xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” อัดสภาทาส ย้อนถ้าไม่รับใบสั่งตำรวจได้หรือไม่ เปรียบก้าวย่างรัฐบาลเหมือนฮิตเลอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ปธ.ศาล รธน.ซัดพวกค้านอำนาจศาลแผ่นเสียงตกร่อง ยัน ม.68 เป็นสิทธิประชาชนไม่ใช่อัยการสูงสุด ย้อนถ้ามีคนไม่ยอมรับตำรวจแจกใบสั่งจะทำยังไง ชี้ศาลฟันฉับไม่ได้เพราะร่างทูลเกล้าฯ ไปแล้ว เชื่อสำนักราชเลขาฯ ตีกลับ ติงขนม็อบต้านรัฐบาล แนะอย่าเลือกพวกขวางกติกา เปรียบ “บัง” เหมือนคำขงจื๊อ “เก่งยังไงสู้คนหน้าด้านไม่ไหว” ซัดรัฐกำลังเดินตามรอยฮิตเลอร์ กังขาดีเอสไอรับลูกคดีเป่านกหวีด แต่ปาก้อนหินกลับเงียบ

วันนี้ (21 พ.ย.) ที่หอประชุม เอสบีซี ฮอลล์ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก บางนา นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ระบบยุติธรรมกับทางรอดของประเทศไทย” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ยังมองไม่เห็นทางรอดของประเทศสักเท่าไหร่ คล้ายๆ เกิดความขัดแย้งตลอดเวลาในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเวลานี้ใส่เสื้อสีอะไรก็ลำบาก ไม่ว่าสีเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง แม้กระทั่งเดินไปไหน ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาล ก็จะถูกเป่านกหวีดใส่ ทำให้มีหน่วยงานอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมารับลูกคดีเป่านกหวีดนำมาเป็นคดีพิเศษ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเป็นแค่คดีลหุโทษ ที่ทางประมวลกฎหมายอาญาไม่สามารถออกหมายจับหรือคุมขังได้ น่าแปลกใจว่าการเป่านกหวีดถือเป็นความผิดทางกฎหมาย แต่การขว้างปาก้อนหินใส่ กลับไม่เห็นมีใครดำเนินการ ทั้งที่เป็นคดีอาญา เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติของพนักงานสอบสวนหรือไม่

ส่วนที่เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ถึงวันนี้ก็ยังคงมีคนพูดอยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องนี้ ต้องผ่านอัยการ พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่อง รวมถึงมีการพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับ เพราะผู้ถูกร้องไม่ใช่บุคคลหรือพรรคการเมืองตามความหมายของมาตรา 68 แท้จริงมาตราดังกล่าวอยู่ในส่วนของสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพของอัยการสูงสุด ดังนั้นจึงต้องแปลความให้ประชาชนยื่นตรงต่อศาลหรืออัยการ เพื่อเป็นการขยายการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนให้กว้างขว้าง อีกทั้งที่โต้แย้งสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ผู้ที่ถูกร้องตามมาตรา 68 สมาชิกรัฐสภาไม่ใช่บุคคลหรือ

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังมีคนสงสัยว่า ทำไมศาลไม่สั่งให้เลิกการกระทำ ตัดสินค้างลอยไปอย่างนั้น อยากบอกว่าจะให้เลิกการกระทำอะไร ในเมื่อวันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.เสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้ว และร่างกฎหมายอยู่ในชั้นของการทูลเกล้าฯ จึงไม่เป็นเหตุผลที่ศาลสั่งให้เลิกการกระทำได้ และเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ แนวทางขณะนี้ที่มีอยู่ คือ นายกฯ ต้องไปขอพระราชทานอนุญาตนำร่างกลับคืน หรือทิ้งไว้ และรอให้สำนักราชเลขาฯ ส่งกลับคืน ซึ่งผมเดาใจว่า สำนักราชเลขาฯ คงไม่ยอมทิ้งไว้เฉยๆ คงต้องส่งกลับมา” นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ถือว่าขณะนี้ร่างดังกล่าวไปต่อไม่ได้แล้ว และรัฐสภาไม่สามารถที่จะดึงดันโดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 151 เพราะไม่ใช่กรณีที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชวินิจฉัยที่จะไม่ลงปรมาภิไธย เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในชั้นการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสำนักราชเลขาฯ เท่านั้น ส่วนเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยแล้ว การดำเนินการเอาผิดกับผู้ถูกร้องรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนุญ แต่เป็นของ ป.ป.ช.ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญผูกพันทุกองค์กร

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเดินหน้าโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนตนก็เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปีที่แล้ว ที่ให้ยกคำร้อง มีผลทำให้คำขอต่างๆ ตกไป ดังนั้นรัฐสภาก็สามารถผลักดันร่างดังกล่าวได้ เพราะคำว่าควรจะทำประชามติ หรือแก้ไขรายมาตรา เป็นเพียงคำแนะนำ แต่ทั้งนี้หากการแก้ไขรัฐธรมนูญ มีเนื้อหาสาระขัดรัฐธรรมนูญ ก็มีสิทธิที่จะถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อีก

นายวสันต์ ยังย้อนถามสมาชิกรัฐสภาที่การประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ว่า หากศาลประกาศบ้างว่าไม่ยอมรับอำนาจในการออกกฎหมายของสภาบ้าง หรือประชาชนประกาศว่าไม่ยอมรับกับอำนาจของตำรวจที่มาจับและให้ใบสั่ง ทำได้หรือไม่ ประเทศจะไปสู่ความยุ่งยากขนาดไหน ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ ตนไม่ได้มองว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญมีปัญหา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะลดปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะถ้าเรามีรัฐธรรมนูญไม่ดี แต่คนดี ไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย บ้านเมืองก็ไปได้ เวลานี้จึงไม่เห็นว่าประเทศจะมีทางออกตรงไหน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีการลดราวาศอก มีแต่จะเอาชนะกัน อย่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท รัฐบาลก็ใช้เสียงข้างมากลากไปจนผ่านการพิจารณา เสร็จตอนตี 2 กว่า พอตอนตี 3 พรรคประชาธิปัตย์ก็ยื่นประธานสภา ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

“วันนี้เราไม่ยอมลดราวาศอก จนเหมือนเราอยู่ในสังคมที่เป็นศัตรูกันตลอด ความจริงผมไม่เห็นด้วยกับการขนม็อบมาต่อต้านรัฐบาล แต่ควรจะเป็นว่าถ้าเห็นว่ารัฐบาลอยู่ 4 ปี ทำบ้านเมืองฉิบหาย เลือกตั้งครั้งต่อไปก็ไม่ต้องไปเลือก หรืออย่างคนที่ปฏิเสธอำนาจศาล ใครที่ไม่เห็นด้วย เลือกตั้งคราวหน้าก็ไม่ต้องไปเลือกคนเหล่านี้ที่ไม่ยึดกฎกติกา วันนี้ทหารไม่ได้มีความอดทนน้อยเหมือนเมื่อก่อน ที่นิดหน่อยก็ลากรถถังออกมา คนที่เป็นหัวหน้าปฏิวัติปี 2549 เป็นอย่างไร สุดท้ายก็กลับมาเป็นลูกน้องเขาเสียอีก ทำให้นึกถึงคำพูดของขงจื้อ “เก่งอย่างไรก็สู้คนหน้าด้านไม่ไหว” นายวสันต์ กล่าว

อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกว่า วันนี้ก้าวย่างของรัฐบาลไม่ต่างจากก้าวย่างของฮิตเลอร์ ที่ทำให้รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และควรตรวจสอบฝ่ายบริหาร กลับกลายเป็นลูกน้องของฝ่ายบริหาร ดังนั้น ถ้าแก้ปัญหา ฝ่ายเสียงข้างมากจะต้องเป็นฝ่ายที่รับฟังความเห็นที่แตกต่างจากเสียงข้างน้อย นักการเมืองต้องมีจิตสำนึก ประชาชนก็ต้องเลือกคนที่ดี ไม่เลือกคนชั่ว เพราะถ้าได้ผู้แทนที่ไม่ดี ก็จะเหมือนกับคนที่เลือกเป็นคนไม่ดีไปเป็นด้วย ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการศึกษา ทุกวันนี้คนคิดถึงประชาธิปไตย ที่พูดแต่เสียงข้างมาก จะทำอะไรก็ได้ จะระยำตำบอนที่ไหนก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเสียงข้างมาก หรือเสียงน้อย ทุกคนต้องมีวินัยต้องรักษากฎกติกาบ้านเมือง ทั้งนี้เราต้องฝึกกันใหม่ในเรื่องการมีวินัยอย่างเคร่งครัด โดยฝึกกันตั้งแต่เด็ก


กำลังโหลดความคิดเห็น