xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เฉ่งอธิบดี-ผอ.ช่อง11ปล่อยผู้เช่าเวลา-แขกรับเชิญบิดเบือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 5 มี.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เชิญนายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมกรมประชาสัมพันธ์ และ นายจำลอง สิงโตงาม ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง11 เข้าชี้แจง กรณีกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 นำเสนอรายการที่มีลักษณะก่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ แก่บุคคล พรรคการเมือง ในช่วงมีการเลือกตั้ง
ภายหลังการชี้แจงราว 30 นาที นายอภินันท์ กล่าวว่า ได้หารือเกี่ยวกับการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เลือกตั้งว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยกรมประชาสัมพันธ์และสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ ได้มีการเพิ่มรายการ กกต.พบประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้กกต.ได้ชี้แจง ทำความเข้าใจกระบวนการการเลือกตั้งต่อประชาชน
ส่วนกรณีข้อกังวลในเนื้อหาช่วงเลือกตั้ง ทางกรมประชาสัมพันธ์ระมัดระวังการเชิญวิทยากร นักวิชาการ มาแสดงความคิดเห็นในรายการสดมากยิ่งขึ้น ขณะที่รายการที่มีเนื้อหาพาดพิงกกต. ตนและ กกต.ได้มีการพูดคุยกัน และชี้แจงว่า การทำงานของสื่อบางครั้งก็จะมีการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการ ซึ่งยืนยันกับกกต.ว่า จะทำรายการให้ออกมาให้ดีที่สุด ด้วยความรอบคอบ และเป็นกลาง เน้นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ภายหลังการเข้าชี้แจงของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ว่า ประเด็นที่ปรึกษาหารือร่วมกัน คือ บทบาทสื่อของรัฐ ในระหว่างการเลือกตั้งควรเป็นอย่างไร กกต.ได้ขอให้ กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการดังนี้
1. ในช่วงการเลือกตั้ง สื่อของรัฐควรนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
2. ระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และการเชิญแขกรับเชิญที่มีความคิดการเมืองที่เอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง
3. ให้มีการตรวจสอบเนื้อหาของรายการที่มีการเช่าเวลาโดยเอกชน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง ตัวอย่าง เช่น รายการฟันธง รายการถอดสลักข่าว รายการ The issue หรือรายการอื่นๆ ไม่ควรดำเนินการในลักษณะให้เช่าเวลาขาด โดยไม่สนใจเนื้อหา ซึ่งอาจจะมีปัญหาในด้านเนื้อหา และแขกรับเชิญ ซึ่งอธิบดีฯ และ ผอ.ช่อง 11 รับปากที่จะไปดูแล โดยกกต. ขอบคุณที่รับแนวคิดดังกล่าวไป และจะเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่จะเกิดขึ้นหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะขออนุญาต เชิญทั้งสองคนมาพบกกต. อีกครั้งหนึ่ง

** ยื่นตีความป้องกันถูกร้องโมฆะ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงเหตุผลที่ ในคำร้องของกกต. ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีการขอให้วินิจฉัยว่า หากไม่สามารถกำหนดให้มีการเปิดรับสมัครส.ส. หรือกำหนดให้มีการเลือกตั้งเฉพาะ 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ได้ จำเป็นต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในทุกเขตเลือกตั้งหรือไม่ว่า เพราะกกต.เชื่อว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้งแล้ว จะต้องมีผู้ร้องว่า มีวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108
ฉะนั้นเพื่อให้สั้น กระชับ ชัดเจนไปเลย กกต.จึงยื่นเสียเองถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ไม่ขัดก็จบ การเลือกตั้ง 28 เขตก็จะเป็นทางออกของประเทศ แต่ถ้าบอกว่า ไม่ได้ ก็ต้องเลือกตั้งใหม่ทุกเขตเลือกตั้ง ดังนั้นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงเป็นการถาม เพื่อรักษา 28 เขตเลือกตั้งไว้ ว่าเลือกตั้งไปแล้ว จะไม่มีใครไปร้องว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตนคิดว่าจะใช้หลักนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ในการพิจารณาและทำให้เกิดผลดีที่สุดต่อบ้านเมือง
ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่การเลือกตั้งใน 28 เขต จะเป็นวันเดียวกันกับวันเลือกตั้งส.ว. คือวันที่ 30 มี.ค. ก็ต้องดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยนานแค่ไหน และจะทันหรือไม่ อีกทั้ง 28 เขต จะต้องมีการรับสมัคร และหาเสียง ระยะเวลาที่เหลือจึงค่อยข้างกระชั้นชิด แต่สำหรับเขตเลือกตั้ง ที่มีปัญหาการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. มีความเป็นไปได้สูง ที่อาจจะมีการเลือกตั้งวันเดียวกัน กับการเลือกตั้ง ส.ว. โดยข้อมูลเบื้องต้นมี 5 จังหวัด ที่พร้อมจะจัดการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินร่วมกัน กับหน่วยงานสนับสนุน ส่วนในเขตเลือกตั้งอื่นที่เหลือ จะมีการเลือกตั้งได้เมื่อใด ก็จะต้องมีการประเมินร่วมกัน ระหว่างรมว.มหาดไทย ผู้ว่าฯ ภาคใต้ 15 จังหวัด และ กกต.ในพื้นที่ ถ้ารมว.มหาดไทยไม่ไปร่วมประชุมในวันที่ 7 มี.ค.นี้ ที่ จ.สงขลา หากผลการประชุมออกมาในทางที่ไม่เกิดผลดี ก็อย่ามาว่ากัน
ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวที่ประชุมมีมติว่าสามารถเลือกตั้งทดแทนในเขตเลือกตั้งใด ก็จะนำมาเสนอต่อที่ประชุม กกต. ในวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งก็จะสามารถลงคะแนนเลือกตั้ง ในวันเดียวกันกับเลือกตั้งส.ว.
เมื่อถามต่อว่า เป็นการขู่ให้ รมว.มหาดไทย ต้องไปร่วมประชุมหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่าถือเป็นการเชิญ เพราะการได้พูดคุยกัน น่าจะดีกว่า การมาพูดกันคนละทีผ่านสื่อ ซึ่งการโต้กันผ่านสื่อ น่าจะพอแล้วกับประเทศนี้ แต่ควรหันหน้ามาพูดคุย และเจรจา เพื่อให้ได้ทางออกของประเทศ

** พท.ยอมส่งตัวแทนประชุมที่สงขลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายสมชัย กำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอยู่นั้น ปรากฏว่า มีว่าที่ผู้สมัครส.ส.ใน 28 เขตภาคใต้ของ พรรคเพื่อไทย ซึ่งนำโดย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย มายื่นหนังสือเร่งรัดให้ กกต.จัดลงคะแนนเลือกตั้งทดแทนเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาทั้งหมดในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ส.ว. 30 มี.ค. และเมื่อเข้ามาถึงก็เข้าล้อมกรอบ ตำหนิการทำหน้าที่ของ นายสมชัย และกกต. โดยเฉพาะกรณี กกต.นำเสนอว่า 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ ไม่มีผู้สมัคร ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว มีผู้ยื่นสมัครจากหลายพรรค และพยายามประวิงเวลาในการเปิดรับสมัคร ทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้มีคำพิพากษาแล้วว่าเป็นอำนาจ กกต. และกกต.ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ชัดขวางการเปิดรับสมัครและการเลือกตั้งหรือไม่
ซึ่งนายสมชัย ก็ได้ชี้แจงว่า ผู้สมัคร ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นใบสมัคร และผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ให้การรับรอง ดังนั้น หากยังไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าว ก็ถือว่ายังไม่มีผู้สมัคร ที่ผ่านมาจึงไม่ได้พูดบิดเบือนข้อเท็จจริงอะไร และที่ผ่านมากกต.ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้งไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 คดี ส่วนคดีจะมีความคืบหน้าอย่างไร ต้องสอบถามในพื้นที่ พร้อมกันนี้นายสมชัย ก็ได้ขอให้ ว่าที่ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในวันที่ 7 มี.ค. ที่ จ.สงขลา แต่ทางว่า ที่ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ก็พยายามท้วงติงและไม่เห็นด้วยที่กกต.จัดประชุมที่ จ.สงขลา แต่ควรจัดที่กรุงเทพฯ ซึ่งนายสมชัย ก็ได้ย้อนถามกลับไปว่า จะเป็นผู้สมัคร ยังไม่กล้าลงพื้นที่หรือ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันเล็กน้อย แต่ในที่สุด ว่าที่ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ก็รับที่จะส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม จำนวน 5 คน

**ขู่เลือกตั้งโมฆะกกต.ต้องรับผิดชอบ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส. กล่าวถึงกรณีที่ กกต. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และอาศัยให้มาเป็นตัวช่วยนั้น หากมีประเด็นที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 3.8 พันล้านบาท ที่กกต.ขอให้รัฐบาลอนุมัติไปนั้น ใครจะรับผิดชอบ กกต.ต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในการของบประมาณดังกล่าว กกต.ได้ทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตนจึงคิดว่า จะเสนอเรื่องนี้ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมบัญชีกลาง ไปตรวจสอบการใช้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ใช้ในการเลือกตั้ง ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใสหรือไม่ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเงินค่อนข้างมาก จึงอยากเรียกร้องให้ กกต.ประหยัดค่าใช้จ่าย เงินภาษีราษฎร และขอฝากไปยัง กกต.อีกเรื่องคือ ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง กกต. ต้องประกาศรายชื่อ ส.ส.ในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาได้แล้ว แต่กกต.ไม่ดำเนินการ จะถือว่าผิดกฎหมาย อาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และขอให้กกต. เตรียมพร้อมในการไปต่อสู้ในชั้นศาล กรณีตกเป็นจำเลยหลังมีผู้เสียหายฟ้องร้องจากการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ด้วย
“ถ้าไม่เข้าใจกฎหมาย ก็ขอให้ไปอ่านกฎหมายที่ตัวเองมีอำนาจหน้าที่ให้เข้าใจ ไม่ใช่ไปถามคนนั้น คนนี้ จนสังคมงงไปหมด อย่างเรื่องอนุมัติงบกลางให้รัฐบาลใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าว 2 หมื่นล้าน กกต.รู้ละเอียดไปหมดว่า จะต้องใช้คืนอย่างไร กกต.รู้เรื่องของคนอื่น แต่เรื่องของตัวเองกลับไม่รู้ กกต.ทั้ง 5 คน ต้องพิจารณาตนเอง ถ้าคิดจะมารับใช้บ้านเมือง ต้องรับเข้าใจหน้าที่ของตนเอง ไม่เช่นนั้นก็จะคือเสือกระดาษธรรมดา ไม่มีความรู้” นายสุรพงษ์ กล่าว

**ยันรัฐบาลรักษาการจนกว่าจะมีครม.ใหม่

นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กล่าวถึง กรณีกลุ่มนักวิชาการสยามประชาภิวัฒน์ ระบุว่ารัฐบาลรักษาการสิ้นสภาพแล้ว หลังจากไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ภายใน 30 วัน ว่า โดยหลักการกฎหมายบอกแล้วว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าที่จะมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้ามา จะต้องตีความให้ยึดโยงหลักนี้ ส่วนกรอบระยะเวลา 30 วัน ที่จะต้องเปิดประชุมสภาให้ได้นั้น อยู่ในหมวดว่าด้วยสภา ไม่ได้อยู่ในหมวดของการเลือกตั้ง หรือเรื่องครม.พ้นหน้าที่ ถือเป็นคนละหมวดกันเลย เขากำหนดเวลา 30 วันขึ้นมาเพื่อป้องกันการดึงเวลา แต่กรณีนี้ ไม่ปกติ หากยังไม่แล้วเสร็จก็ต้องเลือกไปจนกว่าจะครบ แต่อาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงต้องเร่งให้เร็ว ฉะนั้นหลักการจริงๆ ประเทศจะว่างจากรัฐบาลไม่ได้ หากไม่ให้อำนาจรัฐบาลแล้วจะให้ใครทำ ดังนั้นรัฐบาลยังคงอยู่จนกว่าจะมีใครบอก โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า อยู่ไม่ได้แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่มีการระบุว่า ส.ว.มีสิทธิเสนอนายกฯคนกลาง นายชัยเกษม กล่าวว่า “ในหลวงท่านยังเคยตรัสไว้แล้วว่า มั่ว แล้วยังจะมั่วกันต่อไป ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ถ้าถามความเห็นผม ผมก็มีความเห็นในนามส่วนตัวเหมือนกัน นั่นคือ หลักการประเทศมันว่างรัฐบาลไม่ได้”
เมื่อถามว่า ยืนยันใช่หรือไม่ว่า รัฐบาลยังไม่สิ้นสภาพ นายชัยเกษม กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ นอกจากจะมีการไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า สิ้นสภาพ ตนก็ต้องฟัง แต่สิ่งที่ผ่านๆมาหลายครั้ง ตนก็ไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ บางเรื่องข้อความชัดๆ ยังตีความไปอีกแบบหนึ่ง แต่กฎหมายบอกให้ฟังศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ยกตัวอย่าง บ้านตนเลี้ยงสุนัข ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า บ้านเขาไม่ได้เรียกสุนัข แต่เรียกสุกร ตนก็เลยต้องเรียกสุกรตามศาลรัฐธรรมนูญ ช่วยไม่ได้กฎหมายเป็นอย่างนั้น
เมื่อถามว่า กังวลต่อบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีการยื่นให้ตีความสถานะรัฐบาล นายชัยเกษม กล่าวว่า ตนกังวลต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งปวง เพราะสิ่งที่ออกมาประชาชนจะต้องตัดสินว่า สิ่งนั้นขัดต่อความรู้สึก ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่ออะไรหลายอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองหรือไม่ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันระมัดระวัง หากเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งจะมากขึ้น เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งอย่างสำหรับกระบวนการยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น