นักลงทุนกดดันตระกูลชินวัตรหนัก แห่ทิ้งหุ้นในเครือฉุดราคาร่วงยกแผง เทรด 3 วันมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท เอสซีฯ เจอหนักสุดราคารูดเหลือ 3.08 บาท ลดลงเกือบ 0.40 บาท ขณะที่ ADVANC เหลือ 210 บาท โบรกเกอร์ย้ำคำเดิม แค่จิตวิทยาระยะสั้นกระทบแค่เล็กน้อย แม้จะกดดันระยะยาวไม่กระทบเหตุบริษัทมีแผนลุยต่างประเทศกระจายความเสี่ยง
หลังจากที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนขายหุ้นในเครือตระกูลชินวัตร เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยง ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมา และกดดันให้ราคาหุ้นในกลุ่มชินวัตรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สามารถจำแนกหุ้นที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแบ่งออก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถือหุ้นโดย เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ที่ได้มาจากการซื้อต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ INTUCH, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC, บมจ.ไทยคม หรือ THCOM และ บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ หรือ CSL ขณะที่อีกกลุ่มคือ หุ้นที่เป็นของตระกูลชินวัตรโดยตรง ได้แก่ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หรือ SC และ บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น หรือ MLINK
โดยเพียงแค่ 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19-21 ก.พ.57 นักลงทุนได้เทขายหุ้นกลุ่มชินวัตรออกมา และทำให้ราคาปรับตัวลดลงจำนวนมาก โดยล่าสุด วันที่ 21 INTUCH ปิดที่ 72.00 บาท ปรับตัวลดลง 0.25 บาท หรือ 0.25% ADVANC ปิดที่ 210.00 บาท ปรับตัวลดลง 1.00 บาท หรือ 0.47% มูลค่าการซื้อขาย 2,328 ล้านบาท ขณะที่ SC ปิดที่ 3.08 บาท ลดลง 0.06 บาท หรือ 1.91% มูลค่าการซื้อขาย 22.28 ล้านบาท
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้วิเคราะห์ราคาหุ้นกลุ่มตระกูลชินวัตร ว่า ประเด็นดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาทางลบระยะสั้น โดยราคาหุ้น SC ปรับตัวลดลงมากที่สุด เทียบกับหลักทรัพย์ที่ตลาดรับรู้ว่าอยู่ในข่าย คือ ADVANC, INTUCH, CSL, MLINK แต่จากการรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างๆ มีเพียง SC ที่ตระกูลชินวัตรถือหุ้นโดยตรง และ MLINK มีตระกูลวงศ์สวัสดิ์ ถือหุ้นอันดับ 2 ส่วนหลักทรัพย์อื่นๆ ไม่ปรากฏว่าตระกูลชินวัตรถือหุ้นโดยตรง
ดังนั้น นักลงทุนระยะกลาง-ยาว อาจใช้จังหวะที่หุ้นอ่อนตัวลงทยอยรับเพื่อการลงทุน เพราะหุ้นต่างๆ เหล่านี้มีปัจจัยพื้นฐานดี (ยกเว้น MLINK ไม่ได้ทำการวิเคราะห์) และมีธรรมาภิบาลขององค์กร (Corporate Governance) อยู่ในระดับที่สูงสุด ยกเว้น MLINK
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุถึง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ว่า หุ้น ADVANC ถูกเทขายอย่างหนัก ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าการเชิญชวนให้ยกเลิกใช้บริการ ADVANC จะมีผลต่อ Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นระยะสั้นเท่านั้น โดยผลกระทบต่อฐานกำไร และผู้ใช้บริการที่จะยกเลิกใช้งานคาดจำกัด เพราะลูกค้ามีต้นทุนในการย้ายเครือข่าย ทั้งในรูปแบบ 1) การย้ายเครือข่ายแต่ใช้เลขหมายเดิม (บริการ MNP) ซึ่งผู้ใช้บริการต้องมีต้นทุนการเงินในการยกเลิก คือ ค่าบริการย้ายค่าย 29 บาท/ครั้ง/เลขหมาย และต้นทุนด้านเวลาที่จะไม่สามารถใช้งานบริการได้ เกิดจากการรอกระบวนการย้ายตามปกติ และขึ้นทะเบียนเลขหมายในระบบผู้ให้บริการใหม่อีกอย่างน้อย 1-2 วัน
นอกจากนี้ ปัจจุบันกำลังการโอนย้ายลูกค้าต่อค่ายต่อวันยังจำกัดสูงสุดไม่เกิน 6.0 หมื่นรายต่อวัน ซึ่งผู้ให้บริการมือถือทุกรายล้วนให้ความสำคัญต่อการโอนย้ายลูกค้าจากระบบ คลื่น 2G ไป 3G ก่อน ดังนั้น กำลังการโอนลูกค้าส่วนใหญ่ขณะนี้จึงถูกใช้งานในเรื่องดังกล่าว ทำให้ผู้โอนย้ายค่ายต้องเผชิญอุปสรรค คือ ระยะเวลาโอนที่นานกว่าปกติ และ 2) การยกเลิกบริการ โดยไปใช้เบอร์ใหม่ จะสร้างความไม่สะดวกในการติดต่อ นอกจากนี้ ทั้ง 2 กรณี ผู้ใช้บริการยังต้องรับความเสี่ยงการใช้เครือข่ายใหม่ที่ประสิทธิภาพการใช้งานอาจด้อยกว่า ADVANC เพราะ ADVANC ได้พัฒนาโครงข่าย 3G อย่างหนัก หลังได้รับใบอนุญาตคลื่น 2.1 GHz ตั้งแต่ปี 2555
จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่า ทุกๆ 1% ของลูกค้า ADVANC (เท่ากับ 4.2 แสนราย) ที่ลดลงจากประมาณการ ซึ่งคาดว่า ADVANC มีลูกค้าสิ้นปีนี้ราว 42 ล้านราย จะมีผลกระทบต่อประมาณการกำไรให้ลดลงจากคาดการณ์สูงสุดไม่เกิน 2% ประกอบกับผลกระทบการยกเลิกใช้บริการที่เชื่อว่าจะจำกัดมากดังกล่าวข้างต้น จึงคงประมาณการกำไรปีนี้ที่คาดเติบโตเฉลี่ย 10% และมูลค่าพื้นฐานที่ 270 บาท ยังมี Upside 24% กอปรกับ Div yield ที่สูงเกิน 6% ต่อปี จึงยังแนะนำ “ซื้อ” โดยราคาหุ้นที่อาจปรับตัวลงจาก Sentiment ลบ เป็นโอกาสดีให้เข้าสะสม
ด้าน บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ประเด็นผลกระทบจากปัจจัยการเมือง ที่นายสุเทพ แกนนำกลุ่ม กปปส. ประกาศให้ขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร เป็นประเด็นการเมืองที่กระทบต่อราคาหุ้นในทางจิตวิทยาในระยะสั้น ด้วยโครงสร้างผู้ถือหุ้นปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร ส่วนประเด็นการขายหุ้นของเทมาเส็กให้แก่ Singapore Telecommunications ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงมองว่าเป็นเพียงการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นเท่านั้น ด้วยเทมาเส็กถือหุ้นในสิงเทลอยู่ราว 52% เว้นแต่กลุ่มเทมาเส็กจะปล่อยขายหุ้นออกมาในตลาดเหมือนในอดีตถึงจะมีผลกระทบต่อราคาหุ้น
“ราคาหุ้นได้รับผลกระทบทางลงเชิงจิตวิทยาในระยะสั้น มองว่าหากราคาปรับลดลงเป็นจังหวะในการเข้าลงทุน ด้วย 1) ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลกว่าปีละ 6-7% โดยล่าสุด บริษัทประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลที่ 2.16 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 2.8% จากราคาปัจจุบัน (XD 1 เม.ย.57) 2) ราคาปัจจุบันซื้อขายที่ส่วนลด 15% จากราคาตลาดของบริษัทลูก ADVANC และ THCOM โดยคงมูลค่าพื้นฐาน INTUCH ที่ 98 บาท ADVANC มูลค่าพื้นฐาน 272 บาท และ THCOM มูลค่าพื้นฐาน 45 บาท ตามลำดับ”
ขณะเดียวกัน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น และหุ้นตัวนั้นๆ เป็นหลัก ซึ่งถ้าหากไม่มีผลกระทบอะไรต่อปัจจัยพื้นฐานก็อาจจะไม่มีอะไรที่น่ากังวล โดยพิจารณาจากภาพรวมการซื้อขายในหุ้นชินกรุ๊ป ในวันศุกร์ แรงขายยังคงไม่มีไม่มากนักทั้ง INTUCH และ ADVANC หากเทียบกับ 2 วันก่อนหน้านี้ ซึ่งแรงเทขายจะขึ้นอยู่กับกระแสข่าวการเมืองที่เข้ามากดดันตลาดว่าจะมีความร้อนแรงมากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้ หาก fundamental ปรับตัวร่วงลงมา ก็ยังคงมีนักลงทุนที่จะรอทยอยเข้าซื้ออยู่ และด้วยขนาดของมาร์เกตแคปของชินกรุ๊ปที่มีขนาดใหญ่แล้วเป็นการยากที่จะสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างบริษัทฯ ได้ เนื่องจากตัวบริษัทเองได้พยายามที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างฐานความมั่นคง