xs
xsm
sm
md
lg

กรมบังคับคดีรุกขายสินทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กรมบังคับคดี เผยแผนปีงบประมาณ 57 เดินกลยุทธิ์เชิงลึก หวังผลักดันทรัพย์ให้ได้ 1 แสนล้านบาท ชูทรัพย์เด่นตามเมืองท่องเที่ยว เมืองค้าชายแดน ยืนยันการเมืองร้อนไม่กระทบยอดขายทรัพย์เดินหน้าประมูลทรัพย์ปีนี้ 4-6 หมื่นล้านบาท จากปีก่อน 3.4หมื่นล้านบาท พร้อมทุ่มงบ 20 ล้านบาทปรับปรุงระบบเอื้อต่างชาติซื้อลงทุนรับเออีซี

 นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมบังคับคดีมีทรัพย์หมุนเวียนในระบบกว่า 200,000 ล้านบาททั่วประเทศ โดยอยู่ในกรงเทพฯ 10%ในจำนวนนี้เป็นทรัพย์ที่อยู่นำมาขายทอดตลาดกว่า120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นที่ดินเปล่า พร้อมสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 71,000 ล้านบาท ที่ดินเปล่า 46,000 ล้านบาท และอาคารชุดกว่า 5,000 ล้านบาทโดยมีทรัพย์โดยในปีงบประมาณ 2557 (1ตุลาคม 2556- 30 กันยายน 2557) ตั้งเป้าผลักดันทรัพย์จำนวน 100,000 ล้านบาท ทั้งในรูปแบบของการประนอมหนี้ โดยจะเน้นให้เจ้าหนี้- ลูกหนี้เจรจาตกลงกัน รวมถึงการขายทรัพย์ทอดตลาด

สำหรับการขายทรัพย์ทอดตลาดนั้นปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 40,000-60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 (1 ตุลาคม 2555 - 30 กันยายน 2556 ) ที่สามารถขายทรัพย์ทอดตลาดได้จำนวน 34,000 ล้านบาท โดยเชื่อว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขายทอดตลาดทรัพย์ของกรมบังคับคดี เนื่องจากการปิดสำนักงานเป็นช่วงระยะสั้น และเกิดขึ้นในบางพื้นที่โดยเฉพาะบางจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งทั้งนี้กรมบังคับคดียังเน้นนโยบายเชิงลึกในการขายทรัพย์ทอดตลาด เพื่อให้การขายทรัพย์ดีขึ้น อาทิ ขยายตลาดสู่นักลงทุนชาวต่างชาติมากขึ้น โดยจะเพิ่มภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีทรัพย์ในบางจังหวัด ที่ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ อาทิ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ เชียงราย พัทยา และเพิ่มภาษาอังกฤษในเอกสารในสำนวนคดี เพื่ออำนวยความสะดวกชาวต่างชาติที่ต้องการใช้สำนวนคดีภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ

“ทรัพย์บางอย่างเปิดประมูลให้ประชาชนทั่วไปประมูลไม่ได้ผล เพราะมีมูลค่าสูง หรือเป็นธุรกิจเฉพาะสำหรับนักลงทุนในบางกลุ่ม อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงงาน ซึ่งผู้ที่สนใจก็จะเป็นกลุ่มบุคคลที่ทำธุรกิจนั้นๆ ดังนั้นเราจะใช้วิธีเสนอไปยังกลุ่มธุรกิจนั้นโดยตรง ซึ่งการขายทรัพย์ทอดตลาดจะไปได้ผลมากกว่า ทั้งยังได้ในราคาที่ดีกว่าอีกด้วย”นายวิศิษฎ์กล่าว

นอกจากนี้ เพื่อให้การขายทรัพย์ทอดตลาดได้ผลมากยิ่งขึ้นกรมบังคับคดีได้ใช้งบประมาณกว่า 20ล้านบาทในการพัฒนาระบบอิเล็คโทรนิคได้แก่ สำนวนคดีในรูปแบบอิเล็คโทรนิค การขยายระบบอี บรอดแคส หรือการแจ้งข้อมูลทางอิเล็คโทรนิคเพิ่มเติมอีก 10 จังหวัดในปีนี้ จากปัจจุบันใช้อยู่ 50 จังหวัด ระบบอีเพย์เม้นท์หรือการโอนเงินทางออนไลน์ซึ่งอยู่การตกลงเรื่องรหัสการโอนกับธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทย ปัจจุบันใช้ระบบดังกล่าวกับธนาคารกรุงไทยแล้ว และระบบอีอ็อกชั่น เพื่อรองรับตลาดเออีซีและการประมูลทรัพย์จากต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์

 สำหรับพื้นที่ที่มีการขายทรัพย์ทอดตลาดจำนวนมากๆ หรือเป็นที่สนใจของกลุ่มนักลงทุน อาทิ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พัทยา และที่ได้รับอานิสงส์ของเออีซี คือจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อุดร หนองคาย รวมถึงกาญจนบุรี ซึ่งกรมบังคับคดีมีทรัพย์ที่เป็นที่ดินเปล่าจำนวนมาก หากเปิดเออีซี เชื่อว่าทรัพย์เหล่านี้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนด้วยเช่นกัน

ด้านนายจุมพล สุขมั่น ผู้อำนวยการสำนักบังคับคดีจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจ จากกลุ่มทุนมาตั้งแต่ปี 2550เพราะอยู่ในพื้นที่ 6เหลี่ยมเศรษฐกิจประกอบด้วย จีน ไทย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2536

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้อำเภอชายแดน 3 อำเภอ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ-SPECIAL ECONOMIC ZONE) ในปีที่ผ่านมาโดยอำเภอแม่สายเป็นเขตเมืองธุรกิจการค้า อำเภอเชียงแสน เป็นเขตเมืองท่าเรือแม่น้ำโขง-วัฒนธรรม อำเภอเชียงของเป็นเขตเมืองด้านการขนส่งและโซ่อุปทาน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ทำให้ปัจจุบันทรัพย์ที่อยู่ในการบังคับคดีในบางอ.เหลือเพียงทรัพย์ในหมู่บ้าน เนื่องจากทรัพย์

สำหรับการลงทุนได้รับความสนใจซื้อไปก่อนหน้าแล้ว ปัจจุบันทรัพย์ที่น่าสนใจในการซื้อเพื่อการลงทุนจึงอยู่ในเขต อ.เมืองเป็นส่วนใหญ่อาทิ ทรัพย์ประเภทศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง จ.เชียงรายโดยผลการดำเนินงานปีงบประมาณที่ผ่านมาสามารถขายทรัพย์ได้เกินเป้า 39%จากเป้ากว่า 739ล้านบาท กว่า 1,105ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 สำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงรายตั้งเป้าหมายผลักดันทรัพย์สิน 793 ล้านบาท และสามารถผลักดันทรัพย์สินได้กว่า 1,105 ล้านบาทบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 312 ล้านบาท หรือประมาณ ร้อยละ 39 ซึ่งยอดผลักดันทรัพย์ประกอบด้วยราคาประเมินทรัพย์สินที่ทำการขายทอดตลาดได้ และราคาประเมินทรัพย์สินที่ถอนการยึดทรัพย์ออกไป
ส่วนในปีงบประมาณ 2557 ในช่วงไตรมาสแรก คือ เดือนตุลาคม  - ธันวาคม 2556 สามารถผลักดันทรัพย์สิน จำนวน 115.69 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.59 ของเป้าหมาย 793.2 ล้านบาท

ด้านนายทรงศิลป์ ภิรมย์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของสำนักงานบังคับคดี ในปีนี้ จะเน้นการจัดกิจกรรมด้านการตลาด เพื่อกระตุ้นบรรยากาศซื้อขายทรัพย์ โดยจะจัดมหกรรมขายทอดตลาดนอกสถานที่ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยจะนำทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างบังคับคดี จำนวน180 คดี มูลค่า 635.97 ล้านบาท มาขายทอดตลาดในกิจกรรมดังกล่าว

โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม - มิถุนายน 2557 จำนวน 6 นัด  ซึ่งในวันที่ 7 / 28 มีนาคม 2557  วันที่ 18 เมษายน 2557 จัดขึ้น ณ ห้องรอยัล ออคิด โรงแรมเชียงใหม่ออคิด และ วันที่ 8 / 30 พฤษภาคม 2557 และวันที่ 20 มิถุนายน 2557 จะจัด ณ สำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คาดว่าจะมียอดผลักดันทรัพย์สินได้ประมาณ 70 % ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด ที่นำประกาศขายทอดตลาด

สำหรับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 สำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงใหม่ สามารถทำการผลักดันทรัพย์สินได้ 4,345,114,102 บาท  ส่วนในปีงบประมาณ 2557 สำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป้าหมายในการดำเนินการผลักดันทรัพย์สิน 5,648,648,333 บาท

นายทรงศิลป์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากมีโครงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมากมาย อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์ระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย เพื่อเชื่อมเส้นทาง R3a เชื่อมโยงภาคเหนือสู่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย ลาว พม่า และจีนตอนใต้ ที่กำลังเสนอขออนุมติจัดสร้างวงแหวนรอบที่ 4 เพื่อรองรับการเติบโตและการขยายเขตเมือง และมีการพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้มีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาที่สามารถจัดการประชุมระดับนานาชาติได้ และเป็นแหล่งพำนักระยะยาว (Long Stay) ที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่นที่มีอยู่ประมาณ 4,000 คน และเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคเหนือ เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 10 แห่ง จึงทำให้จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่จะเข้ามาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในรูปแบบบ้านเดี่ยว  ทาวน์เฮ้าส์ หอพัก คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ฯลฯ โดยเฉพาะ  ย่านถนนนิมมานเหมินทร์ ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น