xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

บทความทางวิชาการ โดย
ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
6ก.พ.2557

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 และให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2557 เป็นการประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5, 6 ,11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยพระราชกำหนดดังกล่าว ออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 218 จึงเป็นการนำพระราชกำหนดฯซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกใช้บังคับโดยฝ่ายบริหารในปี 2548 โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาใช้บังคับกับประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นกฎหมายที่ออกใช้บังคับโดยรัฐบาล ( Emergency Decree ) ตามอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในปี 2548 ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้ให้อำนาจไว้ตามมาตรา 218 โดยรัฐบาลจะออกพระราชกำหนดได้ก็ เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลออกพระราชกำหนดในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เช่นกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184


อำนาจหน้าที่ในการออกพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540และอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงเป็นอำนาจหน้าที่ที่ต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่างกรรม ต่างวาระ ต่างสถานการณ์กัน การใช้ดุลพินิจในการออกพระราชกำหนดย่อมต่างกันตามสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เมื่อรัฐบาลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินมีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว รัฐบาลก็จะต้องออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา184 ออกใช้บังคับเสียก่อน จึงจะมีอำนาจในการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลและตั้งศูนย์รักษาความสงบได้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯและคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 นั้น จึงเป็นกฎหรือข้อบังคับที่เป็นคำสั่งและประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 และละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 29 , 30 , 31, 32 , 33, 34 , 35 , 36, 37, 38 ,39, 40, 41 ,43, 45, 46, 56, 57, 58, 63, 68 และมาตรา 69

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งออกใช้บังคับโดยรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ที่คณะรัฐมนตรีได้นำมาใช้เป็นกฎหมายเพื่อรองรับการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ที่จะนำมาใช้บังคับกับประชาชนที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้แต่อย่างใดไม่ เพราะเป็นการเอากฎหมายที่ใช้บังคับในเหตุการณ์ฉุกเฉินในอดีตซึ่งเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาใช้กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนละกรณีกัน

แม้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาในปี 2548 อันทำให้พระราชกำหนดฯดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไปนั้น ก็ไม่มีผลที่จะนำพระราชกำหนดที่รัฐสภาอนุมัตินั้นนำมาใช้บังคับกับประชาชนซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ได้ เพราะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัตินั้น มีผลทำให้การกระทำใดๆของฝ่ายบริหารที่ได้กระทำไปในระหว่างที่ใช้บังคับพระราชกำหนดฯนั้น เป็นการอันชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติเท่านั้น แต่ไม่มีผลทำให้พระราชกำหนดฯพ.ศ.2548 กลายเป็นพระบัญญัติที่ออกโดยกระบวนการทางรัฐสภา ( Act of Parliament ) ที่จะใช้บังคับกับประชาชนได้เช่นพระราชบัญญัติที่ออกโดยรัฐสภา

การดำเนินการใดๆของเจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือกระทำตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ โดยใช้มาตรการที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และผู้กระทำไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายใดทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น