xs
xsm
sm
md
lg

ผลการเลือกตั้งชี้ชัด มนต์ดำแห่งอำนาจของระบอบทักษิณกำลังจะสูญสิ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ระบอบทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นองค์กรทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรมของการก้าวสู่อำนาจการบริหารประเทศได้ประสบกับวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ ด้วยเหตุที่บริหารงานผิดพลาด ทุจริตคอรัปชั่น ใช้อำนาจไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม จงใจกระทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง จนประชาชนจำนวนมากไม่อาจอดทนกับพฤติกรรมเยี่ยงทรราชของบุคคลในระบอบนี้ได้อีกต่อไป และได้ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้พ้นจากอำนาจการบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

แทนที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีความสำนึกผิดชอบชั่วดี ละอายกับการกระทำผิดของตนเองเหมือนกับผู้นำในนานาอารยประเทศ โดยการลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไป กลับแสดงอาการหวงแหนอำนาจ เกาะตำแหน่งอย่างเหนียวแน่น ดื้อด้านดุจเด็กเกเร ป่าเถื่อนเยี่ยงอันธพาล ไร้เหตุผลและไร้ความศิวิไลซ์ดุจผู้นำประเทศเผด็จการด้อยพัฒนาล้าหลัง

ยิ่งกว่านั้นยังพยายามหาหนทางสร้างความชอบธรรมในการกลับคืนมาสู่อำนาจใหม่อีกครั้ง โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่คิดว่าตนเองสามารถควบคุมได้เป็นเครื่องมือนั่นคือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร์และการจัดการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพขึ้นมา แต่ทว่าประชาชนผู้ตื่นรู้ทางการเมืองรู้ทันเล่ห์เหลี่ยม กลอุบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงไม่ยอมตกลงไปสู่เกมการเลือกตั้งที่ด้อยคุณภาพตามที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำหนด

มวลมหาประชาชนภายใต้การนำของ กปปส.จึงได้ชูธง “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ขึ้นมาแทน และประกาศปฏิเสธการเลือกตั้งด้วยเห็นว่า หากการเลือกตั้งยังด้อยคุณภาพ ซึ่งเต็มไปด้วยการทุจริตซื้อสิทธิขายสียง การใช้อำนาจรัฐควบคุมกลไกการลงคะแนนเสียง การใช้นโยบายประชานิยมหลอกลวงประชาชน และการใช้อิทธิพลเถื่อนของอันธพาลเสื้อแดงคุกคามทำร้ายผู้สมัครพรรคคู่แข่ง ก็จะทำให้ได้ผู้บริหารประเทศที่ไร้จริยธรรม ขาดความสำนึกในพันธกิจต่อบ้านเมือง มุ่งแต่สร้างประโยชน์แต่ตนเองและพวกพ้อง และสร้างความหายนะแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวง

กปปส.ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และใช้อารยะขัดขืนปฏิเสธการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมร่วมมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบทักษิณ ขณะที่ฝ่ายระบอบทักษิณก็รณรงค์อย่างหนักหน่วงเพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยหวังว่าจะใช้จำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมาฟอกความผิดของตนเอง

และแล้วผลการต่อสู้ระหว่างมวลมหาประชาชนกับระบอบทักษิณก็ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการระบอบทักษิณ โดยมีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และมีผู้ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยน้อยมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งแสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนแนวทางปฏิรูปทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่เสนอโดย กปปส. มากกว่าการสนับสนุนระบอบทักษิณนั่นเอง

ลองมาพิจารณาข้อมูลในรายละเอียดสักเล็กน้อย นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ได้แถลงเมื่อ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า ภาพรวมการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. ทั้งประเทศ จำนวน 68 จังหวัด โดยไม่รวม ภาคใต้ 9 จังหวัด ซึ่งมี 42 เขตเลือกตั้งที่จัดเลือกตั้งไม่ได้ และไม่รวมการเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักร ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน 68 จังหวัด 333 เขตเลือกตั้งมีจำนวน 43,024,786 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์จำนวน 20,530,359 คน คิดเป็นร้อยละ 47.72 ของผู้มีสิทธิ จำนวนบัตรที่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีจำนวน 14,645,812 บัตร คิดเป็นร้อยละ 71.34 ของผู้มาใช้สิทธิ จำนวนบัตรเสีย 2,458,461 บัตร คิดเป็นร้อย 11.97 ของผู้มาใช้สิทธิ ขณะที่จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3,426,080 บัตร คิดเป็นร้อยละ 16.69 ของผู้มาใช้สิทธิ

จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด 3 อันดับแรก คือจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 827,808 คน หรือร้อยละ 75.05 ของผู้มีสิทธิ รองลงมาคือลำพูน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 241,209 คน หรือ ร้อยละ 73.39 และจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 104,241 หรือร้อยละ 64.99 สำหรับจังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ จ.นครศรีธรรมราช มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,302 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้ 14,825 คน คิดเป็นร้อยละ 8.78

ในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครรวม 33 เขต 6,671 หน่วยเลือกตั้ง สามารถเปิดลงคะแนนได้ 6,155 หน่วย ประกาศงดลงคะแนน 516 หน่วย โดยมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 4,369,120 คน และมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 1,133,296 คน คิดเป็นร้อยละ 25.94 โดยมีบัตรดี จำนวน 775,821บัตร คิดเป็นร้อยละ 68.46 บัตรเสีย 90,923 บัตร คิดเป็นร้อยละ 8.02 และจำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 266,552 บัตร คิดเป็นร้อยละ 23.52

เราลองมาพิจารณานัยทางการเมืองของตัวเลขเหล่านี้กันว่ามีอะไรบ้าง ดังนี้ครับ

1.เริ่มจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แท้จริงทั้งหมดรวมทุกเขตเลือกตั้ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,017,000 คน แต่ กกต. แถลงเฉพาะเขตที่มีการเลือกตั้งได้คือ 43,024,786 คน ดังนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกจำนวน 5,884,547 คน ขาดหายไปหรือไม่ถูกนับรวมเข้ามาซึ่งเป็นประชาชนในภาคใต้ 9 จังหวัด 42 เขตเลือกตั้งที่จัดเลือกตั้งไม่ได้ และคนที่ยังไม่สามารถเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักร

2.จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีทั้งหมด 20,530,359 คน หากคิดแบบ กกต. คือเฉพาะเขตที่เปิดการลงคะแนนได้ จะได้ ร้อยละ 46.7 ซึ่งถือว่าเป็นเสียงส่วนน้อย แต่จะยิ่งน้อยลงไปอีกหากคิดจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยอัตราส่วนของผู้มาสิทธิจะเหลือเพียงร้อยละ 41.88 เท่านั้น เอาละ หากจะคิดแบบเข้าข้าง กกต. สักนิด โดยประมาณการว่าเขตเลือกตั้งในภาคใต้และการเลือกตั้งล่วงหน้าจะมีผู้มาใช้สิทธิประมาณร้อยละ 10 (เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับผู้มาใช้สิทธิจังหวัดนครศรีธรรมราชที่บางเขตมีการเลือกตั้งได้ แต่มีคนใช้สิทธิร้อยละ 8.78 ) ดังนั้นหากเปิดการเลือกตั้งได้ทั้งหมดทุกเขตจึงคาดการณ์ว่า น่าจะมีคนใช้สิทธิเลือกตั้งอีกประมาณ 588,454 คน เมื่อรวมกับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเดิมกับผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งจากการประมาณการณ์ คาดว่าจะมีคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดประมาณ 21,118,814 คน หรือ ร้อยละ 43.08 เท่านั้นเอง ขณะที่ไม่ไปเลือกตั้งมีถึง ร้อยละ 56.92 หรือ 27,898,186 คน

3.ในบรรดาผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 20.5 ล้านคนตามที่ กกต. แถลงนั้น ปรากฏว่า มีผู้ทำบัตรเสียและกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนรวมแล้วประมาณ 1 ใน 4 ของ ผู้ไปใช้สิทธิ ภาพง่ายคือหากมีคน 4 คน เดินออกจากบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งมี 1 คน ที่อยากไปแสดงออกทางการเมืองเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณผ่านบัตรเลือกตั้ง ทั้งเขียนคำด่า คำระบายอารมณ์ คำเสียดสีสารพัดลงในบัตรเลือกตั้ง หรืออาจกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนซึ่งเป็นแสดงการต่อต้านระบอบทักษิณโดยอาการสุภาพกว่าผู้เขียนถ้อยคำในบัตรเลือกตั้งเ,กน้อย

4.เมื่อพิจารณากลุ่มคนไทยทั้งหมดผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ เราสามารถจำแนกอย่างสังเขปได้ดังนี้

4.1กลุ่มที่ต้องการปฏิรูปทางการเมืองอย่างเข้มแข็งและไม่เอาด้วยกับระบอบทักษิณและระบอบการเมืองแบบทุนสามานย์อย่างเด็ดขาด โดยรวมผู้ที่แสดงออกโดยการไม่ไปเลือกตั้ง ผู้ที่ทำบัตรเสียและผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน น่าจะอยู่ที่ประมาณ 33,782,727 คน หรือ ร้อยละ 68.9 ส่วนที่เหลือเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังยอมรับระบอบการเมืองแบบทุนสามานย์อยู่

4.2แต่การคิดแบบ 4.1 อาจมีผู้ท้วงติงได้ว่าคิดแบบเหมารวมเกินไป ดังนั้นผมจึงคิดรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้ที่ไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยนำตัวเลขจริงที่ กกต. แถลงวันที่ 5 ก.พ. ผสมกับตัวเลขจากการคำนวณในเขตที่ยังจัดเลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งรวมทั้งสองส่วนแล้วจะมี “ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”ประมาณ 27,898,186 คน
เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ เราจะนำจำนวนผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งมีจำนวน 11,719,341 คน หักออกไป โดยถือเสมือนว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มไทยเฉย ดังนั้นจะเหลือผู้ที่ “ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีเจตนารมณ์ทางการเมืองไม่เอาระบอบทักษิณ” ประมาณ 16,178,845 คน

สำหรับตัวเลขผู้ไปเลือกตั้งแต่ทำบัตรเสียอย่างจงใจ (หักจากคนที่ทำบัตรเสียโดยไม่รู้ความ เช่น ใช้เครื่องหมายวงกลม แทนการกากบาทออกไปสักครึ่งหนึ่ง – กลุ่มนี้ผมเรียกว่าพวกไร้เดียงสาทางการเมือง แม้บางคนจะมีตำแหน่งใหญ่ตัวทางการเมืองก็ตาม-) จะเหลือผู้ทำบัตรเสียอย่างจงใจเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณประมาณ 1,229,231 คน

ด้านตัวเลขผู้กากบาทช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนจะนำมารวมทั้งหมดเพราะเป็นการแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าไม่เอาพรรคการเมืองและนักการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งมีจำนวน 3,426,080 คน

รวมแล้วผู้ที่ปฏิเสธระบอบทักษิณและทุนสามานย์ อันได้แก่ ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีเจตจำนงค์ทางการเมือง ผู้ทำบัตรเสียเพื่อแสดงออกต่อต้านระบอบทักษิณ และผู้กากบาทไม่ประสงค์ลงคะแนน (โดยหักเอาพวกไทยเฉย และไทยไร้เดียงสาทางการเมืองออกไป) จะมีประมาณ 20,834,156 คน หรือ ร้อยละ 42.5 กลุ่มนี้คือ กลุ่มพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง และเป็นกลุ่มที่จะร่วมขบวนการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

4.3ดังนั้นภาพรวมทางการเมืองของประชาชนเมื่อผ่านการคำนวณอย่างละเอียด และพยายามตัดอคติออกไปมีดังนี้ครับ
ก. กลุ่มเสรีชนพลเมืองผู้ประสงค์ปฏิรูปการเมือง และไม่เอาระบอบทักษิณและทุนสามานย์มีประมาณร้อยละ 42.5
ข.กลุ่มไทยเฉย (นำจำนวนผู้ไม่ไปใช้สิทธิครั้งที่แล้วบวกกับ จำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ทำบัตรเสียในการเลือกตั้งครั้งนี้) มีประมาณร้อยละ 27.5
ค.ผู้ที่สนับสนุนระบอบทุนสามานย์ (ผู้ไปใช้สิทธิครั้งนี้และลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง) มีประมาณร้อยละ 30 แต่สำหรับกลุ่มนี้ยังสามารถจำแนกได้ 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือระบอบทักษิณ กับ กลุ่มที่สนับสนุนพรรคและนักการเมืองอื่นๆ

กรณีผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย นายอุดมเดช รัตนเสถียร สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้แถลงว่า มีร้อยละ 32 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อคำนวณเป็นจำนวนประชากรแล้วได้ประมาณ 6.6 ล้านคน ส่วนผู้สนับสนุนพรรคการเมืองอื่นๆก็จะมีประมาณ 8 ล้านคน

ย้ำอีกครั้งว่า ผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อพรรคเพื่อไทย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และระบอบทักษิณจึงเหลือเพียงประมาณ 6.6 ล้านคน หรือ คิดเป็นร้อยละ 13.5 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเท่านั้นเอง

กล่าวโดยสรุป ผลการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนไทยอย่างชัดเจนว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการปฏิรูปการเมือง ไม่ต้องการระบอบทักษิณ และระบอบทุนสามานย์ แต่มีคนบางส่วนที่ยังคงมีความเฉยเมยไร้เดียงสาทางการเมือง และมีส่วนน้อยอย่างยิ่งที่ยังคงสนับสนุนระบอบทักษิณ ด้วยข้อมูลดังกล่าว จึงนำไปสู่ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ณ เวลานี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์และระบอบทักษิณอยู่ในสภาพที่ตะวันใกล้จะตกดิน และสูญสิ้นอำนาจแล้วครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น