xs
xsm
sm
md
lg

ใครไม่มั่นใจในพลังงานหมุนเวียน เชิญทางนี้! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
เพราะว่า หนึ่งในสี่ข้อของบทเรียนความสำเร็จในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของประเทศเยอรมนีคือ “ต้องทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นไปได้จริงๆ” ผมจึงขอนำเรื่องความสำเร็จของ “หมู่บ้านพลังงาน (Energy Village)” ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ใกล้ชายแดนประเทศออสเตรีย มาเล่าสู่กันฟังครับ

และเพื่อให้ผู้ที่สนใจเพิ่มเติมได้ค้นคว้าต่อ ผมจึงได้นำภาพ และข้อความสำคัญที่สามารถสอบถามอาจารย์กูเกิลได้ต่อไปด้วยครับ
 

 
ข้อความสำคัญในภาพนี้ก็คือ “หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเยอรมนีผลิตพลังงานได้มากกว่าที่คนทั้งหมู่บ้านใช้ถึง 321%”
 
หมู่บ้านนี้ชื่อ Wildpolsried ซึ่งมีประวัติย้อนหลังไปถึง ค.ศ.1392 โน่น ปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีประชากร 2,600 คน มีบ้าน 1,900 หลัง นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าแล้ว ยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้าที่เหลือได้ถึงปีละ 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 171 ล้านบาท

เว็บไซต์ www.rics.org ได้ตั้งชื่อเอกสารเชิงคำถามชิ้นหนึ่งว่า “เป็นที่ที่เป็นสีเขียวที่สุดในโลกหรือไม่?” (คำว่าสีเขียวในที่นี้หมายถึง การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน ไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงการใช้กระบวนการประชาธิปไตยรากหญ้าในการตัดสินใจ)
 

 
ข้อความเสริมในภาพซ้ายมือก็คือ “หมู่บ้านเล็กๆ ในประเทศเยอรมนีได้ฉายแสงให้เห็นตัวอย่างของความยั่งยืนที่นำโดยชุมชน”
 
หมู่บ้านนี้ได้ลงมือปฏิบัติการตามแผนมาแล้ว 15 ปี คือ เริ่มตั้งแต่ปี 2542 เพื่อเปลี่ยน 3 อย่างคือ การใช้ การประหยัด และการผลิตพลังงาน จนกระทั่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการถึง 321% โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งได้แก่ ลม แสงแดด ไบโอก๊าซ และพลังน้ำ (ที่มีไว้สำหรับป้องกันน้ำท่วม)

ความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อนี้เกิดขึ้นจาก 4 องค์ประกอบคือ (1) การลงทุนของชุมชนพื้นฐาน (Grass-Root Community) (2) เจ้าของกิจการในท้องถิ่น (3) สิ่งกระตุ้นในการใช้พลังงานหมุนเวียน (นโยบายของรัฐบาล) และ (4) ความเป็นผู้นำอย่างมุ่งมั่นที่พร้อมจะตัดสินใจตามความต้องการของชุมชนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนกว่าเดิม

ขอย้ำองค์ประกอบที่ (4) ครับ นี่แหละคือหลักการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ของไทยเราย้ำนักย้ำหนาว่าต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพราะเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแล้วนอกจากจะไม่เกิดผลกระทบแล้ว ยังเป็นพลังขับเคลื่อนไปได้

ข้อนี้นี่แหละตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของ Synergy หรือ 2+2 อาจมากกว่า 4 ที่เราพูดๆ กัน

กลับมาที่หมู่บ้านพลังงานอีกทีครับ

นายกเทศมนตรีที่ชื่อ Arno Zengerle เล่าว่า “เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เราระดมสมองกัน ระดมความคิดกันเพื่อจะทำให้หมู่บ้านของเราเขียวขึ้นกว่าเดิม และพึ่งตนเองด้านพลังงานให้มากขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน สภาพเค-ออส (Chaotic - ขอแปลว่าสภาพที่ไม่คาดคิด) ก็เกิดขึ้นและนำไปสู่ความสำเร็จ แผนพลังงานหมุนเวียนก็เติบโตขึ้นทันทีจากความเชื่อมั่นของนักบุกเบิกในท้องถิ่น”

ด้วยความเห็นพ้องของคนในชุมชนซึ่งมีประชากร 2,600 คน สภาเทศบาลได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การปฏิบัติอย่างฉับพลันจะนำไปสู่การใช้พลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น พิมพ์เขียวเพื่อ “ทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือ และกระตุ้นความต้องการพลังงานหมุนเวียนของชุมชน” ก็เกิดขึ้นในปี 2542

แผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

(1) เพื่อเพิ่มทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานของชุมชน

(2) เพื่อใช้ไม้ในท้องถิ่นมาก่อสร้างบ้านให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (ไม่ใช้ไม้ต่างถิ่น ว่านั้นเถอะ)

(3) เพื่อปกป้องการสะสมของน้ำใต้ดินโดยใช้การจัดการระบบน้ำเสียด้วยระบบนิเวศ

“เราอยากจะเห็นว่า เราสามารถเดินหน้าการประหยัดพลังงานด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่เอง” นายกเทศมนตรีคนเดิมกล่าว

สุดยอดจริงๆ ครับ

และนี่คืออีกภาพหนึ่งของหมู่บ้าน
 

 
ในวันที่ผมเขียนบทความนี้ (16 มีนาคม 57) หมู่บ้านนี้กำลังจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจมาเยือน ตามข่าวบอกว่าเป็นการจัดอย่างประจำเพราะมีผู้ร้องขอมาเยอะมาก ทั้งชาวจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และบราซิล (แต่ไม่มีไทย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองฟูกูชิมะระเบิด เมื่อปี 2553
 
หลังจากที่รัฐบาลประเทศเยอรมนีได้ผ่านกฎหมายเพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในปี 2543 ได้ทำให้การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ อาคารอาศัย และธุรกิจขนาดเล็กได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา และบริษัทไฟฟ้าก็จ่ายค่าไฟฟ้าที่บริษัทได้รับไป

ตรงกันข้ามกับในบ้านเรา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่การไฟฟ้านครหลวงก็ไม่ยอมจ่ายเงินทั้งๆ ที่ได้รับไฟฟ้าไปแล้ว

ในขณะที่เมืองนี้กำลังได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก แต่นายกเทศมนตรีท่านเดิมกล่าวว่า

“เรารู้สึกว่าเราได้บรรลุเพียงครึ่งหนึ่งของวัตถุประสงค์เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานเท่านั้น เราหวังว่าก่อนปี 2573 หมู่บ้านของเราจะไม่ใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อน (น้ำมันเตา) และเราจะมี “Smart Grid” เพื่อจัดการพลังงานอย่างอัตโนมัติเมื่อระบบสายส่งในท้องถิ่นเดิมไม่สามารถรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเพราะล้นเกิน (Overload)”

“ประชาชนชาว Wildpolsried ได้ฉายให้เห็นตัวอย่างแล้วว่าสังคมเล็กๆ ได้บรรลุความสำเร็จในการจัดการไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนอย่างเกือบจะสมบูรณ์แบบตามความมุ่งหมาย ไม่ใช่ยึดแผนการที่เข้มงวด แต่เป็นการยึดตามความคิดที่ยิ่งใหญ่” นายกเทศมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 แล้วกล่าว

ผมขอจบบทความนี้ด้วยการนำคำตอบของอดีตนักวิชาการ นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของโลกคือ ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์ ซึ่งก็เป็นชาวเยอรมัน และเคยได้รับการยกย่องว่า “เป็นฮีโร่แห่งศตรววษสีเขียว”

บทเรียนจากเยอรมัน ซึ่งสรุปโดย ดร.เฮอร์มันน์ ในเรื่องของการสร้างความมั่นใจให้ประชาชน เพราะเมื่อประชาชนเกิดความมั่นใจแล้ว ประชาชนจะร่วมกันรณรงค์อย่างแข็งขันด้วยตนเอง บทเรียนดังกล่าวได้ส่งผลให้ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดในโลก นั่นคือในปี 2556 เยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (แสงแดด ลม ชีวมวล และพลังน้ำขนาดเล็ก) ได้ถึง 25% ของไฟฟ้าที่ประเทศนี้ใช้ (http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php)

ถ้าเราสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว (147,100 ล้านหน่วย) มาใช้ในประเทศไทย จะได้มากว่า 83% ของที่ประเทศไทยผลิต และนำเข้าจากต่างประเทศรวมกัน (177,398 ล้านหน่วย)

กระแสการปฏิรูปพลังงานในบ้านเราขณะนี้กำลังค่อยๆ ไต่ขึ้นสู่กระแสสูง แต่น่าเสียดายที่เป็นกระแสนี้ได้จำกัดประเด็นให้แคบอยู่ในเรื่องการจัดการผลประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม อยู่ในเรื่องน้ำมันแพง ก๊าซแพง รวมถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และพ่อค้าพลังงานเท่านั้น ซึ่งผมขอยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ดี และจำเป็น

แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงประเด็นพลังงานซึ่งเกี่ยวข้องแนบแน่นกับวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคนทุกเหล่าในหลายมิติ

ที่สำคัญที่สุด ประเด็นพลังงานกำลังท้าทายต่อหลักการคุณค่าความเป็นมนุษย์ 2 ข้อ คือ (1) มนุษย์ทุกคนต้องการความอิสระ และ (2) ไม่ต้องการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง (หลักการนี้เราเคยถูกสอนให้ท่องจำตั้งแต่เด็กๆ แต่เราก็ไม่ได้คิด) ซึ่งหลักการคุณค่าดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็แต่การใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งชาวเยอรมันในหมู่บ้านเล็กๆ ได้ทำให้เราเห็นแล้ว

แต่น่าเสียดายที่คนไทยเราได้ถูกพวกสูญเสียผลประโยชน์ขัดขวาง และบิดเบือน จึงไม่มีโอกาสได้ทราบความจริง บทความที่ผมเขียนก็มีคนอ่านแค่หลักพันคนเท่านั้น บางครั้งกดที่เข้ามากดไลก์ กดแชร์ ก็ไม่ได้อ่าน แต่มันก็เป็นความจริงที่ต้องยอมรับกันครับ เพราะการเรียนรู้และการค้นหาความจริงเป็นกระบวนการที่ต้องกระทำไปตลอดชีวิต ในขณะที่กระบวนการเผยแพร่ความจริงมันถูกจำกัดทั้งด้วยมุมมอง ความยากง่าย ด้วยลีลา ความมีชื่อเสียง และกลุ่มผลประโยชน์ครับผม

และขอจบด้วยภาพนี้ครับ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น