xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายจากวอชิงตันถึงกำนันสุเทพ

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

7313 Walnut Knoll Drive
Springfield, Virginia 22153, USA

7 กุมภาพันธ์ 2557

เรียน กำนันสุเทพที่เคารพยิ่ง

ขอถือวิสาสะเรียกคุณสุเทพแบบคนคุ้นเคยกันว่า “กำนัน” ตามมวลมหาประชาชนคนไทยนับล้านที่เรียกคุณอยู่ในปัจจุบันนี้แม้เราจะเคยพบกันเพียงครั้งเดียวก็ตาม ผมไม่หวังว่ากำนันจะจำได้ว่าเราพบกันที่ไหนเพราะผมมิได้มีความสำคัญและกำนันพบคนสำคัญๆ นับล้านในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

ขอเรียนว่า เราพบกันที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 อันเป็นตอนที่ผมมาขึ้นเวทีของ กปปส.ต่างกับผู้มาขึ้นเวทีนั้นส่วนใหญ่ผมมิได้ใช้กล้องของตัวเองบันทึกภาพคู่กับกำนันไว้เข้าใจว่าน้องบางคนถ่ายไว้แต่คงไม่ได้ส่งให้ผมเพราะเขามีงานกันเป็นเล่มเกวียนไม่เป็นไร กำนันเชื่อผมก็แล้วกันว่าผมมาที่นั่นในคืนนั้นและพบกำนันจริง

ต่อมาผู้จัดรายการบนเวทีอนุสาวรีย์ฯ ได้โทร.ไปหาผมให้มาร่วมวงเสวนา แต่ผมจำใจต้องปฏิเสธเพราะเนื้อหาของการเสวนาดูไม่น่าจะครอบคลุมประเด็นที่ผมมีความเจนจัดตั้งแต่นั้นมา เขามิได้โทร.หาผมอีกผมจึงไปร่วมให้ความรู้ด้านวิชาการเฉพาะที่เวทีผ่านฟ้าและเวทีสนามม้านางเลิ้ง (ภาพ1 และ 2)
(ภาพ 1 เวทีกองทัพธรรม ผ่านฟ้า)
(ภาพ 2 เวที คปท. สนามม้านางเลิ้ง)
ก่อนเขียนต่อไป ขออธิบายเรื่องที่อยู่บนหัวจดหมายที่บ่งชี้ว่าเขียนในอเมริกา ที่อยู่นั้นเป็นเลขบ้านของผมเองครับผมซื้อบ้านในย่านนอกกรุงวอชิงตันหลังนั้นตั้งแต่ครั้งยังทำงานอยู่กับธนาคารโลก แม้จะเกษียณจากงานก่อนกำหนดเวลามากว่า 15 ปีแล้ว แต่ผมยังใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกาเพราะต้องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมการศึกษาในอเมริกาทำได้สะดวกกว่าในเมืองไทยเพราะความพร้อมทางด้านตำรับตำราเอกสารทางวิชาการและข่าวสารข้อมูลผลการศึกษาหาความรู้พิมพ์ออกมาเป็นวิทยาทานหลากหลายอย่างดังที่มีอยู่ในวิกิพีเดียและอินเทอร์เน็ตเมื่อพิมพ์ชื่อของผมเข้าไปในกูเกิ้ล

ผมแบ่งเวลามาอยู่ในเมืองไทยพร้อมกับได้พยายามศึกษาหาข้อมูลที่นี่ปีละ 2 ครั้ง แต่อยู่ในเมืองไทยน้อยกว่าเพราะขอสารภาพตรงๆ ว่าผมไม่มีความอดทนพอ หากอยู่ติดต่อกันเป็นเวลานานความรำคาญอันเกิดจากการมองดูการกระทำที่ไม่เอาไหนของกระบวนการทางการเมืองและนักการเมืองอาจทำให้ผมก่อเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรงได้ผมมองว่าจะอยู่ที่ไหนคงไม่สำคัญนักเนื่องจากหัวใจของผมยังเป็นไทยและงานของผมทั้งหมดอุทิศให้แก่การใช้หนี้แผ่นดินอยู่แล้ว (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ มองเมืองไทย : จากสิบปีของการใช้หนี้แผ่นดิน)

ผมเขียนจดหมายนี้ที่บ้านเพราะผมได้กลับไปอเมริกาหลังจากมาร่วมต่อต้านรัฐบาลฉ้อฉลกับมวลมหาประชาชนอยู่เดือนกว่าแล้วผลัดให้ศรีภรรยามาบ้าง เรามาพร้อมกันไม่ได้เนื่องจากเราอยู่กันเพียงสองคนตายายภายในบ้านหลังนั้นคนหนึ่งจึงต้องอยู่ดูแลบ้านเมื่อคนหนึ่งมาหลังฟังการปราศรัยของกำนันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมทราบว่ากำนันต้องการให้นักวิชาการด้านต่างๆ ระดมสมองกันว่าจะปฏิรูปประเทศอย่างไร แม้จะมิใช่นักวิชาการเช่นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย แต่ผมมองว่าประสบการณ์อันยาวนานในด้านการพัฒนาและผลของการศึกษาดังที่เอ่ยถึงอาจมีประโยชน์บ้าง เมื่อผมมาร่วมด้วยตนเองไม่ได้ จึงส่งจดหมายมาแทน ต้องขออภัยที่ใช้การส่งมาแบบเปิดผนึก

เรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ผมได้เขียนถึงเป็นประจำมาเป็นเวลาหลายปีและในช่วงนี้ได้เขียนถึงบ่อยขึ้นรวมทั้งในคอลัมน์นี้และในคอลัมน์ที่ผมเขียนเป็นประจำในหนังสือพิมพ์อื่น เช่น คอลัมน์ “บ้านเขา-เมืองเรา” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและคอลัมน์ “Outside the Box”ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Postผมจำได้ว่า กปปส. เคยเสนอให้ปฏิรูปใน5 ด้านด้วยกัน นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจ การปราบความฉ้อฉล การปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งและการยกเครื่องสำนักงานตำรวจ

ผมเห็นด้วยที่เราจะต้องปฏิรูป5 ด้านดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการปราบความฉ้อฉลที่อยากจะฝากไว้นั่นคือ แม้อำนาจส่วนใหญ่จะยังตกอยู่ในมือของส่วนกลาง แต่ท้องถิ่นจำนวนมากมักถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของคนมีเงินในท้องถิ่นเหล่านั้น ในหลายๆ กรณีผู้มีเงินเป็นนักการเมืองฉ้อฉลที่มีอิทธิพลเหนือคนที่ส่วนกลางส่งไปเสียอีกทั้งนี้เพราะพวกเขามีโครงข่ายเชื่อมโยงไว้อย่างแนบแน่นกับการเมืองระดับชาติฉะนั้น การกระจายอำนาจอาจทำให้ผู้มีอิทธิพลดังกล่าวผูกขาดทุกอย่างจนไม่มีใครโต้แย้งได้ ความเลวร้ายย่อมตามมา ยิ่งถ้าได้ตำรวจไปไว้ในกำมือด้วย ผู้มีอิทธิพลยิ่งจะทำความฉ้อฉลได้แบบไม่ต้องเกรงใจฟ้าดินและกลายเป็นเจ้าพ่อที่ผูกขาดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จกำนันย่อมจำคำคมของลอร์ดแอคตันนี้ได้ “อำนาจมักฉ้อราษฎร์บังหลวง การกุมอำนาจหมดทั้งปวงย่อมบังหลวงฉ้อราษฎร์” (Power tends to corrupts, and absolute power corrupts absolutely.)

ทางด้านการปราบความฉ้อฉล มีข้อเสนอมากมายจากหลายฝ่ายและจากทุกรัฐบาล แต่เท่าที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจที่บอกว่าจะปราบปรามก็ทำแต่ปาก ยิ่งมาตอนนี้ มีสื่อจำพวกตาเหล่และนักวิชาการสมองกลวงพยายามหลอกลวงประชาชนว่าความฉ้อฉลมิใช่อุปสรรคใหญ่ในการพัฒนา พวกที่เป็นต้นตอ หรือไม่อยากแก้ปัญหายิ่งพากันดีใจ ขอเรียนว่า ความฉ้อฉลเป็นต้นตอของปัญหาสารพัด หากปราบมันไม่ได้ ด้านอื่นแทบไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จองค์กรระหว่างประเทศที่ผมเคยทำงานด้วยยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่ามันเป็นตัวเจ้าปัญหา แต่พวกเขามักไม่ใช้คำว่าฉ้อฉล หากใช้คำว่า ธรรมาภิบาล ผมไม่มีความแตกฉานในด้านนี้ แต่ก็มีโอกาสศึกษามาบ้าง ผลการศึกษาส่วนหนึ่งได้นำมาพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ ไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟ ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของคลังเอกสารสาธารณะ www.openbase.in.th

• ดาวน์โหลด : หนังสือ ไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟ จากเว็บไซต์คลังเอกสารสาธารณะ ได้ตามลิงก์นี้ --> www.openbase.in.th

ตามที่ผมติดตามการเคลื่อนไหวของหลายกลุ่มที่หลอมรวมกันเป็นกระบวนมวลมหาประชาชน มีมากมายหลายคนเสนอให้รวมด้านพลังงานและการปฏิรูปที่ดินเข้าไปในวาระของการปฏิรูปด้วยผมมองว่าสองด้านนี้มีความสำคัญถึงระดับความมั่นคง หรือยุทธศาสตร์ของชาติ จึงควรรับนำไปดำเนินการ

ผมไม่มีความรอบรู้และข้อมูลทางด้านพลังงานมากนักนอกจากได้เคยทำงานกับประเทศที่มีน้ำมันส่งออกมหาศาลและเคยศึกษาวิวัฒนาการของประเทศส่งออกน้ำมันในกลุ่ม “โอเปก” (OPEC ย่อมาจาก Organization of Petroleum Exporting Countries) ผลการศึกษานั้นพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ เล่าเรื่องเมืองน้ำมันเมื่อเดือนมกราคม2545 ซึ่งอาจดาวห์โหลดได้จากเว็บไซต์ของคลังเอกสารสาธารณะเช่นกัน แม้หนังสือเล่มนี้จะพิมพ์ออกมากว่า 12 ปีและข้อมูลหลายอย่างเก่าแล้ว แต่ข้อสรุปบางอย่างยังไม่ล้าสมัย เช่น การมีน้ำมันปริมาณมหาศาลมิใช่พรสวรรค์เสมอไป ในหลายๆ กรณีมันกลับมีผลร้ายจนกลายเป็น “คำสาปของทรัพยากร” (Resource Curse) ตามที่นักวิชาการจำนวนมากสรุปไว้ ในกรณีของประเทศที่อยู่ หรือเคยอยู่ในกลุ่มโอเปก 14 ประเทศ เราจะเห็นว่ากว่าครึ่งมีปัญหายืดเยื้อมานานรวมทั้งอิหร่าน อิรัก แอลรีเรีย ลิเบีย ไนจีเรีย แองโกลา เวเนซุเอลาและเอกวาดอร์

ผู้ที่เสนอให้ปฏิรูปด้านพลังงานดูจะเน้นกันอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ ยึด ปตท.กลับมาเป็นของรัฐทั้งหมดและลดราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงมามากๆ จากระดับปัจจุบัน ผมไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายจึงไม่ขอพูดถึงเรื่องยึด ปตท.ซึ่งคงทำได้และควรทำ จะขอตั้งข้อสังเกตเฉพาะเกี่ยวกับน้ำมันราคาถูกและราคาแพงเท่านั้นว่า ชาวเวเนซุเอลาซื้อน้ำมันชั้นดีได้ในราคาลิตรละประมาณ 35 สตางค์ ใช่แล้ว 35 สตางค์ซึ่งถูกที่สุดในโลก!ราคาแสนถูกแบบนี้มีมานาน พวกเขาจึงผลาญกันแบบไม่อายฟ้าดิน รัฐบาลต้องใช้เงินสนับสนุนปีละมากๆ โดยเมื่อปีที่แล้วใช้ไปถึง 1 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์ ทั้งที่มีน้ำมันอยู่มากที่สุดในโลกและผลิตน้ำมันมานานจนถึงขั้นเคยส่งออกมากที่สุดในโลก แต่เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาล้มลุกคลุกคลานเนื่องจากรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันถูกผลาญจนหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้ เวเนซุเอลาจึงมีคนยากจนถึงราว 1 ใน 3ของจำนวนประชากร

หันมาดูทางด้านประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีน้ำมันเหลือใช้แต่ขายให้ประชาชนด้วยราคาที่มักสูงที่สุดในโลก ในปัจจุบันนี้ราคาอยู่ที่ลิตรละ 90 บาท นอร์เวย์มีน้ำมันน้อยกว่าและค้นพบหลังเวเนซุเอลาหลายสิบปี เขามีนโยบายขายให้ประชาชนในราคาแพงเพื่อประหยัดน้ำมันไว้ใช้นานๆ และออมรายได้ไว้ให้ชนชั้นลูกหลานพร้อมกันไปด้วย เขาออมรายได้นั้นไว้ในรูปของกองทุนมั่งคั่งซึ่งตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์จึงนับว่าเป็นกองทุนน้ำมันที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ยิ่งกว่านั้น ชาวนอร์เวย์อยู่ดีกินดีและแทบไม่มีคนจน

เมืองไทยจะมีน้ำมันเท่าไรเราไม่รู้จริงอยู่ผู้คนส่วนหนึ่งคิดว่ามีปริมาณมหาศาล แต่จะมีเท่าไรคงไม่สำคัญนัก หากนำออกมาขายในราคาถูกๆ และผลาญกันอย่างไม่บันยะบันยังเช่นในบางประเทศ การมีน้ำมันจะมิใช่พรสวรรค์ แต่จะกลับเป็นคำสาปที่ทำให้เมืองไทยล่มจม

ในด้านการปฏิรูปที่ดิน เมื่อพูดถึงด้านนี้ผมมักมีอารมณ์จึงต้องขออภัยล่วงหน้าถ้าประเด็นที่จะพูดถึงต่อไปทำให้ระคายเคืองเนื่องจากผมเกิดในครอบครัวชาวนาที่หาเช้ากินค่ำพ่อแม่พี่น้องของผมก้มหน้าทำมาหากินแบบเอาหลังขึ้นฟ้าเอาหน้าดูดินเช่นเดียวกับชาวนาไทยทั่วไปเมืองไทยมีนโยบายเร่งรัดพัฒนากันมากว่า 50 ปี หลายๆ อย่างจึงก้าวหน้า แต่ชาวนาจำนวนมากยังยากจนขาดที่ทำกินและมีหนี้สินท่วมหัว ทุกครั้งที่ผมมาเมืองไทยและไปเห็นสภาพเช่นนั้นมันเกิดอารมณ์ ไม่ต่างกับตอนเห็นภาพในสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเมื่อไม่นานมานี้ (ภาพ 3 และ 4) หลังจากเร่งรัดพัฒนากันมากว่า 50 ปี นี่หรือคือสภาพของกระดูกสันหลังของชาติ ยังเอาหลังขึ้นฟ้าเอาหน้าดูดินและกินข้าวราดพริกกับเกลือ!!!
(ภาพ 3 จากเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กชื่อ Jen Yappis)
(ภาพ 4 จากเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กชื่อ ออกญาศรีไสยณรงค์)
เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้หลังจากกว่า 50 ปีผ่านไป? ปัจจัยมีหลายอย่าง แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างแท้จริงคือนโยบายในระดับชาติที่ขาดจิตวิญญาณของการจะพัฒนาภาคนี้ให้มีความก้าวหน้าอย่างแท้จริง ชาวนามีค่าเพียงทาสที่ผลิตข้าวเลี้ยงเจ้านายและขายให้ต่างชาติเพื่อนำเงินตรามาสนับสนุนภาคอื่นเท่านั้นชาวนาส่วนใหญ่มักไม่ค่อยทันโลกเพราะโดยทั่วไปไม่ค่อยมีการศึกษามากนักด้วยเหตุนี้จึงมีกระบวนการ หรือนโยบายที่ต้มชาวนามาเป็นเวลานาน การต้มชาวนาครั้งล่าสุดมีความโหดร้ายแบบหลุดโลก มันคือโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด

ผมจะไม่พูดถึงรายละเอียดว่าเพราะอะไรโครงการรับจำนำข้าวจึงมีความโหดร้ายเนื่องจากได้พูดมานานตั้งแต่ก่อนโครงการอันบัดสีนี้จะเริ่มรับจำนำข้าวเมล็ดแรกและในตอนนี้เหตุการณ์และนักวิชาการได้ยืนยันทุกอย่างที่ผมคาดไว้ผมดีใจเมื่อได้ยินว่า หลังขับไล่รัฐบาลรักษาการหน้าด้านสำเร็จ กปปส.จะกดดันให้รัฐบาลใหม่หาเงินมาชำระหนี้ให้ชาวนาทันทีอย่างไรก็ดี ผมมีข้อเสนอต่อไปให้พิจารณาว่า การชำระหนี้นั้นต้องทำพร้อมกันกับการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้เพราะมันเป็นโครงการประชานิยมเลวร้ายถึงขั้นเป็นกระสุนนัดสุดท้ายที่จะตัดขั้วหัวใจของชาติไทยแน่นอน

เมื่อพูดถึงนโยบายประชานิยม ขอเรียนว่าผมเป็นเจ้าเก่าที่พยายามบอกชาวไทยถึงอันตรายของมันมาตั้งแต่วันที่รัฐบาลใหม่เสนอแนวนโยบายในปี 2544 ผมพยายามทำผ่านหลายทางรวมทั้งการเขียนหนังสือชื่อ ประชานิยม: หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย ด้วย (ในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ไม่มีในตลาด ผู้สนใจอาจไปอ่านเรื่องใหม่ชื่อประชานิยม: ทางสู่ความหายนะ) ผมพยายามเตือนชาวไทยเพราะได้เห็นประเทศในละตินอเมริกาต้องใช้บาปกันมานานหลังใช้นโยบายนั้นจนล่มจมโดยเฉพาะอาร์เจนตินาซึ่งครั้งหนึ่งร่ำรวยกว่าแคนาดาและเวเนซุเอลาซึ่งมีน้ำมันมากที่สุดในโลกดังที่พูดถึงแล้ว

ณ วันนี้ คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่านโยบายประชานิยมมีพลังไม่ต่างกับยาเสพติด รัฐบาลนำโดยนายกฯ อภิสิทธิ์และมีกำนันเองเป็นรองนายกฯ จึงไม่ยอมยุตินโยบายเลวร้ายนั้นเมื่อเป็นรัฐบาลในเวลาต่อมา รัฐบาลต่อๆ ไปนอกจากจะต้องไม่เพิ่มโครงการใหม่เข้าไปแล้วยังจะต้องเริ่มยกเลิกหรือลดเนื้อหาของโครงการเก่าๆ เท่าที่จะทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทางสังคมด้วย

สำหรับเรื่องนโยบายในด้านการทำนา ผมมองว่าการปฏิรูปที่ดินจะแก้ปัญหาได้ในหลายมิติ กำนันย่อมทราบดีแล้วว่าประวัติของการพัฒนาบ่งชี้อย่างแจ้งชัดว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ก่อนจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่แนวใหม่และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปสำเร็จต้องปฏิรูปที่ดิน ประเทศในยุโรปทำกันในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นทำในรัชสมัยจักรพรรดิเมอิจิเพื่อพัฒนาการอุตสาหกรรมให้ทันฝรั่งทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันทำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำนันย่อมจำได้ว่า เมื่อกำนันเป็นรองนายกฯ ในช่วงปลายปี 2551 ถึงกลางปี 2554 นั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการชุดนั้นได้เสนอแนวการปฏิรูปที่ดินไว้ในรายงานแล้ว (ภาพ 5) ฉะนั้น รัฐบาลใหม่จะนำไปต่อยอดได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลามาเริ่มต้นกันใหม่ให้เสียเวลาอีกครั้ง

ในด้านการปฏิรูปที่ดินนี้ ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งซึ่งมาจากการได้เคยอาศัยอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์และติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดของพลังประชาชนที่โค่นเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส เมื่อปี 2529 กำนันย่อมทราบดีว่ามาร์กอสมีความเลวร้ายคล้ายกับนายกฯ ไทยที่นำนโยบายประชานิยมเข้ามาเมื่อปี 2544 ทั้งคู่มีความฉ้อฉลปนความโหดร้ายคล้ายฮิตเลอร์พอๆ กันการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนในเมืองไทยมีส่วนคล้ายกับการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนในฟิลิปปินส์ แต่หลังจากโค่นมาร์กอสได้รัฐบาลใหม่ไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้ส่งผลให้ฟิลิปปินส์ต้องล้มลุกคลุกคลานจนได้สมญาว่าเป็น “คนป่วยของแห่งเอเชีย”(Sick Man of Asia)

ปัจจัยที่ทำให้การปฏิรูปของฟิลิปปินส์ล้มเหลวมีหลายอย่าง แต่มีปัจจัยสำคัญอันหนึ่งซึ่งแทบไม่มีการพูดถึงกัน นั่นคือ ผู้นำพลังประชาชนที่โค่นมาร์กอสและต่อมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมีที่ดินจำนวนมากไว้ในครอบครองทั้งในนามของครอบครัวและของตัวเองเมื่อเธอและครอบครัวไม่เต็มใจที่จะรวมที่ดินนั้นเข้าไปในโครงการปฏิรูปที่ดิน ทุกอย่างก็พังครืนลงมา เรื่องนี้จึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับการปฏิรูปเมืองไทยตามข้อมูลที่ปรากฏ ชนชั้นผู้นำของไทยส่วนใหญ่รวมทั้งนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นมีที่ดินอยู่ในครอบครองคนละมากๆ หากผู้นำและผู้มีบทบาทในการปฏิรูปประเทศไม่ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน การปฏิรูปจะไม่มีทางสำเร็จ นั่นหมายความว่าเมืองไทยจะเสียโอกาสทองไปอีกครั้ง
(ภาพ 5)
พูดถึงเรื่องโอกาส เราพลาดครั้งสำคัญมาอย่างน่าเสียดายหลังการเลือกตั้งปี 2544 ทั้งนี้เพราะเราได้นายกรัฐมนตรีที่มีความรอบรู้ทันโลกพร้อมกับมีเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ทั้งจากมวลชนทั่วไปและในรัฐสภา แต่น่าเสียดาย ที่เขามิได้ใช้โอกาสนั้นทำงานเพื่อประเทศชาติ หากตั้งหน้าตั้งตาฉ้อฉลเพื่อความร่ำรวยของตนและพวกพ้อง ทั้งที่มีโอกาสเป็นรัฐบุรุษ แต่เขามองไม่เห็นเพราะกิเลสปิดตาปิดใจส่งผลให้เมืองไทยเสียโอกาสทองไปด้วย การเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนครั้งนี้คงจะมีได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ขอบคุณกำนันที่ทุ่มเทให้กับการเป็นผู้นำ หากการเคลื่อนไหวนำไปสู่การยกเครื่องประเทศสำเร็จ กำนันจะได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษแน่นอน

ก่อนจบจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมอยากฝากไว้ให้พิจารณา การศึกษาหาความรู้ของผมที่อ้างถึงข้างต้นครอบคลุมไปถึงประวัติของการพัฒนาและการเสื่อมคลายจนถึงล่มสลายของสังคม ผมได้นำเอาความรู้ในส่วนนั้นมาใช้อ่านการพัฒนาของเมืองไทย ผลปรากฏออกมาว่าแนวโน้มบางอย่างอาจสร้างปัญหาหนักหนาสาหัสให้กับประเทศได้ ผมจึงนำมาเสนอไว้ในหนังสือชื่อสู่จุดจบ! The Coming Collapse of Thailand เมื่อต้นปี 2549 ผมอ่านว่าปัจจัยหนึ่งซึ่งจะทำให้เมืองไทยต้องเผชิญกับปัญหาหนักหนาสาหัสได้แก่นโยบายของรัฐบาลและพฤติกรรมของผู้นำในช่วงนั้น ข้อสรุปแบบตรงๆ คงทำให้ลิ่วล้อของผู้นำไม่พอใจ จึงมีคำสั่งให้ปิดกั้นการจำหน่ายหนังสือ สำนักพิมพ์เล็กๆ ไม่สามารถอ้าปากได้ ต้องยอมรับการขาดทุนไปเต็มๆ

หลายปีต่อมา ทาง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ได้นำมาขึ้นเว็บไซต์ให้ผู้สนใจและใฝ่รู้ได้เขาถึง สาธุชนจึงมีโอกาสได้อ่าน เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวว่าเวที กปปส.ปทุมวันก็ได้นำบางส่วนไปปันกับมวลมหาประชาชนหากกำนันต้องการให้คณะทำงานไปอ่านเพื่อนำมาพิจารณาประกอบกรอบการพัฒนาประเทศ อาจบอกให้เขาเข้าไปดาวน์โหลดที่เว็บไซต์นี้ http://205.196.121.180/77rmkwh63z9g/7r8v52ggq7g5d72/The+Coming+Collapse+of+Thailand+-+สู่จุดจบ%21.pdf อย่างไรก็ดี หากต้องการฉบับที่พิมพ์เป็นกระดาษ อาจให้เขาติดต่อกับสำนักพิมพ์ได้ที่ ohmygod.books@gmaill.com

อนึ่ง ประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาและการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของผมพอสรุปได้ว่า การพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักแบบตลาดเสรีที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นตัวขับเคลื่อนนั้นทำต่อไปไม่ได้แล้วแต่ไม่มีเศรษฐกิจระบบไหนจะเข้ามาแทนที่ระบบตลาดเสรีได้เนื่องจากมันเป็นระบบเดียวที่มีฐานอยู่บนสัญชาตญาณเบื้องต้นของคนเรา 2 ประการ นั่นคือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่เมื่อมีอะไรเหลือกินเหลือใช้ก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน และเราต้องการมีอิสระที่จะทำอะไรๆ ได้อย่างเสรี เนื่องจากโลกใบนี้มีทรัพยากรจำกัด เราจึงมิอาจบริโภคเพิ่มขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้งได้ ฉะนั้น การพัฒนาต่อไปจึงต้องใช้ระบบตลาดเสรีที่มีการจำกัดการบริโภคให้อยู่ในขอบเขต หรือมีความเพียงพอและพอเพียงจะทำอย่างไร ผมได้เสนอไว้ในหนังสือ 2 เล่มแล้ว (ภาพ6 และ 7)

ย้อนไปเมื่อสมัยกำนันเป็นรองนายกฯ ผมได้มอบหนังสือทั้งสองเล่มให้แก่รัฐมนตรีกรณ์และถาวรพร้อมกับได้ขอความกรุณาให้นำชุดหนึ่งไปมอบให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ผมไม่คิดว่าหนังสือจะมีความสำคัญถึงกับจะได้รับการเปิดอ่านโดยคนชั้นรัฐมนตรี แต่หนังสือยังพอมีอยู่บ้างหากกำนันต้องการให้ใครนำไปพิจารณา ผมจะหาทางส่งมาให้ หรือจะให้นำออกมาจากเว็บไซต์ก็ได้ เรื่อง สู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน ซึ่งบริษัทโอเรกอนอลูมีเนียม จำกัด จัดพิมพ์เป็นวิทยาทานอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ สโมสรหนอนหนังสือwww.bookishclub.com ส่วนเรื่อง ทางข้ามเหว : แนวคิดสำหรับแก้วิกฤติไทย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากรจัดพิมพ์และอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ มูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org

ขอขอบคุณกำนันอีกครั้ง ทั้งในนามตัวเองและในนามคนไทยในย่านกรุงวอชิงตันที่มีจิตวิญญาณเป็นไทยในแนวเดียวกับผมเราพยายามสนับสนุนการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนตามที่เราทำได้และมีความห่วงใยเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เสียสละออกมาร่วมทั้งโดยตรงและผ่านปัจจัยสนับสนุนเราขอกราบขอบคุณและหวังว่าทุกคนจะปลอดภัยอีกไม่นานเราคงจะได้มีโอกาสร่วมกันยกเครื่องประเทศ

ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
ไสว บุญมา
(ภาพ 6)
(ภาพ 7)
กำลังโหลดความคิดเห็น