“อภิสิทธิ์” หนุน “ธีระชัย” โพสต์เฟซบุ๊กติงรัฐบาลตั้งกองทุนความมั่งคั่ง ชี้เหมือนทุบกระปุกออมสินประเทศให้รัฐบาลถลุง ผิดหลักการต้องนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ เสี่ยงอันตราย เพิ่มภาระให้ประเทศ พร้อมจี้รัฐบาลเร่งกำหนดกติกาเจรจาบีอาร์เอ็น เชื่อเหตุบึ้ม เป็นเชิงสัญลักษณ์เพื่อชิงการนำ ขณะเดียวกันแนะปรับแผนโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านใหม่ หลังน้ำท่วมแพร่ขยายมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการก่อตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งหลายฝ่ายเตือนว่า เรื่องนี้จะเป็นอันตรายต่อฐานะการเงินของประเทศว่า รัฐบาลนี้มีวาระในการที่จะพยายามหาเงินมาใช้อยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่การขอกู้เงินพิเศษ 2 รอบแล้ว ที่พยายามผลักดันเรื่องกฎหมายกู้เงิน และมีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯไปแล้วครั้งหนึ่ง แล้วก็แผนในการที่จะหาแหล่งเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นระยะๆ เช่น จะให้ ธปท.ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลในรูปแบบหนึ่ง จนมาถึงเรื่องของการจะตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่ประธานธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ปรารภเสมือนว่า เป็นนโยบายที่อยากจะผลักดันจน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง เขียนติงในเฟซบุ๊ก ซึ่งเขียนได้ครอบคลุมดีมาก
โดยหลักแล้ว กองทุนมั่งคั่งคือ กองทุนซึ่งประเทศที่มีทรัพยากร หรือมีเงินทุนไหลเข้าอยู่ตลอดเวลา เช่น มีน้ำมัน มีเงินเกินดุลการค้า เขาก็ต้องบริหารจัดการเงินทุนที่ไหลเข้ามานี้ไปตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่ง เพื่อเอาเงินนี้กลับไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาว่ามีเงินมากองอยู่ เงินไหลเข้ามา หรือถ้าเกิดปล่อยเข้ามาสู่ระบบก็จะทำให้เกิดปัญหาการบริหารงานที่ยากลำบากในแง่ของเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เงื่อนไขทั้งหมดที่ว่านี้ ใช้กับประเทศไทยไม่ได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้เข้ามาดีใจ 2 เรื่อง คือ 1.สถานะทางการคลังหนี้สาธารณะยังเข้มแข็งอยู่ ไม่มีปัญหาอยู่ 2.มีเงินไหลเข้า เพราะว่าเกินดุลการค้า แต่ว่าบริหารมา 2 ปี ขณะนี้หนี้สาธารณะกระโดดขึ้นไปอย่างที่ทราบกันแล้ว และยังต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่า ตกลงดุลการค้ายังเกินดุลอยู่หรือไม่ ดังนั้น ขณะนี้ประเทศไทยไม่ใช่เป็นประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้าเหลือเฟือแล้ว
“รัฐบาลนี้มีวาระในการที่จะพยายามหาเงินมาใช้อยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่การจะบอกว่า ขอกู้เงินพิเศษ 2 รอบแล้ว ที่พยายามผลักดันเรื่องของกฎหมายกู้เงิน มีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูไปแล้วครั้งหนึ่ง แล้วแผนในการที่จะหาทาง หาแหล่งเงินโดยเฉพาะมาจากธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาตินั้น ก็พูดมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจะให้แบงก์ชาติหาทางมาเป็นคนปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แล้วก็มีการพูดถึงเรื่องของการที่จะตั้งกองทุนนี้ เหมือนเป็นการทุบกระปุกออมสินของตนเอง ถ้าเรามีเงินไหลเข้าตลอดเวลา แล้วต้องการเอาไปลงทุน ก็ไม่เป็นไร แต่นี่ฐานะก็ไม่ได้มั่นคงอย่างนั้น แถมทุบเสร็จแล้วไม่ได้เอาไปลงทุนด้วย แต่จะพยายามเอามาใช้ข้างในมากกว่าที่จะเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ในต่างประเทศ”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศ และยังเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดความสับสนในบทบาท พอธนาคารกลางกับรัฐบาลมาเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้กัน แลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วจะทำอะไรก็มีผลกระทบเช่น แบงก์ชาติจำเป็นต้องบริหารงานในลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรากฎว่าค่าเงินอ่อนลง พอค่าเงินอ่อนลงตอนนี้รัฐบาลก็จะเป็นหนี้มากขึ้น เพราะไปกู้เงินตราต่างประเทศจากแบงก์ชาติไว้ มันก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง สับสนวุ่นวาย ไม่ได้เป็นผลดี
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุระเบิดในหลายจุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เป็นการก่อเหตุในลักษณะเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำกลุ่มต่างๆ ต่อการต่อรองในกระบวนการการพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลไทย ซึ่งตนเคยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งกำหนดกติกาการพูดคุยตั้งแต่ช่วงเดือนรอมฎอน แต่กลับปล่อยให้เหตุการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งกำหนดกติกากับผู้ที่มาพูดคุยให้ชัดเจนโดยด่วน เพื่อให้เป็นการพูดคุยบนบรรยากาศของความสงบ ไม่ใช่การบนบรรยากาศของความรุนแรง และการต่อรองและไม่ใช่สาละวนอยู่กับการจะพิจารณาดู 5 ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น
“ส่วนการก่อเหตุหลายจุดเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีกระบวนการที่เป็นระบบเป็นเชิงสัญลักษณ์ หรือในการส่งสัญญาณบางอย่าง และเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้คู่เจรจา ระหว่างกลุ่มที่ไม่พอใจ กับในแง่ของการสร้างอำนาจต่อรอง ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดกติกากันหน่อยว่า แนวปฏิบัติในพื้นที่ของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมหลังจากเดินทางลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็นสิ่งเตือนใจอีกครั้งว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่สามารถทำนายหรือพยากรณ์ได้ว่า พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเกิดปัญหาน้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ซึ่งยังไม่ทราบว่าถึงความเสียหายมากน้อยเท่าไหร่
“เป็นสิ่งที่เตือนใจพวกเราอีกครั้งว่า ประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นอดีตยาวนานแค่ไหน บางทีขณะนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราทำนาย หรือพยากรณ์ได้ว่า พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นอย่างไร คงจำได้ว่าเมื่อตอนปี 54 ตอนที่มีน้ำท่วมใหญ่นั้น คนก็รู้สึกมุ่งไปทางตะวันออก คิดว่าเป็นพื้นที่ซึ่งน่าจะปลอดจากเรื่องของปัญหานี้ แต่ขณะนี้ก็กลายเป็นว่า ครั้งนี้จะเป็นกบินทร์บุรี จะเป็นปราจีน จะเป็นศรีมหาโพธิ ไล่มาถึงระยอง แล้วก็หลายอำเภอในชลบุรี แสดงให้เห็นว่ามันต้องมีการเฝ้าระวังกันอยู่ตลอดเกือบทุกพื้นที่ด้วย”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรนำประสบการณ์ครั้งนี้ไปปรับแผนโครงการ 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท เพราะพื้นที่น้ำท่วมไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนดไว้ ในจัดทำแผนดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาประชาชนก็ยังไม่ทราบแผนดังกล่าวประกอบไปด้วยโครงการอะไรบ้าง เพราะยังมีปัญหาในเรื่องของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหลายขั้นตอน รวมถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินการจัดทำการเชื่อมโยงระบบต่างๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังขาดความกระตือรือร้นในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพราะมีแต่หน่วยงานภาคเอกชน และมูลนิธิ ที่เข้าไปช่วยกันอย่างเข้มแข็ง ขณะที่ภาพรวมของรัฐบาลกลับไม่ใส่ใจ