xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด “โอบามา” เสนอชื่อ “เยลเลน” นั่งเก้าอี้ประธานเฟดคนใหม่ สานต่อกระตุ้น ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





เอเอฟพี/เอเจนซี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อวันพุธ (9) เสนอชื่อ เจเน็ต เยลเลน นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คนถัดไป แทน เบนเบอร์นันกี ที่จะหมดวาระในต้นปีหน้า ขณะที่เจ้าตัวลั่นต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น เพื่อเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไม่ให้ร่วงสู่วิกฤตเหมือนช่วงปี 2008

เยลเลน วัย 67 ปี จะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้คุมบังเหียนธนาคารกลางสหรัฐฯ และมีการคาดหมายอย่างกว้างขวางว่าเธอจะยังคงมุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อไปจนกว่าตัวเลขคนว่างงานจะปรับลดลงมา ในแนวทางเดียวกับนายเบอร์นันกี “แรงงานและครอบครัวคนสหรัฐฯจะเป็นผู้ชนะด้วยเจเน็ต” โอบามากล่าวในงานหนึ่งที่ทำเนียบขาว ขนาบข้างด้วยนางเยลเลนและนายเบอร์นันกี

นายโอบามา ยังยกย่องนางเยลเลน ด้วยว่ามีคุณสมบัติพิเศษสำหรับสิ่งที่เขาเรียกว่าหนึ่งในงานที่สำคัญสุดในโลก “เธอคือผู้นำที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว เธอหนักแน่นแข็งแข็ง และนั่นไม่ใช่แค่เพราะเธอมาจากบรู๊คลินเท่านั้น” โอบามาอ้างถึงกรณีที่เธออเป็นสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดคนแรกๆ ที่เล็งเห็นว่าปัญหาในภาคการเงินเมื่อปี 2007 จะนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ “เธอเรียกร้องมันราวกับเล็งเห็นมันล่วงหน้า”

เยลเลน เป็นหนึ่งในบรรดานักเศรษฐศาสตร์สายพิราบ ที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่กังวลมากนักกับปัญหาเงินเฟ้อเช่นเดียวกับเบอร์นันกี เธอมีประสบการณ์ทำงานกับเฟดมานานนับสิบปี และดำรงตำแหน่งรองประธานเฟดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้หากผ่านการรับรองจากวุฒิสภา เยลเลน จะถือเป็น ประธานหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเฟด

รองประธานหญิงของเฟดกลายเป็นตัวเต็งที่มีความเป็นไปได้สูงสุด หลังจากอดีตรัฐมนตรีคลัง ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ประกาศถอนตัวจากการชิงเก้าอี้ประธานเฟดคนต่อไป เนื่องจากเผชิญแรงต่อต้านหนักจากทั้ง ส.ว.เดโมแครต และรีพับลิกัน

ซัมเมอร์ส ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลโอบามาสมัยแรก ถูกวิจารณ์ว่ามีแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ไม่ยืดหยุ่นนัก สมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลประธานาธิบดี บิล คลินตัน และว่ากันว่ามีบุคลิกที่สร้างความรำคาญต่อคนรอบข้าง
โอบามา(กลาง) แถลงถึงการเสนอชื่อนางเจเน็ต เยลเลน ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯคนใหม่(ซ้ายสุด) โดยมีนายเบน เบอร์นันกี ประธานเฟดคนปัจจุบันยืนอยู่ข้างๆ
ในทางตรงกันข้าม เยลเลน กลับได้รับเสียงสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์กว่า 500 คนที่เข้าชื่อรับรองว่า เธอเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดคนแรกๆ ที่เล็งเห็นว่า ปัญหาในภาคการเงินเมื่อปี 2007 จะนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

ทั้งนี้นางเยลเลน กล่าวในวันพุธ (9) หลังจากได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดโดยโอบามา ว่าธนาคารกลางแห่งนี้จำเป็นต้องทำงานมากขึ้นเพื่อดึงเศรษฐกิจให้ถอยห่างจากปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนเมื่อครั้งปี 2008 “เราจำเป็นต้องทำมากกว่านี้ในการทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะพวกที่ได้รับผลกระทบหนักหน้วงจากภาวะถดถอยรุนแรง (Great Recession)เธอกล่าวตอบรับการเสนอชื่อของนายโอบามา”

“อาณัติของธนาคารกลางก็คือรับใช้ประชาชนอเมริกาทุกคน และยังมีอเมริกันชนอีกมากที่ยังหางานไม่ได้และกังวลว่าจะหาเงินมาจ่ายหนี้ค้างชำระและจุนเจือครอบครัวอย่างไร ในเรื่องนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯสามารถช่วยเหลือ หากสามารถทำงานได้อย่างเห็นผลที่แท้จริง“ เธอกล่าว

นางเยลเลน ทำงานกับเฟดมากว่า 12 ปี โดยเธอเริ่มต้นจากตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ จากนั้นก็นั่งในคณะผู้ว่าการอยู่สามปี และในปี 2004-2010 ก็ไปรับหน้าที่ผู้ว่าการเฟดสาขาซานฟรานซิสโก จนกระทั่งเมื่อปี 2010 เธอได้เข้ามาทำหน้าที่เคียงข้างนายเบอร์นันกีในตำแหน่งรองประธานเฟด และคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน

เธอถือกำเนิดในนิวยอร์ก จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ และได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยล เคยเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ และมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ สมรสกับเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ “นายจอร์จ อะเคอร์ลอฟ” ทั้งยังเป็นมารดาของศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ “นายโรเบิร์ต อะเคอร์ลอฟ” ด้วย

เธอใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจพรรคเดโมแครตมาอย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เมื่อประธานาธิบดีบิล คลินตัน เสนอชื่อเธอเป็นคณะกรรมการเฟดในปี 1994 และเป็นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจระหว่างปี 1997-1999

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับโอกาสการเป็นประธานเฟดของนางเยลเลน เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2009 เมื่อนายเบอร์นันกีใกล้หมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานเฟดสมัยแรก ชื่อของนางเยลเลนโดดเด่นขึ้นมาในฐานะประธานคนต่อไป แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาอย่างมาก นายเบอร์นันกีจึงยังคงกุมบังเหียนเฟดต่อเนื่อง

นับแต่นั้นนางเยลเลนกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดของนายเบอร์นันกีในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน และช่วยคงนโยบายเฟดที่มุ่งมั่นจัดการกับอัตราการว่างงานสูงมากกว่าอันตรายจากเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้น โดยกล่าวว่าการลดการว่างงานควรเป็นศูนย์กลางของนโยบาย
กำลังโหลดความคิดเห็น