ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ต้องบอกว่า “นายประคอง ชูจันทร์” มิใช่ผู้เสียชีวิตรายแรกในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากแต่ก่อนหน้านี้ยังได้เกิดโศกนาฏกรรมอันนำมาซึ่งความสูญเสียอีก 8 รายแล้ว ซึ่งหากรวมกรณีของนายประคองก็ต้องบอกว่ามี 9 ศพที่ต้องสังเวยชีวิตไปในการต่อสู้ครั้งนี้
แน่นอน ทุกชีวิตที่สูญเสียไปย่อมนำมาซึ่งความเศร้าโศกแก่ครอบครัวของผู้ตาย
โดยเฉพาะภรรยาและลูกๆของนายประคอง ชูจันทร์ทั้งสามคน ที่ยังคิดไม่ตกว่าหลังจากนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไรกับความสูญเสียบิดาอันเป็นที่รักและยังเป็นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นที่พึ่งพิงหลัก “รู้สึกเสียใจที่ครอบครัวต้องสูญเสียพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว โดยเฉพาะน้องชายคนเล็กที่ติดพ่อมาก ซึ่งหลังจากทราบว่าพ่อเสียชีวิตน้องชายร้องไห้ตลอดเวลา และจนถึงขณะนี้ก็ยังทำใจไม่ได้ และหลังจากนี้ก็ยังไม่รู้ว่าชีวิตของพวกตนจะเป็นอย่างไรหลังต้องสูญเสียพ่อไปแบบไม่มีวันกลับ” ลูกสาวคนกลางของนายประคองได้กล่าวความในใจถึงพ่อ
อีกทั้งลูกสาวยังย้ำชัดเจนว่า “พ่อนั้นรักในหลวงมากที่สุด”
“ร่วมต่อสู้มายาวนานเพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้อง สำหรับการร่วมต่อสู้กับกลุ่มกปปส.นั้นพ่อได้เดินทางไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯมาแล้ว 3 ครั้ง สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4ที่พ่อเดินทางไป ซึ่งที่ผ่านมาพ่อก็ชวนลูกๆไปร่วมด้วยแต่ทุกคนติดเรียนไม่สามารถเดินทางไปร่วมได้ แต่ส่วนตัวของพ่อ พ่อพร้อมจะเดินทางไปร่วมต่อสู้ทุกครั้ง”
ทั้งนี้ หากย้อนรอยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้ คงต้องย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เลือดเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.56 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุปะทะบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งนักศึกษาถูกคุกคามด้วยระเบิดรวมถึงถูกสาดกระสุนเข้าส่ตลอดช่วงกลางดึกล่วงเลยจนถึงช่วงเช้า ทำให้นักศึกษาต้องตกอยู่ในสถานการณ์'อกสั่นขวัญหาย' อีกทั้งยังถูกสกัดความช่วยเหลือเรื่องเสบียงและถูกลอบทำร้ายโดยที่ตำรวจเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่รอบนอกบริเวณรั้วมหาลัย
เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 5 ราย คือ 1.นายธนะสิทธิ์ เวียงคำ ถูกยิงเข้าที่กลางศีรษะ กระสุนทะลุผ่านหมวกกันน็อค 2.นายวิษนุ เภาพู่ ถูกยิงเข้าที่หน้าอกข้างซ้าย กระสุนทะลุหัวใจ เสียชีวิตทันที 3.นายวิโรจน์ เข็มนาค ถูกยิงเข้าที่หน้าอกบริเวณด้านล่างสเตเดียมติดฝั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ 4. นายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว ถูกยิงเข้าชายโครงด้านขวา 2 นัด บริเวณหลังรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่วนรายที่ 5.นายสนอง อินตรา เสียชีวิตขณะเดินทางกลับจากการชุมนุม ในช่วงกลางดึกวันที่ 1 ธ.ค. 56 เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก
ถัดจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีกครั้งในวันที่ 26 ธ.ค.56 บริเวณศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร หรือสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์) และจับสลากหมายเลขประจำพรรค
ผู้ชุมนุมทถูกตำรวจรัฐระดมยิงแก๊สน้ำตา ยิงกระสุนยาง รวมถึงหัวน็อตอย่างไม่ลดละ และถ้ายังจำความโหดร้ายที่จับภาพได้ชัดเจน คือมีตำรวจยืนยิงผู้ชุมนุมลงมาจากตึกกระทรวงแรงงานทำให้รัฐบาลจนมุมกับหลักฐานที่ปรากฏ จนต้องออกมายอมรับว่าเป็นตำรวจจริงที่ยืนอยู่บนตึก รวมถึงปรากฏความบ้าคลั่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุบรถยนต์
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นจึงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2 ราย คือ ด.ต.ณรงค์ ปิติสิทธิ์ ผบ.หมู่จร.สน.ตลาดพลู ถูกยิงเข้าที่กลางหน้าอกด้านขวา คมกระสุนตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ ตัดขั้วหัวใจ ตกอยู่ในภาวะที่เสียเลือดมาก ส่วนรายที่สอง คือ วสุ สุฉันทบุตร ถูกยิงเข้าที่หน้าท้อง กระสุนทะลุออกสีข้าง เสียชีวิตที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
จากนั้นมา ก็มีการลอบยิง-ปาป่วนกลางดึกตามเวทีต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.56ที่ผ่านมา คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม16 กราดยิงใส่การ์ดคปท.(เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ) ที่ยืนเฝ้าระวังเหตุการณ์ ดูแลความเรียบร้อยอยู่บริเวณแนวรั้วด้านหลังเวทีปราศรัย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1ราย คือ นายยุทธนา องอาจ ถูกยิงอาการสาหัส กระทั่งทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตที่โรงพยาบาลกลาง
รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 9 ราย
และเชื่อว่า ถ้าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ความสูญเสียจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ อย่างแน่นอน