xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู”ติดหนวด“ฉุกเฉินกำมะลอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ แถลงข่าวการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 21 ม.ค.57
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุด รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็งัดไม้ตาย ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นเวลา 60 วัน เริ่มตั้งแต่ 22 ม.ค.2557 เพื่อที่จะยุติการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ภายใต้การนำของ“กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ”ลงให้ได้โดยเร็ว

แต่ภายหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว กลับไม่มีผู้ชุมนุมรายใดหวั่นกลัวต่อการใช้กฎหมายที่ถือว่าเผด็จการที่สุดฉบับนี้

นั่นเพราะน้ำหนักเหตุผลของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ แทบจะไม่มีเอาเสียเลย ซึ่งนั่นก็ทำให้ง่ายที่จะทำให้การประกาศ พ.ร.ก.ฯ เป็นโมฆะ

มาตรา 4 ของ พ.ร.ก.นี้ ให้นิยามของ“สถานการณ์ฉุกเฉิน” ไว้ว่า “สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง”

หากพิจารณาตามข้อเท็จจริง ตลอดการชุมนุมของมวลมหาประชาชนในนาม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.ที่กินเวลาประมาณ 3 เดือนมาแล้วนั้น ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด

แม้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ้าง แต่เหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่ได้เกิดจากฝ่ายผู้ชุมนุม และไม่ใช่ภาวะคับขันจนต้องมีมาตรการ“เร่งด่วน”เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองฯ ตามเนื้อความใน พ.ร.ก.แต่อย่างใด

นอกจากนั้น ขั้นตอนการประกาศที่ชักเข้าชักออก ไม่สอดรับกับสถานการณ์ ก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินจริง

รัฐบาลแถลงถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.แต่ให้มีผลในวันที่ 22 ม.ค.และประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ในวันที่ 23 ม.ค.ซึ่งก็เป็นการออกข้อกำหนดแบบกว้างๆ ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฯ ไม่จำเพาะเจาะจงให้ชัดเจน

ผิดกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งก่อนๆ ที่ให้มีผลทันทีในวันประกาศ พร้อมกับการออกข้อกำหนดตามมาแบบติดๆ

รัฐบาลได้อ้างเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์เหล่านั้นก็เกิดขึ้นก่อนการประกาศหลายวัน เช่น การโยนระเบิดใส่ขบวนของนายสุเทพ ที่ถนนบรรทัดทอง ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 39 คน ก็เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. การขว้างระเบิดใส่เต็นท์ผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 28 คน ก็เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. นอกจากนั้นก็เป็นเพียงการเข้ามาก่อกวนตามเวทีต่างๆ ในช่วงกลางคืนอย่างประปราย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายปกติอย่างเคร่งครัด ไม่สองมาตรฐาน ก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ยาก

ที่สำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมของ กปปส.เป็นไปโดยชอบตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเอาไว้

นอกจากนี้ กระบวนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรอบนี้ก็มีความพิลึกพิลั่นอยู่หลายประการ

อาทิ ไม่มีการตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมาตรา 6 ของ พ.ร.ก.ฯ ซึ่งระบุไว้เลยว่า “ให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี...”

แต่รัฐบาลได้ตั้งศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) เป็นเพียงคณะกรรมการระดับปฏิบัติ ตามมาตรา 7 ซึ่งนายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความเห็นทางเอเอสทีวี เมื่อคืนวันที่ 21 ม.ค. ว่า ที่ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมาตรา 6 ได้ ก็เพราะคณะกรรมการนี้ ต้องมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่ ผบ.เหล่าทัพไม่เอาด้วย

จึงตั้งได้เพียงคณะบุคคลเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 7 ซึ่งก็มีการตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน ผู้ประกาศตัวว่าเป็น “ขี้ข้าทักษิณ” ให้เป็นผู้อำนวยการ ศรส. และมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรอง ผอ.ศรส. ส่วนเหล่าทัพต่างๆ ก็เพียงแต่ส่งผู้แทนเข้าเป็นกรรมการ ศรส.เท่านั้น

การไม่ร่วมสังฆกรรมของฝ่ายทหารยังสะท้อนออกมาจากการที่กองทัพอากาศไม่ยอมให้ใช้พื้นที่ตั้ง ศรส. และกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ไม่ยอมจับมือกับ ร.ต.อ.เฉลิม หลังการประชุมสภากลาโหมเมื่อวันที่ 23 ม.ค.

การไม่สามารถตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมาตรา 6 สะท้อนให้เห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้มีปัญหาไม่ทำตามกฎหมายอย่างครบถ้วน

นี่ยังไม่นับรวมถึงข้อถกเถียงอีกว่า รัฐบาลรักษาการมีอำนาจในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่

นอกจากนี้ ในเชิงภาพลักษณ์ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงยังทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกมองว่ากำลังจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เห็นได้จากการอออกมาคัดค้านของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 7 เครือข่ายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย,องค์การฮิวแมนไรต์ว็อทช์,สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

รวมทั้งภาคธุรกิจ อาทิ สภาหอการค้าไทย,สภาธุรกิจตลาดทุนไทย แม้แต่สื่อต่างประเทศที่เคยแสดงทรรศนะสนับสนุนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มาโดยตลอด ก็ยังระบุถึงความไม่ชอบธรรมในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้

จากความไม่สมบูณ์ทางข้อกฎหมายและความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ มวลชน กปปส.จึงไม่สะทกสะท้าน ขณะที่ ระดับแกนนำก็เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลว่าเป็นการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยมิชอบ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะตัดสินว่าเป็นประกาศที่โมฆะ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ แถลงข่าวการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 21 ม.ค.57



กำลังโหลดความคิดเห็น