xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปพลังงาน : เปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นโรงไฟฟ้า (กรณีศึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อพูดถึงการปฏิรูปพลังงานหลายคนจะมุ่งเป้าไปที่กิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่บทความนี้จะพูดถึงการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า เพราะแม้มูลค่าทางการค้าของกิจการไฟฟ้าจะมีขนาดประมาณ 1 ใน 2 ของมูลค่าน้ำมันที่คนไทยใช้ทั้งหมด แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในกิจการไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นรุนแรงมาก นักวิทยาศาสตร์ที่ห่วงใยสังคมได้ประเมินแล้วว่าอันตรายมากที่สุดในโลกในบรรดาภัยจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย

ขณะนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2013) จะก่อสร้างไฟฟ้าถ่านหินถึง 10 โรงในหลายจังหวัดของภาคใต้ ทั้งๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งอาหารทะเลชั้นนำของโลก

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะลืมไปแล้วถึงผลกระทบต่อชาวแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพราะสื่อเกือบทั้งหมดต่างรับเงินค่าโฆษณาจำนวนมหาศาลจากพ่อค้าพลังงาน สื่อจึงทำหน้าที่รายงานแต่สิ่งที่ไม่สำคัญ จนถึงขั้นบิดเบือน เช่น “เก็บอากาศบริสุทธิ์ใส่ขวด” แต่ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำในเยอรมนีพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน 300 โรงทำให้คนยุโรปอายุสั้นลง 11 ปี (จากรายงาน Silent Killers : Why Europe must replace coal power with green energy ดาวน์โหลดได้ครับ)

นี่คือความจริงที่พ่อค้าพลังงานไม่อยากให้คนไทยได้รับทราบ

คำถามที่ตามมาก็คือ เรามีทางเลือกอื่นไหม? คำตอบคือมีครับ และเพื่อให้เกิดพลังใจในการอ่าน ผมขอเรียนสรุปในเบื้องต้นว่า ทั้งๆ ที่เยอรมนีมีแสงแดดน้อยกว่าไทย แต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงแดด (โซลาร์เซลล์) ในเยอรมนีในปี 2556 ถ้าสามารถนำมาป้อนให้คนไทยได้จะเพียงพอสำหรับ 17 จังหวัดภาคเหนือและ 14 จังหวัดภาคใต้รวมกัน

เรื่องที่ผมจะนำมาเล่าต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก เมื่อท่านอ่านจบแล้ว ผมเชื่อว่าท่านคงจะมีความเห็นคล้องกับผมว่า เป็นสิ่งที่สามารถปฏิรูปได้ง่ายกว่ากิจการน้ำมันที่พัวพันกับกลุ่มทุนระดับโลก โดยประชาชนมีส่วนในการผลักดันนโยบายและรับผลประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึง

ผมจะนำเสนอโดยลำดับเป็นข้อๆ ดังนี้

1. ในปี 2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 2.1 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าเยอะพอที่จะต้องคิดแก้ปัญหา มูลนิธิฯ จึงได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารซึ่งมี 4 ชั้น โดยเสร็จใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2554 โดยมีขนาด 11 กิโลวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 68 ตารางเมตร ในราคา 1.5 ล้านบาท เฉลี่ย 1.36 แสนบาทต่อกิโลวัตต์ (ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่แพงเมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน เพราะว่าราคาลดลงตลอด และมีระบบโครงสร้างที่รับแผงซึ่งผมเห็นว่าดีเกินไป)

2. จากการสอบถามเลขาธิการมูลนิธิ (คุณสารี อ๋องสมหวัง) ได้ความว่าระบบที่ติดตั้งจะทำให้ค่าไฟฟ้าที่มูลนิธิใช้ลดลง เพราะไฟฟ้าที่ผลิตเองได้จะถูกนำมาใช้ ถ้าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไม่พอใช้ กระแสไฟฟ้าจากระบบสายส่งของการไฟฟ้านครหลวงจะเข้ามาเสริม แต่ถ้าผลิตเองได้มากจนเหลือใช้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุด) กระแสไฟฟ้าที่เหลือก็จะไหลเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้า แต่การไฟฟ้าไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้าที่รับไป ทั้งๆ ที่มีมูลค่า ระบบที่ติดตั้งที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่นะครับ

3. หลังจากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้วค่าไฟฟ้าลดลงจากเดือนละ 21,125 บาทมาเหลือเฉลี่ยเดือนละ 13,030 บาท ทั้งๆ ที่ในระยะหลังมูลนิธิมีเจ้าหน้าที่มากขึ้นและมีห้องสตูดิโอเพิ่มขึ้นด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากกราฟ)

4. เนื่องจากระบบที่ติดตั้งไม่สามารถตรวจวัดได้ว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองมีกี่หน่วย และการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนก็ไม่คงที่ ประกอบกับข้อมูลบางส่วนก็ขาดหายไป ผมจึงใช้วิธีการประมาณการตามหลักวิชาคณิตศาสตร์

สรุปได้ว่า ในเดือนตุลาคม 2554 ระบบที่ติดตั้งนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 2,394 หน่วย คิดเป็นเงิน 9,044 บาท (หน่วยละ 3.78 บาท)

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า โดยเฉลี่ยแผงโซลาร์เซลล์นี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ กิโลวัตต์ละ 217 หน่วยต่อเดือน หรือวันละ 7 หน่วยต่อกำลังผลิต 1 กิโลวัตต์

ถ้าคิดเป็นต่อตารางเมตร พบว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.14 หน่วย

โดยทฤษฎี ความเข้มของพลังงานแสงแดดในประเทศไทยสามารถให้พลังงานเฉลี่ย 5.04 หน่วยต่อตารางเมตร ดังนั้นระบบที่ติดตั้งของมูลนิธิฯ ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 22% ซึ่งถือว่าสูง แต่อย่าลืมว่าเป็นการประเมินบนขีดจำกัดของข้อมูลดังที่กล่าวแล้ว

ภาพข้างล่างเป็นข้อมูลเสริมที่ผมใช้ในการบรรยายให้ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินฟังครับ อาจจะทำให้ท่านเข้าใจดีขึ้น

และเพื่อให้เห็นความวิริยะของชาวเยอรมัน ผมขอนำเสนออีกภาพครับ เป็นการติดตั้งบนอาคารของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง บนพื้นที่หลังคา 3,100 ตารางเมตร โดยเฉลี่ยแล้วสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณแค่ 0.49 หน่วยต่อตารางเมตรเท่านั้น น้อยกว่าเรามาก แต่เขาก็ทำ!

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงมหาวิทยาลัยที่ผมเคยสอนครับ บางคณะมีพื้นที่หลังคากว่า 15 ไร่

ถ้าติดแผงโซลาร์เซลล์และคิดค่าไฟฟ้าหน่วยละ 6.16 บาท (ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ) ก็จะทำให้คณะนั้นจะมีรายได้ปีละ 30-35 ล้านบาท สบายๆ (หมายเหตุ ทั้งวิทยาเขตเสียค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 170 ล้านบาท)

5. ที่กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องจริงที่เกิดกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิเคยสอบถามทางการไฟฟ้าว่า ทำไมไม่รับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือ คำคอบสั้นๆ แต่แสบ คือ ไม่มีนโยบาย

6. กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีโครงการส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา โดยจะเดินไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2556 จำนวน 200 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารธุรกิจอย่างละครึ่ง และแบ่งเป็นเขตนครหลวง (กฟน.) 40% และภูมิภาค 60% (หมายเหตุ แค่เกณฑ์นี้ก็เถียงกันได้แล้ว) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในกรณีบ้านอยู่อาศัย อาคารธุรกิจขนาดเล็ก อาคารธุรกิจกลาง-ใหญ่/โรงงาน หน่วยละ 6.96 , 6.55 และ 6.16 บาท ตามลำดับ

7. เป็นที่น่าแปลกใจมากว่า ทั้งๆ ที่กระทรวงพลังงานมีวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่าเพื่อ “สร้างมูลค่าเพิ่มบนหลังคาบ้านและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” แต่กฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้กลับขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ กล่าวคือ “(1) อาคารต้องไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ (2) กรณีเป็นนิติบุคคลต้องมีวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนต้องเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และ (3) ต้องไม่ติดแผงโซลาร์เซลล์มาก่อน”

ผมคิดว่ามันคือกฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เลย ดังนั้น กรณีของมูลนิธิฯ จึงต้องตกไปเพราะข้อ (2) และ (3)

8. จากเอกสารเดิม เขียนว่า ถ้าลงทุนติดตั้งขนาด 1 กิโลวัตต์ (7 ตารางเมตร) จะใช้เงินลงทุน 6 หมื่นบาท (กรณีมูลนิธิฯ 1 กิโลวัตต์ 1.36 แสนบาท) จะผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วย หรือวันละ 0.52 หน่วยต่อตารางเมตร (ประมาณครึ่งหนึ่งของมูลนิธิฯ) โดยมีระยะคืนทุน 6 ปี 7 เดือน

อย่าลืมนะครับว่า ราคาแผงโซลาร์เซลล์มีราคาลดลงทุกปี ในขณะที่ประสิทธิภาพกลับเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากกลุ่มคนที่ศึกษาในกรณีของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า ต้นทุนในสหรัฐอเมริกาลดลงเฉลี่ยปีละ 10% ในขณะเดียวกัน ต้นทุนในประเทศเยอรมนีก็มีประมาณครึ่งหนึ่งของในสหรัฐอเมริกา

เท่าที่ผมดูผ่านๆ ในเฟซบุ๊ก พบว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นบาทต่อกิโลวัตต์ และจะถูกกว่านี้อีกในอนาคตอันใกล้

ในเรื่องการคืนทุน กรรมการจากสภาอุตสาหกรรมท่านหนึ่งได้กล่าวนอกห้องประชุมแห่งหนึ่งว่า หากได้รับอนุญาตในประเทศไทยและอัตราการจ่ายในปัจจุบันจะสามารถคืนทุนได้ประมาณ 4 ปีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ข่าวการจ่ายใต้โต๊ะจึงหนาหูมาก

ประเด็นสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ที่ไหน? บทเรียนจากเยอรมนี

ในปี 1999 ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์ (Hermann Scheer) อดีต ส.ส. ฝ่ายค้าน ได้เล่าให้ฟังว่า ตนได้ร่วมกับพรรคพวกเพียง 2-3 คนเท่านั้น สามารถผ่านกฎหมายที่มีชื่อว่า “Law for the Priority of Renewable Energies (กฎหมายเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนก่อน)”

วิธีการในกฎหมายนี้มีสาระสำคัญง่ายๆ 3 ข้อเท่านั้น หากขาดข้อใดข้อหนึ่งหรือเพี้ยนไปจากนี้แม้เพียงเล็กน้อยก็จะไม่บรรลุตามความมุ่งหมายของแนวคิด

ข้อที่ 1 ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อน (Feed In) กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวน

ข้อที่ 2 เป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 20-25 ปี

ข้อที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (บ้าง) ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

การไปจำกัดจำนวนของกระทรวงพลังงานไทยจึงเป็นการฝ่าฝืนหลักการสำคัญในข้อแรก ที่เหลือก็ไม่ต้องพูดกันให้เสียเวลา นอกจากนี้ยังมีระเบียบหยุมหยิมอีกเยอะมาก เช่นต้องมีวิศวกรเซ็นรับรองคำขอ เป็นต้น

สำหรับข้อ 3 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผมคำนวณคร่าวๆ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณเดือนละ 20-30 บาทต่อครอบครัวเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับว่าจะผลิตเท่าใด) ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยคงจะยอมได้เพื่อแลกกับสุขภาพของผู้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ประเด็นสุดท้าย ผมขอนำเรื่องราวของกลุ่มเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกามาเล่าครับ พร้อมข้อมูลสำคัญในแผ่นสไลด์สำหรับท่านที่สนใจเชิงลึก

สาระสำคัญของกลุ่มนี้ก็คือการทำพลังงานให้เป็นประชาธิปไตย ด้วยการกระจายโรงไฟฟ้ามาอยู่บนหลังคาบ้านของตนเองซึ่งก็เป็นกลไกของธรรมชาติอยู่แล้ว พวกเขาเสนอทีเล่นทีจริงว่าจะตั้งพรรคการเมือง โดยเสนอนโยบายว่า จะส่งเสริมให้บ้านทุกหลังต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ 3 กิโลวัตต์ (ดังรูป) ในหนึ่งบ้านมีสิทธิ์ออกเสียงได้ 2 คน ดังนั้น ถ้ามีสมาชิก 100 ล้านหลัง พวกเขาก็จะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจโดยการใช้ประโยชน์จากพระอาทิตย์ แต่สิทธิดังกล่าวได้ถูกพ่อค้าพลังงานและนักการเมืองบางกลุ่มละเมิด ด้วยกระบวนการที่ว่า “หนึ่งล้างสมองสองปล้น” ตามชื่อหนังสือเล่มใหม่ของผมครับ หากท่านสนใจกรุณาค้นหารายละเอียดได้จากบทความครั้งก่อนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น