xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องปฏิรูปพลังงาน : ศึกษาเปรียบเทียบไทยกับมาเลเซีย

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ประเด็นราคาน้ำมันแพงได้เป็นที่กล่าวถึงกันมานานในสังคมไทย จนถึงขั้นเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปพลังงาน” พร้อมๆ ไปกับการเรียกร้องให้ “ปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการเรียกร้องที่ยืดเยื้อติดต่อกันมานานถึง 4 – 5 เดือนอยู่ในขณะนี้

บทความเก่าของผมก็เคยนำเสนอในคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน” ว่า ราคาน้ำมันของไทยเมื่อเทียบกับรายได้สูงเป็นอันดับที่ 9 ในจำนวน 61 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ประเทศมาเลเซียเป็นอันดับที่ 37 สหรัฐอเมริกาอันที่ 56 (ซึ่งถือว่าถูกมาก)

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-26 กุมภาพันธ์ 2557) คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา (นำโดย ส.ว.รสนา โตสิตระกูล) ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบพลังงาน ณ ประเทศมาเลเซีย ผมในฐานะอนุกรรมการที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยจึงขอนำบางส่วน บางความเห็นมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

เหตุผลสำคัญที่ต้องเดินทางไปถึงประเทศมาเลเซียก็เพราะว่า ระบบการจัดการผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีความแตกต่างกัน แม้ว่าเราได้ศึกษาจากเอกสาร (ซึ่งหาได้สะดวกพอสมควรในโลกยุคปัจจุบัน) แต่ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่สงสัย ดังนั้น การพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตากันจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้ทราบมาก่อนว่าเดิมทีเดียวมาเลเซียก็เคยใช้ระบบเดียวกับที่ประเทศไทยใช้อยู่ในขณะนี้คือระบบสัมปทาน (Concession) แต่มาเลเซียได้ยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ.2517 แล้วหันมาใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า “การแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing contract,PSC)”

จากการประสานงานของเอกอัครทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (คุณกฤต ไกรจิตติ) ทำให้คณะของเราได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับอดีตประธานคณะกรรมการอำนวยการของบริษัทปิโตรนาส (ปัจจุบันท่านยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการอำนวยการ และทำงานสำคัญของมาเลเซียหลายตำแหน่ง รวมทั้งกรรมการเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตด้วย) ท่านดังกล่าวคือ Tan Sri Dato’ Seri Hj Megat Najmuddin Datuk Seri Dr Hj Megat Khas

คณะอนุฯ ขอขอบคุณท่านทูตกฤตอีกครั้งหนึ่งทั้งการประสานงานกับท่าน Tan Sri การเลี้ยงอาหารค่ำ และเกร็ดความรู้ต่างๆ มากมาย ตลอดจนขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีที่สนามบิน

ประเด็นการพูดคุยมีประโยชน์มากครับ แต่ไม่อาจนำมาเล่าได้ทุกประเด็น ไม่ใช่เพราะเป็นความลับ แต่เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ต้องอธิบายกันยาวมาก ผมเกรงว่าท่านผู้อ่านจะเบื่อเสียก่อน ผมขอเล่าเป็นข้อๆ เท่าที่จะเล่าได้ดังนี้นะครับ

ข้อ 1 ทำไมจึงเปลี่ยนระบบการจัดการผลประโยชน์มาเป็นแบบ PSC

ท่าน Tan Sri (ขออนุญาตย่อมาแค่นี้) ตอบว่า เพราะเห็นว่า ระบบดังกล่าวเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ ระบบเดิมทำมาตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก (ปัจจุบัน 69 ปี –กูเกิลบอกครับ) ก่อนนั้นการนำปิโตรเลียมมาใช้มีน้อยมากในซาราวัก โดยบริษัทต่างชาติ (เชลล์และเอสโซ่) ตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (มาเลเซียได้รับเอกราช 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500)

ประเด็นนี้คณะอนุฯ ได้ศึกษาเพิ่มเติม พบว่า จุดพลิกผันที่สำคัญมาจากวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกเมื่อปี 2516 (1973) ที่ราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในเวลาอันสั้น เนื่องจากกลุ่มประเทศโอเปกสั่งห้ามเรือน้ำมันเข้าออก (Embargo Oil Supply) นาน 6 เดือนจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่ “การคิดใหม่” เพื่อที่จะควบคุมและความเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันในประเทศมาเลเซีย

ในกลางปี 2517 มาเลเซียได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาปิโตรเลียม” PDA 1974 (Petroleum Development Act) ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมน้ำมันภายในประเทศที่สำคัญมากและเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของบริษัทน้ำมันที่ดำเนินการอยู่กับประเทศมาเลเซีย

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็คือการมอบสิทธิพิเศษให้บริษัทปิโตรนาส (Petronas) เป็นผู้ดูแลควบคุมจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา

แต่ในเวลาต่อมาบริษัทปิโตรนาสได้ขยายการผลิตปิโตรเลียมไปต่างประเทศด้วย รวมทั้งขยายไปสู่กิจการอื่นที่ไม่ใช่ปิโตรเลียมด้วย

ปัจจุบัน บริษัทปิโตรนาสเป็นผู้จ่ายภาษีให้รัฐเป็นรายใหญ่ที่สุดและเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดด้วย จากเอกสารที่ชื่อว่า Scope For Improvement : Malaysia’s Oil And Gas Sector (ค้นได้จากอาจารย์กู) ระบุว่า เฉพาะกิจการน้ำมันและก๊าซมีส่วนร่วมในรายได้ของรัฐบาลถึง 40% (หมายเหตุ (1) แต่บางปีก็ประมาณ 25% และเป็นกิจการทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย (2) ปี 2550 งบประมาณประเทศมาเลเซียเท่ากับ 2.04 ล้านล้านบาท ในขณะที่งบประมาณของประเทศไทยเท่ากับ 1.7 ล้านล้านบาท ในขณะที่ประชากรมาเลเซียมีประมาณ 28 ล้านคนเท่านั้น

ผมขอพักประเด็นนี้ไว้ก่อนนะครับ ทั้งๆ ที่มีประเด็นขยายที่น่าสนใจมาก

ข้อ 2 คำถามเรื่องการแปรรูป

คุณรสนา โตสิตระกูล ได้ตั้งคำถามว่า

“เป็นไปได้ไหมว่าในอนาคต หากมีนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียสักคนหนึ่งจะแปรรูปบริษัทปิโตรนาสเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ”

ท่าน Tan Sri ตอบว่า “ก็อาจเป็นไปได้ แต่เขาจะไม่มีวันที่จะได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย”

คำตอบของท่านได้รับเสียงฮาพร้อมกับเสียงปรบมือจากห้องประชุม

ผมกลับมาคิดย้อนลำดับเหตุการณ์ในบ้านเราพบว่า การแปรรูป “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (Petroleum Authority of Thailand)” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นของรัฐ 100% มาเป็น “บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)” ซึ่งรัฐถือหุ้น 51.11% นั้น เกิดขึ้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (ปี 2544) แต่เขาก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งถัดมา โดยได้รับคะแนนเสียงถึง 14 ล้านเสียง (56%)

และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อนร่วมเดินทางของผมท่านหนึ่งได้เตือนความจำว่า ความจริงแล้วสาเหตุของการแปรรูปมันได้เริ่มต้นมาตั้งแต่การเปิด “ระบบเงินเสรี (BIBF)” เพื่อทำให้เงินทุนต่างชาติเข้ามาเพื่อปั่นเศรษฐกิจไทย ใน พ.ศ. 2536 สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนเกิด “โรคต้มยำกุ้ง” ในปี 2540

ต่อมาด้วยการบังคับโดยไอเอ็มเอฟให้รัฐบาลออกกฎหมาย “ขายชาติ 11 ฉบับ” ซึ่งก่อนการเลือกตั้งปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับปากในช่วงหาเสียงว่าจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่แล้วก็ไม่ได้ทำจนถึงทุกวันนี้

ผมย้อนอดีตไปค่อนข้างยาว ก็เพื่อจะช่วยเตือนสติว่า การลุกขึ้นมาเรียกร้องของ “มวลมหาประชาชน” ให้ “ปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง” ในครั้งนี้นั้น ประชาชนต้องไม่ปล่อยให้อยู่ในมือของนักการเมือง แต่ประชาชนจะต้องร่วมกันคิดในทุกประเด็นปัญหา ด้วยความรับผิดชอบต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและต้องกัดไม่ปล่อยตลอดชีวิต จากรุ่นสู่รุ่น

ข้อ 3 ทำไมราคาน้ำมันหน้าปั๊มในมาเลเซียจึงถูก?

ท่าน Tan Sri ตอบว่า “รัฐบาลถือว่าพลังงานเป็นการบริการแห่งชาติ (National Service) ไม่ใช่เพื่อเงินหรือเพื่อกำไรอย่างเดียว” (หมายเหตุ เราฟังมาได้อย่างนั้นนะครับ)

ในวันรุ่งขึ้นคณะของเราก็ขอไปดูที่ปั๊มน้ำมันพบว่า ราคาน้ำมันดีเซลในมาเลเซียถูกกว่าในประเทศไทยประมาณลิตรละ 10 บาท ในขณะที่เบนซิน 95 ของมาเลเซียกลับถูกกว่าถึงประมาณ 20 บาทต่อลิตรเมื่อเทียบกับแก๊สโซฮอล 95 อี10 ตารางข้างล่างนี้เป็นรายละเอียดซึ่งเป็นภาพถ่ายมาจากถังจ่ายน้ำมัน (ไว้สำหรับคนที่ขยันและไม่รู้สึกปวดหัวง่าย) ครับ ข้อความภาษาไทยเป็นคำแปลของผมและแถมด้วยตารางเปรียบเทียบของประเทศไทยด้วย

จากตารางดังกล่าว มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการคือ

(1)แม้ว่าราคาของประเทศมาเลเซียเป็นราคาที่ได้รวมภาษี ค่าขนส่ง และทุกอย่างแล้ว แต่ราคาที่หน้าโรงกลั่นในประเทศไทย ยังไม่รวมภาษี ไม่รวมค่าขนส่งและอื่นๆ (ที่เรียกว่าค่าการตลาด) แต่ทำไมราคาดังกล่าวจึงต่างกันเพียงแค่ 1.46 บาท (กรณีเบนซิน) และไม่ถึงหนึ่งบาทกรณีดีเซล ทั้งๆ ที่ค่าการตลาดของดีเซลอย่างเดียวก็เท่ากับ 1.44 บาท

ถ้าคิดย้อนกลับไปหาต้นทุนที่หน้าโรงกลั่นของทั้งสองประเทศ เราสามารถตั้งคำถามได้ว่า “ทำไมราคาที่หน้าโรงกลั่นไทยจึงได้สูงกว่าในมาเลเซียเยอะ” (ย้ำขอใช้คำว่าเยอะ) อาจจะมีคำตอบที่สมเหตุสมผลก็ได้ แต่เพื่อความมีธรรมาภิบาล ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลต้องมีคำอธิบายต่อผู้บริโภคครับ

(2) รัฐบาลมาเลเซียเอาเงินชดเชยลิตรละ 7 ถึง 8 บาทมาจากไหน และคิดเป็นจำนวนเท่าใดต่อปี

คำตอบของข้อสังเกตที่ (2) ก็คือ เงินชดเชยมาจากรายได้จากการเงินที่บริษัทปิโตรนาสจ่ายให้รัฐบาลนั่นเอง โดยที่ในปี 2553 เงินชดเชยน้ำมันรวมกันเท่ากับ 96,050 ล้านบาท แต่ปิโตรนาสจ่ายให้รัฐถึง 576,000 ล้านบาท

หรือจ่ายชดเชยราคาน้ำมันไปเพียง 17% ของที่บริษัทปิโตรนาสจ่ายเท่านั้น

ยังเหลือเงินอีกเยอะเลย! ซึ่งรัฐบาลก็นำไปชดเชยเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่น้ำมันอย่างเดียว

ข้อ 4 ข้อมูลเรื่องปริมาณสำรองแบบ Real Time


ท่าน Tan Sri ซึ่งมีพื้นฐานเป็นนักกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากอีก 3 ประการคือ

(1) ข้อมูลปริมาณสำรองของมาเลเซียเป็นแบบ Real Time กล่าวคือ ทันทีที่ปิโตรเลียมถูกสูบออกไป ข้อมูลปริมาณสำรองก็จะเปลี่ยนทันทีซึ่งผมเข้าใจว่าทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ แตกต่างจากประเทศไทยซึ่งจะรายงานเมื่อมีการขายเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น (ถ้าผมเข้าใจผิดต้องขออภัย)

(2) น้ำมันดิบในมาเลเซียกับประเทศไทยมีคุณภาพเหมือนกันเพราะมีสภาพทางธรณีเดียวกัน เป็นแอ่งเดียวกัน

(3) กิจการที่ทำกำไรให้บริษัทปิโตรนาสมากที่สุดคือกิจการต้นน้ำ (Upstream) ซึ่งก็คือการผลิตปิโตรเลียมนั่นเอง กิจการโรงกลั่นมีกำไรน้อยมาก ถ้าจะกำไรมากต้องเป็นกิจการผูกขาด ท่านว่าอย่างนั้น โดยตั้งใจจะกระทบมาถึงประเทศไทยหรือ ผมไม่อาจเดาได้

ข้อ 5 คำถามเชิงวิเคราะห์ เปรียบเทียบผลประโยชน์ของสองประเทศ

คำถามนี้เป็นของผมเอง หลังจากเลิกประชุมซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที (เพราะท่าน Tan Sri มีภารกิจ) ผมได้ลุกไปถามเจ้าหน้าที่ติดตามท่าน Tan Sri หลังจากได้ทราบแหล่งข้อมูลแล้ว ผมได้ตั้งคำถามกับตัวเองในภายหลังว่า

สมมติว่าประเทศทั้งสองผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศของตนเองในจำนวนที่เท่ากันแล้วประเทศไหนจะได้ผลประโยชน์มากกว่ากันและเท่าใด

ผมได้ข้อมูลจำนวนการผลิตมาครบถ้วนครับ เป็นข้อมูลจากภายในประเทศทั้งคู่ สรุปว่า ถ้าคิดเป็นอัตราการผลิตที่มีหน่วยเป็นบาร์เรลน้ำมันดิบเทียบเท่าต่อวัน (Barrel of Crude oil Equivalent Per Day) พบว่าในปี 2553 และ 2554 ประเทศไทยผลิตปิโตรเลียมได้จำนวน 53% และ 56.3% ของประเทศมาเลเซีย ผมนำตารางมาให้ดูด้วย (คนไม่ชอบปวดหัวสามารถข้ามไปได้เลย)

คราวนี้มาดูเรื่องผลประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนของทั้งสองประเทศได้รับกันบ้างครับ ผลประโยชน์ที่รัฐไทยได้รับประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

(1) ค่าภาคหลวง ที่เดิมคิดในอัตรา 12.5% แต่ปัจจุบันได้แก้ไขเป็น 5-15% แล้วแต่กำลังการผลิตหรือขนาดเล็กใหญ่ของแปลงผลิต ถ้าผลิตในอัตราต่ำจะได้รับค่าภาคหลวง 5% แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 12.30% (น้อยกว่าเดิม!)

(2) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ (ไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียด)

(3) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งคิดจากหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนและค่าภาคหลวงแล้ว ในกฎหมายให้คิดอัตราภาษีร้อยละ 50 ถึง 60 ของกำไรสุทธิ แต่รัฐบาลได้จัดเก็บที่ 50% ตลอดมา สำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนสามารถหักได้ตามที่จ่ายจริง (ยุคหนึ่งเคยกำหนดว่าต้องไม่เกิน 20% ของมูลค่าปิโตรเลียม แต่ก็ถูกยกเลิกไป!)

(4) รายได้จากเงินปันผลที่กระทรวงการคลังถือหุ้น ปตท.ในสัดส่วน 51.11% (ขอโทษที่ผมไม่มีเวลาค้น แต่ทราบคร่าวๆ ว่า ปตท.มีกำไรสุทธิละประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยที่ ปตท.มีกฎเกณฑ์ว่าจะปันผลไม่น้อยกว่า 25% ของกำไรสุทธิ ในที่นี้ผมสมมติว่า 30% ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงได้รับประมาณ 15,000 ล้านบาท (ผมเคยเห็นตัวเลขประมาณนี้)

ผมได้ผลสรุปดังตารางครับ

จากตารางดังกล่าว พบว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามสถานการณ์ที่ผมสมมติ คือแต่ละประเทศผลิตปิโตรเลียมในอัตราที่เท่ากัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียแล้ว ระบบการจัดการของไทยได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าประเทศมาเลเซียเยอะเลยครับ คือ ในปี 2553 ไทยได้น้อยกว่าประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ในขณะที่ในปีถัดมาได้น้อยกว่าถึง 2.2 แสนล้านบาท

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราทำรายได้ที่ควรจะได้หายไปเยอะเลย มากกว่าความสูญเสียจากโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังฉาวโฉ่เสียอีก

คนไทยได้ถูกพ่อค้าพลังงานและนักการเมืองทำให้เชื่อว่า ประเทศไทยมีปิโตรเลียมน้อย เป็นกระเปาะเล็กๆ ต้นทุนในการผลิตสูง ไม่ดึงดูดนักลงทุน เป็นต้น โดยการเปรียบเทียบว่า เหมือนลูกสาวไม่สวย จะไปเรียกสินสอดแพงๆ ก็ไม่ได้ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้สรุปมาเป็นชื่อหนังสือเล่มใหม่ของผมว่า “หนึ่งล้างสมองสองปล้น : รหัสลับแผนพัฒนาใต้เงาโลกาภิวัตน์” (ถือโอกาสขายครับ)

พูดถึงการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ผมขอถามจริงๆ ว่า ขณะนี้คนไทยท่านใดทราบบ้างว่า ขณะนี้ประเทศไทยเรามีเหมืองทองคำ ซึ่งประกอบกิจการโดยชาวต่างชาติที่สามารถส่งออกได้ปีละประมาณ 4 ตัน

ข้อ 6 สรุป

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ประชาชนไทยเราต้องการการปฏิรูปประเทศโดยด่วนและก่อนการเลือกตั้ง เพราะถ้าไม่อย่างนั้น นักการเมืองจะพากันกีดกันไม่รักษาคำมั่นสัญญา

ผมอยากจะจบบทความที่ค่อนข้างยาวนี้โดยนำคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ของผมซึ่งท่านจำคำพูดเชิงเปรียบเปรยของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ว่า

“เมืองไทยเรานี้อุดมสมบูรณ์มาก เรามีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย หากไม่มีการคอร์รัปชันเสียอย่างเดียว เราสามารถเอาทองคำมาทำถนนยังได้เลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น