xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นวัน “มะม่วงหล่น” “ปู”ขาหัก 3มี.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**เมื่อมีการยุบสภาคณะรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งไป แต่เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความต่อเนื่อง จึงต้องให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เราเรียกกันง่ายๆว่า “คณะรัฐมนตรีรักษาการ”มีหน้าที่จำกัดตามมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ความข้างต้นมี 2 ประเด็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ
ก. ประเด็นเรื่อง“คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไป”โดยเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญคือ ให้นโยบายต่างๆ ที่รัฐมนตรีชุดรักษาการดำเนินการอยู่ขณะยุบสภานั้นต้องหยุดลงทันที เช่น โครงการจำนำข้าว หรือแทปเล็ตเด็กนักเรียน เป็นต้น ต้องหยุดลงรอจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เขามาจัดการต่อไปเพราะนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อาจจะต่างกัน รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติไว้มิให้คณะรัฐมนตรีรักษาการทำอะไรที่ผูกพันเป็นภาระคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
ข. ประเด็นเรื่อง “คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่”กรณีนี้ ถ้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตั้งไม่ได้ จะต้องใช้เวลานานเท่าใดในการรักษาการ โดยเฉพาะการเลือกตั้งคราวนี้มีปัญหา ไม่สามารถได้ ส.ส.ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนด จนมองไม่เห็นทางที่จะได้นายกรัฐมนตรีใหม่ เช่นนี้การรักษาการของคณะรัฐมนตรีจึงถูกยึดเป็นประเด็นออกมาแสดงความคิดเห็นกันในมวลหมู่นักวิชาการรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง ซึ่ง พอสรุปได้เป็น 2 ความเห็น คือ
1. ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าไม่มีกฎหมายให้สิ้นสุดการรักษาการของคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ จึงสามารถรักษาการได้ตลอดไป
2.ความเห็นของฝ่ายที่เป็นกลาง เห็นวาแม้ไม่มีกฎหมายแสดงไว้ว่า การรักษาการต้องสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่การรักษาการตลอดไปจะกระทำไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญกำกับเป็นขั้นตอนให้คณะรัฐมนตรีรักษาการปฏิบัติ หากปฏิบัติไม่ได้ ก็สิ้นสุดลงทั้งหมดอำนาจโดยไม่ต้องมีกฎหมายอื่นมาแสดงไว้อีก
สืบเนื่องจากความเห็นของนักวิชาการรัฐธรรมนูญทั้ง 2ฝ่ายดังกล่าว จึงต่างก็ยกรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ มาเป็นข้ออ้างด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีการยุบสภาองค์กรรัฐธรรมนูญ ย่อมมีหน้าที่ความรับผิดชอบ และต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่กำกับไว้ โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะละเมิดรัฐธรรมนูญไม่ได้
เมื่อมีการประกาศให้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป หน้าที่รับผิดชอบการเลือกตั้งเป็นของ กกต. เป็นผู้รับผิดชอบจัดการการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.ตามจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะหลังวันเลือกตั้งแล้ว 30 วัน คณะรัฐมนตรีต้องเสนอ พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก เพื่อให้ผู้แทนราษฎรมาประชุมร่วมกัน ตามมาตรา 127 ซึ่งการประชุมรัฐสภาครั้งแรก มีการประกอบ “รัฐพิธี”ปรากฏตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 128 นอกจากนี้ การทำ”รัฐพิธี” แล้ว 30 วัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต้องให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อันเป็นหน้าที่สำคัญที่คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องดำเนินการ
ผมขอแสดงความคิดเห็นร่วมด้วยต่อกรณีการรักษาการของคณะรัฐมนตรี ว่าจะมีวันสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะผมเห็นว่ากฎหมายรัฐธูรรมนูญนั้น เป็นกฎหมายของประชาชน หรือเป็นกฎหมายมหาชนนั้นเอง ศักดิ์ของมาตราต่างๆที่บัญญัติไว้ ย่อมเท่าเทียมกันทุกมาตรา องค์กรใด หรือผู้ใดมีหน้าที่ปฏิบัติการอย่างใดตามรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติให้ได้ โดยไม่มีข้อยกเว้น
**ถ้าไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ได้ คือขัดรัฐธรรมนูญ
เรื่องการเลือกตั้ง กับการขอออก พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. และเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการ แยกกันเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลการใช้อำนาจกำกับอีกฝ่ายหนึ่งให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เสร็จสิ้นตามรัฐธรรมนูญกำหนด หากมีเหตุขัดข้องในการปฏิบัติ จนไม่อาจปฏิบัติได้ จะอ้างว่าฝ่าย กกต.เลือกตั้งไม่เสร็จ ไม่ได้
**จากปัญหาทั้ง 2 ปัญหา มีทางออกอยู่แล้ว แต่วันนี้ขอเสนอความคิดเห็นเพียงเรื่องเดียวคือ มะม่วงจะหล่นวันไหนเท่านั้น จึงขอสรุปจากสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า
คณะรัฐมนตรีได้สิทธิการรักษาการตาม มาตรา 181 ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127,128 โดยขอออก พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกเพื่อให้ ส.ส. มาประชุมร่วมกัน รวมทั้งการทำรัฐพิธี แต่ดูเหมือนว่าการปฎิบัติหน้าที่ของกกต. ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะไม่สามารถกระทำให้เสร็จ ดังที่เกิดปัญหา 2 ปัญหา ที่ได้กราบเรียนข้างต้นแล้ว ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีรักษาการซึ่งมีหน้าที่ออก พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก เพื่อทำรัฐพิธีด้วยนั้น ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถึงแม้เป็นที่คาดหมายไว้แล้วว่า การมาประชุมร่วมกันของส.ส. จะไม่ทำให้เกิดเป็นสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะส.ส. ไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากไม่ปฏิบัติ ก็เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ
ผมเห็นว่าการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกรอบเวลากำหนดไว้ชัดเจน ให้กกต. จัดการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ95 ของจำนวนทั้งหมด เพื่อที่จะได้มาประชุมร่วมกันเป็นสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญภายในไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และการปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ที่จะต้องทำรัฐพิธีให้ได้ ตามมาตรา 128 ไม่เกิดขึ้น ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2557 ต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จึงสิ้นความชอบธรรม สิ้นสุดการรักษาการ โดยไม่ต้องมีกฎหมายอื่นกำหนด
** ดังนั้นวันมะม่วงหล่นให้อำนาจอธิปไตยตกมาสู่ปวงชนชาวไทย เพื่อใช้อำนาจทางตรง นับจากวันที่ 4 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป การใช้อำนาจทางตรงของปวงชนชาวไทย จะดำเนินการอย่างไร ผมจะแสดงความคิดเห็นครั้งต่อไปร่วมกับเพื่อนครั้งหน้า

ประเกียรติ นาสิมมา
กำลังโหลดความคิดเห็น