำลังประทุษร้าย หรือข่มขู่ หรือเตรียมการแต่อย่างใด

“ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ป้ายติดสะพานลอยที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมๆ กับการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่เสนอแนวคิดการแยกประเทศล้านนา หรือสาธารณรัฐประชาชนล้านนา หรือ “สปป.ล้านนา” ต้องบอกว่าเป็นประเด็นที่ทำให้คนในสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุดในเวลานี้ เพราะการแบ่งแยกดินแดนแม้จะเป็นเพียงแนวคิดของคนกลุ่มเดียว แต่เมื่อมีการเสนอขึ้นมาแล้วย่อมเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ชาติ” และ “ความมั่นคง”

อย่าลืมว่าทันทีที่มีการเสนอแนวคิด “สปป.ล้านนา” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ก็แสดงท่าทีโดยสั่งการผ่านคนรู้ใจที่สุดอย่าง “พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา” แม่ทัพภาคที่ 3 ที่ได้สั่งการให้นายทหารพระธรรมนูญไปดำเนินการแจ้งจับนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำกลุ่มคนรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งใน นปช.คนเสื้อแดง ฐานเป็นกบฏ มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 113 และมาตรา 114 ทันที ขณะที่ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงด้วยกันเองก็ออกอาการปฏิเสธกันเป็นแถวว่าไม่เกี่ยว ไม่แยกประเทศ

แสดงให้เห็นชัดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และจะมีการเอาผิดทางกฎหมายให้ได้..
แฟ้มภาพ
แบ่งแยกดินแดนผิดกฎหมาย 3 ระดับ

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ตามหลักการแล้ว เรื่องของการแบ่งแยกประเทศเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เป็นเรื่องที่ใครจะเอามาพูดเล่นไม่ได้ เป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้ ซึ่งเห็นว่าฝ่ายความมั่นคงจะต้องเอาจริงต่อเรื่องนี้และไม่ควรปล่อยให้บานปลายเด็ดขาด

เพราะมองว่า แผนนี้มีการเตรียมการ และวางแผนเป็นอย่างดี ส่อเค้าว่าผู้ที่คิดเรื่องนี้มีการวางโรดแมปบางประการไว้เรียบร้อย ที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนจริง

เป็นเรื่องผิดกฎหมาย 3 ระดับ กล่าวคือ

ระดับแรก เป็นความผิดรัฐธรรมนูญในมาตราที่ 1 เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานแห่งรัฐที่ว่าด้วยประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้

ประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดว่า แม้การปกครองแบบจีนที่มีการพยายามเลี่ยงบาลีไปนั้นก็ยังเข้าข่ายในความผิดนี้อยู่ดี เพราะการแบ่งแยกดินแดนดังกล่าวจะผิดทั้งมิติพื้นที่ และมิติของการปกครอง

“จีนมีการปกครองแบบสังคมนิยม แต่อยากทำการค้า เลยรวมเอาระบบเสรีนิยมเข้ามาด้วย แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเสรีนิยมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องปกครอง 2 ระบบ”

ดังนั้น ความผิดในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะพลิกลิ้นอย่างไรก็ถือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น ซึ่งในข้อกำหนดของการกระทำที่ครบองค์ประกอบทางกฎหมายก็มีแล้ว ทั้งการแสดงออก และมีการเตรียมการ โดยเฉพาะการออกมาบอกว่ามีการเตรียมการ 6 เดือน และยังมีการประกาศรับสมัครชายฉกรรจ์เพื่อกระทำการดังกล่าวด้วย เพราะฉะนั้นในเรื่องของความผิดในมาตรากฎหมายนี้ ไม่จำเป็นต้องพบการกระทำผิดสำเร็จแล้ว แต่เพียงแค่มีการเตรียมการก็สามารถเอาความผิดได้ เพราะเป็นความผิดที่ใหญ่หลวงมาก

ระดับที่ 2 เมื่อมีความผิดตามมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ สามารถโยงความผิดไปที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, มาตรา 114 ในเรื่องของการเป็นกบฏด้วย

โดยมาตรา 113 “ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”

มาตรา 114 “ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการ เพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฏหรือรู้ว่ามีผู้จะเป็นกบฏแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ระดับที่ 3 เมื่อคนที่กระทำการดังกล่าว มีความเชื่อมโยงถึงพรรคการเมืองด้วย ก็จะเข้าข่ายความผิดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ด้วย
โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 68 บัญญัติว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทําการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทําดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการดังกล่าว

ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว”

สรุปคือ เมื่อพรรคการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงมีความผิดอันนำไปสู่การยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้ 5 ปี

ในส่วนของผลกระทบต่อสังคมที่ขณะนี้กำลังมีความแตกแยกอย่างหนักนั้น มองว่าไม่เป็นความประสงค์ดีของคนที่คิดเรื่องนี้ แต่มีแผนทำเรื่องที่จะกระทำการแบ่งแยกดินแดงจริง

“มีคนอาศัยความแตกแยกของประชาชน กระทำยุทธศาสตร์บางอย่างเพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนจริง ซึ่งเป็นไปได้ และได้ยินเรื่องนี้มาสักพักใหญ่ๆ แล้ว”

หากปล่อยเรื่องนี้เฉยๆ หรือไม่มีการดำเนินการใดๆ เชื่อแน่ว่าจะเกิดการเลียนแบบจากแกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆ ที่จะกระทำตาม แล้วบ้านเมืองจะมีความวุ่นวายอย่างมาก เพราะทุกวันนี้ก็มีความแตกแยกทางสังคมสูงอยู่แล้ว
แฟ้มภาพ
“วีรพัฒน์” จี้เพชรวรรตออกมาขอโทษสังคม

เช่นเดียวกับ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ที่ถูกวิพากษ์ว่าเป็นนักวิชาการเสื้อแดง ขณะที่เจ้าตัวยืนยันว่าเขาไม่ใช่นักวิชาการเสื้อแดงแต่อย่างใด และมองว่าประเด็นการแบ่งแยกดินแดนนั้น ไม่รู้ว่าคนพูด พูดด้วยวัตถุประสงค์ความคึกคะนอง หรือนักข่าวเข้าใจผิด แต่ว่าเป็นประเด็นทางด้านสังคมที่คนพูดที่เป็นระดับแกนนำเสื้อแดงจะต้องออกมารับผิดชอบ ด้วยการขอโทษสังคม

“การที่มีใครคนใดคนหนึ่งเสนอแบ่งแยกดินแดน ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ถึงแม้ประชาชนจะมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ต้องมีขอบเขต คือต้องรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะหากกรณีที่พูดเป็นเรื่องที่ทำให้สังคมแตกตื่น”

จำเป็นจะต้องออกมาทำความเข้าใจกับสังคมด้วยว่าการพูดนั้นเป็นการพูดที่เกิดจากความคึกคะนอง หรือว่านักข่าวเข้าใจผิด จะต้องออกมาชี้แจงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นประเด็นของการสื่อสาร ที่เชื่อมต่อกับประเด็นทางสังคม คือ เวลานี้บ้านเมืองมีความแตกแยกสูงอยู่แล้ว เวลาใครจะทำอะไร โดยเฉพาะคนระดับแกนนำ จำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม ถ้ารู้ว่าการพูดของตัวเองทำให้เกิดความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น ก็ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการ “ขอโทษ”

ยังไงก็ต้องขอโทษ!

สำหรับประเด็นทางด้านกฎหมาย อาจารย์วีรพัฒน์มองว่า การพูดด้วยความคึกคะนอง แม้จะเป็นการพูดในเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนนั้น จะกระทำฟ้องร้องไม่ได้ เพราะยังไม่ผิด โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่เป็นความผิดฐานกบฏ

โดย อาจารย์วีรพัฒน์ กล่าวว่า การกระทำผิดจะต้องมีการกระทำในลักษณะมีการใช้กำลังขู่เข็นประทุษร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าจะเป็นการขู่ หรือการใช้กำลัง หรือการเตรียมการที่จะมีกำลังประทุษร้าย เช่น มีการชักชวนตระเตรียมกำลังเพื่อชักชวนกันให้จับอาวุธไปใช้กำลังข่มขู่ หรือเตรียมการ ก็ถือว่ามีความผิด แต่ถ้าพูดอย่างเดียว พูดพล่อยๆ พูดลอยๆ ยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

“เหมือนกับ กปปส.หากคนที่มาขึ้นเวทีพูดอะไรโดยเฉพาะประเด็นไม่เอาสภาผู้แทนราษฎร แล้วบอกว่าเป็นสภาฯ ทาส จะเอาสภาฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ถือเป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่เพราะเป็นแค่พูดตามความคึกคะนอง และยังไม่มีการข่มขู่ ใช้กำลัง หรือเตรียมการประทุษร้าย จึงไม่ใช่ความผิดทางกฎหมาย แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณสุเทพบอกว่า วันนี้ ให้ทุกคนจับอาวุธ จะไปข่มขู่ บังคับให้มีสภาประชาชน อันนี้ถือว่าเป็นความผิดแล้ว เพราะมีการเตรียมการใช้กำลังประทุษร้าย”

ฟ้องมาตรา 68-โยงเข้าการเมืองยาก

อย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นการฟ้องร้องตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 1 และโดยเฉพาะการฟ้องร้องในมาตรา 68 นั้น เห็นว่าการฟ้องร้องดังกล่าว จะต้องหาความเชื่อมโยงของคนในพรรคเพื่อไทยและนายเพชรวรรตให้ได้ หลักฐานจะต้องแน่น แต่เชื่อว่าหลักฐานในเรื่องนี้ยากที่จะแน่นหนา ดังนั้น คนฟ้องมีโอกาสหน้าแตกได้

แม้แต่การประกาศรับสมัครประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม ก็ยังบอกไม่ได้อยู่ดีว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ เพราะไม่มีการใช้กำลัง หรือตระเตรียมด้านกำลัง หากแต่เป็นการรวมตัวเพื่อคุยเรื่องความคิดนั้นถือว่าไม่เข้าข่ายความผิด หรือเป็นเพียงการชุมนุมโดยสงบซึ่งกระทำได้

แต่ที่แน่ๆ คือเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมที่แตกแยกอยู่แล้วให้สับสนวุ่นวายมากกว่าเดิม

การจัดการเรื่องการนำเสนอการแบ่งแยกดินแดงนี้ จึงควรใช้กลไกทางด้านสังคม ความรับผิดชอบทางสังคมเข้ามาจัดการจะดีกว่า

เห็นว่าการที่กองทัพจะเป็นผู้ที่แสดงท่าทีด้านความมั่นคงในเวลานี้นั้น ถูกต้องแล้วที่จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง แต่ไม่ควรรีบจนเกินไป ควรหาหลักฐานสืบสวนเรื่องราวปัญหาเบื้องต้นให้ชัดเจนก่อน
แฟ้มภาพ
“บรรเจิด” ห่วงรัฐตำรวจ-หลักฐานอ่อน

ประเด็นด้านหลักฐาน ดร.บรรเจิด มีความเห็นประเด็นนี้ว่า การหาหลักฐาน หรือการบังคับใช้กฎหมายที่กระทำความผิดนั้น สำหรับรัฐบาลนี้อาจเป็นปัญหา โดยเฉพาะในความเป็นรัฐตำรวจ และความเป็นองคาพยพเดียวกันกับกลุ่มคนเสื้อแดง ดังนั้นอาจจะมีปัญหาในกระบวนการ และการบังคับใช้กฎหมายได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องตัดไฟแต่ต้นลม

“ต้องมีการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แก้ก็ต้องแก้ตั้งแต่ต้น และที่สำคัญควรแก้ไปที่รากของปัญหา กล่าวคือ แก้เรื่องของความเหลื่อมล้ำ และความไม่ชอบธรรมในสังคมไปพร้อมกันด้วย”

โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น

“ปัญหาในพื้นที่จะต้องมีการแก้ไข ทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในพื้นที่ เช่น พื้นที่ไหนมีทรัพยากรน้ำมัน พื้นที่นั้นก็ควรจะมีสิทธิจัดการทรัพยากรได้ ไม่ใช่ส่วนกลางเข้าไปจัดการทุกอย่าง โครงสร้างทางอำนาจที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ชนชั้นปกครองจะต้องเปลี่ยน”

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาภาคใต้ ดร.บรรเจิด มองว่า จะต้องปล่อยให้พื้นที่มีอิสระในการบริหารจัดการตัวเองได้ สามารถกำหนดอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาได้ ขณะที่รัฐบาลต้องปรับบทบาทดูแลเรื่องที่เป็นส่วนกลาง เช่น กระบวนการระหว่างประเทศ, ด้านความมั่นคง ฯลฯ

น่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในระดับรากลึกของประเทศไทยมากกว่า

ส่วนนี้ ดร.บรรเจิด จึงมองว่า การปฏิรูปจึงเป็นเรื่องจำเป็นต่อสังคมไทยในเวลานี้

กำลังโหลดความคิดเห็น