xs
xsm
sm
md
lg

ความในใจของ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์


ชื่อ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อาจจะเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยไปแล้วก็ได้ ตรงที่ไม่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่มีภาพคลื่อนไหวทางโทรทัศน์ภายหลังจากที่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ดูเหมือนว่า ท่านก็ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย หายจ้อยไปจากสังคม นานๆ ครั้งจะรับเชิญไปบรรยายในสถาบันการศึกษา ในขณะที่การเมืองกำลังร้อนระอุด้วยการเผชิญหน้าระหว่างการชุมนุมของมวลมหาประชาชนโดยการนำของ กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ กับรัฐบาลรักษาการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อหนังสือ “เรื่อง (ไม่) สนุกในศาลรัฐธรรมนูญ” วางอยู่บนแผงหนังสือจึงได้รู้ว่าเวลาที่ผ่านมา นอกจากไปเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในเรื่องกฎบัตรกฎหมาย สอนวิชากฎหมายให้ลูกศิษย์ลูกหาแล้ว ยังซุ่มเขียนหนังสือเล่มที่ว่านี้ให้แก่สำนักพิมพ์ต้นธรรม จัดพิมพ์ด้วยรูปเล่มที่สวยงามประณีต ภาพปกฝีมือ ชัย ราชวัตร การ์ตูนนิสต์การเมืองที่ฝีมือฉกาจฉกรรจ์ของประเทศนี้

วสันต์สารภาพว่า

ผมไม่เคยคิดหรือวางแผนมาก่อนเลยว่าชีวิตนี้จะต้องมาทำหน้าที่สำคัญในศาลรัฐธรรมนูญ เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ชีวิตข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในปีงบประมาณ 2550 ก็คงจะไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลใดศาลหนึ่ง และคงใช้ชีวิตราชการที่เรียบง่ายไปจนกว่าจะเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 เท่านั้น แต่ในที่สุดด้วยแรงเชียร์ของเพื่อนๆ และแรงผลักดันต่างๆ ผมก็ตัดสินใจจะไปอยู่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยความไม่สู้สบายใจนัก เพราะในความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองซึ่งลุกลามรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมจะรับไหวหรือ

ข้อหนักใจที่ว่านี้ สังคมก็ได้เห็นแล้วว่า 5 ปีที่อยู่ในตำแหน่งตุลาการ และตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ รวมทั้งตุลาการท่านอื่นๆ อีก 8 ท่านรับมือได้สบายมาก

หนังสือพ็อกเกตบุ๊กความหน้า 242 หน้าให้ความรู้ ความเข้าใจงานในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมยูญ และในช่วงที่เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญของ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ได้อย่างกระจะกระจ่างด้วยเนื้อหาที่กระชับเข้าใจง่าย ทั้งที่การพูดถึงตัวบทกฎหมายเป็นเรื่องยากที่ผู้คนทั้งหลายที่ไม่ได้เรียนวิชากฎหมายจะเข้าใจ ทั้งนี้เพราะความสันทัดจัดเจนในวิชาภาษาไทยหนึ่ง ความที่เขียนคำพิพากษามาเป็นพันเป็นหมื่นคดีนั่นอย่างหนึ่ง ทำให้เรื่อง (ไม่) สนุกในศาลรัฐธรรมนูญของ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ น่าอ่าน น่าติดตาม

ในเล่มวสันต์เขียนถึงตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง เข้าสู่กระบวนการสรรหา เริ่มทำงานในหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คดีสำคัญในปี 2551 เป็นต้น คดีคำแถลงร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา คดีชิมไปบ่นไป ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช ต้องกระเด็นไปจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี อาจจะยังมีผู้ข้องใจว่า ทำไมทำกับข้าวโชว์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

วสันต์อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “ข้อที่สร้างเป็นวาทกรรมว่า ทำกับข้าวถูกปลด” เป็นเรื่องของการบิดเบือนข้อเท็จจริง ถ้าเปลี่ยนเป็น “รับค่าจ้างถูกปลด” จะเป็นการถูกต้องตามความจริงและตรงประเด็นที่สุด โดยอธิบายว่าคดีนี้ตามคำร้อง ผู้ถูกร้องมีตำแหน่งในบริษัทเจ้าของรายการหรือรับค่าจ้างการเป็นพิธีกรจากบริษัทเจ้าของรายการหรือไม่ ความจริงการเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ต้องห้ามการที่จะเป็นนักแสดงแต่อย่างใด อยากจะทำอาหารโชว์ ร้องเพลง เดินแฟชั่นหรืออย่างอื่นทำได้ทั้งสิ้น กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม เพียงแต่จะมีความเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กฎหมายรัฐธรรมนูญมีข้อห้ามการเป็นลูกจ้างเอกชนเท่านั้น กล่าวง่ายๆ อย่ารับค่าตอบแทนใดๆ แสดงฟรีว่าอย่างนั้นเถอะ

นายสมัครซึ่งเป็นผู้ถูกร้องให้การอย่างไร ศาลจับผิดนายสมัครได้อย่างไร นายสมัครจำนนหรือไม่ก็ต้องหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดู

ที่น่าสนใจก็คือ คดีแก้รัฐธรรมนูญโดยวิธีรื้อทิ้งทั้งฉบับ คดีมาตรา 68 ผู้อ่านนอกจากจะรู้จากที่เคยมีการถ่ายทอดการไต่สวนผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ยังจะได้รู้เบื้องหน้าเบื้องหลัง รู้ความสามารถ รู้ชั้นเชิงของทนายความแต่ละฝ่ายอีกด้วยว่ามีฝีไม้ลายมือระดับไหนอย่างไร

ก่อนตัดสินใจลาออกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ศาลรัฐธรรมนูญถูกรังควานจากคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจคำพิพากษาของศาลที่ผ่านมา และจะต้องมีคำพิพากษาอีกหลายเรื่องหลายคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตัดสิน เป็นต้นว่า คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่ไปที่มาของวุฒิสภา คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 160 การทำสัญญากับต่างประเทศซึ่งเดิมให้สภาฯ รับรู้ แต่จะแก้ไขใหม่เป็นไม่ต้องให้สภาฯ รับรู้รับทราบก่อน พวกเขา (ฝ่ายที่ไปรังควานศาลรัฐธรรมนูญ) ต้องการกดดันให้ศาลพิจารณาคล้อยตามที่พวกเขาต้องการ หรือถ้าศาลไม่คล้อยตามก็ทำให้สังคมเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าเชื่อถือ (เมื่อวสันต์ลาออกไปแล้ว คดีเหล่านี้ขึ้นสู่ศาล ศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ นี้ขัดรัฐธรรมนูญ)

คนเหล่านี้ประสานงานกันอย่างเป็นกระบวนการ ทั้งสมาชิกสภาฯ รัฐมนตรี และนักกฎหมายที่เป็นมือเป็นตีนของทักษิณ ลงไปถึงนักจัดรายการวิทยุกระจอกงอกง่อยที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องศาลรัฐธรรมนูญเลย

ตุลาการหลายท่านถูกรังควานไม่เว้น วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ซึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตำรวจท้องที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าบ้าน

วสันต์เล่าว่า “มีเรื่องเล่าจากตำรวจที่ผู้บังคับบัญชาเขาสั่งให้มาดูแลบ้านผม และทำเราสองคน (วสันต์และภรรยา) ขำกันมากคือ ครั้งแรกเขาไปเฝ้าบ้านผิดอยู่ 2 วัน ซึ่งเป็นบ้านที่ดูโอ่โถงกว่าบ้านผมมาก เขาคงคิดเปรียบเทียบกับบ้านของนักการเมืองกระมัง”

ประโยคง่ายๆ สั้นๆ นี่แหละทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงตัวตนของ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ผู้ซึ่งทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองในตำแหน่งสำคัญมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น