xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้สัญญาณหนี้คลัวเรือนพุ่งผลพวงจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเผยสัญญาณหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีรัฐไม่จ่ายค่าจำนำข้าวซ้ำเติมกลุ่มคนมีรายได้น้อยและเป็นกลุ่มครัวเรือนที่เปราะบางสุดในระบบเศรษฐกิจ พร้อมติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยยังไม่ขยับ เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจต่อไป เตรียมใจเงินไหลออกยาวอีก 1-2 ปี

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นบ้างจากสภาพคล่องครัวเรือนลดลง สะท้อนจากรายจ่ายดอกเบี้ยต่อรายจ่ายรวมสูงขึ้น อีกทั้งสินทรัพย์ทางการเงินต่อหนี้สินทางการเงินน้อยลงอาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระยะต่อไปได้ ขณะเดียวกัน
ความล่าช้าในการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้แก่ชาวนาจะเพิ่มแรงกดดันให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เพราะชาวนาจัดในกลุ่มที่มีรายได้น้อย ถือว่าเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความเปราะบางมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจ จึงต้องเฝ้าระมัดระวังและ ธปท.จะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด
ตั้งแต่ต้นปี 56 สินเชื่อขยายตัวสูงถึง 15% เงินฝากขยายตัว 7-8% แต่ปัจจุบันการขยายตัวสินเชื่อชะลอตัวลงบ้างและอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากไม่ได้เร่งตัวสูง ทำให้การขยายตัวสินเชื่อและเงินฝากใกล้เคียงกัน ซึ่งคาดว่าปีนี้ก็ยังคงเป็นแนวโน้มนี้ต่อไป ฉะนั้น ในปีนี้แรงกดดันในการระดมเงินฝากน้อยลง ต่างกับช่วงปีก่อน
แม้ขณะนี้ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดการเงินของประเทศนั้นๆ แต่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ในระยะสั้นเป็นไปได้ไม่ปรับไปในจังหวะเวลาเดียวกับธนาคารกลางเหล่านั้น โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังมีแนวทางผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจประคองตัวและฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป ส่วนในอนาคตอันไกลจะไปทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
“ประเทศไทยมีเศรษฐกิจ 2 ด้าน ด้านหนึ่งมองว่าปีนี้ภาคส่งออกไทยดีขึ้นเทียบกับปีก่อน อีกด้านหนึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่ กลายเป็น 2 จุดไม่ไปทิศทางเดียวกันทั้งหมด ทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นไปได้มากกว่า 1 ทิศทาง”
โฆษกธปท.กล่าวว่า การไหลออกเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติขณะนี้ไม่มากจนสร้างความแปลกใจให้แก่ ธปท. เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่หลายประเทศต้องเผชิญในตอนนี้ แต่เชื่อว่าประเทศในภูมิภาคนี้ รวมถึงไทยจะสามารถปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ และแม้จะมีการเปลี่ยนผู้นำเศรษฐกิจอย่างประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่านโยบายจะมีต่อเนื่องคล้ายเดิมต่อไป แต่ในระยะยาวมองว่าเงินทุนไหลกลับมายังตลาดเกิดใหม่โตกว่าตลาดพัฒนาแล้ว
“ช่วงเศรษฐกิจโลกอ่อนแอมาก ประเทศพัฒนาหลักมีการปั้มสภาพคล่องระบบเศรษฐกิจเยอะ เพื่อมาหาผลตอบแทนที่ดีจากตลาดเกิดใหม่ ทำให้ปริมาณที่ไหลบ่ามากเกินพื้นฐาน ไม่น่าแปลกใจเมื่อเขากลับตัว บางส่วนไหลเกินพื้นฐานเหล่านั้นจะบ่ากลับไปอีกทิศหนึ่ง ทำให้เห็นความผันผวนมากกว่าปกติ เป็นช่วงการปรับตัวนี้ ดังนั้น ตอนนี้เป็นแค่การถอนปั้มน้ำต่อไปจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประเทศหลักๆ อีก จึงต้องเตรียมใจไว้บ้างในช่วง 1-2 ปีนี้”
นางรุ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ฐานะภาคธุรกิจและภาคเอกชนอย่างธนาคารพาณิชย์ที่ค่อนข้างดียังเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยหากสถานการณ์ดีขึ้นมองว่าภาคเอกชนพร้อมลงทุนเพียงแค่รอจังหวะเวลา โดยจากประสบการณ์ช่วงที่ผ่านมาอย่างธุรกิจการท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วมากประมาณ 1-2 เดือน การอุปโภคบริโภคปรับตัวค่อนข้างเร็วเหมือนกันไม่เกิน 1 ไตรมาส โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทนและบริการต่างๆ ที่มีสัดส่วน 3 ใน 4 ในหมวดการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ภาคการลงทุนจะเริ่มเมื่อสถานการณ์นิ่งแล้วจะกลับมาไม่เกิน 2-3 ไตรมาส
ส่วนกรณีที่ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจไทยสามารถโตได้ 4%ในปีนี้จากภาคการส่งออกนั้น ธปท.มองว่าก็มีโอกาสเป็นไปได้ภายใต้สถานการณ์ภาครัฐสามารถเบิกจ่ายได้ดี ความเชื่อมั่นและกิจกรรมของภาคเอกชนฟื้นตัวเร็ว โดยธปท.ประเมินว่าหากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ระยะสั้นไม่เกินปลายไตรมาส 2 ของปีนี้ หรือระยะปานกลางช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กรณีเป็นไปได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ในรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย 56 ของธปท.ได้ประเมินภาพรวมของปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินเห็นว่ามี 3 ปัจจัยต้องติดตาม ได้แก่ 1.ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย 2.หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และ3.ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจมีผลต่อความเข้มแข็งกิจกรรมภายในประเทศ ซึ่งส่วนนี้กำลังจับตาพิเศษ คือ สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เริ่มเห็นคุณภาพด้อยลงและความทนทานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) .
กำลังโหลดความคิดเห็น