xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องปฏิรูปพลังงาน : ศึกษาเปรียบเทียบไทยกับมาเลเซีย /ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ประเด็นราคาน้ำมันแพงได้เป็นที่กล่าวถึงกันมานานในสังคมไทย จนถึงขั้นเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปพลังงาน” พร้อมๆ ไปกับการเรียกร้องให้ “ปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการเรียกร้องที่ยืดเยื้อติดต่อกันมานานถึง 4-5 เดือนอยู่ในขณะนี้

บทความเก่าของผมก็เคยนำเสนอในคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน” ว่า ราคาน้ำมันของไทยเมื่อเทียบกับรายได้สูงเป็นอันดับที่ 9 ในจำนวน 61 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ประเทศมาเลเซียเป็นอันดับที่ 37 สหรัฐอเมริกาอันที่ 56 (ซึ่งถือว่าถูกมาก)

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-26 กุมภาพันธ์ 2557) คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา (นำโดย ส.ว.รสนา โตสิตระกูล) ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบพลังงาน ณ ประเทศมาเลเซีย ผมในฐานะอนุกรรมการที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยจึงขอนำบางส่วน บางความเห็นมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

เหตุผลสำคัญที่ต้องเดินทางไปถึงประเทศมาเลเซียก็เพราะว่า ระบบการจัดการผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทย และประเทศมาเลเซียมีความแตกต่างกัน แม้ว่าเราได้ศึกษาจากเอกสาร (ซึ่งหาได้สะดวกพอสมควรในโลกยุคปัจจุบัน) แต่ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่สงสัย ดังนั้น การพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตากันจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้ทราบมาก่อนว่าเดิมทีเดียวมาเลเซียก็เคยใช้ระบบเดียวกับที่ประเทศไทยใช้อยู่ในขณะนี้คือ ระบบสัมปทาน (Concession) แต่มาเลเซียได้ยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ.2517 แล้วหันมาใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า “การแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing contract,PSC)”

จากการประสานงานของเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (คุณกฤต ไกรจิตติ) ทำให้คณะของเราได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับอดีตประธานคณะกรรมการอำนวยการของบริษัทปิโตรนาส (ปัจจุบันท่านยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการอำนวยการ และทำงานสำคัญของมาเลเซียหลายตำแหน่ง รวมทั้งกรรมการเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตด้วย) ท่านดังกล่าวคือ Tan Sri Dato’ Seri Hj Megat Najmuddin Datuk Seri Dr Hj Megat Khas

คณะอนุฯ ขอขอบคุณท่านทูตกฤตอีกครั้งหนึ่ง ทั้งการประสานงานกับท่าน Tan Sri การเลี้ยงอาหารค่ำ และเกร็ดความรู้ต่างๆ มากมาย ตลอดจนขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีที่สนามบิน

ประเด็นการพูดคุยมีประโยชน์มากครับ แต่ไม่อาจนำมาเล่าได้ทุกประเด็น ไม่ใช่เพราะเป็นความลับ แต่เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ต้องอธิบายกันยาวมาก ผมเกรงว่าท่านผู้อ่านจะเบื่อเสียก่อน ผมขอเล่าเป็นข้อๆ เท่าที่จะเล่าได้ดังนี้นะครับ

ข้อ 1.ทำไมจึงเปลี่ยนระบบการจัดการผลประโยชน์มาเป็นแบบ PSC 

ท่าน Tan Sri (ขออนุญาตย่อมาแค่นี้) ตอบว่า เพราะเห็นว่า ระบบดังกล่าวเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ ระบบเดิมทำมาตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก (ปัจจุบัน 69 ปี - กูเกิลบอกครับ) ก่อนนั้นการนำปิโตรเลียมมาใช้มีน้อยมากในซาราวัก โดยบริษัทต่างชาติ (เชลล์ และเอสโซ่) ตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (มาเลเซียได้รับเอกราช 31 สิงหาคม พ.ศ.2500)

ประเด็นนี้คณะอนุฯ ได้ศึกษาเพิ่มเติม พบว่า จุดพลิกผันที่สำคัญมาจากวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกเมื่อปี 2516 (1973) ที่ราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในเวลาอันสั้น เนื่องจากกลุ่มประเทศโอเปกสั่งห้ามเรือน้ำมันเข้าออก (Embargo Oil Supply) นาน 6 เดือน จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่ “การคิดใหม่” เพื่อที่จะควบคุมและความเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันในประเทศมาเลเซีย

ในกลางปี 2517 มาเลเซียได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาปิโตรเลียม” PDA 1974 (Petroleum Development Act) ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมน้ำมันภายในประเทศที่สำคัญมาก และเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของบริษัทน้ำมันที่ดำเนินการอยู่กับประเทศมาเลเซีย

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ การมอบสิทธิพิเศษให้บริษัทปิโตรนาส (Petronas) เป็นผู้ดูแลควบคุมจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา

แต่ในเวลาต่อมา บริษัทปิโตรนาสได้ขยายการผลิตปิโตรเลียมไปต่างประเทศด้วย รวมทั้งขยายไปสู่กิจการอื่นที่ไม่ใช่ปิโตรเลียมด้วย

ปัจจุบัน บริษัทปิโตรนาส เป็นผู้จ่ายภาษีให้รัฐเป็นรายใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดด้วย จากเอกสารที่ชื่อว่า Scope For Improvement : Malaysia’s Oil And Gas Sector (ค้นได้จากอาจารย์กู) ระบุว่า เฉพาะกิจการน้ำมัน และก๊าซมีส่วนร่วมในรายได้ของรัฐบาลถึง 40% (หมายเหตุ (1) แต่บางปีก็ประมาณ 25% และเป็นกิจการทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย (2) ปี 2550 งบประมาณประเทศมาเลเซียเท่ากับ 2.04 ล้านล้านบาท ในขณะที่งบประมาณของประเทศไทยเท่ากับ 1.7 ล้านล้านบาท ในขณะที่ประชากรมาเลเซียมีประมาณ 28 ล้านคนเท่านั้น

ผมขอพักประเด็นนี้ไว้ก่อนนะครับ ทั้งๆ ที่มีประเด็นขยายที่น่าสนใจมาก

ข้อ 2.คำถามเรื่องการแปรรูป

คุณรสนา โตสิตระกูล ได้ตั้งคำถามว่า

“เป็นไปได้ไหมว่าในอนาคต หากมีนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียสักคนหนึ่งจะแปรรูปบริษัทปิโตรนาสเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ” 

ท่าน Tan Sri ตอบว่า “ก็อาจเป็นไปได้ แต่เขาจะไม่มีวันที่จะได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย” 

คำตอบของท่านได้รับเสียงฮาพร้อมกับเสียงปรบมือจากห้องประชุม

ผมกลับมาคิดย้อนลำดับเหตุการณ์ในบ้านเราพบว่า การแปรรูป “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (Petroleum Authority of Thailand)” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นของรัฐ 100% มาเป็น “บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)” ซึ่งรัฐถือหุ้น 51.11% นั้น เกิดขึ้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (ปี 2544) แต่เขาก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งถัดมา โดยได้รับคะแนนเสียงถึง 14 ล้านเสียง (56%)

และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อนร่วมเดินทางของผมท่านหนึ่งได้เตือนความจำว่า ความจริงแล้วสาเหตุของการแปรรูปมันได้เริ่มต้นมาตั้งแต่การเปิด “ระบบเงินเสรี (BIBF)” เพื่อทำให้เงินทุนต่างชาติเข้ามาเพื่อปั่นเศรษฐกิจไทย ใน พ.ศ.2536 สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนเกิด “โรคต้มยำกุ้ง” ในปี 2540

ต่อมา ด้วยการบังคับโดยไอเอ็มเอฟให้รัฐบาลออกกฎหมาย “ขายชาติ 11 ฉบับ” ซึ่งก่อนการเลือกตั้งปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับปากในช่วงหาเสียงว่าจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่แล้วก็ไม่ได้ทำจนถึงทุกวันนี้

ผมย้อนอดีตไปค่อนข้างยาว ก็เพื่อจะช่วยเตือนสติว่า การลุกขึ้นมาเรียกร้องของ “มวลมหาประชาชน” ให้ “ปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง” ในครั้งนี้นั้น ประชาชนต้องไม่ปล่อยให้อยู่ในมือของนักการเมือง แต่ประชาชนจะต้องร่วมกันคิดในทุกประเด็นปัญหา ด้วยความรับผิดชอบต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และต้องกัดไม่ปล่อยตลอดชีวิต จากรุ่นสู่รุ่น

ข้อ 3.ทำไมราคาน้ำมันหน้าปั๊มในมาเลเซียจึงถูก? 

ท่าน Tan Sri ตอบว่า “รัฐบาลถือว่าพลังงานเป็นการบริการแห่งชาติ (National Service) ไม่ใช่เพื่อเงิน หรือเพื่อกำไรอย่างเดียว” (หมายเหตุ เราฟังมาได้อย่างนั้นนะครับ)

ในวันรุ่งขึ้นคณะของเราก็ขอไปดูที่ปั๊มน้ำมันพบว่า ราคาน้ำมันดีเซลในมาเลเซียถูกกว่าในประเทศไทยประมาณลิตรละ 10 บาท ในขณะที่เบนซิน 95 ของมาเลเซีย กลับถูกกว่าถึงประมาณ 20 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบกับแก๊สโซฮอล์ 95 อี10 ตารางข้างล่างนี้เป็นรายละเอียดซึ่งเป็นภาพถ่ายมาจากถังจ่ายน้ำมัน (ไว้สำหรับคนที่ขยัน และไม่รู้สึกปวดหัวง่าย) ครับ ข้อความภาษาไทยเป็นคำแปลของผม และแถมด้วยตารางเปรียบเทียบของประเทศไทยด้วย
 

 
จากตารางดังกล่าว มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการคือ
 
(1) แม้ว่าราคาของประเทศมาเลเซียเป็นราคาที่ได้รวมภาษี ค่าขนส่ง และทุกอย่างแล้ว แต่ราคาที่หน้าโรงกลั่นในประเทศไทย ยังไม่รวมภาษี ไม่รวมค่าขนส่งและอื่นๆ (ที่เรียกว่าค่าการตลาด) แต่ทำไมราคาดังกล่าวจึงต่างกันเพียงแค่ 1.46 บาท (กรณีเบนซิน) และไม่ถึงหนึ่งบาทกรณีดีเซล ทั้งๆ ที่ค่าการตลาดของดีเซลอย่างเดียวก็เท่ากับ 1.44 บาท

ถ้าคิดย้อนกลับไปหาต้นทุนที่หน้าโรงกลั่นของทั้ง 2 ประเทศ เราสามารถตั้งคำถามได้ว่า “ทำไมราคาที่หน้าโรงกลั่นไทยจึงได้สูงกว่าในมาเลเซียเยอะ” (ย้ำขอใช้คำว่าเยอะ) อาจจะมีคำตอบที่สมเหตุสมผลก็ได้ แต่เพื่อความมีธรรมาภิบาล ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลต้องมีคำอธิบายต่อผู้บริโภคครับ

(2) รัฐบาลมาเลเซียเอาเงินชดเชยลิตรละ 7 ถึง 8 บาทมาจากไหน และคิดเป็นจำนวนเท่าใดต่อปี

คำตอบของข้อสังเกตที่ (2) ก็คือ เงินชดเชยมาจากรายได้จากการเงินที่บริษัทปิโตรนาสจ่ายให้รัฐบาลนั่นเอง โดยที่ในปี 2553 เงินชดเชยน้ำมันรวมกันเท่ากับ 96,050 ล้านบาท แต่ปิโตรนาส จ่ายให้รัฐถึง 576,000 ล้านบาท

หรือจ่ายชดเชยราคาน้ำมันไปเพียง 17% ของที่บริษัทปิโตรนาสจ่ายเท่านั้น

ยังเหลือเงินอีกเยอะเลย! ซึ่งรัฐบาลก็นำไปชดเชยเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่น้ำมันอย่างเดียว
 

ข้อ 4.ข้อมูลเรื่องปริมาณสำรองแบบ Real Time

ท่าน Tan Sri ซึ่งมีพื้นฐานเป็นนักกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากอีก 3 ประการคือ

(1) ข้อมูลปริมาณสำรองของมาเลเซียเป็นแบบ Real Time กล่าวคือ ทันทีที่ปิโตรเลียมถูกสูบออกไป ข้อมูลปริมาณสำรองก็จะเปลี่ยนทันทีซึ่งผมเข้าใจว่าทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ แตกต่างจากประเทศไทยซึ่งจะรายงานเมื่อมีการขายเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น (ถ้าผมเข้าใจผิดต้องขออภัย)

(2) น้ำมันดิบในมาเลเซียกับประเทศไทยมีคุณภาพเหมือนกันเพราะมีสภาพทางธรณีเดียวกัน เป็นแอ่งเดียวกัน

(3) กิจการที่ทำกำไรให้บริษัทปิโตรนาสมากที่สุดคือ กิจการต้นน้ำ (Upstream) ซึ่งก็คือการผลิตปิโตรเลียมนั่นเอง กิจการโรงกลั่นมีกำไรน้อยมาก ถ้าจะกำไรมากต้องเป็นกิจการผูกขาด ท่านว่าอย่างนั้น โดยตั้งใจจะกระทบมาถึงประเทศไทยหรือ ผมไม่อาจเดาได้

ข้อ 5.คำถามเชิงวิเคราะห์ เปรียบเทียบผลประโยชน์ของ 2 ประเทศ

คำถามนี้เป็นของผมเอง หลังจากเลิกประชุมซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที (เพราะท่าน Tan Sri มีภารกิจ) ผมได้ลุกไปถามเจ้าหน้าที่ติดตามท่าน Tan Sri หลังจากได้ทราบแหล่งข้อมูลแล้ว ผมได้ตั้งคำถามกับตัวเองในภายหลังว่า

สมมติว่าประเทศทั้ง 2 ผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศของตนเองในจำนวนที่เท่ากันแล้วประเทศไหนจะได้ผลประโยชน์มากกว่ากันและเท่าใด

ผมได้ข้อมูลจำนวนการผลิตมาครบถ้วนครับ เป็นข้อมูลจากภายในประเทศทั้งคู่ สรุปว่า ถ้าคิดเป็นอัตราการผลิตที่มีหน่วยเป็นบาร์เรลน้ำมันดิบเทียบเท่าต่อวัน (Barrel of Crude oil Equivalent Per Day) พบว่า ในปี 2553 และ 2554 ประเทศไทยผลิตปิโตรเลียมได้จำนวน 53% และ 56.3% ของประเทศมาเลเซีย ผมนำตารางมาให้ดูด้วย (คนไม่ชอบปวดหัวสามารถข้ามไปได้เลย)
 

 
คราวนี้มาดูเรื่องผลประโยชน์ที่รัฐ หรือประชาชนของทั้ง 2 ประเทศได้รับกันบ้างครับ ผลประโยชน์ที่รัฐไทยได้รับประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
 
(1) ค่าภาคหลวง ที่เดิมคิดในอัตรา 12.5% แต่ปัจจุบันได้แก้ไขเป็น 5-15% แล้วแต่กำลังการผลิต หรือขนาดเล็กใหญ่ของแปลงผลิต ถ้าผลิตในอัตราต่ำจะได้รับค่าภาคหลวง 5% แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 12.30% (น้อยกว่าเดิม!) 

(2) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ (ไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียด)

(3) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งคิดจากหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุน และค่าภาคหลวงแล้ว ในกฎหมายให้คิดอัตราภาษีร้อยละ 50 ถึง 60 ของกำไรสุทธิ แต่รัฐบาลได้จัดเก็บที่ 50% ตลอดมา สำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนสามารถหักได้ตามที่จ่ายจริง (ยุคหนึ่งเคยกำหนดว่าต้องไม่เกิน 20% ของมูลค่าปิโตรเลียม แต่ก็ถูกยกเลิกไป!)

(4) รายได้จากเงินปันผลที่กระทรวงการคลังถือหุ้น ปตท.ในสัดส่วน 51.11% (ขอโทษที่ผมไม่มีเวลาค้น แต่ทราบคร่าวๆ ว่า ปตท.มีกำไรสุทธิละประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยที่ ปตท.มีกฎเกณฑ์ว่าจะปันผลไม่น้อยกว่า 25% ของกำไรสุทธิ ในที่นี้ผมสมมติว่า 30% ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงได้รับประมาณ 15,000 ล้านบาท (ผมเคยเห็นตัวเลขประมาณนี้)

ผมได้ผลสรุปดังตารางครับ
 

 
จากตารางดังกล่าว พบว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามสถานการณ์ที่ผมสมมติ คือ แต่ละประเทศผลิตปิโตรเลียมในอัตราที่เท่ากัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียแล้ว ระบบการจัดการของไทยได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าประเทศมาเลเซียเยอะเลยครับ คือ ในปี 2553 ไทยได้น้อยกว่าประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ในขณะที่ในปีถัดมาได้น้อยกว่าถึง 2.2 แสนล้านบาท

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราทำรายได้ที่ควรจะได้หายไปเยอะเลย มากกว่าความสูญเสียจากโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังฉาวโฉ่เสียอีก

คนไทยได้ถูกพ่อค้าพลังงาน และนักการเมืองทำให้เชื่อว่า ประเทศไทยมีปิโตรเลียมน้อย เป็นกระเปาะเล็กๆ ต้นทุนในการผลิตสูง ไม่ดึงดูดนักลงทุน เป็นต้น โดยการเปรียบเทียบว่า เหมือนลูกสาวไม่สวย จะไปเรียกสินสอดแพงๆ ก็ไม่ได้ เป็นต้น 

ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้สรุปมาเป็นชื่อหนังสือเล่มใหม่ของผมว่า “หนึ่งล้างสมองสองปล้น : รหัสลับแผนพัฒนาใต้เงาโลกาภิวัตน์” (ถือโอกาสขายครับ)

พูดถึงการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ผมขอถามจริงๆ ว่า ขณะนี้คนไทยท่านใดทราบบ้างว่า ขณะนี้ประเทศไทยเรามีเหมืองทองคำ ซึ่งประกอบกิจการโดยชาวต่างชาติที่สามารถส่งออกได้ปีละประมาณ 4 ตัน

ข้อ 6.สรุป

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ประชาชนไทยเราต้องการการปฏิรูปประเทศโดยด่วนและก่อนการเลือกตั้ง เพราะถ้าไม่อย่างนั้น นักการเมืองจะพากันกีดกันไม่รักษาคำมั่นสัญญา

ผมอยากจะจบบทความที่ค่อนข้างยาวนี้โดยนำคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ของผมซึ่งท่านจำคำพูดเชิงเปรียบเปรยของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ว่า
“เมืองไทยเรานี้อุดมสมบูรณ์มาก เรามีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย หากไม่มีการคอร์รัปชันเสียอย่างเดียว เราสามารถเอาทองคำมาทำถนนยังได้เลย” 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น