คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปพลังงาน ผมขอยกคำสนทนาระหว่างนักปกครอง กับนักปราชญ์ เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศไทย ดังต่อไปนี้ครับ
คราวหนึ่ง จื๊อกุง (นักปกครอง) ได้ถามขงจื๊อ (นักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน) ว่า
“จะปกครองรัฐอย่างไรจึงจะดี”
ขงจื๊อตอบว่า
“จงปกครองให้ประชาชนมีอาหารบริโภคอุดมสมบูรณ์ ให้ประเทศชาติมีกองทัพเข้มแข็ง และให้ประชาชนมีความเชื่อถือในรัฐบาล”
“ถ้าหากจำเป็นจะต้องตัดออกสักข้อหนึ่ง ควรตัดข้อไหนออก”
“ตัดกองทัพออก”
“ควรตัดอาหารออก เพราะนับแต่โบราณกาลมาแล้ว มนุษย์เรามีความตายเป็นธรรมดาทุกคน แม้ประชาชนจะต้องอดอยากบ้าง แต่ก็ยังดีกว่ามีรัฐบาลอันประชาชนเขาไม่นิยมนับถือประเทศที่มีรัฐบาลอย่างนี้ จักตั้งมั่นได้อย่างไร”
จื๊อกุง ซักต่อไปว่า
“หมายความว่า รัฐบาลไม่มีคุณธรรม ประชาชนเขาหมดศรัทธา ร้ายแรงยิ่งกว่าเรื่องปากท้องหรือ”
ขงจื๊อตอบว่า
“ถูกต้อง บัณฑิตย่อมเห็นแก่คุณธรรม ยิ่งกว่าจะเห็นแก่ปากท้อง”
(ขอบคุณ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=683161)
ประชาชนไทยเราได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกกับระบอบการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” มานานถึง 81 ปี ซึ่งนานพอจนได้ตกผลึกทางความคิดว่า ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยที่ผ่านมา ได้ทำให้อำนาจของประชาชนถูกนายทุนที่ไม่มีคุณธรรม หรือที่เรียกว่าทุนสามานย์ฉ้อฉล โดยผ่านกระบวนการ 2 ขั้นตอน คือ 1. ล้างสมอง ให้เชื่อง ให้ไม่สนใจประโยชน์ของสาธารณะ ให้ต่างคนต่างอยู่ จนถึงขั้นทะเลาะ และเข่นฆ่ากันเอง เมื่อล้างสมองโดยผ่านสื่อมวลชน และระบบการศึกษาแล้ว ก็ลงมือขั้นที่ 2 คือปล้น ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนโยบายที่ฉ้อฉล รวมทั้งสิทธิในการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา การใช้ประโยชน์ และการกำหนดนโยบายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 (มาตรา 85)
มาถึงวันนี้ประชาชนไทยจำนวนมหาศาล และมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติ และอาจจะของโลกด้วยได้ลุกขึ้นมาเพื่อบอกว่า
(1) ประชาชนเขาหมดศรัทธาต่อนักปกครองแล้ว เพราะนักปกครองไม่มีคุณธรรม ขี้โกง หลอกลวง และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด “ระบอบทักษิณ” เป็นเพียงฟางเส้นสุดท้าย จริงๆ แล้วประชาชนได้หมดศรัทธาต่อระบบการเมืองโดยรวม และไม่เพียงแต่ประชาชนไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ถือกันว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (โปรดอ่านบทความก่อนหน้านี้ของผมครับ) รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย
สำหรับประเทศไทยเรานั้น ระบอบทักษิณมันตะกละ และมูมมามเกินไปจนประชาชนคนไทยทนไม่ได้
(2) ขอปรับปรุงกฎกติกา หรือปฏิรูปประเทศไทยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเราต้องตกต่ำลงไปมากกว่านี้
ในฐานะที่ผมได้ติดตามเรื่องพลังงานมานาน ผมจึงขอนำเสนอทั้งข้อมูล และแนวคิดในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้สังคมไทยได้นำไปขบคิดเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิรูปครั้งนี้ด้วย
ผมขอเริ่มต้นด้วยความจริงสำคัญ 3 อย่าง ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ทราบมาก่อนคือ
หนึ่ง ในปี 2555 ประเทศไทยบริโภคพลังงานทุกชนิดรวมกันคิดเป็นมูลค่า 2.14 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในขณะที่หากย้อนหลังไป 20 และ 25 ปี ร้อยละของมูลค่าดังกล่าวแค่ 11.4 และ 6.5 เท่านั้น (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน http://www.eppo.go.th/info/7economic_stat.htm)
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของคนไทยได้สูงขึ้น และสูงมากขึ้นเป็นลำดับ และถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
ลองคิดดูสิครับว่า หากเราไม่ทำอะไรเลย ยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นเดิม ในอนาคตอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเราจะเพิ่มขึ้นถึงไหน และหากวันนั้นมาถึง ค่าครองชีพซึ่งมีพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานจะเพิ่มขึ้นไปเท่าใด
สอง ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานปิโตรเลียมเป็นจำนวนมากพอสมควร เราได้เริ่มขุดเจาะมาตั้งแต่ปี 2524 (จำคำโฆษณาที่ว่าประเทศไทยจะ “โชติช่วงชัชวาล” ได้ไหม) โดยที่มูลค่าปิโตรเลียมในปี 2553 และ 2554 คิดเป็นมูลค่า 3.66 และ 4.22 แสนล้านบาท ตามลำดับ โดยที่บริษัทผู้รับสัมปทานซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติมีกำไรสุทธิ (หลังหักต้นทุน และภาษีเงินได้แล้ว) จำนวน 99,935 และ 139,942 ล้านบาท โดยที่กำไรสุทธิดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 73.2 และ 96.6 ของเงินลงทุน
สิ่งที่เราควรคิดก็คือ มีธุรกิจใดบ้างที่มีกำไรในอัตราสูงถึงขนาดนี้ และทำไมกำไรจึงได้สูงถึงขนาดนี้ เมื่อสิบปีก่อน ผมเคยพบข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทยูโนแคล (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเชฟรอน) พบว่า บริษัทยูโนแคล ที่ได้ลงทุนในประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศ แต่กำไรประมาณครึ่งหนึ่งมาจากประเทศไทยเพียงประเทศเดียว เสียดายที่คอมพิวเตอร์ของผมมีปัญหา หลักฐานดังกล่าวจึงหายไป
อย่างไรก็ตาม จากรายงานประจำปี 2554 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ดาวน์โหลดได้ครับ) พบว่า ที่ผ่านมา 30 ปี มูลค่าปิโตรเลียมเท่ากับ 3.416 ล้านล้านบาท โดยบริษัทรับสัมปทานมีกำไรสุทธิ 0.797 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.6 ของเงินลงทุน
สำหรับในปี 2555 มูลค่าปิโตรเลียมที่ขุดได้เท่ากับ 5.04 แสนล้านบาท (ซึ่งสูงกว่าปีก่อนๆ) แต่ขณะที่เขียนบทความนี้ (เกือบสิ้นปี 2556) ยังไม่มีรายงานจากทางราชการว่าบริษัทได้ลงทุนไปเท่าใด ทำไมจึงช้าจัง
อนึ่ง ในรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติฉบับดังกล่าว ได้รายงานอย่างซื่อบื้อว่า “รัฐได้ผลตอบแทนเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 และบริษัทรับสัมปทานผู้ประกอบการได้ร้อยละ 41” แต่ทำไมไม่ใช้ข้อมูลนี้เพื่อคิดผลตอบแทน หรือกำไรสุทธิของบริษัทต่อหน่วยลงทุนซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการลงทุนทางธุรกิจทั่วไป ทำไมต้องทำให้ประเด็นเขวไปคิดแต่ส่วนแบ่งระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ
ผมได้ตัดข้อความในรายงานดังกล่าวมาให้ดูเป็นหลักฐานด้วยครับ
สำหรับเงินลงทุนซึ่งอยู่ในหน้าที่ 103 ของรายงาน เป็นดังนี้ครับ
จากรายงานดังกล่าว มีเรื่องที่แปลกๆ อยู่หลายอย่าง กล่าวคือ ในขณะที่ในปี 2554 เราผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งภายในประเทศได้ถึง 158,743 ล้านบาท (โดยได้ค่าภาคหลวง 11.47%) แต่ในปีนั้นเราส่งออกน้ำมันดิบถึง 41,634 ล้านบาท และในปี 2555 การส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นเป็น 51,338 ล้านบาท แต่มีการนำเข้าน้ำมันดิบ 1.12 ล้านล้านบาท และมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเกือบ 4 แสนล้านบาท (http://www2.ops3.moc.go.th/)
สาม เป็นประเด็นเรื่องไฟฟ้า ในปี 2555 ประเทศไทยเราจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 5.51 แสนล้านบาท โดยที่เชื้อเพลิงเกือบทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานที่พ่อค้าพลังงานผูกขาด และกำลังจะอาละวาด และละเมิดสิทธิชุมชน ทำลายสุขภาพ และแหล่งทำมาหากินของชาวชนบทก็คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้
คนไทยได้ถูกกลุ่มพ่อค้าพลังงานล้างสมองมาตลอดว่า พลังงานแสงอาทิตย์ไม่มีความมั่นคง ต้นทุนแพง เป็นต้น แต่ความจริงพบว่า ทั้งๆ ที่พลังงานแสงแดดในประเทศเยอรมนีมีน้อยกว่าประเทศไทยถึงเกือบครึ่งต่อครึ่ง แต่ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ได้เป็นจำนวนปีละ 28,500 ล้านหน่วย (http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php) ไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ไฟฟ้าในเขตนครหลวงของไทย ดังแผนภาพข้างล่าง ถ้านำมารวมกับการผลิตจากพลังงานลม และชีวมวล ก็สามารถป้อนความต้องการของไทยทั้งหมดได้ถึงเกือบ 40%
ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูป
จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว ผมขอเสนอการปฏิรูประบบพลังงานทั้งระยะสั้น และระยะยาวดังนี้
ระยะสั้น
(1) หยุดการให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 22 แปลง ซึ่งหากไม่เกิดปัญหาการเมืองก็น่าจะเปิดสัมปทานในช่วงเดือนมกราคม 2557 นี้
(2) เพิ่มภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจากร้อยละ 50 เป็น 60 ซึ่ง พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 มาตรา 20 ได้ให้อำนาจไว้ แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยจึงเก็บในอัตราที่ต่ำมาตลอด ทั้งๆ บริษัทมีผลกำไรสุทธิสูงมาก
(3) ยกเลิกกองทุนน้ำมันที่มีจำนวนนับแสนล้านบาท แต่ได้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อหาผลประโยชน์ของนักการเมือง โดยไม่มีการตรวจสอบ
(4) หยุดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2013) ไว้ก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำพลังงานแสงแดด และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ มาใช้ เช่นเดียวกับประเทศเยอรมนี และอีกหลายประเทศ
แผนระยะยาว
ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “พลังงาน” และ “ประชาธิปไตย” กันใหม่ ดังนี้
ความจริงแล้วเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาพร้อมกันในหลายมิติ เช่น เศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ความหลากหลายของแหล่งเชื้อเพลิง การกระจายรายได้ การจ้างงาน รวมถึงมิติของสิทธิชุมชนที่ต้องได้รับการคุ้มครอง แต่สังคมไทยก็ได้ถูกนักการเมืองและพ่อค้าพลังงานทำให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องพลังงานเป็นแค่สินค้าที่มีกรอบคิดแต่เรื่องกำไร-ขาดทุน ราคาถูก-แพง เพียงอย่างเดียว คล้ายกับความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยที่มีองค์ประกอบสำคัญหลายมิติ เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน หลักนิติธรรม การกระจายอำนาจ แต่ก็ได้ถูกทำให้เป็นแค่การเลือกตั้งเท่านั้น
ในโอกาสที่ประชาชนจำนวนมหาศาลได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องพลังงานซึ่งมีขนาดทางเศรษฐกิจเกือบ 1 ใน 5 ของจีดีพีประเทศให้ครอบคลุมในทุกมิติที่สำคัญ
น่าแปลกนะครับ เรื่องพลังงานกับเรื่องประชาธิปไตยนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก พลังงานต้องการกระจายอำนาจซึ่งธรรมชาติได้จัดสรรให้แก่ทุกคนอย่างเกือบจะเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะแสงอาทิตย์ แต่ได้ถูกพ่อค้าผูกขาดเป็นผู้กำหนดนโยบาย เรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องกระจายอำนาจ ต้องการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ได้ถูกนายทุนสามานย์ได้ผูกขาด และรวบอำนาจไว้แต่ผู้เดียว.