xs
xsm
sm
md
lg

TDRI ชี้กองทุนมั่งคั่งหมกเม็ด-รัฐบาลถังแตก เล็งใช้เงินอุ้มจำนำข้าว-ขับเคลื่อน 2.2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


TDRI ชำแหละแผนตั้งกองทุนมั่งคั่ง ชี้ด้วยสถานะไม่เหมาะสม เพราะเงินทุนสำรองของไทยไม่ได้เกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ตลอด แต่เกิดจากเกินดุลในอดีต-เงินทุนนอกไหลเข้าซื้อหุ้น-แบงก์ชาติแทรกแซงเงินบาท พร้อมเผยแผนรัฐเตรียมใช้เงินกองทุนฯ ดัน “2 ล้านล้าน-จำนำข้าวรอบใหม่” แก้วิกฤตบริหารเศรษฐกิจเหลวเท่านั้น แถมมีแนวโน้มดึงทุนสำรองฯ ออกมาเติมต่อเนื่องก๊อกสอง ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” มีทางเลือกอื่นด้วยการปรับโครงสร้างภาษีดีกว่าใช้เงินทุนสำรอง!

เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า เวลานี้ ถือเป็นเวลาที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การชี้นิ้วสั่งของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในช่วงอีหลักอีเหลื่อที่สุด และต้องรีบพลิกหาทางแก้ปัญหาการบริหารภาคเศรษฐกิจของประเทศที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะโครงการประชานิยมต่างๆ ที่รัฐบาลทุ่มลงไปอย่างสุดตัว แต่ไม่ได้ส่งผลกลับมากระตุ้นภาคเศรษฐกิจให้หมุนเวียนดังที่คาดไว้ ซ้ำร้ายที่สุดรัฐบาลกำลังตกอยู่ในช่วง “ถังแตก” สุดๆ

จะเลิกโครงการประชานิยมที่ตัวเองผลักดันมาอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้ เพราะกลัวการต่อต้านจากฐานเสียง โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินในโครงการนี้ไปแล้วกว่า 7.5 แสนล้านบาท และมีตัวเลขขาดทุนที่ชัดเจนไปแล้ว 2 แสนกว่าล้านบาท หรือโครงการรถคันแรกที่เป็นอำนาจซื้อเทียม คนชั้นกลางที่กำลังซื้อไม่พอซื้อรถมาใช้ไม่นานก็ขาดส่งชำระไปจำนวนไม่น้อย หรือโครงการค่าแรง 300 บาทที่รวมกับราคาพลังงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้ราคาข้าวของก็เลยแพงหูฉี่ ค่าครองชีพสูงปรี๊ด ส่วนนโยบายสนับสนุนให้ประชาชน “กู้” ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลสมัยแรก ตอนนี้ก็อยู่ที่ผลของมันที่ฟ้องจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงมากถึง 80%

หากจะยกเลิกนโยบายประชานิยม ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ก็เป็นเรื่องที่ส่งผลเสียต่อคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทย ดังนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงจำเป็นต้องหาเงินก้อนโตเข้ามาขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่ประกาศไปแล้วโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวปี56/57 จำนวน 2.7 แสนล้านบาท รวมไปถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท

ทุกอย่างจึงต้องพุ่งเป้าไปแบงก์ชาติเพื่อนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ โดยมีแก้วสารพัดนึกอย่าง ดร.อำพล กิตติอำพล ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด ธปท.) เป็นผู้จุดประกายการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อีกทั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรหรือไม่ที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ ขณะที่ประชาชนคนไทยมีความเสี่ยงต่อภาระหนี้ครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร? ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายประเด็นดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน!

การจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งของทั่วโลก

ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า SWF (Sovereign Wealth Fund) เป็นกองทุนที่ควรจัดตั้งในกรณีที่ประเทศมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว

เมื่อไปศึกษากองทุน SWF ในต่างประเทศ ก็จะเห็นได้ชัดว่า ประเทศต่างๆ ที่ตั้ง SWF ขณะนี้ทั่วโลกมีประมาณ 20-30 ประเทศ เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มๆ แล้วจะเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะอยู่ 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่มีเงินไหลเข้าประเทศจำนวนมากและต่อเนื่อง ถือว่าเป็นประเทศที่มีการเกินดุลเดินสะพัดอยู่เสมอ ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เช่น ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต

“มักจะตั้งในช่วงที่ราคาน้ำมันค่อนข้างสูง ก็ได้กำไรเข้าประเทศค่อนข้างเยอะ แถมมองไปข้างหน้าก็คงจะกำไรต่อไปเรื่อยๆ ก็อยากเอาเงินที่ว่ามาทำประโยชน์ พอได้กำไรเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็มองว่าจะเอาเงินไปทำอะไร แล้วลงทุนในประเทศก็มีช่องทางในการลงทุนน้อย ส่วนใหญ่ก็เลยไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ”

และกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมัน แต่เป็นประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่เสมอ ทำให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก ได้แก่ สิงคโปร์ และจีน

ทั้งนี้ ทั้ง 2 กลุ่มจะเน้นการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ ไม่เน้นการลงทุนในประเทศ เพราะต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศเป็นสำคัญด้วย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลงทุนต่างประเทศ 90% ในประเทศเพียง 10%

ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และไทยไม่ใช่ประเทศที่เกินดุลสะพัดอยู่ตลอด !

“หลังต้มยำกุ้งเราเคยเป็นพักหนึ่ง เราเกินดุลเดินสะพัดต่อเนื่องมาสัก 10 ปี แต่ 2-3 ปีมานี้ไม่ใช่ เพราะโอกาสขาดดุลเรามีสูงและเมื่อมองไปข้างหน้าก็มีโอกาสขาดดุลเดินสะพัดสูงอยู่ โดยเฉพาะงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท เมื่อนำมาใช้แล้ว เราจะมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก เรื่องน้ำมันถ้าราคาขึ้น เราก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะเราเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ไปดูสินค้าเกษตร ทั้งข้าว และยาง ก็มีแนวโน้มราคาตกต่ำ ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เราส่งออกมากก็จริง แต่นำเข้าก็มากด้วย จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเกินดุลเดินสะพัดในอนาคตอันใกล้นี้ คาดหวังไม่ได้”

แม้ในปัจจุบันหลายคนจะเห็นว่าประเทศไทยมีทุนสำรองสูง แต่ก็ยังไม่สามารถด่วนสรุปเช่นนั้นได้ เพราะทุนสำรองที่มีอาจหดหายไปได้อย่างรวดเร็วด้วย ดังนั้นการจัดสรรทุนสำรองในปัจจุบันมาเป็น SWF จึงต้องระมัดระวังอย่างสูง หากจะมีการจัดสรรจริงก็ไม่ควรเป็นจำนวนมาก และควรมีกติกาในการใช้เงิน การบริหารเงินอย่างมืออาชีพ

“เหตุผลของคนอยากตั้ง SWF นั้น ก็จะโยงว่า เพราะเรามีทุนสำรองอยู่สูง ก็คล้ายข้อ 2 ที่มีเงินบัญชีเดินสะพัดเราเกินดุล ก็คือทำให้ประเทศที่เกินดุลเดินสะพัดมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง แต่ทุนสำรองที่สูงของไทยไม่ได้มั่นคงนัก”

โดยทุนสำรองที่สูงของไทยมาจาก 2 สาเหตุคือ ไทยมีบัญชีดุลสะพัดเกินดุลอยู่ช่วงหนึ่งประมาณ 10 ปีก็มีการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศ และไทยมีการลงทุนไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ที่ไม่ใช่จากดุลบัญชีเดินสะพัด เช่นมาลงทุนในตลาดหุ้น เรียกว่าเป็น Capital Account (บัญชีทุน) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่ง และยังมีอีกส่วนหนึ่งคือการแทรกแซงค่าเงินของแบงก์ชาติที่ป้องกันไม่ให้เงินบาทผันผวนเกินไป ด้วยการขายเงินตราต่างประเทศที่ถืออยู่ออกไปเพื่อไม่ให้เงินบาทอ่อนค่า และ/หรือ รับซื้อเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป ซึ่งก็ทำให้มีการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศ

“ถ้าเป็นแบบนี้ หากเกิดเงินมา 2 แบบนี้ควรจะตั้ง SWF หรือไม่ ตรงนี้ไม่ชัดแล้ว เพราะการเกินดุลแบบ Capital Account โดยลักษณะจะเป็นแบบเข้าๆ ออกๆ ช่วงนี้อาจจะเข้า ต่อไปอาจจะออกก็ได้ 2-3 ปีหลังนี้เห็นได้ชัดว่ามันออกอยู่ตลอด ดังนั้นไม่ได้การันตีว่าทุนสำรองจะอยู่สูงต่อไป ไม่เหมือน Current Account (ดุลบัญชีเดินสะพัด) อย่างจีน สิงคโปร์ ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่จะดำรงสภาวะอย่างนี้ได้ตลอด”

ถ้าสูงแบบที่ว่า ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีของการมี SWF!

เมื่อดูเหตุผลของการตั้ง SWF ขึ้นมาประกอบด้วยแล้วนั้น คือ ต้องการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวนมากนั้น ออกมาหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้นในการลงทุน และบางประเทศต้องการคุมเงินเฟ้อในประเทศ เพราะถ้าเงินเข้ามา ถ้าไม่จัดสรรไปลงทุนต่างประเทศ ก็จะไปเพิ่มเงินในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นได้ จึงต้องมีการควบคุมปริมาณเงิน

ดร.สมชัยกล่าวว่า สมมติมีการตั้ง SWF คำถามคือตั้งแล้วจะเอาเงินไปทำอะไร ไปลงทุน ลงทุนที่ไหน ส่วนใหญ่ต่างประเทศที่ตั้ง SWF จะลงทุนต่างประเทศเป็นหลัก ทั้ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือสิงคโปร์ ที่ลงทุนต่างประเทศ 90% ลงทุนในประเทศแค่ 10% ส่วนจีนลงทุนต่างประเทศ 50-50% บางประเทศอย่างมาเลเซีย และรัสเซียที่ลงทุนในประเทศเป็นหลัก แต่ไซส์ของกองทุนของเขาก็เล็กมาก คืออย่างรัสเซีย กองทุนเขามีขนาด 2 แสนล้านเมื่อปี 2008 ขณะที่มาเลเซียมีขนาดกองทุนแค่ 1 แสนล้านบาท

“เพราะฉะนั้นก็ต้องถือว่าการลงทุนในประเทศเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยเขาทำกัน ประเทศอื่นไม่ทำเลย ซึ่งอันนี้ก็ต้องดูว่า ในแง่หนึ่งมันผิดวัตถุประสงค์ ตั้งมาเพราะรู้สึกว่าเงินเรามีเยอะเกิน และก็มีความเสี่ยงที่จะเก็บไว้ คือเพิ่มเงินเฟ้อในประเทศ ก็ต้องเอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ”

ดังนั้นถ้าจะลงทุนในประเทศ ต้องได้ผลตอบแทนสูง และไม่เสี่ยง หรือเสี่ยงบ้างแต่กองทุนมั่งคั่งนี้จะต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป อย่างที่มีการนำเสนอข่าวว่าจะมีขนาด 3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนตัวแล้วก็ยังเห็นว่าเป็นขนาดกองทุนที่ใหญ่เกินไป กองทุนมั่งคั่งที่จะตั้งควรมีไซส์เล็กกว่านั้น และในการลงทุนก็ควรเน้นการลงทุนที่คุ้มค่า

“ยิ่งลักษณ์” ตั้ง SWF เพราะรัฐบาลถังแตก?

ก็ต้องบอกว่าประเทศไทยตอนนี้มาแปลก คือต้องการตั้ง SWF ขึ้นมาเพราะว่ารัฐบาลถังแตก?

“ที่ได้ข่าวมาคือจะมีการไปลงทุน โครงการกู้ 2 ล้านล้าน เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ถ้ารัฐบาลบอกบริหารไม่เสี่ยงก็ได้ เพราะเป็นโครงการของรัฐบาล ถ้ามีปัญหาขึ้นมารัฐบาลก็ต้องไปเก็บภาษีไปจ่าย SWF แต่ถ้าจะบอกเอา SWF มาเพื่อเป็นแหล่งเงินให้โครงการ 2 ล้านล้าน SWF จะขาดทุนก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ใช่เงินของฉัน ตรงนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเงินทุนสำรองทุกบาททุกสตางค์ต้องมีเหตุมีผล เพราะแบงก์ชาติต้องไปซื้อมา ไม่ใช่ได้มาฟรีๆ ไม่ควรจะชักดาบ”

ดร.สมชัยระบุว่า ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าไม่ชักดาบ ก็ต้องแน่ใจว่าหากมีปัญหาเกิดขึ้น รัฐบาลต้องหาเงินโปะเข้าไปในกองทุน SWF นี้ และต้องแน่ใจว่า 2 ล้านล้าน เสี่ยงไม่สูงที่เงินจะหายไป ถ้ารัฐบาลรับผิดชอบ ถ้ารัฐบาลไม่ได้คิดว่าเป็นเงินฟรีตั้งแต่แรก ต้องการันตีความรับผิดชอบ และระเบียบที่ออกมาต้องชัดเจนตั้งแต่แรก

“รัฐบาลต้องไม่คิดว่าเป็นเงินฟรีตั้งแต่แรก ต้องถือว่าเอาเงินสะสมมาใช้ระยะหนึ่งเท่านั้น มาใช้ชั่วคราว แต่สุดท้ายรัฐบาลต้องคืนให้ เช่น เอามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล โอเค เพราะถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาลต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ต้องซื้อในอัตราดอกเบี้ยตามท้องตลาด ไม่ใช่ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าราคาท้องตลาด เพราะเป็นเรื่องที่ผิดวินัยการเงินการคลัง”

กล่าวคือ SWF จะต้องซื้อพันธบัตรเหมือนเป็นเอกชนรายหนึ่ง เหมือนกับคนอื่นๆ แต่ไม่ใช่ว่าได้รับสิทธิพิเศษ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งลงมา ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่โปร่งใส และยังเป็นการสนับสนุนการคลังของรัฐที่ต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริง และการเอาเงินไปใช้ก็อาจจะไม่ระมัดระวัง และถ้าเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องมีเหตุผลรองรับว่าจะได้ผลทางเศรษฐกิจ คือมีความคุ้มค่า

“จะทำก็ได้ ขนาด 2-3 หมื่นล้านบาท อย่าให้ใหญ่เกินไป แต่ก็ต้องแน่ใจว่าตอบคำถามได้ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ ระยะเวลาของการซื้อพันธบัตร และยอดที่จะเข้ามาต้องระมัดระวังว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่จะไม่ใช่เงินที่เอามาใส่ตลอดไป ต้องดูความเสี่ยงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศตลอดเวลา เช่น ตั้งไป 1-2 ปี ปรากฏว่าเงินไหลออกมาก ขาดทุนบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง เงินทุนสำรองก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ก็ต้องเอากลับคืนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้ได้ ต้องมีกระบวนการว่าจะเอากลับไปยังไง พันธบัตรที่ขายไปแล้ว จะหาคนมาซื้อต่อยังไง ต้องวางแผนให้ครบหมดก่อน”

แต่ดูรูปการณ์แล้ว ดูท่าจะไม่เป็นเช่นนั้น!

“มีแต่ข่าวว่าจะไปลงทุน 2 ล้านล้านแล้วก็จำนำข้าว ถ้าบอกว่าไปลงทุน 2 ล้านล้าน ก็รับได้นะ แต่ต้องลงทุนให้เกิดประโยชน์อย่างที่พูดไป”

แต่ถ้าไปลงจำนำข้าว ข้อเสียคือขาดทุนแน่นอน ถ้าลงพันธบัตรรัฐบาล หากรัฐบาลออกมา ก็ต้องเป็นหนี้ ไม่มีโอกาสลุ้นว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน เพราะขาดทุนแน่นอน ก็ทำได้ เพราะรัฐบาลก็ต้องเอาเงินภาษีมาจ่ายอยู่ดี แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

“สิ่งที่รัฐหวังคือ แก้ปัญหาการบริหารเศรษฐกิจแบบชั่วคราวไปได้ เพราะตอนนี้ก็มีข่าวว่าชาวนาไม่ได้เงินจำนำข้าวแล้ว 3 หมื่นล้านจากกองทุนฯ ก็ใช้ได้ 3 ปี เป็นการซื้อเวลามากกว่า ถามว่าผิดวินัยการเงินการคลังไหม ผิดตั้งแต่เริ่มทำจำนำข้าวแล้ว ไม่ควรจำนำข้าวตั้งแต่แรก พอรัฐบาลไม่มีเงินแล้วสุดท้ายก็เป็นหนี้มากขึ้น ก็ขาดทุน”

ตรงนี้ก็เลยเป็นแค่การยืดระยะเวลาการผิดวินัยการเงินการคลัง!

ถามว่า SWF จะมีปัญหาอะไรไหม ดร.สมชัยเชื่อว่า การที่รัฐบาลตั้งกองทุน SWF มาเพื่อสนับสนุนโครงการของรัฐบาลจริงด้วยการนำมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล ตัวกองทุนจะไม่มีความเสี่ยง เพราะรัฐบาลค้ำประกัน แต่คนที่จะได้รับผลกระทบคือประชาชน

“แน่นอนอยู่แล้วว่า เมื่อดำเนินโครงการแล้วมีปัญหา รัฐบาลก็ต้องหาวิธีหาเงินมาใช้คนที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ก็คือไปเก็บภาษีมาเพิ่มขึ้น”

ไทยต้องการกองทุน SWF?

เมื่อพิจารณาโดยสรุปแล้วกองทุน SWF นี้จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นจริงหรือ เมื่อการเมืองชัดเจนแล้วว่าต้องการแทรกแซง?

ดร.สมชัยกล่าวว่า การตั้งกองทุน SWF มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน

จุดแข็งของการตั้งกองทุน SWF มี 3 ประการสำคัญคือ ในการลงทุนที่ถูกที่ คือเน้นลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บริหารความเสี่ยงถูกต้อง จะเป็นการเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งการนำเงินที่ไหลเข้าประเทศจำนวนมากไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศที่ดีด้วย นอกจากนี้
หากมีการจัดตั้งจริง และใช้เงินมาเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำไปใช้สนับสนุนโครงการรับจำนำข้าว ก็ควรมีการชดเชยการขาดทุนที่ชัดเจน ไม่ใช่นำเงินมาหมุนเวียน อาจจะช่วยทำให้โครงการนี้มีความโปร่งใสมากขึ้น

“หนี้ที่ซ่อนอยู่ของโครงการรับจำนำข้าวจะโผล่ขึ้นมา ตรงนี้จะทำให้เห็นว่าหนี้สาธารณะของประเทศไทยที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไร เพราะที่ผ่านมาหนี้ที่ซ่อนอยู่ของจำนำข้าวเป็นหนี้ที่สูงมาก”

ขณะที่จุดอ่อนที่มองข้ามไม่ได้เลย คือการที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีความผันผวนสูง ทำให้ที่มาของการจัดตั้ง SWF ไม่เหมาะสม มีโอกาสขาดทุนได้ และผลักดันทำให้เกิดการเก็บภาษีประชาชนมาชดเชยเพิ่มมากขึ้น การเน้นสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ในประเทศจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และกรณีที่มีการแทรกแซงทางการเมือง โดยรัฐบาลต้องการนำเงินมายืดอายุการดำเนินโครงการประชานิยมที่ไม่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจนั้นเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

“คือเราไม่แน่ใจว่าเอาเงินไปลงทุนอะไร ถ้าดึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาแล้ว ก็ต้องดูว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเราเป็นแบบไหน สูงจริง หรือสูงแบบง่อนแง่น ถ้าสูงแบบง่อนแง่น สุดท้ายก็จะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของรัฐบาล”

ที่สำคัญเป็นประเด็นที่สังคมควรจับตาดูการบริหารจัดการของรัฐบาล เพราะถ้านำเงินกองทุนฯ มาจัดทำโครงการขนาดใหญ่แล้ว หากเป็นโครงการที่ดี คือมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว ในส่วนของโครงการที่ไม่ดี คือไม่ได้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่อยู่ในแผนงานเดียวกันแต่ไม่สมควรเดินหน้า ก็จะเดินหน้าไปด้วย

ตัวอย่างเช่น โครงการ 2 ล้านล้าน จะมีทั้งส่วนที่ไปสนับสนุนส่วนที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจเมื่อลงทุน เช่น รถไฟรางคู่ แต่มีส่วนที่ไม่คุ้มค่าสักครึ่งหนึ่งด้วย คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง พอได้เงินมาก็จะทำให้โครงการต่างๆ เดินหน้าได้

“เงินก้อนนี้ทำให้โครงการที่ไม่ควรเดินหน้าก็เดินหน้าได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่สามารถยืนยันว่าจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมาคุ้มค่าจริง”

ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวก็เป็นโครงการที่ไม่ควรลงทุนหรือไม่ เพราะทำไปแล้วยังไงก็ขาดทุน

ทั้งนี้ ดร.สมชัยกล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วก็เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้มีความจำเป็นในการตั้งกองทุน SWF โดยไทยยังไม่มีพื้นฐานที่มั่นคงที่สนับสนุนให้มีการตั้ง SWF เลย ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีเงินในการดำเนินโครงการจริงๆ ก็ควรใช้เงินจากแหล่งอื่นแทน อย่างประชาธิปัตย์เสนอให้ใช้งบประมาณปกติ แต่ดูแล้วงบประมาณตอนนี้ก็ปริ่มเกินไป

“ผมมองว่าถ้าจะดีกว่านั้นต้องปรับโครงสร้างภาษี โดยไม่ต้องกู้จากเงินนอกระบบ หรือตั้งกองทุน SWF เพราะอย่างไรแล้ว SWF ไม่เหมาะกับประเทศไทย 100% อีกทั้งการปรับโครงสร้างภาษีที่จริงแล้วมีข้อดี คือถ้าปรับดีๆ เพิ่มภาษีคนรวย จะเป็นการทำเรื่องลดความเหลื่อมล้ำด้วย แต่รัฐบาลนี้ไม่ได้แตะเรื่องลดความเหลื่อมล้ำอะไรเลย”

แทนที่จะเก็บภาษีคนรวยมาดำเนินโครงการรัฐบาล ก็ไม่ยอมทำ!

ดังนั้นการตั้งกองทุนจึงมี Hidden Agenda เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน และต้องการเงินมายื้อเวลา รัฐบาลที่จริงมีทางเลือก คือการเลือกปรับภาษี แต่ก็ไม่เลือกทางอื่น เพราะกลัวเสียคะแนนเสียงด้วย?

ตั้งมืออาชีพบริหาร-สกัดเหลือบ! คนไทยไม่เป็นหนี้

ในเมื่อรัฐบาลจะผลักดัน SWF ให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่จะทำอย่างไรให้กองทุนนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด สกัดเหลือบที่ต้องการหาประโยชน์ และคนไทยไม่ต้องแบกหนี้จนหลังแอ่นนั้น

ดร.สมชัยย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการดำเนินงานของ SWF คือ ตัวผู้บริหาร โดยผู้บริหารต้องใช้คนที่เป็นมืออาชีพ มีอิสระในการบริหาร ไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง และไม่มีการบังคับที่จะให้ลงทุนเพื่ออุ้มโครงการรัฐบาลที่ขาดทุน

โดยส่วนสำคัญคือ ผู้ที่จะมาบริหารนั้น จะตั้งโดยใคร จะตั้งโดยรัฐบาล ตั้งโดยกระทรวงการคลัง หรือแบงก์ชาติ ที่อยากเสนอคือขอให้ตั้งโดยแบงก์ชาติโดยอิสระ และต้องไม่มีการเมืองเข้าแทรกแซง ตรงนี้จะทำให้ SWF สามารถเดินหน้าไปได้ดีที่สุด

“ต่างประเทศส่วนหนึ่งมีการให้ Hedge Funds บริหารไปเลยซึ่งมีข้อดีคือ Hedge Funds เหล่านี้จะบริหารโดยมุ่งหวังเรื่องของการทำกำไรเป็นหลัก ถ้าวัตถุประสงค์ของการตั้ง SWF คือหาผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้นอย่างเดียว คือเพิ่ม Rate of Return ให้ Hedge Funds บริหารไปเลยก็ได้ แต่ประเทศไทยอาจจะไม่ใช้ เพราะ Hedge Funds อาจจะไม่ได้สนใจประเด็นที่รัฐบาลต้องการ”

ดังนั้น การลงทุนจะต้องเป็นการลงทุนแบบมืออาชีพ คือเน้นการสร้างรายได้จากเงินที่เอาไปลงทุนให้มีการงอกเงยขึ้นมา

“การลงทุนไม่ควรลงทุนในตลาดหุ้น เพราะตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอน และเหตุผลของการตั้ง SWF ก็ไม่ใช่จะมาลงทุนในตลาดหุ้นอยู่แล้ว ไทยไม่เหมาะ ไม่เหมือนเทมาเส็ก มีเงินเหลือเยอะ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นตลอด เขาลงทุนในตลาดหุ้น ก็เป็นการกันส่วนหนึ่งมาลงทุนในตลาดหุ้น ก็คือมีความพร้อมที่จะเสี่ยงได้ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ไทยไม่ใช่ ไทยต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่เสี่ยงมากๆ เพราะถ้ามีปัญหาต้องหาเงินคืนทุนสำรองระหว่างประเทศให้ได้”

“ดร.กบ” ผลักดัน-เชื่อเกิดแน่

ดร.สมชัยยืนยันอีกว่า ความจริงรัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้ง SWF เลย หากมีการปรับโครงสร้างภาษีให้ดีก็สามารถนำเงินมาบริหารประเทศได้ แต่ก็ยอมรับว่า เวลานี้ใครๆ คงจะขวางความต้องการของรัฐบาลไม่ได้แล้ว เพราะการที่จะขัดขวางได้นั้นต้องอาศัยการแสดงความเห็นคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ซึ่งก็จะทำได้แค่ชะลอไป แต่ฝ่ายการเมืองคงไม่หยุด ขณะที่ภาคประชาสังคมจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กองทุนนี้เกิดไม่ได้เช่นกัน

“ใครจะขัดขวาง ไม่มีใครขัดขวางได้ มีแค่ประชาสังคม เพราะถ้าฟ้องศาลเรื่องประเด็นเศรษฐกิจ ท่านก็พิจารณายาก เพราะเป็นประเด็นที่มันไม่ชัดว่าผิด มันไม่ได้ขาวหรือดำไปเลย ศาลจะดูได้แค่ Best-Practice หรือไม่เท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินแล้ว โอกาสที่กองทุน SWF นี้มีแนวโน้มที่จะตั้งสำเร็จด้วยฝีมือ ดร.อำพล ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั้น เป็นเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลือกใช้ถูกคน เนื่องจาก ดร.อำพลถือเป็นนักบริหารที่มีฝีมือ ทำตามนโยบายได้ ผลักดันเป็น คิดว่าจะดันเรื่องนี้ได้ดีกว่า ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (อาจารย์โกร่ง) ที่มีความเป็นนักวิชาการสูงกว่า

“ดร.กบ ไฮโปรไฟล์ เส้นทางการทำงานของเขาเป็นแบบก้าวกระโดด เขาบินสูงมาตลอด ถ้าผมเป็นฝ่ายการเมืองก็ต้องเลือกใช้คนแบบนี้ และคิดว่าคงจะเกิดได้ถ้าเลือกใช้คนแบบเขา”

อีกทั้งกระบวนการจัดตั้งไม่ยาก เพราะระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยมีเรื่องของบริหารหลักทรัพย์อยู่แล้ว ไม่ต้องแก้กฎหมายหรือผลักดันกฎหมายใหม่

ถ้ารัฐบาลยังมุ่งตั้งกองทุน SWF เพื่อประโยชน์การเมืองเท่านั้น

คนไทยก็เตรียมรับความซวย ต้องแบกหนี้หลังแอ่นขึ้นอีก

ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ แผนของรัฐบาลที่มีแนวโน้มว่าจะตั้งกองทุนมั่งคั่งในขนาดเล็กก่อน แล้วค่อยๆ ดึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาก้อนใหญ่ทีหลังเพื่อมาเสริม

“ประเมินดูแล้ว มีสิทธิที่รัฐบาลจะตั้งกองทุนมั่งคั่งรอบแรกในจำนวนน้อยก่อน แล้วพอผ่านไปได้ในรอบแรก ก็จะมีการเพิ่มขนาดกองทุนช็อต 2 อีก 3 หมื่นล้าน เดาว่าเขามีแผนอย่างนี้นะ ซึ่งไม่ดี”

ดังนั้น นโยบายผุดกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ จึงเป็นความพยายามของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จะยืดอายุรัฐบาลรวมไปถึงการเดินหน้าโครงการประชานิยมที่หาเสียงไว้จะต้องเร่งหาเงินมาจัดทำให้จงได้ แม้ว่ารัฐบาลจะถังแตกก็ตาม เพราะไม่เช่นนั้นบรรดารากหญ้าจะกลายเป็นบูมเมอแรง หันมารวมพลโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั่นเอง!

กำลังโหลดความคิดเห็น