xs
xsm
sm
md
lg

AISอ่วมลูกค้าแห่เลิก กดหุ้นร่วง13บ. ทั้งกลุ่มส่อลงต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - หุ้นไทยร่วง 2.83 จุด สถานการณ์การเมืองในประเทศยังกดดัน ด้านหุ้นตระกูลชินวัตร ร่วงไม่เลิกต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน  พบ ADVANC อ่วมสุดราคาลดลงไปแล้ว 13 บาท แถมลูกค้าขอยกเลิกใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 1พันรายต่อวัน ฟากดีแทค - ทรูฯ ราคาหุ้นพุ่ง รับอานิสงส์ลูกค้าย้ายหนีมาใช้บริการ โบรกฯคาดยังมีโอกาสลงต่อ
ตลาดหุ้นไทย วานนี้ (24ก.พ.) ปิดที่ระดับ 1,301.38 จุด ลดลง 2.83 จุด หรือ -0.22% มูลค่าการซื้อขาย 19,529.64 ล้านบาท ภาพรวม ดัชนีหลักทรัพย์แกว่งแคบ แม้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในบางกลุ่ม แต่ยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ขณะที่ตลาดภูมิภาคส่วนใหญ่อยู่ในแดนลบ หลังตัวเลขเศรษฐกิจจีนระยะหลังเห็นภาพของการชะลอตัว
หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ ADVANC มูลค่าการซื้อขาย 2,487.50 ล้านบาท ปิดที่ 206.00 บาท ลดลง  4.00 บาท , INTUCH มูลค่าการซื้อขาย 1,706.67 ล้านบาท ปิดที่  70.50 บาท ลดลง  1.50 บาท ,          JAS    มูลค่าการซื้อขาย   720.52 ล้านบาท ปิดที่   7.70 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง,   TRUE   มูลค่าการซื้อขาย   676.19 ล้านบาท ปิดที่   7.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท และ  PTT    มูลค่าการซื้อขาย   650.69 ล้านบาท ปิดที่ 291.00 บาท เพิ่มขึ้น 5.00 บาท
น.ส.อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้แกว่งแคบ แม้ในช่วงบ่ายก็มีแรงซื้อกลับเข้ามาในกลุ่มพลังงาน , หุ้นที่จ่ายปันผลดี และกลุ่มกองทุสอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีรายได้ที่แน่นอน จากค่าเช่า ทำให้ยังสามารถจ่ายปันผลได้ในระดับสูง แม้เศรษฐกิจจะซบเซา แต่โดยรวมตลาดยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นหลัก
ขณะที่ ตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในแดนลบ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนในระยะหลังได้เห็นภาพของการชะลอตัว อย่างตัวเลข PMI ภาคการผลิตของจีนที่ประกาศออกมาไม่ดี ล่าสุดราคาบ้านก็ลดลง ทั้งนี้ปัญหาของอาเซียนคือระยะ 4-5 ปีให้หลังมีการซื้อขายในภูมิภาคกันเอง และจีนมากขึ้น พอเศรษฐกิจจีนชะลออาจทำให้เศรษฐกิจเอเชียโตได้น้อยกว่าที่ประเมินกันไว้
ทำให้แนวโน้มการลงทุนในวันนี้(25 ก.พ.) คาดว่า ตลาดฯคงจะแกว่งตัว นักลงทุนยังต้องติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการเมือง และยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ด้วย พร้อมให้แนวรับ 1,290-1,260 จุด แนวต้าน 1,310 จุด

ADVANC ร่วงต่อด้าน DTAC-TRUE วิ่งสวน
    ขณะเดียวกัน จากการกดดันของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ผลให้หลักทรัพย์หลายตัวที่มีส่วนเกี่ยวข้องปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ปรับตัวลดลงมากสุด  โดยวานนี้(24ก.พ.) ปิดที่ 206 บาท ลดลง 4.00 บาท หรือ 1.90% มูลค่าซื้อขาย 2,572 ล้านบาท และตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. ที่กลุ่มกปปส.ทำการกดดัน ราคาหุ้น ADVANCปรับตัวลดลงแล้ว 13 บาท จากราคาปิดในวันที่ 18 ก.พ.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 216 บาท  สวนทางกลับหุ้นกลุ่มผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าเกิดจากการย้ายเครือข่ายบริการจากไอเอเอส มาสู่ผู้บริการรายอื่น ตั้งแต่ กปปส. ประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนขายหุ้นในเครือตระกูลชินวัตร เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยง และประกาศจะจะมีการยกระดับการกดดันทุกวัน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมา และกดดันให้ราคาหุ้นในกลุ่มชินวัตรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายจักรกริช เจริญเมธาชัย กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โกลเบล็ก ยอมรับว่า ราคาหุ้นกลุ่มชินวัตร ยังปรับลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยราคาปรับลดลงมาแล้วประมาณ 10% ตั้งแต่ กปปส. เคลื่อนไหวกดดันธุรกิจกลุ่มชินวัตร ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.2557 ที่ผ่านมา เหตุเพราะนักลงทุนเกิดความตื่นตระหนก โดยเฉพาะการย้ายค่ายมือถือ หลังกลุ่ม กปปส. รณรงค์คืนซิมโทรศัพท์ค่ายเอไอเอส ซึ่งนักลงทุนกังวลว่าจะกระทบต่อกำไรของบริษัทเอไอเอส
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแรงขายจะเบาบางลง เพราะมองว่าผลกระทบต่อรายได้ของเอไอเอสจะไม่มาก สำหรับนักลงทุนที่สนใจจะเข้าลงทุน แนะให้รอและติดตามสถานการณ์ออกไปก่อน เพราะยังมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่ออีก เชื่อว่าราคาหุ้นยังปรับตัวลงต่อเนื่อง
ส่วนหลักทรัพย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า วานนี้(24ก.พ.)  บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ INTUCH ปิด70.50 บาท ลดลง 1.50 บาท , บมจ.ไทยคม หรือ THCOM ปิดที่ 39.50 บาท ลดลง 0.50 บาท ,บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ หรือ CSL ปิดที่ 10.00 บาท ลดลง 0.20 บาท , บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หรือ SC ปิดที่ 3.04 บาท ลดลง 0.04 บาท และ บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น หรือ MLINK ปิดที่ 2.90 บาท ลดลง 0.12 บาท       
ลูกค้าเอไอเอสขอย้ายออกไม่หยุด
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในสาขาการให้บริการของ เอไอเอส (ADVANC) ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะสาขามาบุญครอง ซึ่งใกล้พื้นที่การชุมนุม พบว่ายังคงมีประชาชนมาติดต่อขอโอนย้ายเลขหมายต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เพราะรับไม่ได้ที่รัฐบาลชุดนี้โกงเงินรับจำนำข้าวของชาวนา จึงตั้งใจย้ายเครือข่าย และจะไม่กลับไปใช้อีก ขณะเดียวกันก็พร้อมจะย้ายไปใช้บริการเครือข่ายอื่นๆต่อ หากเครือข่ายที่ย้ายไปใช้บริการมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีตระกูลชินวัตรมาถือหุ้น

กสทช. ชี้ลูกค้าย้ายออกกว่า 1พันราย
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเครือข่ายของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) พบว่ามีการโอนย้ายเครือข่ายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 57 ที่ผ่านมา อัตราการโอนย้ายเครือข่ายของเอไอเอส มีปริมาณปกติอยู่ที่ 700 เลขหมายต่อวัน ขณะที่วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 57 พบว่ามีการโอนย้ายเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 1,400 เลขหมายต่อวัน  และล่าสุด 24 ก.พ.ว่า มีจำนวนผู้ใช้บริการที่ขอไปโอนย้ายไปใช้เครือข่ายอื่นจำนวน 2,000 เลขหมาย และผู้ใช้บริการเครือข่ายอื่นที่ขอย้ายมาใช้เอไอเอสจำนวน 1,500 เลขหมาย โดย พบว่า เป็นการโอนย้ายเลขหมายไปอยู่เครือข่ายดีแทค 70%  ทรูมูฟ 30%
อย่างไรก็ตาม กสทช. จะติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและจะรายงานให้ประชาชนทราบต่อไป
สำหรับ เครือข่ายเอไอเอสมีผู้ใช้บริการประมาณ 40 ล้านเลขหมาย ทั้งในระบบผู้ให้บริการในระบบ 2 G บนคลื่นความถี่ 900 MHz. และในระบบ 3 G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz.
ก่อนหน้านี้ นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ยอดตัวเลขการโอนย้ายเลขหมาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน แต่บริษัทไม่ขอเปิดเผยตัวเลข และยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจให้บริการลูกค้าอย่างดีที่สุด
 "กลุ้มใจและกังวลใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงอยากขอความเห็นใจจากลูกค้าและประชาชน ให้เข้าใจว่าบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง และตระกูลชินวัตรก็ไม่ได้มีหุ้นในบริษัท โดยบริษัทมีพนักงานกว่าหมื่นคนและมีครอบครัวที่ต้องดูแล จึงขอวิงวอนโปรดเห็นใจพนักงานที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับคนไทย”
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่กลุ่มกปปส.รณรงค์กดดัน สามารถจำแนกหุ้นที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว แบ่งออก 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ถือหุ้นโดย เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ที่ได้มาจากการซื้อต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ INTUCH, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC, บมจ.ไทยคม หรือ THCOM และ บมจ. ซีเอส ล็อกซอินโฟ หรือ CSL ขณะที่อีกกลุ่มคือ หุ้นที่เป็นของตระกูลชินวัตรโดยตรง ได้แก่ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หรือ SC และ บมจ. เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น หรือ MLINK
กำลังโหลดความคิดเห็น