ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสโตได้ 4% หากคลังเบิกจ่ายเต็มประสิทธิภาพ การบริโภค และความเชื่อมั่นฟื้นตัวปลายไตรมาส 2 ระบุยังเน้นใช้นโยบาย ดบ. แบบผ่อนคลายเพื่อประคองเศรษฐกิจ และเป็นแรงส่ง “จีดีพี” ขยายตัวในระยะต่อไป
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ถึง 4% ตามที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้มองไว้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ภาคการคลังจะต้องเบิกจ่ายได้ดี และเต็มประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และกิจกรรมภาคเอกชนฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 2 หรืออย่างช้าภายในครึ่งปีหลัง
ขณะนี้ ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ ต่างมีฐานะที่ดี และมีความพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกับภาคการอุปโภคบริโภค ที่คาดว่าน่าจะฟื้นตัวเร็ว โดยเฉพาะการจับจ่ายซื้อสินค้าที่ไม่คงทน และอุปโภคบริโภคที่คิดเป็น 75% ของการบริโภคทั้งหมด ยกเว้นสินค้าคงทน อย่างรถยนต์ และบ้านที่จะฟื้นตัวได้ช้า เพราะการกู้ยืมจะต้องใช้เวลาผ่อนชำระนานกว่า 5 ปี
ส่วนภาคการท่องเที่ยว เชื่อว่าจะฟื้นตัวเร็วเช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามาในไทยมักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวประเทศเอเชียที่มีการวางแผนการท่องเที่ยวระยะสั้น ซึ่งเมื่อการเมืองไทยเข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวก็จะกลับมา ขณะเดียวกัน ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ร้อยละ 7 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าปี 2556
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงในประเทศไทยแตกต่างจากต่างประเทศ ทำให้ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนันสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยในบางประเทศจะขยับเพิ่มสูงขึ้นเพื่อดูแลเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน แต่ในระยะยาวแนวโน้มดอกเบี้ยของไทยจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ การแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้น้อยกว่าปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อชะลอลงไม่สูงเท่ากับปีก่อน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องแข่งขันระดมเงินฝากมากนัก ดอกเบี้ยจึงยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับปัจจัยที่น่าจับตามอง คือ หนี้ภาคครัวเรือนที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากผู้มีรายได้น้อย และชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว ที่อาจจะกระทบให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงเพราะสภาพคล่องของครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณลดลงจากการที่มีรายจ่ายจากหนี้สินทางการเงินเพิ่ม รายจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม แต่ยังไม่ได้เป็นสัญญาณที่อันตราย
ส่วนเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย ภายหลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คนใหม่ ออกมาระบุว่า จะสานต่อนโยบายเฟดคนเก่านั้น เชื่อว่านโยบายการเงินของสหรัฐฯ จะมีความต่อเนื่อง และไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ตลาดการเงินอาจจะปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าที่ผ่านมามีการถอนเงินลงทุนออกจากตลาดเกิดใหม่
กรณีเงินไหลออกดังกล่าวก็เป็นไปตามที่เคยคาดการณ์เอาไว้ เพราะในช่วงที่ประเทศพัฒนาแล้วอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ก็มีเงินทุนไหลเข้ามาจนเกินพื้นฐานจึงต้องมีการไหลออกมากกว่าปกติ แต่เชื่อว่าในระยะยาวเงินทุนต่างชาติจะยังกลับเข้ามาลงทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว